• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องของเส้น(ลมปราณ) สำคัญไฉน

มีความเชื่อกันว่า คนจะได้ดิบได้ดี จำเป็นต้องมีความเก่งบวกความเฮง แต่สมัยนี้จะให้แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง บางครั้งสำคัญกว่าเก่งกับเฮง คือ ต้องมีเส้น

ใครจะฝากเด็กเข้าเรียน ฝากเด็กเข้าทำงาน ใครจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือแม้แต่จะจองหุ้น ถ้าเส้นไม่ดีโอกาสจะผิดหวังสูงมาก

ในวิชาศาสตร์แพทย์แผนจีน การรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการให้ยาสมุนไพร หรือการดูแลสุขภาพด้านอื่น โรคที่เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเป็นสิ่งพบเห็นได้กับคนแทบทุกคน ไม่ผิดเพี้ยนจากชีวิตทางสังคมที่มักต้องอาศัยเส้น

มักมีคนไข้ถามเสมอว่า
“คุณหมอครับ ผมเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ หรือเส้น หรือเอ็น”

โดยวิธีคิดของการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน จะให้ความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยโรค โดยดูที่พยาธิสภาพว่า เป็นโรคของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะส่วนใดที่ผิดปกติ เป็นที่ตัวกระดูกมีความผิดปกติแล้วไปกดทับเส้นประสาทหรือไม่ หรือกระดูกผิดรูปทรงบิดเบี้ยว หรือกระดูกมีการผุ การกร่อนจนทำให้เกิดความเจ็บปวด

ถ้าเป็นกล้ามเนื้อ อาจจะดูว่าเป็นเพราะถูกทำลาย บาดเจ็บฉีกขาดหรือเกร็งตัว

ส่วนเรื่องเอ็นก็หมายถึงส่วนปลายของกล้ามเนื้อ หรือเอ็นยึดระหว่างกระดูก ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการฉีกขาด หรือว่าบาดเจ็บเป็นส่วนใหญ่

ส่วนคำว่า “เส้น” อาจจะเคยได้ยินหรือคุ้นเคยกับการนวด หรือได้ยินจากแพทย์พื้นบ้าน หรือเป็นสิ่งที่รับรู้จากการดูแลตนเองในเรื่องสุขภาพ เช่น หมอนวดมักบอกว่า “เส้นบ่า เส้นคอ เส้นหลัง เส้นแขน เส้นหน้าขาของคุณแข็งมาก ทำให้คุณปวดไปทั้งตัว ต้องนวดคลายเส้น อาการก็ทุเลาลงได้”

ความหมายเรื่อง “เส้น” ทางแพทย์แผนไทย หรืออินเดีย หรือของจีนมีความคล้ายคลึงกันบ้างในแง่เป็นทางเดินของพลังลมปราณของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีทิศทางหรือแนวทางการไหลเวียนของพลัง (ลม) ปราณ เพื่อให้เกิดเลือดและพลังหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้มีการดำรงชีวิต หรือเพื่อการปรับตัวในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บให้มีสุขภาพที่ดี

หนังสือคัมภีร์แพทย์แผนจีนเล่มแรกชื่อ “หวงตี้เน่ยจิง” เขียนขึ้นสมัยชุนชิว (770 -476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ประมาณเกือบ 2,500 ปีก่อน คัมภีร์เล่มนี้เกิดจากการรวบรวมประสบการณ์ทางการแพทย์ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยชุนชิว ซึ่งนับว่าเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติทางการแพทย์อันยาวนานของชนชาติจีน

เนื้อหาของคัมภีร์ “หวงตี้เน่ยจิง” แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ตำรา “ซู่เวิ่น” และตำรา “หลิวซู”
ตำรา “หลิวซู” มีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเส้นลมปราณตั้งแต่ทฤษฎี เส้นทางเดิน จุดฝังเข็ม การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรค

“เส้น” ในความหมายของแพทย์แผนจีน จึงมีความหมายเกี่ยวกับเส้นลมปราณ ซึ่งมีแนวทางการเดินที่แน่นอน

เส้นทางเดินของเส้นลมปราณหลักมี 12 เส้น
ดังนี้
- เริ่มจากอวัยวะในร่างกายบริเวณทรวงอก ออกสู่ภายนอกมาที่แขนด้านในมี 3 เส้นหลัก ไปสิ้นสุดบริเวณปลายนิ้วมือ
- จากปลายนิ้วมือเดินทางผ่านมือ แขน หัวไหล่ ด้านนอกไปสิ้นสุดบริเวณศีรษะและใบหน้ามี 3 เส้นหลัก (มีเส้นแยกแขนงเชื่อมกับอวัยวะภายใน)
- จากศีรษะเดินทางมาด้านข้าง ศีรษะ ลำตัว มายังขาด้านข้างหรือด้านหลังไปบริเวณเท้า 3 เส้นหลัก (มีเส้นแยกแขนงเชื่อมกับอวัยวะภายใน)
- จากเท้าเดินทางมาตามขาด้านในผ่านหน้าท้อง (มีแขนงเชื่อมกับอวัยวะภายใน) เข้าบริเวณทรวงอก นอกจากนั้น ยังมีเส้นที่วิ่งผ่านกลางลำตัวด้านหน้าและด้านหลังอีกรวม 2 เส้น

ดังนั้น “เส้น” ในความหมายดังกล่าว ก็คือ ความสัมพันธ์ของโรคอวัยวะภายใน สามารถสะท้อนความผิดปกติออกมาที่บริเวณแขน ขา ลำตัว ศีรษะ ความผิดปกติที่ส่วนนอก แขน ขา ลำตัว ศีรษะ ก็สามารถมีผลกระทบต่อโรคภายในหรืออวัยวะภายในได้

ดังนั้นการฝังเข็มหรือกระตุ้นเส้นลมปราณโดยผ่านจุดฝังเข็มที่เหมาะสม สามารถมีผลกระทบต่ออวัยวะภายในได้ เช่น โรคบางอย่างเป็นที่ศีรษะ อาจใช้วิธีกระตุ้นจุดฝังเข็มที่อยู่บริเวณมือหรือเท้า ก็สามารถทำให้โรคบริเวณศีรษะหายได้เช่นกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของพลังธรรมชาติจะกระทบต่อพลังลมปราณของร่างกาย โดยเริ่มจากกระทบที่ผิว ถ้าแก้ไขไม่ดีหรือร่างกายไม่แข็งแรงพอ พลังก่อโรคที่รุนแรงจะลุกจากผิวสู่เส้นลมปราณและอวัยวะภายในได้

เส้นลมปราณในความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์ ในแพทย์แผนจีนบอกเพียงว่า มีหน้าที่ลำเลียงขนส่งเลือดและพลังลมปราณไหลเวียนไปยังอวัยวะภายใน และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

จึงไม่ได้แยกว่าเป็นส่วนกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ แต่หมายรวมถึงทุกส่วนในบริเวณนั้น ที่เส้นลมปราณผ่าน ซึ่งในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะผิดปกติจากเนื้อเยื่ออวัยวะใด ก็จะทำให้เลือดพลังเดินไม่ดีทั้งนั้น การรักษาด้วยการปรับหลอดลม สามารถลดการบวม ลดการอักเสบ หย่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดการคั่งค้างของสารอักเสบในร่างกายได้

แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีพยาธิสภาพที่เกิดการแตกหัก หรือโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง การแก้ไขให้พยาธิสภาพหรือโรคหายได้โดยถึงแก่นย่อมกระทำได้ยาก แต่สำหรับการบรรเทาอาการหรือลดการปวดเกร็ง โดยไม่ต้องใช้ยา การรักษาเส้นเพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกนับว่าสำคัญและปลอดภัย ผลเสียน้อยกว่าวิธีอื่น ๆ
การคลายเส้นมีหลายวิธี การนวด การออกกายบริหารในท่าที่เหมาะสม การทำโยคะท่าที่เหมาะสม การฝังเข็ม การประคบ การฝึกลมปราณ ควรพิจารณาเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเส้น ร่วมกับการรักษาโรคแบบแผนปัจจุบัน

ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เราคงไม่หยุดการมองปัญหาเรื่องเส้นเพียงแค่ว่าเป็นโรคเฉพาะที่ว่าเป็นกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก แต่ยังคงต้องมองความเชื่อมสัมพันธ์กันของเส้นไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรืออวัยวะภายใน เพราะโรคแปลก ๆ ที่สลับซับซ้อนหลาย ๆ โรคในตัวคนไข้บางครั้งสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน พอรักษาถูกจุด ถูกเส้น อะไรก็ดีไปหมด เรียกว่า เป็นเรื่องของเส้นแท้ ๆ เลย

บอกแล้วไง “เรื่องเส้นสำคัญจริง ๆ” ไม่แพ้เวลา “ฝากลูกเข้าโรงเรียน” เลยเชียวละ

 

ข้อมูลสื่อ

276-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 276
เมษายน 2545
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล