• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน


ภูมิคุ้มกัน หรืออิมมูน มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอหรือแปรปรวน ก็ง่ายต่อการเกิดโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัด วัณโรคปอด) โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคภูมิแพ้และโรคภูมิต้านทานตัวเอง (ออโตอิมมูน)

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นมีอยู่มากมาย ตัวอย่างที่รู้จักกันดี ก็คือ เจ้าเชื้อไวรัสเอชไอวี (เชื้อเอดส์) ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะทำลายระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีชื่อเรียกทับศัพท์ย่อๆ ว่า “เอดส์” (AIDS) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง” คนที่เป็นโรคนี้ในที่สุดจะลงเอยด้วยโรคติดเชื้อรุนแรงหรือไม่ก็โรคมะเร็ง

คนที่เป็นโรคเบาหวาน ภูมิคุ้มกันก็มักจะอ่อนแอ จึงมีโอกาสเป็นฝีหนองพุพอง เป็นแผลติดเชื้อ (จนบางครั้งต้องตัดขาทิ้ง) รวมทั้งง่ายต่อการเป็นวัณโรคปอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ขัดเบา) หรือช่องคลอดอักเสบ (ตกขาว คัน) คนที่นิยมกินยาสตีรอยด์ (เช่น ยาชุด ยาลูกกลอนบางชนิด) เป็นประจำ หรือร่างกายเกิดการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ-คลอแรม-เฟนิคอล ยารักษาโรคคอพอกเป็นพิษ เป็นต้น ระบบภูมิคุ้มกันก็จะถูกทำลายได้เช่นกัน เด็กที่ขาดอาหารมักจะเจ็บออดๆ แอดๆ เช่น ท้องเสีย ปอดบวม ก็เนื่องจากร่างกายขาดสารโปรตีนที่ช่วยในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (ขณะนี้ในประเทศโซมาลี ซึ่งมีสงครามระหว่างชนเผ่าต่างๆ เกิดภาวะอดอยาก ประชาชนและเด็กๆ เป็นโรคขาดอาหารและป่วยตายกันกว่าล้านคนแล้ว)

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่วงการแพทย์ได้หันมากล่าวขานกันมากขึ้น ก็คือ จิตใจ นั่นเอง ถ้าจิตใจเครียด ร่างกายก็จะสร้างสารทุกข์ เมื่อสารทุกข์มากๆ ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ กลายเป็นโรคติดเชื้อหรือมะเร็งได้ง่าย หรือทำให้โรคเหล่านี้กำเริบหนัก รักษายากขึ้น ถ้าจิตใจเข้มแข็ง มีความร่าเริง เบิกบาน ร่างกายก็จะสร้างสารสุข เมื่อมีสารสุขมากๆ ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันเข้มแข็งขึ้น จะสามารถป้องกันโรคติดเชื้อและมะเร็ง ถ้าเป็นโรคเหล่านี้อยู่ก็จะทุเลาหรือหายได้ง่ายขึ้น

ในปัจจุบันวงการแพทย์ยอมรับว่า จิตใจเชื่อมโยงกับระบบประสาทและสมอง ซึ่งส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงมีศาสตร์ใหม่อยู่แขนงหนึ่ง เรียกว่า “จิตประสาทอิมมูโนวิทยา” (Psycho-neuro-immunology) การทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน การทำสมาธิ การออกกำลังกาย (คลายเครียด) การมองโลกในแง่ดีหรือความคิดเชิงบวก (positive thinking) เช่น ปลุกเร้าตัวเองว่าจะหายจากโรค รวมทั้งการทำความดีโดยไม่เห็นแก่ตัว จึงถือเป็นมรรคาสู่สุขภาพ เพราะการกระทำเหล่านี้มีผลต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่นิยมกระทำกันสำหรับเด็กยุคใหม่ ก็คือ การให้วัคซีน

วัคซีน ก็คือ เชื้อโรคที่ทำให้อ่อนตัวลงแล้ว เมื่อฉีดหรือกินเข้าไปก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคชนิดนั้นๆ ในปัจจุบันโรคที่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน ได้แก่ วัณโรค ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ตับอักเสบจากไวรัสบี ไข้สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ปัจจัยที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งวิธีสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนั้นมีได้หลายอย่างดังกล่าวข้างต้นนี้ ก็จงหาหนทางปฏิบัติตามความเหมาะสมเถอะครับ สำหรับโรคเอดส์นั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตเชื้อวัคซีนใช้ฉีดป้องกัน แต่เราสามารถหา “วัคซีน” ที่ดีที่สุดในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้ด้วยการมีสติ คือ ไม่แส่หาเชื้อเอดส์ใส่ตัวด้วยการเที่ยวหรือติดยานั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

162-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
ภาษิต ประชาเวช