• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาดในเด็กและวัยรุ่น

เมื่อก่อนผู้ใหญ่มักกลัวว่าเด็กจะฟันผุ กำชับให้แปรงฟันบ้วนปากหลังอาหารทุกครั้งและยังมีการอมฟลูออไรด์กันที่โรงเรียนในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา จนเดี๋ยวนี้ปัญหาฟันผุในเด็กและวัยรุ่นลดลงไปมาก
ขณะที่การป้องกันฟันผุในเด็กและวัยรุ่นเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ตอนนี้หมอกลับเริ่มพบปัญหาสุขภาพในช่องปากเรื่องใหม่เข้ามาแทนที่


โรคปริทันต์อักเสบพบในเด็กมากขึ้น
มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาดซึ่งตามปกติจะพบโรคนี้จะพบในคนที่อายุมากกว่า 34 ปีขึ้นไป ขณะนี้เราพบผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบที่อายุน้อยเพิ่มขึ้น พบผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบที่เป็นเด็กถึงร้อยละ 9 ซื่งอายุน้อยที่สุดคืออายุต่ำกว่า 12 ปี ” ทพ.ญ.ดร.รังสินี มหานนท์ จากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ทันตแพทย์เคยสำรวจไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2540

โรคปริทันต์อักเสบหรืออีกชื่อว่าโรครำมะนาดนี้ มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน หากทำความสะอาดไม่ดีหรือไม่ถูกวิธี จะทำให้หินปูนเกาะมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น และเกิดการอักเสบของเหงือกกับฟัน และเกิดการอักเสบของเหงือก ทำให้เกิดร่องระหว่างเหงือกกับฟัน และการทำลายเนื้อเยื่อและกระดูกที่ห่อหุ้มตัวฟันในที่สุด
ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบนั้น จะมีเลือดออกบริเวณฟันซี่ที่เป็น แต่ไม่ปวดฟัน หากเป็นมากจะทำให้เกิดอาการเหงือกร่น ฟันโยกคลอน มีกลิ่นปาก ฟันหลุดและสูญเสียกระดูกฟันหุ้มรากบริเวณนั้น หากถึงขั้นนี้แล้วการรักษาจะยากขึ้น หรืออาจเกิดปัญหาในการใส่ฟันทดแทน

สภาวะเหงือกอักเสบอาจนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ
สภาวะเหงือกอักเสบเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มปัญหาสภาวะเหงือกอับเสบสูงขึ้นด้วย โดยข้อมูลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติช่วงปี พ.ศ. 2543-2544 พบเด็กวัยรุ่นกว่าร้อยละ 80 มีภาวะเหงือกอักเสบ

เมื่อเป็นแล้วหากไม่ดูแลดี ๆ ปล่อยให้หินปูนเกาะ ก็จะยิ่งสะสมเชื้อ ทำให้เหงือกอักเสบมากขึ้น เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกกับฟัน จนนำไปสู่โรคปริทันต์อักเสบตามมาได้ โดยโรคปริทันต์อักเสบในเด็กและวัยรุ่นหรือคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี จะพบที่ตำแหน่งฟันซี่หน้า และฟันกรามเล็ก (ฟันกรามแท้ซี่แรก)

อย่างไรก็ตามโรคปริทันต์อักเสบ ในคนอายุมากกว่า 20 ปีหรือในวัยผู้ใหญ่ มักจะพบว่าโรคมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะอายุที่มากขึ้นจึงมีการสะสมจุลินทรีย์ในปากมากขึ้น รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ อีก อย่างเช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือความเครียด ซึงทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น และสูญเสียฟันอย่างรวดเร็ว

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คงอยู่ที่การดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนตามระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งควรรูจักสังเกตตัวเองหากพบว่ามีความผิดปกติ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะการปล่อยเอาไว้อาจทำให้สูญเสียฟันได้
 

ข้อมูลสื่อ

273-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 273
มกราคม 2545
โรคน่ารู้