• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พวงชมพู ดวงใจดวงน้อยที่งดงามและบอบบาง

ตามปกติเมื่อผู้เขียนได้พบเห็นหรือสัมผัส ดอกไม้ที่มีรูปทรง สีสันงดงาม หรือมีกลิ่นหอมก็จะเกิดความปีติยินดี หรือชื่นใจกับรูปทรง สีสัน กลิ่นหอมที่ได้รับในขณะนั้น (ปัจจุบัน) หรือบางครั้งอาจระลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนั้น (อดีต) ที่ก่อให้เกิดความประทับใจฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกระดับต่างๆ อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจ ดังที่ผู้เขียนได้เคยบรรยายไปบ้างแล้ว เมื่อเขียนถึงดอกไม้แต่ละชนิดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ความรู้สึกและความทรงจำที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนยามเมื่อพบเห็นหรือได้สูดดมกลิ่นหอมของดอกไม้ชนิดต่างๆ นั้น เกือบทั้งหมดล้วนเป็นความสดชื่นรื่นรมย์ โดยเฉพาะดอกไม้ที่มีความผูกพันกับช่วงพิเศษในชีวิต เช่น ดอกสายหยุดกับช่วงบวชเป็นพระอยู่สวนโมกข์ และดอกการะเวกกับชีวิตวัยเด็กที่บ้านไม้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ เป็นต้น

มีเพียงดอกไม้ไม่กี่ชนิดที่ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าหมอง หดหู่ใจ ซึ่งก็เกิดจากเหตุการณ์บางอย่างเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนั้นที่ประทับอยู่ในความทรงจำนั่นเอง ดอกไม้น้อยชนิดที่ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกดังกล่าว มีดอกพวงชมพูรวมอยู่ด้วย

ยามเช้าของวันต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 ผู้เขียนเปิดประตูบ้าน พักที่อำเภอบางกรวย เพื่อเดินทางไปสำนักงานมูลนิธิฯ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่รั้วประตูบ้านสดใสด้วยสีชมพูของดอกพวงชมพู ตัดกับสีเขียวของใบซึ่งยังมีหยาดฝนเกาะติดอยู่ กลีบสีชมพู บางส่วนหลุดร่วงลงคลุมพื้นเบื้องล่าง ให้ความทรงจำเกี่ยวกับพวงชมพูกลับมาแจ่มชัดอีกครั้งหนึ่ง

ต้นปี พ.ศ. 2542 ผู้เขียนมีภารกิจเดินทางไปติมอร์ตะวันออกที่กำลังตึงเครียด เพราะต้องการแยกเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย ภารกิจที่ต้องออกไปสำรวจภาวะขาดแคลนอาหารในติมอร์ตะวันออก ทำให้ผู้เขียนต้องเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งตัวเมืองและชนบท เป็นการเดินทางครั้งที่จะไม่มีวันลืมได้ในชั่วชีวิตนี้ ความหดหู่ใจจากสภาพความจริงที่ได้ประสบค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึง และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพชาวพื้นเมืองติมอร์ตะวันออกที่ชื่อ “ตาตูม” มีลักษณะใกล้เคียงกับชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย กำลังเตรียมแปลงดำข้าว โดยใช้ควายทั้งฝูงกว่า 20 ตัว ไล่ต้อนให้เหยียบย่ำดินในนา ให้เปื่อยยุ่ย และกำจัดวัชพืช อันเป็นวิธีเก่าแก่ดั้งเดิมสืบทอดกันมาหลายพันปี ก่อนที่จะมีผู้ค้นพบการใช้ควายลากไถพลิกหน้าดิน ภาพนั้นบอกถึงสภาพการเป็นอยู่ของชาวพื้นเมืองติมอร์ตะวันออกได้เป็นอย่างดีว่า ช่วงเวลานับร้อยปีภายใต้การปกครองของคนภายนอก(โปรตุเกสและอินโดนีเซีย) คนพื้นเมืองได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง และทำไมชาวพื้นเมืองจึงต้องการเอกราช
 
อีกภาพที่ประทับใจมาจนบัดนี้ ก็คือภาพโบสถ์คริสต์ข้างทางที่ถูกทิ้งร้างจนปรักหักพัง และร่องรอยของการต่อสู้ทำลาย... โบสถ์ที่หักพังและถูกทิ้งร้างนั้น กลับงดงามด้วยสีชมพู ของดอกพวงชมพูที่ขึ้นปกคลุมทั้งตัวโบสถ์ กำแพง และกระทั่งลานดินหน้าโบสถ์ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะมองดูความงามบนความปรักหักพัง และบรรยากาศการต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่นั้น ยังติดประทับอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนอย่างไม่มีวันลืมเลือน และจะแจ่มชัดขึ้นมาทุกครั้งที่พบเห็นความงามของดอกพวงชมพู

พวงชมพู : หัวใจดวงน้อยสีชมพู จากแดนไกล
 
พวงชมพูเป็นไม้เถาขนาดเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Antigonon leptopus Hook. อยู่ในวงศ์ Polygonaceae เป็นไม้เลื้อยมีเถาอ่อน เลื้อยทอดยอดไปได้ยาวและเร็ว ลำต้น (เถา) มีสีเขียวอ่อน ใบเป็นชนิดเดี่ยว ออกทแยงสลับตามลำต้น รูปร่างคล้ายใบโพธิ์ เนื้อใบบาง เส้นใบชัด ตรงมุมด้านบนก้านใบส่วนติดกับลำตันมีส่วนที่เป็นมือพันจับกับสิ่งยึดเกาะต่างๆ

                                               

ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ประกอบด้วยดอกเล็กๆ อยู่มากมาย แต่ละดอกมีกลีบสีชมพู 5 กลีบ ประกอบกันเป็นรูปร่างคล้ายหัวใจดวงน้อยๆเมื่อกลีบมีอายุมากขึ้นสีชมพูจะจางลงจนเกือบเป็นสีขาว ปกติกลีบดอกพวงชมพูบอบบางและร่วงหล่นได้ง่าย เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากการจับต้องหรือถูกลมพัด
 
ส่วนที่เป็นช่อดอกพวงชมพูนั้น พัฒนามาจากมือที่ใช้ยึดจับนั่นเอง ดังนั้นตรงปลายช่อดอกจึงยังมีลักษณะเป็นมือจับอยู่อย่างเดิม
พวงชมพูออกดอกได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูฝน สามารถขึ้นได้ทั้งที่ร่มรำไรและกลางแดด มีความแข็ง แรงทนทาน จนอาจถือเป็นวัชพืชได้

พวงชมพูมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศเม็กซิโก คงเข้ามาในประเทศไทยหลังสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะไม่ปรากฏชื่อในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ. 2416) เพิ่งพบในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เดิมเรียกกันหลายชื่อ เช่น ชมพูพวง พวงนาก และหงอนนาก เป็นต้น

พวงชมพูนอกจากใช้เป็นไม้ประดับที่งดงาม ใช้คลุมซุ้มที่นั่ง ให้ร่มเงา หรือขึ้นคลุมต้นไม้ ตลอดจนพื้นที่ซึ่งต้องการฉากบังทัศนียภาพที่ไม่อยากแสดง (เช่น กองวัสดุที่ไม่ได้ใช้ โรงเก็บของ ฯลฯ) ยังนำมากินเป็นผักได้อีกด้วย โดยใช้ยอดอ่อนและช่อดอกที่ยังไม่บานเต็มที่ อาจนำมาลวกให้สุกเป็นผักจิ้ม หรือชุบแป้งทอดก็ได้

หากผู้อ่านได้ปลูกพวงชมพู หรือแม้แต่ได้พบเห็นก็ขอให้นึกถึงดวงใจดวงน้อยที่งดงามและบอบบาง ควรค่าแก่การดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอม และยอมรับในความเข้มแข็งที่อยู่ภายในความบอบบางนั้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

269-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 269
กันยายน 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร