• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อายุวัฒนะ

อายุวัฒนะ

ในเดือนเมษายนมีวันผู้สูงอายุ หมอชาวบ้านจึงได้นำเรื่องนี้ขึ้นปก เรื่องอายุยืน หรือทีฆายุโก หรืออายุวัฒนะ เป็นอุดมคติของมนุษย์อย่างหนึ่งมาแต่โบราณกาล เพราะคนโบราณมีการตายโดยไม่สมควรตั้งแต่อายุน้อยๆ กันมาก ใครอายุถึง ๖๐ จึงถือเป็นเรื่องดีใจ และฉลองกันยกใหญ่ มาบัดนี้มนุษย์ตายตั้งแต่อายุยังน้อยลดลง ในสังคมต่างๆ จึงมีผู้สูงอายุมากขึ้น และจะมีมากขึ้นไปอีก

สังคมที่มีคนสูงอายุมากๆ ไม่เคยมีมาก่อนในครั้งโบราณ จึงต้องนับว่าเป็นสังคมชนิดใหม่ที่จะต้องปรับตัวว่าจะอยู่กันอย่างไร ถ้าคิดแบบเดิมก็ว่าการมีคนแก่จำนวนมากเป็นภาระแก่สังคม จะต้องเลี้ยงดู นี้อาจจะเป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยไปก็ได้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ในครั้งโบราณการเลี้ยงชีพต้องไปทำมาหากิน เมื่อแก่ไปทำไม่ไหว จึงต้องให้ลูกหลานเลี้ยง

ในสมัยปัจจุบันแตกต่างจากสมัยโบราณที่อาชีพส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ความรู้ ไม่ใช่ใช้แรงกายทำมาหากินโดยตรง คนสูงอายุยังทำงานได้อีกนาน สมัยโบราณไม่มีวิธีเก็บอาหาร ต้องหาอาหารมาบริโภคกันโดยตรง เมื่อคนแก่ทำมาหาอาหารมากินเองไม่ได้จึงต้องให้ลูกหลานหามาให้กิน แต่สมัยนี้ระบบธนาคาร บุคคลอาจสะสมทรัพย์ไว้ใช้กินเมื่อแก่ได้ ฉะนั้นบ่อยๆ ครั้งแทนที่จะเป็นลูกหลานหาเลี้ยงคนแก่ กลับกลายเป็นว่าคนแก่นั่นแหละยังต้องใช้ทรัพย์ที่สะสมไว้เลี้ยงลูกหลานต่อไปอีก

ในเรื่องผู้สูงอายุเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง
จุดสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่คุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ ไม่น่าจะมองที่อายุยืนหรือไม่ยืนอย่างตายตัวเกินไป คุณภาพชีวิตก็ควรพิจารณาในบริบทของทั้งหมดคือ ทั้งของปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมด้วย นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐกิจแล้ว มนุษย์ยังมีธรรมชาติแห่งความเอื้ออาทรต่อกันด้วย สังคมที่มนุษย์อยู่ด้วยกันเป็นปัจเจกบุคคลและสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ กับสังคมที่มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร และช่วยเหลือกัน มีความหมายต่อคุณภาพชีวิตแตกต่างกันมาก

อย่ามองอะไรเป็นการตายตัว แต่มีใจเปิดให้สิ่งต่างๆ ขยับเปลี่ยนแปลงได้ และควรจะมีการขยับเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพื่อความสุขร่วมกัน ไม่ว่าคนแก่หรือเด็ก ชายหรือหญิง รวยหรือจน สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ถ้ามนุษย์เปลี่ยนวิธีคิดใหม่

 

ข้อมูลสื่อ

192-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 192
เมษายน 2538
ศ.นพ.ประเวศ วะสี