• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชา : เครื่องดื่มจากรากเหง้าวัฒนธรรมตะวันออก

ชา : เครื่องดื่มจากรากเหง้าวัฒนธรรมตะวันออก


หากถามว่าเครื่องดื่มชนิดใดมีผู้นิยมดื่มมากที่สุดในปัจจุบัน คำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่ คือ กาแฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องถ้าวัดจากน้ำหนักของกาแฟที่ถูกบริโภค แต่ถ้าวัดจากจำนวนคนที่ดื่มแล้วกาแฟยังมีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกปัจจุบันเลยทีเดียว เครื่องดื่มนั้น คือ ชา นั่นเอง

จากตะวันออกสู่ตะวันตก

เชื่อกันว่าชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่นำชามาใช้เป็นเครื่องดื่มเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีตำนานของจีนหลายเรื่องบรรยายเกี่ยวกับกำเนิดของชาและการนำชามาชงน้ำดื่ม ตัวอย่างเช่น ตำนานเรื่องหนึ่งกล่าวว่า “นานมาแล้วในเมืองจีนเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด ผู้คนล้มตายกันมาก มีหมอจีนคนหนึ่งสังเกตเห็นว่า สาเหตุของโรคระบาดมาจากน้ำสกปรกที่ชาวบ้านใช้ดื่มกิน จึงพยายามหาวิธีที่จะให้ชาวบ้านหันมาดื่มน้ำต้มสุกแทนน้ำดิบ โดยทดลองนำใบไม้หลายชนิดมาชงน้ำร้อนมีกลิ่นและรสดีชวนดื่ม นอกจากนี้ยังช่วยแก้อาการท้องร่วงด้วย จึงชักชวนให้ชาวบ้านนำใบชามาชงน้ำร้อนดื่มกันทั่วไป เมื่อชาวบ้านดื่มน้ำชากันมากขึ้น โรคห่าก็ค่อยๆ หมดไปในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาชาวจีนก็นิยมดื่มน้ำชามาจนปัจจุบัน”

เมื่อชาวจีนดื่มน้ำชาต่อเนื่องกันมานาน จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน การชงชาและดื่มชามีตำรากำหนดระเบียบวิธีการเอาไว้อย่างละเอียด มีตำราเล่มหนึ่งเขียนโดยพระภิกษุจีนชื่อลูยู้ ราวปี พ.ศ.1323 เชื่อกันว่าชาวญี่ปุ่นนำพิธีกรรมเกี่ยวกับการชงชาและดื่มชาไปจากจีนแล้วพัฒนาดัดแปลงเป็นพิธีกรรมของญี่ปุ่น ที่เรียกว่าพิธี “ชาโนยุ” อันมีกฎเกณฑ์เป็นรายละเอียดมากมาย

พิธี “ชาโนยุ” นี้มีบรรยายเอาไว้อย่างละเอียดในนวนิยายเรื่อง “โชกุน” ของเจมส์ คลาเวลด์ ซึ่งมีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทยหลายปีแล้ว การดื่มน้ำชาแพร่หลายไปทางตะวันตกประมาณ 400 ปีมาแล้ว โดยเริ่มนำเข้าไปยังประเทศเนอธอร์แลนด์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2153 ไปถึงอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2207 และไปถึงสหรัฐอเมริกา (ขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่) เมื่อปี พ.ศ. 2257 ความนิยมดื่มน้ำชาในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชาวอังกฤษ การดื่มน้ำชากลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ส่งผลให้มีการปลูกชาเป็นพื้นที่กว้างขวาง (plantation) ทั้งในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

การค้าขายใบชากลายเป็นธุรกิจใหญ่โต ทั่วโลกรู้จักใบชาจากอินเดียและศรีลังกาเป็นอย่างดี คือ ชาอัสสัม (Assam tea) จากรัฐอัสสัมของอินเดีย และชาซีลอน (Ceylon tea) จากศรีลังกา (เดิมอังกฤษเรียกศรีลังกาว่า ซีลอน) มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับชา คือ เมื่อปี พ.ศ.2316 เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่) สาเหตุของสงครามเกิดจากการที่อังกฤษเก็บภาษีใบชากับชาวอเมริกันสูงมาก ทำให้ชาวอเมริกันเดือดร้อน เพราะชาเป็นของจำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนอเมริกันไปแล้ว จากสงครามครั้งนั้นทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นอิสรภาพไม่ขึ้นกับอังกฤษอีกต่อไป

สำหรับชาวไทยนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีนมานานกว่าพันปีแล้ว คงรับเอาวิธีการดื่มน้ำชาจากชาวจีนมานาน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการดื่มน้ำชาของคนไทยถูกบันทึกเมื่อปี พ.ศ. 2230 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสบันทึกไว้บางตอนว่า "ชาวสยามดื่มน้ำชาสำหรับสบายใจและสนทนาเพลิน...คนสยามในกรุง (ศรีอยุธยา) มีประเพณีส่งน้ำชาให้แก่ (แขก) บรรดาผู้ที่มาเยี่ยมเยือน”

แสดงว่าเมื่อ 306 ปีก่อนโน้น ชาวไทย (สยาม) ก็มีประเพณีชงน้ำชาต้อนรับแขกกันแล้ว ใบชาที่ใช้ชงดื่มในสมัยนั้นคงนำเข้ามาจากประเทศจีน เพราะอีก 186 ปีหลังจากนั้น คือ ปี พ.ศ. 2416 ปรากฏคำอธิบายศัพท์คำว่า “ชา” ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ว่า “ชา : เป็นชื่อใบไม้มาแต่เมืองจีน” และ “ชาดี : คือใบชาอย่างดีที่มีมาแต่เมืองจีน สำหรับใส่ในน้ำร้อนกินให้สบายใจนั้น” เห็นได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2416 ชาวไทย (สยาม) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังดื่มน้ำชาเพื่อความ “สบายใจ” เช่นเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2230 สมัยกรุงศรีอยุธยา

การดื่มน้ำชาคงจะกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวไทยไปเรียบร้อยแล้วในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระภิกษุในพระพุทธศาสนาคงจะ “ฉันน้ำชา” และใช้น้ำชาต้อนรับแขกกันทั่วไป ดังปรากฏในคำกลอนของสุนทรภู่บรรยายไว้ใน “รำพันพิลาป” ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ตอนหนึ่งว่า

“เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย           เคยแก้อายหลายครั้งประทังจน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส                  ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน
จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน                   จะจากต้นชาให้อาลัยแฮ...”


หัวนอนปลายเท้าของชา

ต้นชามีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Camellia sinensis (Linn.) Ktze. ชื่อในภาษาอังกฤษ คือ tea ซึ่งมาจากภาษาจีนว่า เต๊ ชาเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูงประมาณ 9 ฟุต แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง 30 ฟุต ใบรูปไข่ หนาและเหนียว ขอบใบเป็นหยักเล็กๆ คล้ายฟันเลื่อย ใบเขียวตลอดปี ดอกสีขาวนวลคล้ายดอกส้มเขียวหวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในผลมีเมล็ด 1-3 เมล็ด ตามธรรมชาติขึ้นอยู่ในเขตร้อนที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 600-900 เมตร ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชาอยู่บริเวณภาคใต้ของจีน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียวและภาคเหนือของไทย

ตามภูเขาบางแห่งในภาคเหนือของไทยมีต้นชาขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นเมี่ยง” คนไทยภาคเหนือนำใบชา (เมี่ยง) มานึ่งให้สุก แล้วหมักกับเกลือ นิยมใช้เคี้ยวหรืออมเป็นคำๆ และใช้รับรองแขก การทำเมี่ยงสำหรับใช้เคี้ยวหรืออมของชนชาวไทยนั้นคงทำกันมานานแล้ว เพราะมีปรากฏอยู่ในคำพังเพยของไทยโบราณสำนวนหนึ่งว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” นอกจากนี้ชาวไทยยังรู้จักนำใบชาอ่อนมาปรุงเป็นอาหารจำพวกยำอีกด้วย

ประโยชน์ของชา

ประโยชน์ด้านหลักของชา คือ การนำใบชามาเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแบ่งใบชาที่ใช้เป็นเครื่องดื่มได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชาเขียวและชาดำ

ชาเขียว เป็นชาแบบอินเดีย-ญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อชงน้ำร้อนแล้วจะได้น้ำชาสีเขียวหรือเหลืองอมเขียว ชาเขียวมีวิธีการทำคือ นำใบชาสดมาคั่วในกระทะทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่มากนัก เมื่อใบชาแห้งแล้วนำมาคลึงเบาๆ ใบชาที่แห้งแล้วจะมีสีเขียว

ชาดำ เป็นชาแบบอินเดีย-ศรีลังกา บางทีเรียก “ชาฝรั่ง” เพราะเป็นชาแบบที่ชาวตะวันตกนิยมดื่ม ซึ่งเมื่อชงน้ำร้อนแล้วจะได้น้ำชาสีน้ำตาลแก่ มีวิธีการทำคือ นำใบชาสดมาหมักทำให้บูด (fermentation) โดยขยี้เพื่อช่วยให้ชาบูดเร็วขึ้น เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงนำไปอบให้แห้งโดยใช้ความร้อน เมื่อแห้งแล้วจะได้ใบชาสีดำ

นอกจากใบชาแล้ว เมล็ดชายังนำมาสกัดน้ำมันใช้ทำอาหาร เนยเทียม และน้ำมันใส่ผม เป็นต้น กากเมล็ดชาใช้สระผมได้ดี และกากใบชาใช้ดูดกลิ่น ใบชามีคุณสมบัติด้านสมุนไพรหลายประการ เพราะประกอบด้วยกาเฟอีนประมาณร้อยละ 1-4 (สูงกว่าเมล็ดกาแฟ) แทนนินประมาณร้อยละ 7-15 น้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.75 และฟลูออไรด์อีกเล็กน้อย จากสารประกอบชนิดต่างๆ ในใบชาดังกล่าวทำให้ใบชามีสรรพคุณกระตุ้นให้รู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงนอน แก้ปวดเมื่อย มีคุณสมบัติฝาดสมาน แก้ท้องร่วงท้องเดิน แก้พิษยาอันตราย บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยป้องกันฟันผุด้วย

หากมองชาในแง่เครื่องดื่มก็จะเห็นว่ามีผู้ดื่มมากที่สุดในโลก แต่หากมองในแง่สัญลักษณ์แล้ว อาจเปรียบเสมือนตัวแทนของอารยธรรมและวัฒนธรรมตะวันออกที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก สมควรที่ชาวไทยซึ่งเป็นแหล่งกำเนินดั้งเดิมแห่งหนึ่งของชาจะภาคภูมิใจ เราทุกคนควรระลึกอยู่เสมอว่าเรายังมีมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาจากอดีตที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย หากเราไม่ดูถูกตัวเองและหลงใหลไปกับอารยธรรมตะวันตกอย่างที่กำลังเป็นอยู่

ข้อมูลสื่อ

168-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร