• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลียบเลาะเจาะดู ช่องทางเดินอาหาร

เลียบเลาะเจาะดู ช่องทางเดินอาหาร

 


 

ใครหนอช่างเปรียบว่า ร่างกายมนุษย์ไม่ต่างจากโรงงานย่อยๆ หลายโรงรวมกันอยู่ในร่างเดียว ก็คงจะจริงอย่างเขาว่ากระมัง เพราะร่างกายเราจะมีส่วนที่เหมือนโรงงานผลิตหุ่นยนต์มนุษย์ ซึ่งน่ามหัศจรรย์มากดังที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วในฉบับก่อนๆ แต่คราวนี้จะขอพูดถึงโรงงานบดอาหาร หรือการเข้าสู้ระบบย่อยอาหาร สำหรับใครบางคนที่รู้สึกว่าตนเองมีความสุขกับการกิน ก็ลองมาดูกันสิคะว่า เครื่องเคราภายในของคุณต้องทำงานหนักเพียงใด เพื่อทำหน้าที่ย่อยสิ่งที่คุณกินเข้าไปทั้งหมดให้ทันก่อนมื้ออาหารใหม่จะมาถึง เพราะมิฉะนั้นแล้ว ‘ของเก่า’ อาจจะล้นออกมาทางปากก็ได้

จากจุดแรกของระบบย่อยอาหาร เริ่มขึ้นที่ปาก แล้วผ่านไปตามหลอดเลือด (oesophagus) เพื่อเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งกระเพาะอาหารจะทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารกับน้ำย่อยให้เข้ากันดี ในไม่ช้าอาหารก็จะมีสภาพเละไม่ต่างไปจากโจ๊กสักเท่าไหร่แล้วกระเพาะอาหารก็ค่อยๆ ผลักอาหารส่วนนี้ไปยังลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) ซึ่งยาวประมาณ 1 ฟุต จากนั้นจึงถูกส่งต่อมายังลำไส้เล็กส่วนกลาง (jejunum) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum)  พอถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย น้ำย่อยจากถุงน้ำดีและตับอ่อนจะถูกปล่อยออกมาเพื่อย่อยอาหารให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นใยเนื้ออ่อนๆ (villi) จำนวนหลายล้านเส้น ซึ่งเป็นเสมือนนิ้วขนาดจิ๋วที่ยื่นออกมาจากผนังลำไส้ หน้าที่ของใยเนื้ออ่อนๆ เหล่านี้ก็คือนำเอาอาหารที่ย่อยดีแล้วภายในลำไส้เข้าสู่ระบบขนถ่าย เพื่อส่งต่อไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนกากอาหารที่เหลือจะขับออกจากร่างกายผ่านทางทวารหนัก รวมเบ็ดเสร็จสรรพแล้ว อาหารต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหารโดยเริ่มจากปากไปสิ้นสุดที่ไส้ตรง (ส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่-rectum) เป็นระยะทางทั้งสิ้น 9 เมตร (30 ฟุต) หรือประมาณรถกระบะสองคันต่อกันทีเดียว

แม้ว่าการเดินทางของอาหารได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วก็ตาม แต่อยากจะขอเชิญชวนให้คุณผู้อ่านแวะเยี่ยมชมประตูทางเข้าออกของทางเดินอาหารในอวัยวะแต่ละส่วนกันหน่อย โดยภาพรวมๆ แล้วแต่ละช่องจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เป็นช่องทางเล็กๆ ให้อาหารผ่านไปได้ แต่ในรายละเอียดของเยื่อบุผนังนั้นจะแตกต่างกันไปตามหน้าที่ของมัน (ดังภาพ) คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าเนื้อเยื่อในทางเดินอาหารของเรานั้นอ่อนนุ่มและบอบบางเพียงใด ฉะนั้นเวลาที่กินอาหารก็ควรสงสารกระเพาะลำไส้กันบ้าง โดยเฉพาะอาหารที่มีรสจัดๆ เคยเห็นบางคนเวลากันก๋วยเตี๋ยวแล้วใส่พริกป่นแดงไปทั้งชาม เวลากินคุณอาจรู้สึกว่าแช่บอร่อยสะใจดี แต่พอลงไปถึงกระเพาะแล้วสิ แย่เลย... อ้อ! แล้วก่อนกลืนอาหารควรเคี้ยวให้ละเอียดเสียก่อน เพื่อกระเพาะลำไส้จะได้ไม่ต้องทำงานหนักเกินไปไงคะ

ข้อมูลสื่อ

172-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
สุกาญจน์ เลิศบุศย์