• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปากเบี้ยว

โรคปากเบี้ยว
 

                             

ข้อน่ารู้

1. คนบางคนอยู่ๆตื่นขึ้นตอนเช้าก็รู้สึกตกใจที่พบว่ามีอาการปากเบี้ยวข้างหนึ่ง โดยที่แขนขาแข็งแรงเป็นปกติ แล้วอาการจะค่อยๆดีขึ้น จนหายเป็นปกติได้
อาการดังกล่าวนี้เรียกว่า “โรคปากเบี้ยว” เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอัมพาตไปครึ่งซีก ภาษาหมอเรียกว่า “อัมพาตปากเบี้ยว” (facial palsy) บ้างก็เรียก “เบลล์พัลซี” (bell’s palsy)

2. สาเหตุ เป็นเพราะเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ที่เรียกว่า “เส้นประสาทใบหน้า”(facial nerve) เกิดการอักเสบ ซึ่งจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีกที่เส้นประสาทนั้นไปเลี้ยงเกิดอาการอัมพาตชั่วคราว แล้วก็ค่อยๆฟื้นตัว เมื่ออาการอักเสบหายสนิทกล้ามเนื้อส่วนนั้นก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ
ส่วนอะไรทำให้เส้นประสาทใบหน้าเกิดการอักเสบยังบอกไม่ได้แน่ชัด บางคนอาจพบว่าเป็นหลังจากตากลม หรือถูกอากาศเย็น
ส่วนน้อยที่อาจมีสาเหตุชัดเจน เช่น พบร่วมกับโรคงูสวัดที่ขึ้นบริเวณใบหน้าหรือตรวจพบว่ามีโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูงร่วมด้วย หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณใบหน้า เป็นต้น

3. โรคนี้พบได้พอประมาณในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุ 20-50 ปี

4. จัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แม้ดูอาการน่าตกใจแต่จะค่อยๆฟื้นตัวได้เองภายใน 2-8 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ยารักษาก็สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะหายได้สนิท แต่อาจมีคนไข้ประมาณร้อยละ 20 ที่อาจหายไม่สนิท มีร่องรอยของอาการปากเบี้ยวให้เห็นอยู่บ้าง
บางคนกว่าจะหายได้สนิท ก็อาจกินเวลาตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี คนที่มีอายุมากอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าคนอายุน้อย
 


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
โรคนี้มีลักษณะเฉพาะ คือ อยู่ๆก็สังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยวไปข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลออกที่มุมปากข้างนั้น เวลายิ้มหรือยิงฟันจะเห็นมุมปากข้างนั้นตก ขณะเดียวกันก็พบว่าตาข้างเดียวกับข้างที่ปากเบี้ยวจะไม่สามารถปิดให้มิดได้ และคิ้วข้างนั้นก็ยักไม่ได้ แต่แขนขายังแข็งแรงเป็นปกติ สามารถทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และพูดคุยได้ชัดเจนเหมือนเดิม ถ้าอยู่เฉยๆคือไม่พูดไม่ยิ้ม ไม่หลับตาและยักคิ้วก็จะดูไม่ออกว่ามีอาการผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคอัมพาตของแขนขาครึ่งซีก ก็อาจมีอาการปากเบี้ยวข้างหนึ่งได้ แต่ต่างกันที่คนพวกนี้จะหลับตาได้มิดและยักคิ้วได้
ดังนั้นเมื่อสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยว ควรสังเกตว่าแขนขาแข็งแรงดีหรือไม่ ซึ่งจะแยกโรคปากเบี้ยวออกจากโรคอัมพาตของแขนขาครึ่งซีกได้
 


เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการปากเบี้ยวควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อสืบสาวหาสาเหตุให้แน่ชัด

                     
                       ลักษณะอาการของโรคปากเบี้ยว



แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะตรวจให้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นโรคอัมพาตของแขนขาครึ่งซีก
ในรายเป็นโรคปากเบี้ยวอาจตรวจหาสาเหตุซ่อนเร้น เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ถ้าพบก็จำเป็นต้องรักษาโรคเหล่านี้ไปพร้อมกัน

สำหรับผู้ที่เป็นโรคปากเบี้ยวที่ตรวจไม่พบสาเหตุแน่ชัด แพทย์จะให้ยากลับไปรักษาที่บ้านดังนี้
1. ให้กินยาเม็ดเพร็ดนิโซโลนเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้า ระยะแรกจะให้กินวันละ 12-16 เม็ด แล้วจะค่อยๆลดลง แล้วหยุดยาภายใน 10 วัน ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มสตีรอยด์ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงหากใช้ไม่ถูกต้อง คนไข้ไม่ควรซื้อยาใช้เอง ควรให้แพทย์เป็นผู้กำหนดการใช้ที่ถูกต้อง ยานี้จะช่วยลดการอักเสบทำให้โรคทุเลาได้เร็วกว่าปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ

2. ใช้ขี้ผึ้งป้ายตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน ป้ายตาข้างที่ปิดไม่มิดวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้ตาเกิดการอักเสบ ควรใส่แว่นกันแดดหรือใช้ผ้ากอซปิดตาข้างนั้นไว้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกฝุ่นถูกลมจนเกิดการอักเสบได้
คนไข้ควรสังเกตดูอาการที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน จะพบว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ กล้ามเนื้อใบหน้าตอนบนจะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อน กล่าวคือจะยักคิ้วและปิดตาได้มากขึ้น ส่วนอาการปากเบี้ยวจะทุเลาทีหลัง ดังนั้นคนไข้ควรทำท่ายักคิ้วและหลับตาดูทุกวันเมื่อเริ่มสังเกตว่าทำได้แล้วก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้ในเร็ววัน

ในรายที่เป็นมากหรือฟื้นตัวช้า แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดเพิ่มเติม เช่น ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
บางรายอาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด

โดยสรุป โรคปากเบี้ยวเกิดจากกล้ามเนื้อใบหน้าซีกหนึ่งไม่ทำงาน เนื่องจากเส้นประสาทใบหน้าข้างนั้นเกิดการอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ เป็นโรคที่ไม่มีอันตราย จะหายได้เองภายใน ๒-๘ สัปดาห์
 

                                                                      การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคปากเบี้ยว ถึงแม้แขนขาจะเป็นปกติดี(แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอัมพาตของแขนขาครึ่งซีก) ก็ควรจะไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจซ่อนเร้นอยู่ และรับการรักษาจากแพทย์เพื่อช่วยให้อาการฟื้นตัวเร็วขึ้น แล้วควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

1. ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

2. บางรายแพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด ก็ควรไปรับการรักษาตามคำแนะนำ

3. ขณะอยู่บ้าน พยายามบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการฝึกแยกเขี้ยว ยิงฟัน แล้วใช้มือยกมุมปากข้างที่เป็นอัมพาตขึ้นตามไปด้วย ทำวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที

 

ข้อมูลสื่อ

189-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 189
มกราคม 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ