• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะกรูด : ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง

มะกรูด : ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง
 

ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว
ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย...”

เนื้อเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ ผู้อ่านส่วนใหญ่คงจำได้ว่ามาจากเพลงกลองยาวซึ่งใช้เป็นบทสร้อยของเพลง นิยมขับร้องกันในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย

การที่ผู้แต่งเนื้อร้องเพลงนี้เลือกเอามะกรูดและมะนาวมาเปรียบเทียบกับลูกสาวและลูกเขย นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะในครัวของคนไทย(ภาคกลาง)จะขาดมะกรูดและมะนาวไม่ได้ เช่นเดียวกับในครอบครัวที่สมบูรณ์จะขาดทั้งลูกสาวและลูกเขยไม่ได้นั่นเอง

 


มะกรูด : ขี้เหร่แต่เพียงผิวนอก

มะกรูดนับเป็นพืชผักประจำครัวชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักดีและรู้สึกคุ้นเคยเป็นพิเศษ ทั้งนี้อาจเนื่องจากลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของมะกรูด นั่นคือ ผิวนอกของผลมะกรูดซึ่งหนาและขรุขระ เป็นปุ่มปมยับย่นต่างไปจากผลไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งสีของผลมะกรูดก็ไม่สวยงามเหมือนผลไม้ส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่ามะกรูดเป็นผลไม้ที่ขี้เหร่มากชนิดหนึ่ง

แต่น่าแปลกที่คนไทยส่วนใหญ่มองข้ามความขี้เหร่ของมะกรูดไปได้ กลับมองเห็นผลมะกรูดที่มีผิวย่นและเป็นปุ่มปนยิ่งมากยิ่งงดงาม และเป็นที่ต้องการมากกว่าผลมะกรูดที่มีผิวเรียบกว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะคนไทยทราบดีถึงประโยชน์จากผิวอันขรุขระของผลมะกรูดนั่นเอง

มะกรูดเป็นพืชในวงษ์ส้ม เช่นเดียวกับส้มชนิดอื่นๆ และอยู่ในสกุลเดียวกันด้วย คือสกุล Citrus มะกรูดมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Citrus hystrix DC. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ Kaffir lime สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปเอเชียของเรานี้เอง

มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก โตเต็มที่สูงไม่เกิน 5 เมตร ตามต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมขนาดใหญ่ ใบที่มีขนาดใหญ่กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ขอบใบมะกรูดเว้าเข้าหากันตรงกลางใบ ทำให้ดูคล้ายเอาใบไม้สองใบมาต่ออยู่บนก้านใบเดียวกัน เช่นเดียวกับใบส้มโอ ดอกมีสีขาว เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลขนาดโตกว่ามะนาวเล็กน้อย ผิวของผลหนาและเป็นปุ่มปมขรุขระ
ใบและผิวมะกรูดมีตุ่มน้ำมันอยู่ทั่วไป เป็นส่วนที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะของมะกรูดซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะใช้ในการประกอบอาหารไทย

ใบมะกรูดที่ใช้ปรุงอาหารนั้นเป็นใบแก่ ซึ่งมีสีเขียวเข้ม หนา และค่อนข้างกรอบ มีกลิ่นหอมฉุน อาหารไทยหลายตำรับนิยมใช้ใบมะกรูดหั่น หรือฉีกเป็นฝอยเพิ่มกลิ่นหอม หรือช่วยดับกลิ่นคาว เช่น ใช้ในต้มยำ ต้มปลา ต้มเครื่องในวัว น้ำยาขนมจีน ยำหอย ฯลฯ นอกจากนั้นยังใช้ในการหลนปลาร้า บูดู เคย ไตปลา ถั่วเน่า แหนม ฯลฯ หรือใช้ตำน้ำพริกไตปลา ปลาเค็ม กุ้งอ่อม ฯลฯ หรือใช้ปรุงก้อยกุ้ง เป็นต้น
นอกจากใช้ปรุงอาหารต่างๆได้มากมายแล้ว ใบมะกรูดยังใช้กินเป็นผักโดยตรงได้อีกด้วย นิยมนำมาย่างไฟให้สุกแล้วกินกับเครื่องจิ้ม(น้ำพริกปลาร้า ฯลฯ) เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ

สำหรับผลมะกรูดนั้น ใช้ผลมะกรูดแก่ ซึ่งยังไม่ถึงกับสุกหรือผิวเป็นสีเหลือง ส่วนของผลมะกรูดที่นำมาใช้ปรุงอาหารมากที่สุดคือผิวด้านนอก ซึ่งมีลักษณะขรุขระเป็นปุ่มปมนั่นเอง

ผิวมะกรูดนี้จะใช้สดหรือแห้งก็ได้ นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของพริกแกงหลายตำรับ เช่น แกงเผ็ดกะทิ แกงป่า แกงหมูเทโพ แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้ม เป็นต้น
นอกจากผิวนอกแล้ว น้ำในผลมะกรูดซึ่งมีรสเปรี้ยวจัดก็นำมาใช้ประกอบอาหารบางอย่างแทนน้ำมะนาวได้ เช่น น้ำพริกมะกรูด ปลาร้าหลน น้ำพริกปลาร้า แสร้งว่า ฯลฯ
จากตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากมะกรูดในการปรุงอาหารไทย ที่ยกมาเพียงบางส่วนนี้ จะเห็นได้ว่ามะกรูดเป็นพืชประจำครัวของชาวไทยอีกชนิดหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้

ประโยชน็ด้านอื่นๆของมะกรูด
นอกจากการนำมาใช้เป็นอาหารแล้ว มะกรูดยังให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ในด้านอื่นๆอีกมาก ซึ่งชาวไทยนับเป็นผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากมะกรูดได้ดีที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว
การใช้ประโยชน์จากมะกรูดที่ชาติอื่นๆในโลกคงไม่มีก็คือ นำมาปลูกในบริเวณบ้านเพื่อเป็นศิริมงคลจากตำราปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้านของคนไทยโบราณ กำหนดให้ปลูกมะกรูดเอาไว้ทางทิศพายัพ(ตะวันตกเฉียงเหนือ)ของตัวบ้าน จะเป็นศิริมงคลแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น
ในด้านสมุนไพร ชาวไทยรู้จักใช้มะกรูดมาเป็นยารักษาโรคได้หลายส่วน เช่น ในตำราสรรพคุณสมุนไพรบอกไว้ว่า
ใบ กลิ่นฉุน ร้อน ขับลมในไส้
ผล รสเปรี้ยว แก้เลือดออกตามไรฟัน
ผิว รสร้อนฉุน ขับลม ขับลมในลำไส้
ราก รสเย็นจืด ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ กระทุ้งพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ลมจุกเสียด
น้ำในผล รสเปรี้ยว กัดเสมหะในลำคอ แก้น้ำลายเหนียว
ชาวไทยรู้จักนำผลมะกรูดมาใช้สระผม ตั้งแต่ก่อนมีสบู่และแชมพูเสียอีก นิยมนำผลมะกรูดไปย่างหรือเผาไฟให้สุก และผ่าเอาน้ำในผลมะกรูดมาใช้ทำความสะอาดผมและหนังศีรษะ เชื่อกันว่าทำให้เส้นผมดกดำ และป้องกันรังแคได้ดี

แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีชาวไทยจำนวนมาก(โดยเฉพาะสุภาพสตรี)นิยมใช้ผลมะกรูดสระผมอยู่ ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำมะกรูดไปเป็นส่วนผสมในแชมพูสระผมหลายชนิด เป็นที่นิยมกันทั่วประเทศ น่ายินดีที่มีชาวบ้านหลายแห่งรวมกลุ่มกันผลิตแชมพูจากมะกรูดและสมุนไพรอื่นๆ (เช่น ว่านหางจระเข้ ดอกอัญชัน ใบหมี่ ฯลฯ) ในลักษณะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยราชการ และได้รับการอุดหนุนจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี

ผลมะกรูดที่ผ่าซีกบีบน้ำออกแล้ว ใช้เป็นยาดับกลิ่นในห้องสุขได้ดี โดยเฉพาะในโถส้วมปัสสาวะ ใช้แทนลูกเหม็นหรือยาดับกลิ่นที่เป็นสารเคมีได้ดีมาก

ร้านอาหาร โรงแรม หรือส้วมสาธารณะ ฯลฯ น่าจะช่วยกันใช้มะกรูดแทนยาดับกลิ่นที่เป็นสารเคมีกันให้มากๆ เพราะนอกจากจะไม่มีอันตรายแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินตราของชาติด้วย

ข้อด้อยของมะกรูดอย่างหนึ่งคือปลูกค่อนข้างยาก เพราะอ่อนแอ และโตช้าไม่ว่าจะปลูกจากเมล็ดหรือกิ่งตอน แต่ปัจจุบันมีผู้นำมะกรูดมาติดบนตอต้นมะขวิด ทำให้ได้มะกรูดแคระที่ปลูกได้ในกระถาง แข็งแรงทนทาน ออกดอกออกผลได้ตลอดปีใช้เป็นไม้ประดับได้ดีเท่าๆกับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน


 

ข้อมูลสื่อ

184-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 184
สิงหาคม 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร