• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซ่อนกลิ่น ความหอมสำหรับทั้งสุขและเศร้า

...อะไรในขัน มะดันแช่ อะไรในแคร่ ไหเหล้าไหยา อะไรในผ้า จำปาซ่อนกลิ่น...

ข้อความข้างบนนี้คัดมาจากเนื้อเพลงที่เด็กภาคกลางนิยมร้องเล่นกันในสมัยก่อน ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ “บทกลอนกล่อมเด็ก” ของหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. 2463 เมื่อ 82 ปีมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ หลวงธรรมาภิมณฑ์ ได้รวบรวมขึ้นจากบริเวณมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งอาจนับเป็นตัวแทนของภาคกลางได้ เพราะบทเพลงส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนยังได้ยินและเคยร้องเล่นอยู่ในชนบทของจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ 40 กว่าปีก่อนโน้น

เนื้อร้องในเพลงที่เด็กนำมาร้องเล่นกันนั้น คงสะท้อนถึงสภาพสังคมในขณะนั้น รวมทั้งสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น ในเพลงข้างบนนี้ก็บอกอะไรบางอย่าง คือใน (ใต้) แคร่ที่ผู้คนสมัยนั้นนั่งเล่น มีไหเหล้าไหยา (ดอง) อยู่ด้วย แสดงว่า แคร่เป็นสถานที่ดื่มเหล้าและ ยา (ดอง) และคงตั้งวงดื่มกันหลายคน เพราะเก็บเหล้า (และยาดอง) ไว้เป็นไห ๆ ทีเดียว

ในบรรทัดสุดท้ายของบทเพลงที่คัดมา แสดงว่า คนไทยสมัยนั้นนิยมใช้ผ้าห่อดอกจำปาและซ่อนกลิ่นซึ่งอาจมีความประสงค์เพื่ออบผ้าให้มีกลิ่นหอม หรือเพื่อติดตัวเอาไว้ดมความหอมก็ได้ น่าสังเกตว่า คนไทยสมัยนี้ทั้งในเมืองและชนบทไม่นิยมนำดอกไม้หอมติดตัวไปอีกแล้ว (คงใช้น้ำหอมแทน) และถึงจะนำดอกไม้ติดตัวไปบ้าง ก็คงไม่มีใครนำดอกซ่อนกลิ่นติดตัวไปเป็นแน่ เพราะคนไทยปัจจุบันจัดให้ดอกซ่อนกลิ่นไปอยู่กับความโศกเศร้า การจากพรากโดยเฉพาะในงานศพของคนไทย

                                       

ซ่อนกลิ่น : อาคันตุกะจากแดนไกล
ซ่อนกลิ่นเป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Polianthes tuberose Linn. อยู่ในวงศ์ Amaryltidaceac เช่นเดียวกับพลับพลึง จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มีหัวใต้ดินและลำต้นคล้ายต้นหอม มีรากกระจุกอยู่ใต้หัว ใบสีเขียวเล็ก เรียวยาว โผล่พ้นดิน แผ่ออกเป็นทรงกลมรอบ ๆ หัว แต่ละใบยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีหน่องอกออกจากหัวเดิมเป็นหัวใหม่ได้เรื่อย ๆ เมื่อปลูกไปนาน ๆ จึงกลายเป็นกอใหญ่ขึ้น

อกเป็นช่อเดี่ยว มีก้านดอกงอกตรงขึ้นมาจากหัวตรงกลางพุ่มก้านดอกสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร มีดอกเรียงกันเป็นแนวตามก้านดอก แต่ละดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีหลายกลีบ สีขาวครีม ดอกซ่อนกลิ่นมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะเวลาเย็น และกลางคืน

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของซ่อนกลิ่น เชื่อว่าอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบเทือกเขาแอนดีส เข้ามาสู่ทวีปเอเชียครั้งแรกโดยชาวสเปนนำมาปลูกในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ แล้วชาวจีนที่ค้าขายอยู่ระหว่างประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่มีบันทึกว่าซ่อนกลิ่นเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่คงก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะฝรั่งที่เข้ามาในเมืองไทยสมัยนั้น บันทึกเอาไว้ว่าได้พบซ่อนกลิ่นปลูกกันอยู่แล้ว

สันนิษฐานว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา ซ่อนกลิ่นคงยังไม่ได้ปลูกกันแพร่หลายหรือได้รับความนิยมมากนัก เพราะยังไม่ปรากฏชื่อในวรรณคดีสมัยนั้น ซ่อนกลิ่นคงได้รับความนิยมและปลูกกันแพร่หลายช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพบอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง รวมทั้งในบทเพลงของเด็กด้วย ในวรรณคดีของสุนทรภู่เรียกซ่อนกลิ่นว่า ซ่อนชู้ ซึ่งเป็นอีกชื่อที่ใช้เรียกกันในภาคกลางสมัยก่อน ส่วนภาคเหนือเรียก ลิลา ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Tuberose

ประโยชน์ของซ่อนกลิ่น : ไม่เหมาะเฉพาะสำหรับเรื่องโศกเศร้าเท่านั้น
ในประเทศไทยปัจจุบัน เราจะไม่พบซ่อนกลิ่นปลูกอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไปเลย สถานที่เดียวซึ่งจะพบ (ดอก) ซ่อนกลิ่นก็คือในพิธีฌาปนกิจศพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าขาดดอกซ่อนกลิ่นไม่ได้ผู้ที่ไปร้วมงานสดพระอภิธรรมหน้าโลงศพในเวลาเย็นและค่ำ จึงได้เห็นและได้ดมกลิ่นหอมจากดอกซ่อนกลิ่นกันเป็นส่วนใหญ่ ดอกซ่อนกลิ่นและกลิ่นของดอกซ่อนกลิ่นกันเป็นส่วนใหญ่ ดอกซ่อนกลิ่นและกลิ่นของดอกซ่อนกลิ่นจึงกลายเป็นเครื่องหมายของความโศกเศร้าและความจากพราก ความสูญเสีย ฯลฯ ซึ่งหมายรวมถึงความทุกข์ไปโดยปริยาย

ดังนั้นในโอกาสมงคลต่าง ๆ วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด หรือวันแต่งงาน ฯลฯ ของคนไทย หากมีคนนำช่อดอกซ่อนกลิ่นไปมอบให้ หรือร้อยเป็นพวงมาลัยไปคล้องคอให้ ก็จะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มองหน้ากันไม่ได้ไปอีกนาน อาจถือว่าเป็นการประสงค์ร้ายขนาดสาปแช่งให้เกิดความวิบัติถึงล้มตายกันเลยทีเดียว

แต่ที่ผู้เขียนได้พบเห็นในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ปรากฏว่า ช่อดอกซ่อนกลิ่น และพวงมาลัยของดอกซ่อนกลิ่น เป็นเครื่องหมายของความสุขสดชื่นและความปรารถนาดี ไม่ต่างจากช่อดอกกุหลาบ หรือพวงมาลัยดอกรัก ดอกมะลิ ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยเลย

แสดงว่ามีประเทศไทยเท่านั้นที่มีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับซ่อนกลิ่นซึ่งก็คงเป็นมาไม่นานนี้เอง เพราะในเพลงกล่อมเด็กเมื่อ 80 ปีก่อนก็ยังแสดงว่าคนไทยนิยมพกพาดอกซ่อนกลิ่นติดตัวอยู่เสมอ ค่านิยมดังกล่าวคงเช่นเดียวกับที่คนไทยมีต่อต้นลั่นทมที่คนทั่วโลกชื่นชม แต่คนไทย (ภาคกลาง) ติดที่ชื่อว่าไม่เป็นมงคล (ใกล้กับคำว่าระทม) จึงถือเป็นพืชไม่เป็นมงคล ห้ามปลูกในบริเวณบ้านอย่างเด็ดขาด

ค่านิยมของคนไทยเกี่ยวกับดอกซ่อนกลิ่นและลั่นทม น่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับค่านิยมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมอื่น ๆ เพื่อคนไทยจะได้ดำรงตนอยู่อย่างเหมาะสมในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้

ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่รังเกียจดอกซ่อนกลิ่นอยู่นี้ หลายคนอาจใช้กลิ่นหอมจากดอกซ่อนกลิ่นอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ โดยเฉพาะคนไทยที่นิยมใช้น้ำหอมจากฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสปลูกดอกซ่อนกลิ่นเพื่อสกัดน้ำมันหอมจากดอกซ่อนกลิ่นมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมอย่างกว้างขวางมานานแล้ว ดังนั้น น้ำหอมอันมีชื่อเสียงจากฝรั่งเศสหลายยี่ห้อจึงมีกลิ่นหอมจากดอกซ่อนกลิ่นผสมอยู่ด้วย โดย (คนไทย) ผู้ใช้ไม่ทราบเลย


 

ข้อมูลสื่อ

274-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร