• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตำลึง : ผักพื้นบ้านที่รู้คุณค่าได้จากชื่อ

ตำลึง : ผักพื้นบ้านที่รู้คุณค่าได้จากชื่อ

“พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

ข้อความที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นคำพังเพยของคนไทยโบราณ ซึ่งคนไทยสมัยนี้ไม่ค่อยจะได้ยินหรือนำมาใช้กันบ่อยนัก ความหมายของคำพังเพยบทนี้ก็คือ บางครั้งการพูดมีค่าน้อยกว่าการไม่พูด (นิ่งเสีย) อย่างมากมาย โดยเปรียบเทียบจากค่าของเงินที่ใช้กันในสมัยนั้นคือ สองไพเบี้ยกับตำลึงทอง ซึ่งมีค่าต่างกันมากเหลือเกิน

บางทีคนไทยสมัยนี้อาจนึกไม่ออกเลยก็ได้ว่าความแตกต่างในคำพังเพยบทนี้มีมากแค่ไหน เพราะมาตราเงินไทยโบราณที่ยกมาอ้างนั้นเลิกใช้ไปนานนับร้อยปีแล้ว โอกาสนี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาตราเงินไทยโบราณมาบันทึกไว้เพื่อผู้อ่านที่อยากทราบความหมายที่ลึกซึ้ง (เป็นรูปธรรม) ของคำพังเพยบทนี้
มาตราเงินไทยโบราณ (ก่อนปีพ.ศ.2405)
100 เบี้ย = 1 อัฐ
2 อัฐ = 1 ไพ
4 ไพ = 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง =1 สลึง
4 สลึง = 1 บาท 
4 บาท = 1 ตำลึง
20 ตำลึง = 1 ชั่ง
จะเห็นว่าเบี้ยเป็นหน่วยวัดค่าเงินไทยที่ต่ำสุด ในอดีตนั้นเบี้ยเป็นหอยชนิดหนึ่งที่นำมาใช้แลกเปลี่ยนกันจริงๆ จนกระทั่งเลิกไปเมื่อปีพ.ศ.2405 แต่ในภาษาปัจจุบันเราก็ยังใช้คำว่า “ดอกเบี้ย” กันอยู่
จากมาตราเทียบค่าเงินนี้เราก็สามารถเปรียบเทียบค่าของคำพูดที่มีเพียง “สองไพ(กับอีกหนึ่ง)เบี้ย” ได้ว่ามีค่าน้อยกว่าการไม่พูด(นิ่งเสีย)ถึงหลายร้อยเท่าตัว หากคิดเพียงค่าเงินตำลึงเดียว แต่หากคิดเป็นค่าเงินหนึ่งตำลึงทองแล้วย่อมมีค่ามากขึ้นไปอีกหลายเท่า



คำว่า “ตำลึง” ในภาษาไทยนี้ นอกจากเป็นมาตราเงินไทยโบราณ(ที่เลิกใช้)แล้ว ยังหมายถึงผักพื้นบ้านยอดนิยมชนิดหนึ่งอีกด้วย
ตำลึง : ผักพื้นบ้านไทยแท้แต่โบราณ
ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416 อธิบายความหมายของคำว่า “ตำลึง” ไว้ว่า “เป็นชื่อผักอย่างหนึ่ง เป็นเถาลูกมันสุกสีแดง ยอดอ่อนๆ ต้มกินก็ได้ แกงเลียงก็ดี อนึ่งเป็นชื่อเงินสี่บาท”
จะเห็นได้ว่าเมื่อพ.ศ.2416 คือ 122 ปีมาแล้วนั้น ตำลึงก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผักมากกว่าในฐานะมาตราเงินเสียอีก แม้ในปัจจุบันคนไทยก็รู้จักตำลึงในฐานะผักมากกว่ามาตราเทียบน้ำหนัก(ที่นิยมใช้ในการชั่งสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ)

ตำลึงมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Coccinia indica W. etA. อยู่ในวงษ์ Cacurbitaceae ซึ่งมีพืชจำพวกแตงต่างๆร่วมอยู่ด้วยนั่นเอง ตำลึงเป็นพืชจำพวกไม้เถาเลื้อย มีมือจับที่ข้อและรูปร่างใบห้าเหลี่ยมคล้ายแตงกวา แต่ใบตำลึงสีเข้มและไม่มีขน ดอกสีขาว ผลอ่อน สีเขียวลายขาวขนาดเล็กกว่าแตงกวา เมื่อสุกสีแดงเข้มเนื้อในก็แดงด้วย ตำลึงเป็นพืชที่มีรากแข็งแรงทนทาน มีอายุยืนหลายปี

ชาวไทยแบ่งตำลึงออกเป็นสองชนิด คือ ตำลึงตัวผู้และตำลึงตัวเมีย โดยใช้ลักษณะของใบเป็นหลัก กล่าวคือชนิดที่มีใบเป็นหยักเว้าเข้าไปถึงโคนใบเรียกว่าตำลึงตัวผู้ ส่วนชนิดที่มีใบกว้างเต็มหรือเว้าเล็กน้อยเรียกว่าตำลึงตัวเมีย ตำลึงที่ใช้เป็นผักนิยมชนิดตัวเมีย ส่วนชนิดตัวผู้นั้นมักใช้เป็นสมุนไพรมากกว่า
สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตำลึงนั้นอยู่แถบคาบสมุทรมาเลเซียและอินโดจีน ซึ่งรวมประเทศไทยด้วยนั่นเอง เราจึงพบตำลึงขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทย ผักตำลึงที่ชาวไทยเก็บมาบริโภคทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า เป็นตำลึงที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติมากกว่าที่ปลูกขึ้นโดยมนุษย์เสียอีก

ผักชั้นดี แต่หลายประเทศไม่รู้จัก
ปัจจุบันตำลึงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในประเทศเขตร้อนชื้นหลายสิบประเทศ แต่ดูเหมือนจะมีประชาชนของไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่รู้จักนำตำลึงมาใช้เป็นผักปรุงอาหารกันอย่างแพร่หลาย คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย (โดยเฉพาะบนเกาะชวา) ลาว เขมร เวียดนาม และจีน
น่าแปลกที่บางประเทศไม่รู้จักตำลึงว่าเป็นผักเลยจริงๆ ตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศซึ่งมีตำลึงขึ้นอยู่ทั่วไป ประชาชนยากจนกว่าไทยมาก แต่เขาไม่รู้ว่าตำลึงใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ผู้เขียนเองเคยแนะนำให้เพื่อนในประเทศทั้งสองนั้นนำตำลึงมาบริโภค แต่เขาไม่เชื่อว่ากินได้ ทั้งนี้เพราะไม่เคยมีผู้นำมาปรุงอาหารเลยนั่นเอง ในประเทศอินเดียและศรีลังกาก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นเดียวกัน เขารู้แต่ว่านำมาใช้เป็นสมุนไพรได้เท่านั้น

ส่วนของตำลึงที่นิยมนำมาใช้เป็นผักก็คือ ยอด ใบอ่อน และผลอ่อน โดยนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มจิ้มน้ำพริก หรือเครื่องจิ้มอื่นๆ แกงจืด แกงเลียง ผัด หรือย่าง(เผา) ฯลฯ สำหรับผลอ่อนนั้นยังนำไปดองได้เช่นเดียวกับผลแตงกวาอีกด้วย
ผู้อ่านที่ชอบกินก๋วยเตี๋ยว คงจะเคยเห็นหรือกินก๋วยเตี๋ยวสูตรพิเศษที่ชื่อก๋วยเตี๋ยวตำลึงมาบ้างแล้ว นับว่าหากินได้เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น
ผลสุกของตำลึงมีสีแดงสดใส เป็นอาหารโปรดของนกหลายชนิด ซึ่งช่วยนำเมล็ดตำลึงไปขยายพันธุ์ออกไปตามธรรมชาติ

ประโยชน์ด้านสมุนไพรของตำลึง
นอกจากด้านอาหารแล้ว ชาวไทยยังรู้จักคุณสมบัติด้านสมุนไพรของตำลึงเป็นอย่างดี ชาวชนบททั่วไปใช้ตำลึงรักษาอาการโรคต่างๆกันเป็นประจำ เช่น เมื่อถูกขนของพืชหรือสัตว์(เช่น บุ้ง) เกิดอาการคันหรือผื่นแดงขึ้น ก็ใช้ใบตำลึงขยี้เอาน้ำมาทาให้ทั่วบริเวณที่มีอาการ ก็จะทุเลาหรือหายไปในไม่ช้า เป็นต้น ในตำราสรรพคุณสมุนไพรไทยกล่าวถึงสรรพคุณตำลึงไว้หลายอย่าง อาทิเช่น
เถา รสจืดเย็น เป็นยาเย็นดับพิษ แก้ตาช้ำ ปวดตาได้
ใบ แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้
ใบตัวผู้ ใช้ผสมยาเขียว แก้ไข้ แก้พิษจากขนพืชหรือสัตว์ต่างๆ
ราก ลดความร้อน แก้ไข้ทุกชนิด

ตำลึงเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง รสอร่อย และปลูกง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง อาจตัดเถาแก่มาปักชำ หรือเก็บเมล็ดแก่มาเพาะก็ได้ เพียงช่วยทำร้านให้ตำลึงเกาะเลื้อยขึ้นไปเท่านั้น ตำลึงก็จะให้ยอดใบอ่อนและผลแก่ท่านได้นานหลายปี เป็นสมุนไพรใกล้มือที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง รวมทั้งผลสุกก็มีสีแดงสะดุดตาเป็นไม้ประดับที่เป็นอาหารของนกอีกด้วย

ผักตำลึงจึงเป็นพืชที่น่าปลูกในบ้านเรือนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ชื่อก็ยังบอกคุณค่าอยู่ในตัวเองแล้ว
 

ข้อมูลสื่อ

191-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 191
มีนาคม 2538
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร