• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำเต้า ผักสารพัดประโยชน์ของชาวโลก

น้ำเต้า ผักสารพัดประโยชน์ของชาวโลก


 ...กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
 น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม...

 

ข้อความที่คัดมาข้างบนนี้เป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” มีข้อความทำนายความเสื่อมของผู้คนในกรุงศรีอยุธยาก่อนถูกกองทัพพม่าตีแตกเป็นครั้งที่สอง เมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว

บางส่วนของเพลงยาวดังกล่าวได้รับการจดจำ และให้เป็นสำนวนเปรียบเทียบของคนไทยยุคต่อมาอย่างแพร่หลาย เช่น ส่วนที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้เพื่อพิจารณาดูจะพบว่า มีการนำสิ่งที่คนไทย(สมัยนั้น)รู้จักดี 2 ชนิด มาเป็นสิ่งเปรียบเทียบคือ กระเบื้อง และน้ำเต้า ประกอบเข้ากับคำกิริยา 2 อย่าง คือ ลอย และจม

กระเบื้องในสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่ทำด้วยดินเผา(นอกจากพระราชวังบางแห่งเท่านั้นจึงทำด้วยแผ่นดีบุก) แต่ถึงจะทำด้วยอะไรก็ตาม ย่อมมีลักษณะร่วมกันคือน้ำหนักมากและจม(น้ำ) ส่วนน้ำเต้าในเพลงยาวนี้ หมายถึงน้ำเต้าแห้งซึ่งมีน้ำหนักเบาและลอย(น้ำ) เมื่อปรากฏว่ากระเบื้องกลับลอย และน้ำเต้ากลับจมก็เป็นสิ่งเปรียบเทียบถึงความผิดปกติของยุคสมัย เช่น คนดีกลับรับโทษ คนเลวกลับรับรางวัล หากเป็นสำนวนปัจจุบันก็คงใกล้เคียงกับสำนวนที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นั่นเอง

สาเหตุที่ผู้เขียนยกข้อความดังกล่าวมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ก็เพราะจะชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าในอดีต(สมัยกรุงศรีอยุธยา)เมื่อเอ่ยถึงน้ำเต้า คนส่วนใหญ่จะนึกถึงผลน้ำเต้าแห้ง แต่ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงผลน้ำเต้าสดและอ่อน ซึ่งใช้เป็นผักชนิดหนึ่งโดยลืมไปว่าน้ำเต้านั้น เป็นพืชสารพัดประโยชน์ของคนทั่วโลกมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะผลน้ำเต้าแห้งนั้นอาจเป็นภาชนะชนิดแรกที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้เลยทีเดียว

 

                                                      *****************

 

                              

น้ำเต้า : ข้อมูลส่วนตัวบางประการ 

น้ำเต้าเป็นชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Lagenaria siceraria (Mol.) Standl. เป็นพืชจำพวกเถาล้มลุกอยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae เช่นเดียวกับฟักและฟักทอง ลำต้น(เถา)เป็นรูปห้าเหลี่ยม มีขนอ่อนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วไปเช่นเดียวกับใบ ดอกมีสีขาวขนาดใกล้เคียงกับฟักทอง ดอกมีสองเพศแยกกันอยู่บนต้นเดียวกันเช่นเดียวกับฟักทอง ผลมีรูปต่างๆ หลากหลายมาก ตั้งแต่กลมก้นแป้นตั้งได้ไปจนเป็นทรงรีหรือยาวมาก ตรงขั้วผลอาจมีคอคอดลงไปหรือไม่มีก็ได้ เมื่อผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่สีจะจางลง และอาจกลายเป็นสีขาวครีมเมื่อผลแห้ง

น้ำเต้าเป็นไม้เถาจึงเลื้อยไปได้ไกลอาจไต่ไปตามต้นไม้ รั้วหรือร้านที่ทำให้ โดยมีมือจับอยู่ตรงโคนใบ น้ำเต้าแตกต่างจากฟักและฟักทองซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันตรงที่ดอกมีสีขาวแทนที่จะมีสีเหลืองเหมือนฟักหรือฟักทอง และผลของน้ำเต้าก็มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อยังอ่อนมีน้ำมาก แต่เมื่อแก่เต็มที่จะแห้งจนภายในผลกลวง เมื่อเขย่าจะมีเสียงเมล็ดกระทบกับเปลือกส่งเสียงดังคล้ายผลบวบแห้งแต่น้ำเต้าก็ต่างกับบวบตรงที่บวบมีเส้นใยมาก ส่วนน้ำเต้ามีน้อย บวบมีเปลือกแห้ง ที่บางส่วนน้ำเต้ามีเปลือกแห้งที่หนาและแข็งแรงมาก รวมทั้งมีช่องว่างในผลแห้งมากอีกด้วย

สันนิษฐานว่าน้ำเต้ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา เช่นเดียวกับทฤษฎีล่าสุดของกำเนิดมนุษย์ว่าเป็นที่ทวีปแอฟริกาแล้วกระจายไปทั่วโลกในภายหลัง สำหรับน้ำเต้าก็คงเกิดในในทวีปแอฟริกาแล้วถูกมนุษย์นำไปปลูกทั่วโลกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และอาจเป็นพืชชนิดแรกที่มนุษย์นำติดตัวไปขยายพันธุ์ในที่ต่างๆก็ได้   ดังจะเห็นได้จากมนุษย์ดั้งเดิมเผ่าต่างๆที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ต่างก็ปลูกน้ำเต้ากันแทบทั้งสิ้น และชนเผ่าดั้งเดิมเหล่านี้ก็ใช้ประโยชน์จากน้ำเต้ามากมายนอกเหนือไปจากใช้เป็นอาหาร

ประโยชน์ของน้ำเต้ายังมีอีกมากมายและผู้อ่านก็สามารถคิดนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้เหมาะกับยุคสมัยได้อีกเสมอ แต่น่าแปลกที่น้ำเต้าซึ่งมีประโยชน์มากมายนี้กลับเป็นพืชที่ปลูกง่ายอย่างยิ่ง นับได้ว่าเป็นพืชที่ปลูกและดูแลรักษาง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง ในบรรดาผักที่มีอยู่บนโลกนี้ทีเดียว จนมีคำกล่าวในชนบทของไทยสืบมาจากอดีตว่า ครอบครัวใดมีลูกหลานมากและฐานะยากจนให้ปลูกน้ำเต้า เพราะนอกจากไม่ต้องลงทุนดูแลมากแล้ว ยังจะได้ผลน้ำเต้ามากมายเพียงพอสำหรับเลี้ยงเด็กๆอย่างแน่นอน

 

                                            ******************************

อาหาร : น้ำเต้าในฐานะผักและอาหาร

คนไทยถือว่าน้ำเต้าเป็นผักชนิดหนึ่งจัดอยู่ในจำพวกผักผล เพราะนำผลน้ำเต้ามาประกอบอาหารเป็นผักชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับคนในชาติอื่นๆทั่วโลก ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ของหมอปรัดเล ให้คำจำกัดความไว้ว่า “น้ำเต้า : คือผักอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆ คอคอด ต้มแกงกินได้ เช่น น้ำเต้าที่แกงเลียงกิน” ผลน้ำเต้าที่นำมาประกอบอาหารคือผลอ่อนที่เปลือกและเมล็ดยังไม่แข็ง สามารถกินได้ทั้งเปลือก เนื้อ และเมล็ด เนื่องจากใช้ผลน้ำเต้าที่ยังอ่อนมากจึงมีน้ำเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก เนื้อน้ำเต้าจึงค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าผักผลชนิดอื่น อาจใกล้เคียงกับบวบมากกว่าฟักหรือมะระ อาหารที่นิยมใช้น้ำเต้าปรุงเป็นผักก็คือ แกงเลียง แกงส้ม ผัดน้ำมัน และต้มเป็นผักจิ้ม

น้ำเต้าที่ชาวไทยนิยมกินมักเป็นพันธุ์ผลกลมแป้นมีคอยาวตรงขั้วอาจจะป่องออก เป็นคอคอดหรือไม่ป่องก็มี พันธุ์ผลยาวก็มีปลูกกันบ้างเรียกว่าน้ำเต้างาช้าง น่าสังเกตว่าพันธุ์น้ำเต้าที่นิยมปลูกเพื่อกินเป็นผักโดยเฉพาะนั้น เปลือกมีสีเขียวอ่อนและบางกว่าพันธุ์ที่ใช้ผลแห้งบรรจุน้ำหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น

ในประเทศอินเดียนอกจากผลอ่อนแล้วยังใช้ใบและยอดอ่อนเป็นผัก ส่วนในทวีปแอฟริกาใช้น้ำมันจากเมล็ดน้ำเต้าในการปรุงอาหาร

      

                                     *********************************

สมุนไพร

ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยกล่าวถึงการใช้น้ำเต้าเป็นสมุนไพรรักษาโรคเอาไว้บ้าง เช่น

  •  ใบสด โขลกคั้นน้ำ ทาแก้ฟกช้ำบวม แก้โรคผิวหนัง แก้เริม งูสวัด พุพอง
  •  ใบแห้ง ปรุงเป็นยาเขียวดับพิษไข้ พิษอักเสบ แก้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ
  •  ราก แก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกในลำไส้ เจริญอาหาร
  •  เนื้อหุ้มเมล็ด ใช้ทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย
  •  เมล็ด ถ่ายพยาธิ แก้บวมน้ำ ในประเทศจีนนำไปต้มกับเกลือกินเป็นยาเจริญอาหาร

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ประโยชน์หลักอีกอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกได้จากน้ำเต้าคือ การใช้ผลน้ำเต้าแห้งเป็นภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์รู้จักใช้มานับหมื่นปีแล้ว แม้ในปัจจุบันก็ยังพบว่าผู้คนในส่วนต่างๆของโลกก็ยังใช้ผลน้ำเต้าแห้งบรรจุน้ำกันอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมทั้งหลาย(เช่น ชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ) หลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่ามนุษย์ใช้ผลน้ำเต้าแห้งบรรจุน้ำมาก่อนภาชนะอื่นๆก็คือ เครื่องปั้นดินเผาสำหรับบรรจุน้ำในอดีตล้วนเลียนแบบรูปร่างน้ำเต้าแทบทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทยเรานั้นในอดีตมีภาชนะชนิดหนึ่งชื่อเต้าน้ำ เป็นภาชะบรรจุน้ำทำด้วยทองหรือเป็นรูปร่างเหมือนผลน้ำเต้า ใช้เป็นเครื่องยศของพระราชวงศ์และขุนนางในพระราชสำนัก  นอกจากนี้ก็มีเต้าปูน ซึ่งก็มีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้าเช่นเดียวกัน

คนทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีวิธีใช้ประโยชน์จากผลน้ำเต้าแห้งมากมาย เช่น ใช้เป็นรังนก (เช่น นกกระจอกบ้าน) ใช้เป็นทุ่นประกอบการจับปลา (เบ็ด ตาข่าย) ใช้เป็นช้อน ทัพพี ขันน้ำ ฯลฯ ใช้เป็นขวดบรรจุสิ่งของหรือเมล็ดพันธุ์พืช ใช้เป็นเครื่องประดับบ้านเรือน ใช้ทำงานศิลปะ เช่น วาดภาพลงบนผิว หรือแกะสลักผิวเป็นรูปร่างๆ ใช้เป็นเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ โดยเฉพาะประเภทเขย่าให้เกิดเสียงเป็นจังหวะ

นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประดับหรือปกปิดร่างกาย  อย่างที่คนไทยส่วนใหญ่นึกไม่ถึงอีกด้วย นั่นคือการนำมาใช้แทนกางเกงหรือผ้าเตี่ยวสำหรับผู้ชายในชนเผ่าดั้งเดิมของเกาะนิวกินี (ปัจจุบันแบ่งเป็นสองส่วนคือ ประเทศปาปัวนิวกินีและอีเรียนจายาของอินโดนีเซีย) กล่าวคือ เมื่อผู้ชายเติบโตเป็นหนุ่มแล้วเขาจะหาผลน้ำเต้าแห้งที่มีส่วนคอเรียวยาวมาตัดเอาส่วนคอนั้นมาร้อยเชือก สวมอวัยวะเพศเข้าไป(เพื่อไม่ให้โป๊หรืออุจาด) แล้วผูกเชือกเอาไว้กับเอวแค่นั้นก็พอ แล้วไม่ต้องใส่เสื้อผ้าอะไรเพิ่มอีก แต่ที่สำคัญคือน้ำเต้าที่ใช้ได้ต้องคัดเลือกมาให้มีรูปร่างคอได้สัดส่วน ซึ่งคงคัดเลือกกันสืบต่อมานับพันๆปีแล้ว
 

 

                                  ***********************************************************

ข้อมูลสื่อ

210-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 210
ตุลาคม 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร