• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีสยบความเครียด

วิธีสยบความเครียด


“เปลี่ยนชีวิต”
ผ่านไปด้วยรูปแบบที่หลากหลายบนส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของแต่ละคน จนกระทั่งมีท่านผู้อ่านบ่นเข้ามาว่าทำงานนั่งโต๊ะทั้งวันกำลังวังชาถดถอย ความคล่องตัวลดลง เอ๊ะ หรือที่พูดกันว่า “ไม่ออกกำลังแล้วจะมีกำลังได้อย่าไร ไม่ยืดเส้นยืดสายแล้วจะคล่องแคล่วได้อย่างไร” สงสัยท่าจะจริงเสียแล้ว เพราะมีผู้ร่วมงานหลายคนชักจะบ่นให้ได้ยินกันบ้างแล้ว

ฉบับนี้จึงขอแนะนำการยืดเส้นยืดสายเล็กๆ น้อยๆ ใช้เวลาสั้นแต่ได้ประโยชน์สูง ประหยัดสุดเลยทีเดียว มีข้อแม้ว่าทำแล้วติดใจจะมาโทษกันไม่ได้นะ หลายคนทราบดีว่าอาการ “เครียด” ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มีผลทำให้เกิดความดันเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคทางสมองตามมา ถึงกระนั้นก็มีวิธีการอยู่หลายวิธีที่สามารถจัดการกับความเครียดได้ โดยคุณสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับตัวเองดังนี้

1. ประสานนิ้วมือเข้าด้วยกัน เหยียดแขนไปข้างหน้าโดยขณะที่เหยียดให้หันฝ่ามือหงายออกจากตัว เหยียดจนสุดแขนและรู้สึกตึงที่ท่อนแขน ค้างไว้ประมาณ 20 วินาที (หรือนับ 1-20) ทำสัก 2 ครั้ง

2. ประสานนิ้วมือเข้าด้วยกัน เหยียดแขนไปเหนือศีรษะโดยขณะเหยียดให้หงายฝ่ามือขึ้นเหนือศีรษะ ยืดแขนออกไปจนกระทั่งรู้สึกตึงที่ท่อนแขนและซี่โครงส่วนบน ทำสัก 3 ครั้ง นิ่งค้างไว้ครั้งละ 10 วินาที (หรือนับ 1-10)

3. ให้ยกแขนตรงขึ้นเหนือศีรษะ ใช้มือขวาจับมือซ้าย และดึงมือซ้ายไปทางขวา โดยให้ลำแขนเหยียดตรงอยู่ตลอดเวลา ท่านี้จะยืดแขนลำตัวทางข้างและไหล่ นิ่งค้างไว้ประมาณ 15 วินาที และเปลี่ยนท่าเป็นมือซ้ายดึงมือขวา ทำท่าเช่นเดียวกัน

4. ยกมือขึ้นเหนือศีรษะและงอข้อศอกลงหลังศีรษะ ใช้มือซ้ายจับข้อศอกขวา หลังจากนั้นดึงข้อศอกขวาจนกระทั่งรู้สึกตึงบริเวณไหล่และแขนส่วนบนพอสมควร ค้างไว้ประมาณ 30 วินาที (หรือนับ 1-30) จึงเปลี่ยนข้าง แต่ควรระวังอย่าให้แขนตึงจนเกินไป

5. ประสานมือวางไว้ที่ท้ายทอย โดยให้ข้อศอกเหยียดกางออกทางด้านข้าง ลำตัวส่วนบนตั้งตรง หลังจากนั้นพยายามหรือใช้ความรู้สึกดึงกระดูกสะบักให้เข้าหากัน จะทำให้รู้สึกเกร็งบริเวณหลังส่วนบนและไหล่ ค้างไว้ประมาณ 8 ถึง 10 วินาที (หรือนับ 1-8 หรือถึง 10) แล้วพัก ทำหลายๆ ครั้ง ท่านี้เหมาะสำหรับเวลาไหล่และหลังส่วนบนตึงหรือเครียด

6. ยกข้อศอกขึ้นมาระดับไหล่ ใช้มือซ้ายจับข้อศอกขวา แล้วค่อยๆ ดึงข้อศอกเข้าหาตัวทางด้านซ้าย จนคุณสามารถมองเห็นไหล่ขวา ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที (หรือนับ 1-10) ทำสลับกันทั้ง 2 ด้าน

7. ท่ายืดแขนส่วนล่าง วางฝ่ามือให้ราบบนเก้าอี้โดยให้ปลายนิ้วทั้ง 5 ชี้ไปทางด้านหลัง โน้มแขนไปข้างหลังอย่างช้าๆ ให้มากที่สุดโดยที่ฝ่ามือยังแนบอยู่บนเก้าอี้ ค้างไว้ประมาณ 35-40 วินาที (นับ 1-35 หรือ 40) ทำสลับกับอีกข้าง คุณสามารถบริหารแขนทั้ง 2 ข้างพร้อมๆกันก็ได้

8. หมุนข้อเท้าขณะนั่ง ยกเท้าขวาขึ้นมาและใช้มือซ้ายหมุนข้อเท้าตามเข็มนาฬิกา และทวนเข็มนาฬิกาประมาณ 20-30 รอบ สลับข้างทำเหมือนกัน

กว่าจะยืดเส้นถึงข้อ 8 หลายท่านคงหายจากความเครียดหายจากความเมื่อยล้าไปก่อนแล้ว Vibrant life, September/October 1992

หมายเหตุ หากท่านหรือคนรู้จักมีวิถีชีวิตสร้างสรรค์ (เช่น การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตประจำวัน ฯลฯ) จะเขียนมาร่วมกับคอลัมน์ “เปลี่ยนชีวิต” เรายินดีเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะได้เผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นกำลังใจและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้อนุชนรุ่นหลัง

ข้อมูลสื่อ

168-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
เปลี่ยนชีวิต
สวนสน