• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เครียด ระดับสร้างสรรค์

“เฮ้อ....งานรัดตัวจนไม่มีเวลาจะไปไหน”
“เดี๋ยวนี้ป่วยบ่อย ๆ ....สุขภาพไม่ค่อยจะดี แย่จัง”
“เงินทองก็ขาดมือ ใช้ไม่ถึงเดือน เดี๋ยวก็ต้องจ่ายค่าเทอมอีก”
“ลูกทำไมไม่ได้อย่างใจเลยนะ บ้านอื่นเขาไม่เห็นเป็นอย่างนี้เลย”
“คนที่บ้านช่วงนี้ก็ชักห่างเหิน ระหองระแหงกันอยู่เรื่อย .....จะไปกันรอดไหม”
“พูดกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่องเลย...ทำไงดี”
“เทศกาลสอบอีกแล้ว จะตกอีกไหมเนี่ย ยังอ่านหนังสือไม่ถึงไหนเลย”
“เขาจะจริงใจกับเราหรือเปล่านะ”

เรื่องต่าง ๆ ที่วิ่งวนอยู่ในหัวสมองเหล่านี้ มักก่อให้เกิดความเครียดให้เกิดขึ้นกับเราอย่างไม่รู้ตัว บางคนปล่อยให้ความรู้สึกตึงเครียดโถมทับให้จิตใจอ่อนล้าจากความรู้สึกว่าต้องแบกรับสิ่งที่แย่ ๆ อยู่มากมาย จนส่งผลถึงร่างกายให้มีอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น เจ็บหน้าอก ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เป็นโรคกระเพาะอาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย จนถึงกับมีอาการทางจิตประสาทได้

จริง ๆ แล้วความเครียดเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตมนุษย์ เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกฐานะ และเครียดได้ตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย และความเครียดก็ไม่ได้มีแต่ด้านร้ายอย่างที่เรามักชอบมองกัน ถ้าทำใจให้เป็นธรรมแล้วจะพบว่าความเครียดมีประโยชน์ต่อร่างกาย และจิตใจของเรามาก ในการที่จะปรับตัว ปรับสภาพร่างกาย เตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ลองมาเปิดใจกว้าง ๆ รู้จักกับความเครียดอย่างรอบด้านกันดีกว่า

ความเครียด...เป็นธรรมดาของชีวิด
ความเครียดเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย เป็นปฏิกิริยาของร่างกายและจิตใจในการปรับตัวต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อเตรียมตน รู้เท่าทันและสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ทางจิตวิทยาถือว่าความเครียดเป็นสัญญาเตือน และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เรารู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง ทำให้เราต้องต่อสู้

ความเครียดจึงไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอกโดยตรง แต่ความเครียดเป็นผลของปฏิกิริยาของเราเองที่มีต่อสภาพแวดล้อมภายนอกที่ล้อมรอบตัวเรา ความเครียดจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับมุมมองต่อโลกนอกและการปรับตัว การปรับจิตใจของเราต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย


ปัจจัยของความเครียดเป็นไปตามวัย
ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความเครียดอาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือปัจจัยภายทางกายภาพและปัจจัยภายในสมองแต่ละคน
ปัจจัยทางกายภาพ เช่น แสง เสียง แสงที่ดัง แสงที่จ้าเกินไป สีบางสี อุณหภูมิ ตรงนี้จะก่อให้เกิดความเครียดในทุกช่วงวัยเหมือนกันหมด เพียงแต่จะทนต่อสิ่งเหล่านั้นอาจจะต่างกัน เช่นเด็กอาจทนเสียงที่ดังได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ หรือในวัยผู้ใหญ่อาจเป็นสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่อาจมีสิ่งรบกวนที่ก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้

นอกจากปัจจัยทางกายภาพแล้วยังมีปัจจัยภายในของแต่ละคนเอง คือความรู้สึกขัดแย้งในใจ ซึ่งจะมีความความต่างกันของวัยในแต่ละคน ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ที่ต้องการคนดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือไม่เหมือนกันในแต่ละวัย ถ้าขาดสิ่งที่แต่ละวัยต้องการ ก็อาจนำไปสู่ภาวะความเครียดได้

เครียดระดับไหนมีประโยชน์
ความเครียดมีหลายระดับ ความเครียดในระดับที่เป็นประโยชน์คือความเครียดระดับปกติ เป็นความเครียดระดับแรกสุด เราต้องเข้าใจว่า ความเครียดเป็นปกติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะร่างกายคนเรามีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ระดับหนึ่งเมื่อมีสิ่งใดที่มีผลต่อร่างกาย ร่างกายก็จะเริ่มเกิดปฏิกิริยาเพื่อบอกให้เรารู้ว่ามากกว่านี้เราจะรับไม่ไหว

เพราะตามธรรมดาของชีวิตเราต้องต่อสู้กับสถานการณ์แวดล้อมในระดับหนึ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นเรา เช่น ต้องตื่นนอนแต่เช้า เพราะต้องรีบไปทำงาน ต้องไปพูดต่อหน้าคนอื่นในห้องประชุม ซึ่งตรงนี้เป็นความเครียดในระดับปกติ ที่ทำให้ชีวิตเราดำเนินไปตามครรลองอย่างมีระบบระเบียบไม่ปล่อยปละ

ความเครียดระดับนี้จึงไม่เป็นอันตราย ในทางตรงข้าม คนที่มีความเครียดระดับนี้น้อยเกินไปจะไม่ดีด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้ไม่กระตือรือร้น เฉื่อยช้า ไม่สนอะไรที่เกิดขึ้นรอบตัว

ระดับต่อมา ความเครียดมากกว่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นในบางช่วงของชีวิตมนุษย์ที่มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น หรือผ่านเข้ามาชั่วคราว เช่น งานบางช่วงหนักหนา ปิดงบปลายปี ช่วงใกล้สอบ เป็นสัญญาณเตือนว่าช่วงนี้เราทำงานค่อนข้างหนัก ต้องปรับร่างกายจิตใจให้เข้มแข็ง มีวินัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เตือนว่าร่างกายต้องการการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้กลับมาต่อสู้กับงานที่หนักนี้ได้ และพอผ่านช่วงนี้ไปได้ก็กลับมาเป็นภาวะปกติเหมือนเดิม

ในช่วงที่เรามีปัญหาอย่างเรื้อรังและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การงาน เช่น ตกงานมาหลายเดือนแล้ว ยังหางานไม่ได้ การมีหนี้สินท่วมตัวไม่สามารถจะชดใช้หนี้ได้ หรือค่อนข้างจะเป็นเรื่องแก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากอดทน ทำใจ และรอ ในภาวะแบบนี้อาจเกิดความเครียดขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่งเป็นความเครียดระดับปานกลาง เป็นระดับความเครียดที่ต้องมีการมากขึ้นกว่า 2 ระดับแรก

ส่วนระดับความเครียดสูงสุด คือ เครียดมาก อาจเกิดจากเรื่องสุดวิสัย หรือมีเหตุการณ์ที่รุนแรง สูญเสียเกินกว่าจะรับได้ เช่น บุคคลในครอบครัวเสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุ ประสบภัยธรรมชาติอย่างไม่คาดคิด เรือล่ม พายุถล่ม ถูกข่มขืน เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้ความเครียดพุ่งสูงทันที แต่เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายไปแล้ว ร่างกายและจิตใจก็อาจปรับเข้าสู่ภาวะปกติได้

จะว่ากันไปแล้วในระดับความเครียดที่ต้องระวังนั้น เป็นความเครียดระดับปานกลางแล้วไม่มีกลไกที่ดีในการดูแลตนเอง ความเครียดจึงสะสมกลายเป็นความเครียดมาก ซึ่งจากการสำรวจในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่เครียดมากมีไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ก็เป็นเครียดปกติร้อยละ 60 ที่ไหนจะอยู่ในระดับเครียดเล็กน้อยถึงปานกลาง

รู้จักเครียดให้พอเหมาะ
ความเครียดพอเหมาะ คือ ความรู้สึกกระวนกระวายเพียงเล็กน้อย ที่เราจะรู้สึกได้ก่อนลงมือทำสิ่งใดก็ตาม ความเครียดพอเหมาะให้คุณแก่ชีวิต ช่วยกระตุ้นให้เรามุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเราทุกคนต้องการแรงกดดันกันบ้างไม่มากก็น้อยเพื่อช่วยให้ชีวิตดำเนินต่อไป เคล็ดลับของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราต้องค้นหาความสมดุลระหว่างความเครียดที่มากเกินไปกับความเครียดพอเหมาะให้พบ และใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

การเกิดความเครียดจึงไม่ใช่ตัวปัญหา แต่การไม่ยอมรับว่าตัวเองเครียดและไม่ยอมจัดการความเครียดต่างหากเป็นปัญหาซึ่งจะทำเราเครียดยิ่งขึ้นจนกลายเป็นปัญหา

อย่าทำร้ายร่างกายโดยปล่อยให้เครียดเรื้อรัง
เมื่อเกิดความเครียดจะเกิดการรับรู้ร่างกายและจิตใจ คือ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น การเผาผลาญในร่างกายเพื่อสร้างพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นภาวะสร้างพลังงานเพื่อจะต่อสู้ อาจต้องอดนอนมากขึ้นเพื่อเพิ่มการทำงานหรืออ่านหนังสือ

ในร่างกายตามปกติจะมีสารทุกข์และสารสุขที่อยู่สมดุลปกติ เมื่อเราทำอะไรที่ผ่อนคลาย ที่ทำให้ร่างกายเรารู้สึกสดชื่น เวลาพักผ่อนหรือทำอะไรสบายใจ มีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารสุข

ทำให้ร่ายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเอง จะได้ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา และมีผลต่อใจทำให้รู้สึกสดชื่น ปลอดโปร่งสบาย

ตรงกันข้ามขณะที่เกิดความตึงเครียดในร่างกายจะมีการหลั่งสารเคมีบางตัว คือสารทุกข์ ที่จะส่งผลต่อร่างกายจนเกิดความตึงเครียดต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกาย คือ หากออกระดับน้อยจะเป็นสัญญาณเตือน แต่ถ้าเราไม่จัดการ จะหลั่งออกมาตลอด จนมีการสะสมของเสียที่เป็นพิษ ส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย เนื้อเยื่อทำให้การทำงานไม่ปกติ และส่งผลต่ออารมณ์

เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะปรับตัวเองโดยการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งร่างกายก็มีระดับความทนได้อยู่ สภาวะที่ตึงเครียดเกินไปเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ขึ้นได้ และจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะทำงานด้อยลง ถ้ามีแนวโน้มจะเป็นโรคอะไรอยู่ ก็จะเป็นโรคนั้น
โรคที่พบบ่อยคือโรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจทั้งหมด อาทิ ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ระบบหลอดเลือด โรคระบบทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ภูมิแพ้ เบาหวาน ลมพิษ แพ้อากาศ หอบหืด โดยในคนที่เป็นโรคอะไรอยู่แล้ว อาการของโรคก็จะแย่ลง

จะรู้เท่าทันและจัดความเครียดอย่างไร
เริ่มต้นต้องรู้ตัวก่อนว่าเราเครียด โดยพิจารณาจาก 3 สิ่ง คือ ร่างกาย จิตใจ และกิจวัตรประจำวันของเรา

ด้านร่างกาย จะตื่นตัวกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มที่ อาจมีปัญหาระบบทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร กินจุบจิบ
ขณะที่ด้านจิตใจ มักจะหงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อย ๆ กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
กิจวัตรประจำวันที่เคยเป็นก็จะเปลี่ยนไป เช่น การกินอยู่หลับนอนเปลี่ยนไป มีการเบื่ออาหาร อยู่ไม่ติดที่ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย

เมื่อสังเกตตัวเองรู้ว่าเราเครียดแล้ว ก็ต้องมีสติยอมรับให้ได้ เรียนรู้ เพื่อเผชิญกับปัญหาและพยายามแก้ไข

แต่บางปัญหาที่แก้ไขอะไรไม่ได้จริง ๆ เราต้องทำใจให้ยอมรับปรับร่างกายและจิตใจเพื่อสามารถอยู่กับมันได้อย่างมีความสุขที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

มีหลายวิธีการที่จะช่วยผ่อนคลายให้ตัวเองเมื่อเกิดความเครียดขึ้น ไม่ให้ความเครียดอยู่ในระดับสูงเกินไป โดยให้ทำอะไรก็ได้ที่ทำแล้วสบายกาย สบายใจ อีกอย่างหนึ่งเป็นการฝึกเรื่องการผ่อนคลายตัวเองอย่างจริงจัง มี 3 วิธี คือ ฝึกการหายใจ ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อ และการนวด

วิธีการฝึกการหายใจ โดยหายใจเข้าลึก ๆ ให้สุด มือจับที่หน้าท้องไว้ว่ามีลมหายใจเข้า หายใจออก ทำทุกวัน วันละ 4-5 นาที การนวดจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว การนวดกดจุดในครอบครัวจะช่วยผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

มุมมองด้านบวกจะสร้างสุขในชีวิต
การเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ถ้าเรารับรู้เหตุการณ์แล้วมองด้านลบจะรู้สึกผิดหวัง หดหู่ ทนไม่ได้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเครียด แต่เมื่อไรมองด้านบวก มองด้านดี ละเลยด้านลบไปบ้าง ก็จะมีความสุขขึ้น

การมีมุมมองด้านบวก มองชีวิตในแง่ดี ๆ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเผชิญปัญหาต่าง ๆ อย่างดี และสามารถมีความได้แม้จะรู้สึกถึงภาวะที่เหนื่อยหนักสักเท่าไหร่

ความรัก
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างสุขและลดความเครียดได้อย่างดี เพราะความรักในใจจะทำให้เรามองโลกอย่างสดใสขึ้น และยังเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดในชีวิต

ถ้าคุณเป็นคนชอบคิดฟุ้งซ่าน คิดวกวนอยู่แต่เรื่องที่ไม่สบายใจ ให้พยายามคิดให้ออกไปจากมุมเดิม ๆ คิดหลายแง่มุม เพราะยังมีสิ่งดี ๆ อีกมากมายเกิดขึ้น

อย่าหมกมุ่นกับปัญหาที่แก้ไขอะไรไม่ได้จนเกินไป แต่ให้พยายามมองสิ่งต่าง ๆ อย่างท้าทาย และสร้างสรรค์

ชีวิตไม่มีทางจนมุม มีทางออกหลากหลายวิธีสำหรับชีวิต ให้คิดแต่เรื่องดี ๆ และคิดถึงคนอื่น หลุดออกไปจากตัวเอง หรือไปทำกิจกรรมที่เราชอบจะทำให้จิตเรานิ่งมากขึ้น และเลิกนึกถึงสิ่งที่ไม่สบายใจ เป็นการปิดสวิตช์ให้ตัวเอง

ความเครียดเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นสำหรับร่างกาย อย่าปล่อยให้ความเครียดเรื้อรังทำร้ายตัวเอง แต่จงใช้มันเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆไปสู่ความสำเร็จ

ทรรศนะเรื่อง ความเครียด จาก นายแพทย์ วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา
ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองสิ่งมาที่ท้าทายหรือเร่งเร้า และเป็นพลังงานทางบวกที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ ความเครียดทำให้เราสามารถปรับชีวิตให้ดีขึ้น เป็นระบบยิ่งขึ้น และสามารถผลิตแรงกระตุ้นที่จำเป็นในการแปรความคิดออกมาเป็นการกระทำ

แต่สิ่งที่มาท้าทายในชีวิตปัจจุบันซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมา ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างมหาศาลนี้ ทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันและพยายามปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดยิ่งขึ้น ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความเครียดอย่างมากมายทั้งสิ้น

เป็นเวลานานนับสิบปีมาแล้วที่มนุษย์พยายามค้นหาวิธรถ่วงดุลความเครียดไม่ให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป และพบว่าการมีชีวิตที่ตกอยู่ในความเครียดมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แทบจะแยกกันไม่ได้ เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเครียด เนื่องจากการกลั่นกรองผลกระทบของความเครียด โดยอาศัยแรงผลักดันต่าง ๆ เช่น ความทะเยอทะยาน ความเป็นนักนิยม ความสมบูรณ์แบบ และความเป็นผู้อุทิศตัวให้แก่งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมองในรูปแบบผลดีของความเครียดก็ได้เช่นกัน เพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่สามารถโต้ตอบสิ่งท้าทายได้เป็นอย่างดี แทนที่จะถูกสิ่งท้าทายเหล่านั้นครอบงำ

ดังนั้น เมื่อเกิดความเครียด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เลวร้ายหรือเกิดผลเสียแก่ผู้นั้นเสมอไป ความเครียดที่เกิดในระดับน้อย ๆ จะกระตุ้นให้คนพยายามทำการต่อสู้เพื่อขจัดความเครียด ผลก็คือส่งเสริมให้บุคคลนั้นเข้มแข็ง มีความอดทน สามารถที่จะเอาชนะอุปสรรคหรือปัญหายุ่งยากได้ ทำให้มีความก้าวหน้าในชีวิต เช่น เมื่อมีความยากจน เงินไม่พอใช้ ไม่มีค่าเล่าเรียนให้ลูกจะมีความทุกข์ความเครียด ถ้าบุคคลนั้นพยายามต่อสู้อดทนทำหากินไม่ย่อท้อ ตัวอย่างจากรายการ “ สู้แล้วรวย ” เก็บหอมรอมริบจนมีฐานะดีขึ้นก็จะไม่รู้สึกเครียด ไม่มีปัญหา นั่นคือ ร่างกายและจิตใจสามารถปรับตัวในระยะต่อต้าน ผลกระทบของความเครียดในกรณีเช่นนี้จะเป็นสิ่งดีคือ ความเครียดส่งเสริมให้คนไม่ย่อท้อ มีมานะที่จะเอาชนะอุปสรรค กระตุ้นให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนภาวะวิกฤติให้เป็นโอกาส

อันที่จริงแล้ว ความเครียดเป็นภาวการณ์เตรียมตัวเผชิญปัญหา เพื่อแก้ปัญหาต่างหาก ความเข้าใจผิดส่วนมาก เมื่อพูดถึงความเครียดก็พากันนึกถึงสิ่งที่เป็นลบ เป็นความทุกข์ เป็นความเก็บกด เป็นความกดดันไปหมด ความจริงเมื่อเกิดความเครียด สังเกตดูจะเห็นว่าร่างกายเราจะกระปรี้กระเปร่า พลังความเครียดชนิดหนึ่งถูกผลิตขึ้นมา เพื่อเพิ่มพลังงานให้เรานำไปใช้ในการแก้กัญหา ถ้าเราใช้พลังงานนี้หมดไป แล้วร่างกายจะผ่อนคลาย สบายตัวขึ้น

ฉะนั้น เราจำเป็นต้องรู้เท่าทันความเครียด และใช้ความเครียดให้เป็นประโยชน์ ก็จะกลายเป็นผลดีกับชีวิตของคนได้ ความเครียดจึงมีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดี เป็นพลังงานให้ชนะอุปสรรคต่าง ๆ และทำให้พบความสุขสำเร็จได้ โดยตัวของความเครียดเป็นพลังงานในร่างกายที่สามารถต่อสู้อุปสรรคได้ จึงเป็นพลังงานในทางบวก
ผลเสีย คือไม่ได้ใช้พลังงานความเครียดให้ถูกต้องจึงสะสมไว้ในร่างกาย เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

3 ลักษณะคนที่อาจเครียดมากกว่าคนอื่น
1. คนที่ชอบสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นแบบที่คิดเอาไว้ ไม่ค่อยยืดหยุ่น มีชีวิตเข้มงวดกับตัวเองและคนอื่นมาก มีโอกาสเครียดได้ง่าย
2. คนที่ชอบอยู่กับรายละเอียดมาก ทุกอย่างก็เก็บมาคิดหมด เก็บเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเป็นอารมณ์
3. คนที่อารมณ์อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงตามคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม เอาความรู้สึกตัวเองไปผูกพันกับคนอื่น ไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครนั่งทำอย่างที่เราต้องการตลอดเวลา

ทำอย่างไรเพื่อคลายเครียด
• ยอมรับว่า “ เครียด ” เป็นเรื่องธรรมชาติ
• หาสาเหตุของความเครียดและพยายามแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ความเครียดผ่อนคลายลง
• หากิจกรรมต่าง ๆ ที่เราชอบทำ ไม่หมกมุ่นกับความคิด เช่น ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เต้นรำ ตกแต่งบ้าน อ่านหนังสือ ไปเสริมสวย ถ่ายรูป พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง ทำงานฝีมือ ไปท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ
• การรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
• รู้จักรอ
• พักผ่อนให้เพียงพอ
• มีปัญหารู้จักปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่ไว้ใจได้
• ให้มองโลกในแง่ดี พูดแต่สิ่งดี ๆ กับตัวเอง คิดแต่เรื่องดี ๆ อย่าคิดวกวนอยู่กับสิ่งที่ไม่สบายใจ

นวดคลายเครียด
การนวดที่เสนอในที่นี้ เป็นการนวดไทยซึ่งสามารถนวดได้ด้วยตนเอง และเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่า และไหล่ อันมีสาเหตุมาจากความเครียด

หลักการนวด

1. การกด ให้ใช้ปลายนิ้วที่ถนัด ได้แก่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้หรือนิ้วกลาง
2. การนวด จะใช้การกด และการปล่อยเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้เวลากดแต่ละครั้งประมาณ 10 วินาที และใช้เวลาปล่อยนานกว่าเวลากด
3. การกดให้ค่อย ๆ เพิ่มแรงทีละน้อย และเวลาปล่อยให้ค่อย ๆ ปล่อย
4. แต่ละจุดควรนวลซ้ำประมาณ 3-5 ครั้ง

จุดที่นวดมีดังนี้
1. จุดกลางระหว่างคิ้ว ใช้ปลายนิ้วชี้หรือนิ้วกลางกด 3-5 ครั้ง
2. จุดใต้หัวคิ้ว ใช้ปลายนิ้วชี้ หรือนิ้วกลางกด 3-5 ครั้ง              
3. จุดขอบกระดูกท้ายทอย จุดกลาง ใช้นิ้วหัวแ   ม่มือกด 3-5 ครั้ง จุด 2 จุดด้านข้าง ใช้วิธีประสานมือบริเวณท้ายทอย แล้วใช้หัวแม่มือทั้งสองกดจุด 2 จุดพร้อมๆ กัน 3-5 ครั้ง

                
4. บริเวณต้นคอ ประสานมือบริเวณท้ายทอย ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างกดตามแนว 2 ข้างของกระดูกต้นคอ โดยกดไล่จากตีนผมลงมาถึงบริเวณบ่า 3-5 ครั้ง
5. บริเวณบ่า ใช้ปลายนิ้วมือขวาบีบไหล่ซ้ายไล่จากบ่าเข้าหาท้ายทอย
6. บริเวณบ่าด้านหน้า ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดจุดใต้กระดูกไหปลาร้า จุดต้นแขน และจุดเหนือรักแร้ของบ่าซ้าย ใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดจุดเดียวกันที่บ่าขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
7. บริเวณบ่าด้านหลัง ใช้นิ้วที่ถนัดของมือขวาอ้อมไปกดจุดบนและจุดกลางของกระดูกสะบัก และจุดรักแร้ด้านหลังของบ่าซ้าย ใช้นิ้วที่ถนัดของมือซ้ายกดจุดเดียวกันที่บ่าขวา ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

                              

คิดอย่างไรไม่ให้เครียด
• คิดในแง่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น อย่าเอาแต่เข้มงวด จับผิด หรือตัดสินถูกผิดตัวเองและคนอื่นอยู่ตลอดเวลา จงละวาง ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ลดทิฐิมานะ รู้จักให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง หัดลืมเสียบ้าง ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น
• คิดอย่างมีเหตุผล อย่าด่วนเชื่ออะไรง่ายๆ แล้วเก็บมาคิดวิตกกังวล ให้พยายามใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน นอกจากจะไม่ตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกได้ง่ายแล้ว ยังตัดความกังวลลงได้ด้วย
• คิดหลายๆ แง่มุม ลองคิดหลายๆ ด้าน ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เพราะไม่ว่าอะไรก็ตาม ย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดีประกอบกัน อย่ามองเพียงด้านเดียวให้ใจเป็นทุกข์ และหัดคิดในมุมมองของคนอื่นบ้าง ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร
• คิดแต่เรื่องดีๆ ถ้าคอยคิดแค่ร้าย ก็จะยิ่งเครียดไปใหญ่ ควรคิดถึงเรื่องดีๆ ให้มากขึ้น เช่น คิดถึงประสบการณ์ที่เป็นสุขในอดีต ความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชย ความมีน้ำใจของเพื่อน ฯลฯ จะช่วยให้สบายใจมากขึ้น
• คิดถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดหมกมุ่นอยู่กับตัวเองเท่านั้น เปิดใจให้กว้าง รับรู้ความเป็นไปของคนใกล้ชิด และใส่ใจที่จะช่วยเหลือ สนใจปัญหาของผู้คนในสังคมบ้าง บางทีคุณอาจพบว่าปัญหาที่กำลังเครียดอยู่นี้ ช่างน้อยนิดเหลือเกินเมื่อเทียบกับคนอื่น และจะรู้สึกดีขึ้นถ้าได้ช่วยคนอื่น

แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง


                                 

 

ข้อมูลสื่อ

274-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล