• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อวัยวะเทียม

อวัยวะเทียม

 

ณ คลินิกศัลยกรรมเสริมความงาม นวลอนงค์นางหนึ่งประมาณอายุว่าคงจะเลยเลข 4 ไปแล้ว ได้เยื้องกรายเข้าไปปรากฏต่อหน้าแพทย์ที่รับปรึกษาปัญหาความงาม พร้อมกับพูดประโยคสั้นๆ แต่กินความหมายชัดเจนว่า “คุณหมอคะ ช่วย ‘ยกเครื่อง’ ทั้งตัวเลยนะคะ”

ถ้าเป็นสมัยก่อนคุณหมอที่ทำศัลยกรรมอาจจะเกิดอาการงงเล็กน้อย ด้วยความสงสัยว่าคนอะไรจะหาความงามสักนิดไม่เจอเลยเชียวหรือ ถึงกับต้องให้แพทย์ “ยกเครื่อง” ให้แทนการเสริมแต่งในบางส่วน แต่ครั้นเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ประโยคดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุการณ์ปกติโดยเฉพาะสาวสังคมในกรุง ถ้าใครไม่มีพลาสติกปะปนเข้ามาเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ดูจะเป็นเรื่อง “แปลกแต่จริง” ดังนั้น เราท่านจึงมักเห็น “ดอกไม้พลาสติก” กันเกลื่อนกรุงไปหมด

อันที่จริงเข้าใจว่างานศัลยกรรมตกแต่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่พิการมาแต่กำเนิด หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ ให้พวกเขามีความพร้อมทางด้านร่างกายเช่นคนปกติทั่วไปต่างหากมิใช่เป็นศาสตร์เพื่อทำให้คนสวย (หล่อ) น้อยกลับสวย (หล่อ) มากขึ้น แต่บางทีสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ดูดีขึ้นกลับทำพิษกับเจ้าตัวก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ถ้าเราจะเปรียบร่างกายคนเหมือนกับรถยนต์สักคัน แพทย์ก็คงไม่ต่างจากช่างฟิตที่ทำหน้าที่ซ่อมเครื่องยนต์เท่าใดนัก เพราะแพทย์จะต้องคอยตรวจดูว่าอวัยวะส่วนใดขาดหายไป ซึ่งจะทำให้ส่วนที่เหลือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ แพทย์ก็จะต้องหาอวัยวะเทียมที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กับอวัยวะจริงมาทดแทน

จากภาพจะเห็นได้ว่ามันสมองของมนุษย์เรานั้นล้ำเลิศเพียงใด มนุษย์สามารถคิดค้นสิ่งที่จะมาทดแทนอวัยวะที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันทำหล่นหายไปด้วยอุบัติเหตุบนเส้นทางชีวิตได้เกือบทุกชิ้นของอวัยวะในร่างกาย เริ่มตั้งแต่ตาไปจนถึงข้อต่อนิ้วหัวแม่เท้า ยกตัวอย่างเช่น แขนและมือเทียมที่ถูกควบคุมด้วยวงจรไฟฟ้าจากระบบคอมพิวเตอร์ ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว และถึงแม้ว่ามันจะดูเทอะทะ ไม่ลงตัว และใช้งานไม่ได้ดีเท่า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีสิ่งใดมาทดแทนเลย ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่อันที่จริงก็มีปัญหาค่อนข้างมากเหมือนกันในกรณีที่ร่างกายเกิดปฏิเสธอวัยวะเทียมนั้นขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงได้ จึงได้มีการทดลองวิจัยเพื่อค้นหาวิธีที่จะทำให้ไม่เกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก็มีการคิดค้นตัวยากดภูมิต้านทาน ซึ่งปัญหาภายหลังการใช้ได้ส่งผลให้ร่างกาย (บางคน) อ่อนแอกว่าปกติ ได้รับเชื้อโรคนิดหน่อยก็ป่วยแล้ว

การพัฒนาทางด้านการแพทย์ในระยะต่อมาสามารถช่วยคลายปัญหานี้ลงไปได้บ้าง แนวความคิดนี้ได้เริ่มมาจากการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากไฟไหม้ โดยใช้วิธีเซลล์ต่อเซลล์ คือ ทำให้เซลล์ของผู้ป่วยต่อกันเอง ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้ผิวหนังติดกันได้ในไม่ช้า วิธีการดังกล่าวนี้จึงนำไปสู่การนำกระดูกอ่อน (collagen) ของวัวมาขึ้นรูปเพื่อทำกระดูกขากรรไกรหรือกระดูกแก้มในคน ซึ่งกระดูกอ่อนของวัวนี้จะไม่ไปกระตุ้นให้ภูมิต้านทานร่างกายปฏิเสธอวัยวะส่วนนี้ จึงไม่ก่อปัญหาแก่ผู้ป่วยแต่อย่างใด

วิทยาการที่ก้าวหน้ายิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การสร้างตับอ่อนเทียมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยวิธีการที่แพทย์จะรวบรวมเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินจากผู้ที่บริจาคหรือจากสัตว์ แล้วใส่เซลล์ดังกล่าวนี้เข้าไปในท่อเนื้อเยื่อพลาสติก ซึ่งฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยเป็นเบาหวาน และเนื้อเยื่อพลาสติกนี้จะช่วยให้อินซูลินนั้นทำหน้าที่ได้อย่างดีโดยที่จะคอยปกป้องจากการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย จะเห็นได้ว่าแม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากเพียงใด แต่ก็ไม่มีสิ่งใดจะมาทดแทนสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะสมอง เราอาจมีคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยความจำอันละเอียดซับซ้อนยิ่งกว่า ซึ่งทำให้ใครๆ ยกย่องมันว่ามีความล้ำเลิศในการจำ การคิดคำนวณยอดเยี่ยมกว่าสมองมนุษย์ (ทั้งที่ความจริงมนุษย์มีระบบความจำที่ซับซ้อนยิ่งกว่า แต่มนุษย์ไม่ได้ดึงมันออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพต่างหาก) แต่สมองในส่วนที่เป็นความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม และจริยธรรมแล้ว คุณคงเห็นด้วยว่าไม่มีเครื่องจักรกลชนิดใดสามารถทำหน้าที่แทนสมองของมนุษย์ได้เลย ดังนั้น ในโอกาสที่กำลังจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่นี้ จึงขอฝากให้คณะทำงานได้เน้นการพัฒนา “คน” มากกว่าการพัฒนา “วัตถุ” ด้วยเถิดค่ะ

ข้อมูลสื่อ

162-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
อื่น ๆ
สุกาญจน์ เลิศบุศย์