• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เบาหวาน

เบาหวาน


ข้อน่ารู้
1. ปกติร่างกายของคนเรามีการเผาผลาญน้ำตาลที่ได้มาจากอาหารจำพวกแป้ง และของหวาน ให้เกิดเป็นพลังงานสำหรับการทำหน้าที่ของอวัยวะทุกส่วน เช่น การเคลื่อนไหว การใช้สมอง การทำงานของหัวใจ การย่อยอาหาร การหายใจ เป็นต้น การเผาผลาญน้ำตาลดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยสารฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “อินซูลิน” ซึ่งสร้างโดยตับอ่อน
ในคนปกติตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินในปริมาณที่พอเหมาะกับระดับน้ำตาลในเลือด กล่าวคือ ถ้าเรากินแป้งหรือของหวานมาก แป้งหรือของหวานจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล และดูดซึมผ่านทางลำไส้เข้าไปในกระแสเลือดในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้นตามส่วน อินซูลินก็จะกระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ นำเอาน้ำตาลในเลือดไปใช้ประโยชน์ และสะสมส่วนเกินเป็นพลังงานสำรองไว้ในตับและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะรักษาระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในดุลปกติ ในคนทั่วไปหลังจากอดอาหารเป็นเวลา 6 ชั่วโมง จะมีระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 60-120 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ถ้าตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ก็ถือว่าสูงเกินปกติ










 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. คนที่เป็นเบาหวาน พบว่าตับอ่อนมีการหลั่งอินซูลินได้ไม่พอที่จะรักษาดุลของน้ำตาลในเลือด หรือหลั่งพอแต่ใช้ไม่ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เมื่อน้ำตาลคั่งในเลือดมากๆ ก็จะถูกไตกรองออกมาทางปัสสาวะ น้ำตาลที่ล้นออกทางไตนี้จะดึงเอาน้ำในร่างกายตามออกมาด้วย ทำให้มีอาการปัสสาวะมากและบ่อย เมื่อถ่ายปัสสาวะมากก็กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย ขณะเดียวกันเมื่อร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีอยู่มาก ก็จะขาดพลังงาน มีอาการอ่อนเพลีย และมีความรู้สึกหิวบ่อย (เพราะร่างกายต้องการอาหารมากเนื่องจากกำลังขาดพลังงาน) ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานถึงขั้นที่มีอาการ ซึ่งมักจะมีระดับน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร 6 ชั่วโมง) มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ร่วมกับปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย และหิวบ่อย

3. โรคเบาหวาน มีสาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยคือกรรมพันธุ์กับความอ้วน พบว่าถ้าพ่อแม่เป็นเบาหวาน ลูกก็มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น หรือหากไม่มีพันธุกรรมเบาหวาน แต่ถ้าชอบกินของหวาน ของมันจนอ้วน ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นเช่นกัน

สาเหตุอื่น ได้แก่ มีลูกดก หรือกินยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน เดกซาเมทาโซน) หรือยาชุด หรือยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสตีรอยด์เป็นประจำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด ปวดข้อ ปวดหลัง เป็นต้น
การกินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือยาขับปัสสาวะเป็นประจำ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่น เช่น คอพอกเป็นพิษ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

4. ปัจจุบันพบว่าคนไทย 100 คน จะมีคนที่เป็นโรคเบาหวานประมาณ 2-3 คน มักพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ

เราสามารถแบ่งโรคเบาหวานเป็น 2 ชนิดได้แก่
ก. เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ซึ่งพบได้กว่าร้อยละ 90-95 ของคนไข้เบาหวานทั้งหมด มักมีความรุนแรงน้อย พบในอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป สามารถรักษาด้วยการควบคุมอาหารและกินยาลดน้ำตาล น้อยคนที่อาจต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเป็นบางครั้งบางคราว เช่น ขณะที่เป็นโรคติดเชื้อแทรกซ้อน หรือผ่าตัด เป็นต้น
ข. เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย แต่มีความรุนแรงมาก มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นรูปร่างไม่อ้วน จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินตลอดชีวิต สาเหตุเนื่องมาจากตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่ได้เลย หรือได้น้อยมาก พวกนี้ถ้าขาดยาฉีดอินซูลินมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

5. เนื่องจากโรคนี้เกิดจากความบกพร่องของร่างกายในการเผาผลาญน้ำตาล จึงเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องคอยดูแลรักษาไปตลอดชีวิต ถ้าเป็นน้อย การควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวก็อาจช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็จำเป็นต้องอาศัยการกินยาลดน้ำตาลในเลือดเข้าช่วย และมีเพียงส่วนน้อยที่อาจต้องอาศัยยาฉีดอินซูลินเป็นประจำทุกวัน

เคล็ดลับของการรักษาโรคนี้อยู่ที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่เกณฑ์ปกติ ถ้าควบคุมได้ดีตลอดไป นอกจากร่างกายมีความสุขสบายแล้ว ยังป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย สามารถมีชีวิตยืนยาวเท่าอายุขัยที่ควรจะเป็น และดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขเช่นคนทั่วไป หรืออาจจะกล่าวได้ว่า “เบาหวานแม้จะเป็นเรื้อรัง แต่ก็สามารถควบคุมให้กลับเป็นปกติได้”
6. โรคแทรกซ้อนมักเกิดกับคนไข้ที่ปล่อยปละละเลยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินอยู่นานเป็นเวลา 5-10  ปีขึ้นไป


โรคแทรกซ้อนดังภาพตารางที่ ๑ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยที่คนไข้ไม่รู้ตัว และเมื่อเป็นมากจนถึงขั้นปรากฏอาการชัดเจนแล้ว ก็ยากที่จะเยียวยารักษาให้ทุเลาลงได้ การรักษาก็เพียงแต่ประคับประคองมิให้โรคทรุดตัวเร็วขึ้น
โรคเหล่านี้มักทำให้คนไข้ทนทุกข์ทรมาน สิ้นเปลืองค่ารักษา และอายุสั้น

7. นอกจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าวแล้ว คนไข้ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
ก. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างมาก (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 500-600 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตรขึ้นไป) มักเกิดกับคนไข้เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน แต่ขาดยาหรือใช้ยาในขนาดน้อยเกินไป คนไข้จะมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ผิวแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบลึก ซึม หมดสติ หากสงสัยควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ข. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตรลงมา) มักเกิดกับคนไข้ที่กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินอยู่ สาเหตุเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรืออดอาหาร หรือออกแรงมากเกินปกติ คนไข้จะมีความรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ตัวเย็น ในที่สุดจะมีอาการเป็นลม หมดสติ

วิธีแก้ไข เมื่อเริ่มรู้สึกหิว ใจสั่น มือสั่น ให้รีบกินน้ำหวานหรือน้ำตาลทันที แต่ถ้าหมดสติต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

8. จะเห็นว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต้องอาศัยสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่กิน การออกแรงกาย และยารักษาเบาหวาน ทั้ง 3 ส่วนประกอบกัน

ถ้าเสียดุล เช่น กินอาหารมากขึ้น ออกแรงน้อยลง แต่ใช้ยาขนาดเท่าเดิมหรือน้อยลง ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
แต่ถ้ากินอาหารน้อยลง หรือออกแรงมากขึ้น แต่ใช้ยาขนาดเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
ดังนั้นในทุกๆวันคนไข้จะต้องมีสติระลึกถึงสมดุลของ 3 เรื่องนี้อยู่เสมอ

9. การป้องกัน ควรควบคุมอาหาร หมั่นออกกำลังกาย และควบคุมมิให้น้ำหนักเกิน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสตีรอยด์ อย่าดื่มเหล้าจัด (อาจทำให้เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นต้นเหตุของเบาหวานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวานอยู่ก่อน ก็ควรต้องปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคนี้อย่างเคร่งครัด


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

ในที่นี้ขอย้ำว่า คนที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มแรก (ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 6 ชั่วโมงมีค่าระหว่าง 140-200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) จะไม่ปรากฏอาการแต่อย่างใดทั้งสิ้น จะทราบว่าเป็นเบาหวานก็ต่อเมื่อมีการตรวจเช็กเลือดเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แม้ว่ารู้สึกสบายดีก็ควรตรวจเช็กเลือดสักครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นเบาหวาน หรือมีรูปร่างอ้วนเกิน เมื่อพบว่าปกติ ก็อาจเว้น 3-5 ปีค่อยตรวจซ้ำ ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีหรือปีละหลายครั้ง
ส่วนคนที่เป็นเบาหวานระยะปรากฏอาการ (ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเลือด100มิลลิลิตร ภายหลังอดอาหาร 6 ชั่วโมง) ก็จะมีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะมากและบ่อย (โดยไม่มีอาการแสบขัด) ดื่มน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย น้ำหนักลด

ถ้าเป็นมานาน โดยปรากฏอาการมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ก็อาจมีอาการแสดงของโรคแทรกซ้อน เช่น แผลหายช้า ตกขาวคัน ขัดเบา (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) เป็นฝีขึ้นตามผิวหนังบ่อย ชาปลายมือปลายเท้า เจ็บหน้าอก ตามัวก่อนวัยอันควร เป็นต้น ดังนั้นหากสงสัยก็ควรจะปรึกษาแพทย์ หรือตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด

อาการถ่ายปัสสาวะบ่อย และกระหายน้ำบ่อยอาจจำเป็นต้องแยกออกจากโรคเบาจืด ซึ่งมักมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง เป็นโรคที่พบได้น้อย อย่างไรก็ตาม หากสงสัยก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ส่วนอาการขัดเบา เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะมีอาการถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอยทีละน้อยและแสบขัด ไม่มีอาการกระหายน้ำ ซึ่งแตกต่างจากเบาหวานอย่างชัดเจน
ส่วนอาการน้ำหนักลดลงอย่างฮวบฮาบ ก็อาจมีสาเหตุจากโรคคอพอกเป็นพิษ (ใจสั่น เหนื่อยง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว), วัณโรค (ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หรือมีไข้เรื้อรัง), มะเร็ง (อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเร็ว), เอดส์ (ไข้เรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ฯลฯ)

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่ยังไม่เคยตรวจพบว่าเป็นเบาหวานมาก่อน ควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ
1. มีอายุมากกว่า 40 ปี และมีประวัติกรรมพันธุ์เป็นเบาหวานหรืออ้วน
2. มีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หรือหิวบ่อย
3. มีอาการตกขาว คัน ขัดเบา เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
4. แผลหายช้า หรือเป็นฝีบ่อย
5. ชาปลายมือปลายเท้า หรือเจ็บหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ
6. มีอาการตามัว

ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวาน และรับการรักษาอยู่ประจำ ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
1. ขาดยาที่ใช้รักษา เช่น ยาหาย ยาไม่พอ
2. มีอาการไม่สบาย เช่น ไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อ่อนแรง ซึม เป็นลม ฯลฯ

แพทย์จะทำอะไร
ในรายที่ไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น
ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานระยะเริ่มแรก แพทย์จะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลเท้า
ในรายที่จำเป็นต้องให้ยารักษา จะเริ่มต้นด้วยยาลดน้ำตาล (ซึ่งมีให้เลือกใช้อยู่หลายชนิด) ในขนาดน้อยๆ (เช่น วันละ 1/2 เม็ด) แล้วติดตามผลทุก 2-4 สัปดาห์ หากจำเป็นจะค่อยๆเพิ่มขนาดยาทีละน้อย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ยาเกินขนาด ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นอันตรายได้

ในรายที่จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน แพทย์จะสอนคนไข้หรือญาติให้ฉีดเองที่บ้านทุกวัน ขนาดยาจะเริ่มจากขนาดน้อยก่อนเช่นกัน
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคติดเชื้อ โรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน แพทย์จะให้ยารักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กับยาเบาหวานไปด้วย

โดยสรุป เบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของร่างกายในการเผาผลาญน้ำตาล จึงจำเป็นต้องการดูแลรักษาตลอดชีวิต เพื่อนควบคุมโรคให้กลับเป็นปกติสุข และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว คนที่เป็นเบาหวานนอกจากจะต้องปรึกษาแพทย์เป็นประจำแล้ว ยังต้องรู้จักวิธีดูแลตนเองในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การคลายเครียด การหลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดให้โทษ และการดูแลเท้า ถ้ามีสติและรู้จักวิธีดูแลตนเองทุกวัน ก็สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเช่นคนทั่วไปได้ เบาหวานจึงมิใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่ประการใด
 

                                                   การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีกรรมพันธุ์เป็นเบาหวาน หรือรูปร่างอ้วน เมื่อมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะรู้สึกสบายดีก็ควรจะตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้แน่ใจว่ามิได้เป็นเบาหวานระยะเริ่มแรก (ก่อนปรากฏอาการ)
ส่วนคนที่มีอาการสงสัยว่าเป็นเบาหวานก็ควรจะปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวานก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. พบแพทย์และตรวจเลือดตามนัด ขอย้ำว่าถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย (140-200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้ อาจทำให้คนไข้ชะล่าใจ ปล่อยตัวจนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้

2. กินยาลดน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่าลดยาหรือปรับยาตามความรู้สึกหรือการคาดเดาด้วยตัวเองเป็นอันขาด ควรใช้ยาและกินอาหารเป็นเวลา (ตรงเวลาทุกมื้อ) ปริมาณอาหารให้พอๆ กันทุกวัน

3. ควรควบคุมอาหารการกินอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ดังนี้
⇔  กินอาหารวันละ 3 มื้อ กินให้ตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง กินในปริมาณใกล้เคียงกันทุกวัน ทุกมื้อ
⇔  อย่ากินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา
  ในแต่ละมื้อให้กินอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผัก
⇔  ห้ามกินน้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมเชื่อมน้ำตาล นมหวาน (ให้ดื่มนมจืดแทน) ผลไม้ที่มีรสหวานจัด ( เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น ละมุด อ้อย) ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาล
⇔  ถ้าชอบหวาน ให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
  ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
   หลีกเลี่ยงการกินเครื่องในสัตว์ ไขมันสัตว์ น้ำมันหมู เนย มันหมู มันไก่ เนื้อติดมัน หมูสามชั้น ครีม กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไข่แดง หอยนางรม อาหารทอด ( เช่น ไก่ทอด กล้วยแขก ปาท่องโก๋ มันทอด ข้าวเกรียบทอด)
  หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารสำเร็จรูป (เช่น ไส้กรอก กุนเชียง)
⇔   กินอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะมี่ ถั่ว ขนมปัง ในจำนวนพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
⇔  กินผักมากๆ (ปริมาณไม่จำกัด) โดยเฉพาะผักประเภทใบและถั่วสด เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักกะเฉด มะระ มะเขือยาว ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ฯลฯ
กินผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ได้มื้อละ 6-8 คำ เช่น ส้ม มังคุด มะม่วง มะละกอ พุทรา ฝรั่ง สับปะรด ฯลฯ

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือทำงานออกแรงกายให้มาก ควรทำในปริมาณพอๆ กันทุกวัน อย่าหักโหม
ทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลัง ควรให้เกิดความพอเหมาะที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าอ้วนเกินแสดงว่ายังปฏิบัติทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่ได้เต็มที่

5. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริง อย่าให้เครียดหรือวิตกกังวล

6. ควรเลิกสูบบุรี่โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแทรกซ้อนต่างๆ

7. หมั่นดูแลรักษาเท้า ดังนี้
⇒  ทำความสะอาดเท้าและดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้างและฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้าและส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างทั่วถึง หลังล้างเท้าเรียบร้อยแล้วซับทุกส่วนโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนู ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไปเพราะผิวหนังอาจถลอกเป็นแผลได้
⇒  ถ้าผิวหนังที่เท้าแห้งเกินไป ควรใช้ครีมทาผิวทาบางๆ โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า และรอบเล็บเท้า
⇒  ตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้าบริเวณที่เป็นจุดรับน้ำหนัก และรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผลหรือการอักเสบหรือไม่
หากมีแผลที่เท้าต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
⇒  การตัดเล็บควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่เกิดเล็บขบ ซึ่งอาจลุกลามและเป็นสาเหตุของการถูกตัดขาได้
  ควรตัดเล็บในแนวตรงๆ และอย่าให้สั้นชิดผิวหนังจนเกินไป
  ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ
  การตัดเล็บควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้
⇒  ป้องกันการบาดเจ็บและเกิดแผล โดยให้สวมรองเท้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน (อย่าเดินเท้าเปล่า) ควรเลือกรองเท้าที่สวมพอดี ไม่หลวม ไม่บีบรัด พื้นนุ่ม มีการระบายอากาศและความชื้นได้ ควรสวมถุงเท้าด้วยเสมอ โดยเลือกสวมถุงเท้าที่สะอาดไม่รัดแน่น และเปลี่ยนทุกวัน
ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูว่ามีวัตถุมีคมตกอยู่ในรองเท้าหรือไม่
สำหรับรองเท้าคู่ใหม่ ในระยะเริ่มแรกควรใส่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้รองเท้าค่อยๆ ขยายปรับตัวเข้ากับเท้าได้ดี
  หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า และไม่ควรซื้อยากัดลอกตาปลามาใช้เอง
⇒  ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อน หรือประคบด้วยของร้อนใดๆ จะทำให้เกิดแผลไหม้พองขึ้นได้ และไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้นแต่อย่างใด

8. ผู้ที่กินยาหรือฉีดยารักษาเบาหวานอยู่ประจำทุกวัน ถ้าหากมีอาการหิว ใจหวิว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย ตัวเย็น อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบกินของหวานหรือน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กินอาหารน้อยหรือกินผิดเวลา หรือทำงานหักโหมกว่าปกติ

9. หมั่นตรวจน้ำตาลในปัสสาวะด้วยตนเอง ช่วยให้รู้ได้คร่าวๆ ว่าควบคุมเบาหวานได้ดีเพียงไร ควรปรึกษาแพทย์ถึงเทคนิคการตรวจ และความถี่ของการตรวจ (การชิมปัสสาวะ หรือตั้งปัสสาวะทิ้งไว้ให้มดขึ้น เป็นสิ่งที่วัดผลได้ไม่แน่นอน จึงไม่แนะนำ)

10. ควรพกบัตรประจำตัวที่ระบุถึงโรคที่เป็นและยาที่รักษา หากระหว่างเดินทางไปไหนมาไหน ประสบอุบัติเหตุหรือเป็นลมหมดสติ แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องและทันท่วงที
 

ข้อมูลสื่อ

192-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 192
เมษายน 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ