• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 6)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนที่ 6)


ในร่างกายของเรามีอวัยวะต่างๆ มากมายที่อาจเกิดอาการเลือดออกได้ บางแห่งอาจจะไม่มีบาดแผลแสดงให้เห็นแต่ก็เกิดอาการเลือดออกจนคนที่เจอปัญหานี้ไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร หากอยากรู้ติดตามต่อได้เลยครับ
 

7. ไอเป็นเลือดหรือขาก เป็นอาการเลือดออกทางปากอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้เกิดจากบาดแผลโรคในปาก ยกเว้นแต่ว่าบาดแผลในโรคดังกล่าวทำให้เลือดออกในปากหรือไหลย้อนกลับเข้าไปในคอหรือหลอดลม ทำให้เกิดอาการขากเสมหะหรือไอเป็นเลือดออกมา อาการขากเป็นเลือด ส่วนใหญ่เกิดจากเลือดออกในบริเวณคอหอย (คอด้านใน) หรือเกิดจากเลือกออกในจมูก แล้วไหลหรือถูกสูดเข้าไปข้างในจนตกลงไปในคอ แล้วขากออกมาเป็นเลือด

ถ้าเป็นเลือดที่ออกในคอหอยส่วนใหญ่เกิดจากการไอแรงๆ หรือขากแรงๆ จนเส้นเลือดฝอยที่ผนังคอหอย (รวมทั้งเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล เป็นต้น) ปริแตกทำให้เห็นเลือดออกมาเป็นเส้นๆ สีแดงปนมากับเสมหะ เลือดออกแบบนี้ไม่มีอันตรายอะไร ถ้าหยุดไอแรงๆ หรือหยุดขากแรงๆ แล้วเลือดก็จะหยุดออก

ส่วนน้อยอาจเกิดจากแผลหรือเนื้อร้ายที่ผนังคอหอย ซึ่งนอกจากจะขากออกมาเป็นเลือดแล้วยังมีหนองหรือเศษเนื้อปนออกมากับเลือดด้วยในกรณีเช่นนี้ควรไปโรงพยาบาล ถ้าเป็นเลือดที่ออกในจมูกแล้วไหลถูกสูดเข้าไปในคอ ให้รักษาแบบเลือดกำเดาออกในข้อ 6 อาการไอเป็นเลือด อาจเกิดจากเลือดออกในจมูก ในปาก ในคอหอย หรือแม้แต่ในหลอดอาหารและกระเพาะลำไส้ แล้วสำลักเข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอเป็นเลือดได้

การถามประวัติให้ละเอียด จะช่วยให้บอกได้ว่าเลือดนั้นออกที่ไหนแน่ เช่น ถ้าคนไข้บอกว่า ในตอนแรกมีเลือดกำเดาออกก่อนต่อมาจึงมีอาการขาก หรือไอเป็นเลือด ก็ให้สันนิษฐานว่า เลือดออกในจมูกแล้วตกลงไปในคอหรือสำลักเข้าไปในหลอดลม จึงทำให้เกิดอาการขากหรือไอเป็นเลือด ถ้าในตอนแรกมีอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน แล้วต่อมามีอาการสำลัก แล้วขากหรือไอออกมาเป็นเลือด ก็ให้สันนิษฐานว่า เลือดอาจจะออกในหลอดอาหารหรือในกระเพาะลำไส้ แล้วขย้อนขึ้นมาที่คอหอย หรือสำลักเข้าไปในหลอดลม จึงทำให้เกิดอาการขากหรือไอออกมาเป็นเลือดโดยเฉพาะเลือดที่ออกมานั้นมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลคล้ายสีกาแฟดำ (อาจเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดหรือเป็นเพียงบางส่วน โดยอาจปนอยู่กับเลือดสีแดงหรือแดงคล้ำด้วยก็ได้)

ถ้าในตอนแรกมีเลือดออกในปากก่อน ต่อมาจึงขากหรือไอเป็นเลือด ก็ให้สันนิษฐานว่าเลือดจะออกในปาก ให้ตรวจดูในปากก่อน ถ้าพบบาดแผลเลือดออกในปากด้วย ก็อาจจะทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าอาการไอเป็นเลือดนั้นเกิดจากเลือดออกในปากแล้วสำลักเข้าไปในหลอดลม คนไข้ที่ไอเป็นเลือด โดยเลือดออกในหลอดลมหรือในปอดนั้น คนไข้มักไม่มีประวัติเลือดออกในจมูก ปากคอ หรือที่อื่นก่อน และเลือดที่ออกมักจะเป็นก้อน (อาจเป็นก้อนเล็กๆ เละๆ ขนาดเมล็ดงา หรือเป็นก้อนแบนๆ เละๆ ขนาดหัวแม่เท้า เป็นต้น) สีแดงคล้ำเหมือนสีเลือดเก่า (แต่จะเป็นสีแดงสด และออกมาไม่เป็นก้อน ถ้าเลือดออกมาก) และผสมปนมากับเมือกมูก หรือหนอง ที่เรียกว่า เสมหะ

นอกจากนั้นคนไข้มักจะมีประวัติเป็นโรคปอดโรคหลอดลมมาก่อนหรือมีประวัติไอเรื้อรัง หรือไอเป็นๆ หายๆ หรือไอเป็นเลือดมาก่อน และในขณะที่ไอเป็นเลือด จะเป็นอาการไอ ไม่ใช่อาการขาก ขย้อนหรืออาเจียน คนไข้ที่มีอาการไอเป็นเลือดชัดเจน ควรจะเก็บเสมหะที่ปนเลือดนั้นไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุของอาการไอเป็นเลือด และควรจะได้รับการถ่ายภาพรังสีปอด (เอกซเรย์ปอด) ด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไปก่อนและขณะไปโรงพยาบาล ควรเลือกเส้นทางไปโรงพยาบาลที่ไม่กระเทือนหรือกระแทกกระทั้นน้อยที่สุด และควรให้คนไข้ที่ไอเป็นเลือดพักผ่อนมากๆ อย่าไอแรงๆ (ให้ใช้กระแอมขับเสมหะแทนการไอ ดื่มน้ำหรือจิบน้ำบ่อยๆ ให้ปากและคอเปียกชื้น เสมหะจะออกได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม่ต้องไอแรงๆ และพยายามปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนไข้ เพื่อไม่ให้คนไข้กังวลหรือตกใจ เพราะความตื่นเต้นตกใจหรือกังวลจะทำให้เลือดออกมากขึ้นได้
 

8. อาเจียนเป็นเลือด เป็นอาการเลือดทางปากอีกย่างหนึ่ง แต่เลือดอาจจะออกในปาก ในจมูก ในคอหอย ในปอด ในหลอดลม ในหลอดอาหาร หรือในกระเพาะลำไส้ก็ได้ บางครั้งเลือดที่ออกในปาก ในจมูก ในคอหอย ในปอด และในหลอดลม อาจไม่ถูกขาก ไอ หรือไหลออกมาให้เห็น เพราะคนไข้กลับกลืนเลือดเหล่านั้นลงไปในกระเพาะอาหาร แล้วต่อมาขย้อนหรืออาเจียนออกเลือดเหล่านั้นออกมา ทำให้นึกว่าอาเจียนเป็นเลือดทั้งที่เลือดไม่ได้ออกในหลอดอาหาร หรือในกระเพาะลำไส้

การวินิจฉัยว่า อาการอาเจียนเป็นเลือด เป็นการกลืนเลือดลงไปแล้วจึงเกิดอาการอาเจียนออกมา จึงต้องซักถามประวัติอาการให้ดี ถ้ามีประวัติเลือดออกในปาก ในจมูก ในคอ ในปอด หรือในหลอดลมมาก่อน แล้วต่อมาจึงมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ก็ให้สันนิษฐานว่าอาการอาเจียนเป็นเลือดนั้นคงจะไม่ได้เกิดจากภาวะเลือดออกในหลอดอาหาร หรือกระเพาะลำไส้ นอกจากนั้น อาการอาเจียนเป็นเลือดที่เกิดจากเลือดออกในหลอดอาหารหรือกระเพาะลำไส้ มักมีประวัติเกี่ยวกับโรคของหลอดอาหาร หรือกระเพาะลำไส้มาก่อน เช่น

  • มีอาการปวดท้องเวลาหิวหรือเวลากินอาหาร หรือเวลากินของเผ็ดเป็นประจำ
  • มีอาการแสบในทรวงอกหลังกินอิ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะถ้ากินอิ่มแล้วนอนลง
  • มีอาการเรอเปรี้ยวบ่อยๆ
  • มีอาการกลืนลำบาก กลืนอาการแข็งแล้วติดคอ
  • มีอาการอาเจียนรุนแรงติดต่อกันหลายครั้ง
  • มีการดื่มสุราหรือกินยาแก้ไข้แก้ปวดก่อนหน้านั้นหรือเป็นประจำ
  • มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องมาน (ท้องโตด้วยน้ำ) ผิวหน้าและแขนขาคล้ำดำกว่าปกติ
  • มีประวัติโรคตับ โรคหลอดอาหาร หรือกระเพาะลำไส้มาก่อน
  • มีประวัติอุจจาระดำเหลวคล้ายเฉาก๊วย หรือยางมะตอยมาก่อน เป็นต้น

คนไข้ที่เลือดออกในหลอดอาหารหรือกระเพาะลำไส้นอกจากจะอาเจียนเป็นเลือดแล้ว ในวันต่อๆ มามักจะถ่ายอุจจาระเป็นอุจจาระเหลวสีดำคล้ายเฉาก๊วย หรือยางมะตอยด้วย (อุจจาระเป็นสีดำ เพราะเลือดที่ออกมาเมื่อถูกกับกรด ด่าง และหรือน้ำย่อยในกระเพาะลำไส้แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ) ถ้าสงสัยว่าอาเจียนเป็นเลือดจากภาวะเลือดออกในจมูก ปาก คอหอย ปอด หรือหลอดลม ให้รักษาเช่นเดียวกับภาวะเลือดออกในบริเวณดังกล่าวดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

ถ้าสงสัยว่าอาเจียนเป็นเลือดจากภาวะเลือกออกในหลอดอาหารหรือกระเพาะลำไส้ ให้งดอาหารและน้ำ ให้คนไข้พักผ่อนมากๆ ให้น้ำเกลือเข้าเส้นถ้าทำได้ และรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยทั่วไป แม้จะอาเจียนเป็นเลือดเพียง 1 ถ้วยตะไลเล็กๆ ก็ไม่ควรนอนใจ โดยเฉพาะถ้าจากประวัติทำให้สงสัยว่า อาการอาเจียนเป็นเลือดนั้นน่าจะเกิดจากภาวะเลือดออกในหลอดอาหาร หรือกระเพาะลำไส้ควรรีบไปโรงพยาบาล และเก็บเลือดที่อาเจียนออกมาไปตรวจด้วย จะได้หาสาเหตุที่ทำให้เลือดออก และให้การรักษาที่ถูกต้องได้ การนิ่งนอนใจอาจจะทำให้เลือดออกมากขึ้นหรือนานขึ้น โดยที่ไม่ได้อาเจียนออกมาให้เห็น ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้การตรวจรักษาในระยะหลังยุ่งยากขึ้นมากหรือรักษาไม่ทันกาลได้

ข้อมูลสื่อ

170-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 170
มิถุนายน 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์