• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่งเพื่อสุขภาพ

วิ่งเพื่อสุขภาพ

 

“มากไปก็ช้ำ น้อยไปก็เฉา”


ขออัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาขึ้นต้นเรื่อง เรื่องของเรื่องก็ไม่มีอะไร เมื่อเช้าผู้เขียนไปวิ่ง(เหมือนอย่างเคย) แล้วก็ฉุกใจนึกถึงวลีนี้ขึ้นมา

เช้าวันนี้อากาศสดชื่นเป็นพิเศษ เพราะฝนเพิ่งขาดเม็ดใหม่ๆ นกกาออกมาส่งเสียงเจื้อยแจ้ว เสียงนกร้องเพราะจนผู้เขียนไม่กล้าเปิดวิทยุในห้องน้ำ เกรงจะทำลายความสุนทรีย์ในขณะที่ธรรมชาติกำลังเบ่งบานชวนอารมณ์ให้อิ่มเอิบซาบซ่านด้วยปีติ

เห็นไหมไม่ต้องนั่งทำสมาธิก็เกิดปีติได้

ความปีติยิ่งบังเกิดเมื่อเดินทางไปถึงสถานที่วิ่ง อันได้แก่ สวนตำหนักน้ำ ปกติที่นี่จะคลาคล่ำด้วยผู้คน แต่เช้านี้เงียบสงัดเพราะหยาดฝน

ผู้เขียนวิ่งรู้สึกตัวเบากว่าปกติ คงเพราะบรรยากาศและอากาศเย็นๆเป็นใจ วิ่งขึ้นรอบที่สี่มีเสียงฝีเท้าวิ่งตามหลัง หันไปดู นักวิ่งมีอายุคนหนึ่งก้มหน้าก้มตาวิ่ง แต่ระยะทางใกล้ผู้เขียนเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ได้การ วิ่งท่าทางสะเงาะสะแงะอย่างนี้ จะเร็วกว่าเราได้อย่างไรกัน พอนึกเท่านั้น ฝีเท้าก็เร่งขึ้นโดยอัตโนมัติ สักเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงหายใจหอบถี่ออกมาจากปากของตัวเอง ขาเริ่มรู้สึกปวดร้าว เหมือนมันจะอุทธรณ์ว่าจะลงแส้ใช้งานไปถึงไหน สติกลับคืนมา ก็ผ่อนฝีเท้าลง ย้ายจิตมากำหนดที่เท้าซ้าย นับซ้าย...ซ้าย...ทุกครั้งที่เท้าซ้ายกระทบพื้นครบห้ารอบ ผู้เขียนก็ชะลอการวิ่ง จนไปหยุดเอาที่สวนสุขภาพ เพื่อทำกายบริหารและออกกำลังส่วนอื่นๆของร่างกาย

ปกติจะวิ่งวันละ 2-3 กิโลเมตร วันไหนวิ่งถึง 5 กิโลเมตร ก็ถือเป็นการวิ่งระยะยาว จะทำในโอกาสพิเศษ เช่น วิ่งตามชายหาดบางแสนในวันอาทิตย์หรือวันที่เพื่อนคุยถูกคอ วิ่งไปคุยไปเพลินจนลืมเวลา
ส่วนใหญ่ไม่ได้นับระยะทางด้วยซ้ำไป กะเวลาประมาณ 20-30 นาทีเป็นเกณฑ์

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้าวันไหน(ร่างกาย)ไม่พร้อม วิ่งแค่ 5 นาทีก็ยังมี บางทีก็เดินอย่างเดียวถ้ารู้สึกไม่ค่อนสบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว

ผลของการวิ่งเป็นอย่างไร

ประการแรก รู้สึกว่าร่างกายไม่เพลีย เมื่อสมัยซ้อมวิ่งวันละ 10 กิโลเมตร(เป็นอย่างต่ำ) เพื่อจะลงแข่งมาราธอนที่ปีนัง พอตกบ่ายเป็นไม่ได้ จะง่วงเหงาหาวนอน

ประการที่สอง อาการเจ็บไม่มี เพราะถ้าวันไหนรู้สึกแข้งขาทำท่าจะเจ็บ เราก็หยุดเสียก่อน สถิติทางการแพทย์ก็สอนไว้ ‘ถ้าวิ่งอยู่ในระยะ 20-30 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ โอกาสเจ็บจะน้อย แต่ถ้าวิ่งมากกว่านั้น อัตราการเจ็บแข้งเจ็บขาจะพุ่งพรวดขึ้นไปสองสามเท่า’
แสดงว่ามนุษย์เรา(ส่วนใหญ่)มีร่างกายที่ทนรับแรงกระแทกจากการวิ่งได้เพียงเท่านั้น คือไม่เกิน ๓o กิโลเมตรต่อสัปดาห์ เฉลี่ยออกมาเป็นรายวันก็ประมาณ 4 กิโลเมตรกว่าๆ ฉะนั้นวิ่งวันหนึ่งอย่าให้เกิน 5 กิโลเมตร

ประการที่สาม ในแง่สุขภาพคือมีผลต่อหัวใจ ปอด ตลอดจนระบบไหลเวียนเลือด
การออกกำลังกายหนักๆอย่างการวิ่ง ทำวันละ 20-30 นาที ก็ถือว่าเพียงพอ ใครที่จะต่อยอด คือทำมากกว่านั้น ก็ไม่ผิดกติกาอันใด แต่ทางการแพทย์เขาไม่ถือว่าคุณทำเพื่อสุขภาพตัวเองแล้วล่ะ แต่ทำไปเพื่อหวังผลอย่างอื่นมากกว่า เช่น จะเอาไปใช้ในการแข่งขันหรือเพื่อจะลองทดสอบความสามารถของตัวเอง หรือทำเพื่อความมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่ากัน แต่ก็ระวังหน่อย ตรงที่จะเกิดความช้ำตามมาได้

คาถาป้องกัน “ความช้ำ” ที่ดีที่สุดคือ สังเกตตัวเอง ร่างกายเรามีระบบเตือนภัยที่วิเศษสุดละเอียดอ่อน แม่นยำ แน่นอนกว่าเครื่องมือวัดใดๆไม่ว่าเครื่องมือนั้นจะราคาแพงแค่ไหน ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็สู้ร่างกายและความรู้สึกของเราไม่ได้ ฉะนั้นจงฟังความรู้สึกของตัวเองไว้

แน่นอนที่ว่า บางครั้งอาจไม่ใช่ “ความรู้สึก” ที่แท้จริง แต่เป็นสิ่งอื่น จะเรียกอำนาจฝ่ายต่ำ ตัวมาร หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มาหลอกเรา กระซิบบอกว่า อย่าเพิ่งตื่น(ไปวิ่ง)เลยนะวันนี้ ร่างกายยังเพลียอยู่เพราะเมื่อคืนเข้านอนดึก ฯลฯ ก็ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือของแท้ ของเทียม สำหรับผู้ที่ยอมสยบให้กับ “ของเทียม” เป็นประจำ ก็ขอให้สังเกตวรรคหลังของพระราชบัญญัติ น้อยไปก็เฉา
ครับ ถ้าทำ(การออกกำลัง)น้อยไป หรือไม่ได้ทำเลย สมรรถภาพ หัวใจ ปอด ระบบไหลเวียนเลือดต่ำลง กล้ามเนื้อก็ฝ่อ จิตใจก็ห่อเหี่ยว

ซึ้งหรือยังกับพระราชดำรัสสั้นๆ แต่ความหมายลึกล้ำ

มากไปก็ช้ำ น้อยไปก็เฉา”

ก็เป็นหน้าที่ของคุณผู้อ่านล่ะครับ ที่จะหาสูตรให้เหมาะกับตัวเองว่า แค่ไหนคือน้อย แค่ไหนคือมาก การจะหาสูตรก็คงไม่มีอะไรดีกว่า ลองผิดลองถูก แน่นอนที่ว่า ถ้าลองผิดก็คงมีการช้ำหรือเฉาอยู่บ้าง
แต่นั่นย่อมดีกว่าการงอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ

แบบนี้เฉาแน่นอน เพราะแย่ยิ่งกว่าเฉาก๊วยด้วย เพราะกินก็ไม่ได้

ข้อมูลสื่อ

185-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 185
กันยายน 2537
เปลี่ยนชีวิต
นพ.กฤษฎา บานชื่น