• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 5)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 5)


อาการร้อน ๆ ของเดือนเมษา-พฤษภานี้ทรมานดีแท้ แล้วอาการยอดฮิตในหน้าร้อนอีกอาการหนึ่ง ก็คือ เลือดออกที่จมูกหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เลือดกำเดา ซึ่งก็ได้นำการวินิจฉัยและการรักษาอย่างง่ายๆ มาเสนอดังต่อไปนี้ 
 
5. เลือดออกที่จมูก : ถ้าเลือดออกจากบาดแผลภายนอกจากการถูกของมีคม การแกะ การบีบสิวเสี้ยนหรืออื่นๆ ให้รักษาแบบการรักษาบาดแผลเลือดออก ถ้าเลือดออกจากภายในจมูก หรือที่เรียกกันว่า เลือดกำเดา มักเกิดจากการแคะ แกะ เกาภายในจมูก การสั่งน้ำมูกแรงๆ โพรงจมูกอักเสบเรื้อรังหรือเป็นริดสีดวงจมูก โรคความดันเลือดสูง โรคเลือดไม่แข็งตัวตามปกติ เป็นต้น เลือดกำเดามักเป็นสีแดง อาจไหลออกมาทางรูจมูก และ/หรือถ้าไหลลงไปทางด้านหลัง ลงไปที่คอแล้วขากหรือบ้วนออกมาทางปาก

การรักษา : เมื่อเลือดกำเดาออกใหรีบนั่งลง ถ้านั่งพิงหมอนหรือพนักเก้าอี้ได้ก็ยิ่งดี แล้วใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้บับจมูกให้แน่นจนหายใจเข้าออกไม่ได้ แล้วหายใจดข้าออกทางปากช้าๆ ทำใจให้สงบ สบาย และไม่กังวล ประมาณ 10-15 นาที เลือดกำเดามักจะหยุด ในขณะที่บีบจมูกอยู่ ถ้ามีผ้าชุบน้ำเย็นๆ หรือถุงน้ำแข็งมาวางบริเวณหน้าผากและจมูกด้วย ก็จะทำให้เลือดหยุดเร็วขึ้น

อย่าปล่อยมือที่บีบจมูกจนกว่าจะพ้นเวลา 10-15 นาทีไปแล้ว (ถ้าไม่มีนาฬิกา อาจใช้วิธีนับเลข 1, 2, 3, 4, 5,....ตามการหายใจเข้าและออก โดยหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 4 เรียงกันไปเรื่อยๆ จนนับได้ถึงเลข 500 ขึ้นไป) จึงค่อยปล่อยมือที่บีบจมูกออก (วิธีนับเลขเช่นนี้จะทำให้เกิดสมาธิและจิตใจสงบลงโดยไม่ต้องกังวลกับการดูนาฬิกาด้วย) การใช้เวลา 10-15 นาที ก็เพื่อให้เลือดที่ไหลออกจากบาดแผลในจมูก มีโอกาสแข็งตัวและอุดรอยปริรั่วที่ผนังหลอดเลือดตรงบาดแผลทำให้เลือดหยุดออก

ถ้าบีบจมูกเดี๋ยวเดียวแล้วปล่อย เลือดยังไม่แข็งตัวดี ก็จะถูกเลือดที่ออกมาใหม่ชะล้างหลุดไป ทำให้เลือดต้องเสียเวลาเริ่มต้นแข็งตัวใหม่ ทำให้เลือดออกนานขึ้น ถ้าปล่อยมือที่บีบจมูกแล้วเลือดหยุดไหล ให้นั่งพักอีกสักครู่ จนแน่ใจว่าเลือดหยุดดีแล้ว จึงลุกขึ้นไปล้างหน้าหรือทำความสะอาด แต่ห้ามสั่งน้ำมูก แคะ หรือเช็ดภายในรูจมูก ซึ่งอาจทำให้เลือดออกได้อีก ถ้าปล่อยมือที่บีบจมูกแล้ว เลือดยังไม่หยุดไหล ให้บีบจมูกต่ออีกอย่างน้อย 15-20 นาที ถ้ายังไม่หยุดไหลอีก ควรไปโรงพยาบาล

ถ้าขณะบีบจมูกอยู่ เลือดก็ยังไหลอยู่เรื่อยๆ และไหลท้นไปทางหลังจมูก (เพราะออกทางหน้าหรือด้านรูจมูกที่ถูกบีบอยู่ไม่ได้) เลือดก็จะไหลลงไปที่คอ และจะถูกขากออกมาทางปาก ในกรณีเช่นนี้ควรไปโรงพยาบาล เพราะเลือดออกในส่วนลึกหรือส่วนหลังของจมูก ซึ่งการหยุดเลือดต้องใช้การอัดผ้าหลังจมูก ซึ่งควรทำที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นควรไปโรงพยาบาล ถ้า

1. เลือดกำเดาออกบ่อยๆ โดยไม่ได้แคะ แกะ เกาภายในรูจมูก

2. เลือดออกจากรูจมูกข้างเดียวเป็นประจำ

3. เลือดที่ออกมาเป็นสีดำ หรือมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนองปน หรือมีเนื้อเยื้อหรือเศษเนื้อปนออกมาด้วย เป็นต้น

เพราะในกรณีดังกล่าวนี้จะต้องหาสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาออก และรักษาสาเหตุด้วย เลือดกำเดาจึงจะหยุดออกบ่อยๆ ได้
 

6. เลือดออกที่ปาก ถ้าเลือดออกจากบาดแผลภายนอกจากการถูกของมีคม การชกต่อย การแกะสิว การติดเชื้อหรือการอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ ให้การรักษาแบบบาดแผลทั่วไป ถ้าเลือดออกจากบาดแผลภายในปาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขบเคี้ยว ทำให้กัดลิ้นหรือกัดกระพุ้งแก้มของตนเอง จนเป็นแผลเลือดออก หรือฟันหัก ฟันหลุด ให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดกดตรงบาดแผล ถ้าเป็นแผลจากฟันหัก ให้ใช้ผ้าสะอาดม้วนเป็นก้อนเล็กๆ กดแล้วกัดไว้ประมาณ 10-15 นาที เลือดจะหยุดออกเอง ถ้าเลือดไม่หยุดไหล ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคเลือดแข็งตัวยาก(เลือดไม่แข็งตัวตามปกติ) หรือเกิดจากเลือดแดงฉีกขาด ให้ใช้นิ้วมือกดแผลที่เลือดออกไว้หรือถ้าเป็นแผลที่บริเวณฟันหลุด ให้ม้วนผ้าชิ้นเล็กๆ วางลงบนแผลแล้วกัดไว้แล้วรีบไปโรงพยาบาล นอกจากนั้นควรไปโรงพยาบาล ถ้า

1. ไม่มีบาดแผลในปาก ไม่มีฟันหัก ฟันหลุด และเลือดออกจากที่ไหนไม่รู้ (หาไม่เจอ)

2. เลือดออกบ่อยๆ ถ้าเป็นเลือดที่ออกตามไรฟันเวลาแปรงฟันหรือขบเคี้ยวอาหาร มักเกิดจากเหงือกอักเสบ เนื่องจากไม่แปรงฟันหรือปล่อยให้เศษอาหารค้างอยู่ในช่องปากตามซอกฟัน ปากสกปรก หรือมีการติดเชื้อ (เป็นแผล เป็นซางในปาก) หรืออาจเกิดจากโรคลักปิดเปิด (โรคขาดวิตามินซี) ในกรณีนี้ให้กินผลไม้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส้มฝรั่ง หรือผลไม้รสเปรี้ยว หรือผลไม้รสเปรี้ยว หรือกินวิตามินซีด้วย อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น

3. เลือดออกมากหรือออกไม่หยุด

4. มีหนอง เนื้อเยื่อ หรือเศษเนื้อปนออกมากับเลือด

เพราะในกรณีดังกล่าวนี้จะต้องหาสาเหตุที่ทำให้เลือดออก และรักษาสาเหตุ

ข้อมูลสื่อ

169-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 169
พฤษภาคม 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์