• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดท้อง

ปวดท้อง

 


 

“พ่อเคยปวดท้องมั้ยฮะ” “

เคยสิ แต่ไม่ใช่ปวดธรรมดา มันถึงขนาดต้องส่งไปโรงพยาบาลเลยเชียวละ” เด็กชายยกมือกุมท้องตัวเองพร้อมกับถามต่อว่า

“แล้วพ่อรู้ได้ยังไงว่าปวดแบบไหนต้องไปหาหมอ”  "

ก็คราวที่พ่อต้องเข้าโรงพยาบาลไงล่ะ หมอได้อธิบายให้พ่อฟังคร่าวๆ แล้วแจกโปสเตอร์บอกบริเวณหน้าท้อง 9 ตำแหน่งที่มักจะปวดท้อง และหมอยังบอกสาเหตุที่ทำให้ปวดท้องมาด้วย นี่ไงล่ะ”แล้วสองพ่อลูกก็สาละวนกับการดูแผนภาพที่แสดงตำแหน่งของอาการปวดท้องกันใหญ่

หากจะกล่าวว่า อาการปวดท้องถือเป็น “อาการครอบจักรวาล” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลายๆ โรคที่เราๆ ท่านๆ เป็นกันอยู่มักจะมีอาการปวดท้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ บ่อยครั้งที่คาดเดาไม่ถูกว่า อาการปวดท้องที่ตนเองกำลังประสบอยู่นี้เป็นภาวะที่หนักหนาสาหัสจนต้องไปพบแพทย์ หรือเป็นแค่เพียงการรักษาตนเองง่ายๆ ก็หายแล้ว
 

ปวดท้องคืออย่างไร

ปวดท้อง คือ ลักษณะของอาการปวด เจ็บ จุก เสียด แน่น บริเวณหน้าท้อง
อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบอกให้เราทราบว่าภายในร่างกายมีสิ่งปกติใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เราสามารถวินิจฉัยโรคที่อาจเป็นไปได้จากอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นก่อนที่จะไปพบแพทย์ เพียงการสังเกตลักษณะอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นว่าเกิดในบริเวณใดของท้อง ซึ่งมีผู้แบ่งอาการปวดท้องออกเป็น 9 ตำแหน่งด้วยกัน ดังที่แสดงในแผ่นพับที่แนบมาด้วยนี้

 

อาการปวดท้องที่พบบ่อย

นอกจากอาการปวดท้องที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น เราอาจพบว่า มีอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งไม่มีอันตรายมากนัก และยังสามารถทำการบำบัดรักษาอาการปวดท้องได้ด้วยตนเอง ดังนี้


1. อาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร
คือ การเกิดอาการปวดท้อง แสบท้อง หรือแน่นท้องเวลาหิวข้าว หรือเกิดจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา หรือเกิดจากการกินอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป ซึ่งอาหารประเภทนี้มักจะปวดบริเวณตำแหน่ง 2 ส่วนใหญ่ที่พบมักเรียกกันว่า “โรคกระเพาะ”

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด วิตกกังวล การกินอาหารผิดเวลา การกินอาหารที่มีรสจัด และการกินยางบางประเภท เช่น ยาแก้ปวด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้กรดในกระเพาะอาหารออกมามาก จึงเกิดการระคายเคือง (กัด) เยื่อบุกระเพาะลำไส้ ทำให้อักเสบ และเกิดเป็นแผลขึ้น

การรักษา

1. พยายามกินอาหารให้ตรงเวลา และเลิกกินอาหารที่มีรสจัด มีกรดหรือกระตุ้นกรด และยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร

2. พยายามอย่าให้มีความเครียดเกิดขึ้น

3. กินยาลดกรดครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 1-2 ชั่วโมง และกินซ้ำได้เวลาที่ปวดท้อง แสบท้อง หรือเรอเปรี้ยว
 

2. อาการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน (ระดู)

คือ การปวดท้องบริเวณท้องน้อย บริเวณตำแหน่งที่ 8 ร่วมกับการมีประจำเดือนในเพศหญิง อาจพบว่า บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อย หรือบางคนไม่ปวดเลย คนที่ปวดส่วนใหญ่มักจะปวดมากในวันแรกๆ และมักจะมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ถ้าบางคนปวดมาก โดยทั่วไปอาการปวดท้องประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก และมักจะหายไปเอง หรือมีอาการดีขึ้นภายหลังที่มีลูก

การรักษา

- ถ้ามีอาการปวดไม่มาก ไม่ต้องกินยาแก้ปวดใดๆ อาจนอนแล้วใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางทับบริเวณท้องที่ปวด หรือทำอะไรเล่น หรือทำงานอื่นให้เพลินๆ อาการปวดก็จะหายไปเองได้ แต่ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวด (พาราเซตามอล) ครั้งละ 1-2 เม็ด แล้วนอนพักสักครู่อาการปวดท้องก็จะบรรเทาลง

- แต่ทางที่ดี ในการป้องกันไม้ให้เกิดอาการปวดในขณะที่มีประจำเดือน ก็คือ การออกกำลังกายเป็นประจำนั่นเอง
 

3. อาการปวดท้องร่วมกับท้องเดิน
คือ การปวดท้องที่มีอาการท้องเดินร่วมด้วย ภายหลังจากที่กินอาหารเข้าไป อาจจะเป็นอาหารประเภทหมักดอง อาหารที่มีรสจัดหรืออาหารแปลกๆ ที่ไม่เคยกิน ซึ่งเมื่อกินเข้าไปแล้วจะมีอาการปวดท้อง อึดอัดแน่นท้อง รู้สึกมวนท้อง บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย มักจะปวดบริเวณตำแหน่งที่ 5

การรักษา

ในรายที่อาเจียนมาก จนดื่มกินอะไรไม่ได้เลยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ส่วนในรายที่ไม่มีอาการอาเจียนหรืออาเจียนเพียงเล็กน้อยยังสามารถกินได้ให้กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม หรือน้ำข้าวแทนมื้ออาหารปกติ และให้ดื่มน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปทางอุจจาระ น้ำเกลืออาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

- ใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่แบบสำเร็จรูปผสมกับน้ำสุกตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในฉลาก

- ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือปนครึ่งช้อนชาในน้ำสุก 1 ขวดกลมใหญ่ (750 มิลลิลิตร)

- น้ำอัดลมเปิดให้แก๊สหมดก่อนแล้วใส่เกลือในสัดส่วนน้ำอัดลม 750 มิลลิลิตร กับเกลือครึ่งช้อนชาหรือ

- น้ำข้าวใส่เกลือในสัดส่วนดังกล่าว
 

4. อาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูก

คือ อาการปวดท้องของคนที่ไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหลายวันทั้งที่กินอาหารตามปกติ จะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หรือมีอาการไม่สบายในท้องอื่นๆ ซึ่งมักมาจากนิสัยการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนอาจถ่ายอุจจาระวันละ 2 ครั้ง บางคน 2-3 วันถ่ายครั้งหนึ่ง แต่โดยทั่วไปมักถ่ายกันวันละครั้ง และเมื่อถึงเวลาแล้วไม่ถ่าย จึงเรียกว่า ท้องผูก ซึ่งไม่ทำให้เกิดโทษอะไรมากนัก นอกจากจะทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก และมีอาการกำเริบขึ้นได้

การรักษา

ให้กินยาธาตุ 1-2 ช้อนโต๊ะ บรรเทาอาการปวดท้อง ถ้าหายอาการปวดท้อง แสดงว่าเป็นอาการปวดท้องธรรมดา ก็ควรจะดูแลตนเองต่อไป ดังนี้

(1) ควรฝึกนิสัยการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ห้ามกลั้นอุจจาระไว้เป็นเวลานานๆ

(2) ควรกินอาหารประเภทผัก ผลไม้ จำพวกที่มีกากมาก

(3) ดื่มน้ำวันละมากๆ

(4) ควรออกกำลังกายเป็นประจำ และออกกำลังกายให้มากขึ้น

(5) ถ้าอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ให้กินยาระบายช่วย อาจใช้พวกสมุนไพร เช่น มะขามเปียกหรือน้ำมะขามเปียก หรือเนื้อในฝักคูนต้มเอามาดื่ม แต่ถ้ากินยาธาตุแล้วไม่หายปวดท้อง ควรจะไปพบแพทย์โดยเร็ว อาจมีสาเหตุร้ายแรง (เช่น กระเพาะลำไส้อุดตัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดรุนแรง หรือมีอาการรุนแรงร่วมด้วย
 

5. อาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องอืดเฟ้อ

คือ อาการที่เกิดจากมีลมเข้าไป (กลืนน้ำลายบ่อยๆ) หรือกินอาหารมากหรือเร็วเกินไป หรือเกิดจากท้องผูก หรือจากการที่มีความเครียดกังวล ซึ่งมักจะเป็นในผู้ใหญ่

การรักษา

1. อย่ากินอาหารขณะเหน็ดเหนื่อยหรือกินเร็วเกินไป ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน

2. ควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

3. ควรใช้ยาระบายอ่อนๆ ถ้ามีอาการท้องผูกร่วมด้วย

4. ถ้ามีอาการท้องอืดมาก ให้ดื่มน้ำอุ่นๆ และกินยาขับลม เช่น โซดามินท์ ยาธาตุน้ำแดง มิกต์คาร์มิเนตีฟ เป็นต้น อาจใช้สมุนไพร เช่น ขิง ข่า กะเพรา ต้มเอาน้ำกินได้

ส่วนในเด็กซึ่งมักจะมีอาการท้องอืดเป็นประจำ ส่วนใหญ่เกิดจากนม ให้ใช้มหาหิงคุ์ทาที่หน้าท้อง หรือใช้น้ำร้อนประคบ ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดในเด็กได้
 

6. อาการปวดท้องเนื่องจากออกกำลังกาย

คือ อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นเนื่องจากการออกกำลังกาย เช่น การบริหารหน้าท้อง การก้มๆ เงยๆ (ซึ่งมักจะทำให้ปวดหลังด้วย) การหัวเราะมากๆ (จนท้องคัดท้องแข็ง) การไอหรือจามรุนแรง เป็นต้น

การรักษา

1. ถ้ามีการปวดที่กล้ามเนื้อที่หน้าท้องและข้างท้อง (สีข้าง) ซึ่งมักจะเกิดในกรณีที่ไอรุนแรงหรือจามรุนแรง รักษาได้โดยให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆ อย่าให้เคลื่อนไหวหรือเกร็งส่วนที่เจ็บบ่อยๆ ถ้าปวดมากให้ใช้น้ำร้อนประคบและกินยาแก้ปวด (พาราเซตามอล) อาการจะดีขึ้นเองในเวลา 3-7 วัน

2. ถ้ามีอาการตะคริวที่กล้ามเนื้อเป็นพักๆ เช่น ในกรณีที่หัวเราะมากจนท้องคัดท้องแข็ง หรือในคนที่ขาดเกลือแร่ ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้น ซึ่งอาการตะคริวจะเป็นเพียงครู่เดียวก็หายไป รักษาได้โดยการบีบนวดส่วนที่เป็นตะคริวเบาๆ ให้กล้ามเนื้อที่แข็งอยู่นิ่มลง และถ้าเป็นบ่อยๆ ให้กินเกลือ กล้วย ส้ม และนมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องชนิดใด ถ้าพบว่าเมื่อทำการรักษาด้วยตนเอง ตามวิธีได้เสนอไปแล้วนั้นอาการปวดท้องก็ยังไม่หมดไป หรือมีอาการที่ทรุดลงมากกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์จะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด

ข้อมูลสื่อ

171-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ