• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เห็ดแดดเดียว

เห็ดแดดเดียว

 


 

หากใครช่างสังเกตจะพบว่า อาหารที่ดิฉันมาแนะนำในคอลัมน์เข้าครัวนี้ จะเป็นอาหารประเภทผัก ปลา หรือกุ้งเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะดิฉันจงใจที่จะเลี่ยงการแนะนำอาหารประเภทหมูหรือเนื้อ เหตุสำคัญก็คือ เนื้อสัตว์ประเภทหมูหรือเนื้อแม้จะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ แต่มีความเสี่ยงมากกว่าอาหารประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทพืชผัก ซึ่งสามารถเป็นแหล่งโปรตีที่ดีไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น เห็ด ซึ่งมีเกลือแร่ในปริมาณที่สูงกว่าเนื้อวัว หมู ปลา และผักชนิดต่างๆ ที่สำคัญ โปรตีนในเห็ดประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์

สถาบัน American Mushroom Industry Research ได้ค้นพบว่า เห็ดอุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีน ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไทอามีน ไรโบฟลารีน ไนอาซีน และแร่ธาตุอื่นๆ นอกจากพืชประเภทถั่วลันเตาและถั่วเหลืองแล้ว เห็ดเป็นพืชที่มีโปรตีนมากกว่าผักอื่นๆ ทุกชนิด หลายๆ ท่านที่ยังติดใจในรสชาติหรือสีสันของการบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ ดิฉันอยากจะเชิญชวนให้ลองใช้ความรู้ความชำนาญในการเข้าครัวมาดัดแปลงแต่งโฉมพืชผักให้กลายเป็นอาหารจานโปรดของคุณ วันนี้ดิฉันมีตัวอย่างอาหารที่ทำจากผักแต่มีรสชาติแบบที่คุณคุ้นเคยมาฝากกัน นั่นคือ เห็ด (เป๋าฮื้อ) แดดเดียว

วิธีทำ
ก็ไม่ยากเลยค่ะ คล้ายๆ การทำเนื้อแดดเดียว เพียงแต่เปลี่ยนจากเนื้อมาเป็นเห็ดเป๋าฮื้อ เริ่มต้นด้วยการนำเห็ดเป๋าฮื้อที่ล้างสะอาดแล้วมาหั่นตามขวางให้ชิ้นขนาดใหญ่พอสมควร แล้วนำมาคลุกกับซีอิ๊วขาวและกระเทียมรากผักชี และพริกไทยที่โขลกเตรียมไว้ กะประมาณดูอย่าให้เค็มมากเกินไป แล้วนำไปผึ่งแดดสัก 2 ชั่งโมง เสร็จแล้วนำไปทอดในน้ำมันให้เหลือง กินกับข้าวเหนียวอร่อยไม่แพ้เนื้อแดดเดียวเลยค่ะ

แถมท้ายฉบับนี้ด้วยความรู้ในการปรุงอาหารด้วยเห็ด ซึ่งคุณสุชาดา ทรรศนะวิเทศ ได้รวบรวมไว้ว่า ในการเก็บเห็ดในตู้เย็นให้เก็บไว้ในส่วนที่เก็บผัก โดยก่อนเก็บควรล้างในน้ำเย็นที่สะอาดแล้วนำขึ้นจากน้ำเลย ไม่ควรแช่ทิ้งไว้ในน้ำนานๆ เมื่อล้างเสร็จก่อนนำเข้าตู้เย็นหรือนำไปปรุงอาหาร ต้องผึ่งลมให้หมาดๆ เสียก่อน ในการประกอบอาหาร ควรผัดหรือต้มโดยใช้ไฟแรงในเวลาสั้นๆ ไม่ควรผัดหรือต้มในน้ำมันหรือน้ำที่ยังเย็นอยู่ หากจะปรุงอาหารให้คงรสและกลิ่นของเห็ดไว้ ควรใช้เพียงเกลือ พริกไทย หรือซีอิ๊วขาวเท่านั้นค่ะ

ข้อมูลสื่อ

171-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
เข้าครัว
นาตยา