• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (7) อุจจาระเป็นเลือด

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (7) อุจจาระเป็นเลือด


ในคราวที่แล้วพูดถึงอาการไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือดมาแล้ว ในคราวนี้จะพูดถึงอาการเลือดออกอีกทางหนึ่ง ซึ่งหลายๆ คนคงเคยพบมาบ้าง นั้นคือ อาการอุจจาระเป็นเลือด มาดูในรายละเอียดกันเลยดีกว่าครับ

9. อุจจาระเป็นเลือด
เป็นอาการเลือดออกทางทวารหนัก (ทางก้น) เลือดที่ออกมาพร้อมกับการถ่ายอุจจาระ (ขี้) มีหลายลักษณะ ที่พบบ่อย คือ

9.1 เสือดสีแดงสด มักพบใน

(1) ก้อนอุจจาระเป็นก้อนใหญ่แข็ง (ท้องผูก) ต้องออกแรงเบ่งมาก จึงจะถ่ายออกมาได้ ในขณะถ่ายจะรู้สึกเจ็บหรือแสบบริเวณก้น (ทวารหนัก) หลังก้อนอุจจาระผ่านแล้วจะมีเลือดสีแดงสดเป็นสาย หรือเป็นเส้นติดออกมากับก้อนอุจจาระหรือติดอยู่ที่ก้น เมื่อใช้กระดาษเช็ดกัน จะเห็นเลือดสีแดงสดที่กระดาษ อาการเลือดออกแบบนี้ มักเกิดจากก้อนอุจจาระที่ใหญ่และแข็งนั้นครูดกับผิว (เยื่อเมือก) ของทวารหนักทำให้เกิดเป็นแผลถลอก ทำให้เจ็บหรือแสบและมีเลือดออกเล็กน้อยเป็นเส้นหรือเป็นสายติดกับก้อนอุจจาระหรือติดอยู่ที่ทวารหนัก

การรักษา : ระวังอย่าให้ท้องผูก (ดูในหัวข้อต่อไป)

(2) โรคริดสีดวงทวารหนัก คนที่ท้องผูก (อุจจาระเป็นก้อนแข็ง) บ่อยๆ มักจะเกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก (hemorrhoids) ทำให้เลือดสีแดงสดออกมาได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นเวลาโดนครูดด้วยก้อนอุจจาระแข็งๆ ทำให้เลือดสีแดงสดหยดออกมาพร้อมกับการถ่ายอุจจาระหรือหลังการถ่ายอุจจาระ ส่วนใหญ่จะหยดออกมาหรือไหลออกมาไม่มากนัก แล้วก็จะหยุดเองเมื่อถ่ายอุจาระเสร็จ หรือหลังถ่ายอุจจาระเสร็จไม่นานนัก

การรักษา : ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยกินอาหารที่มีกาก (เช่น ผัก ผลไม้) ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา กินมะขามหรือน้ำมะขามเพิ่มขึ้น อาจใช้ผลไม้หรือสมุนไพรอื่น เช่น มะละกอดิบ (ส้มตำ) มะละกอสุก น้ำต้มใบมะกา มะขามแขก เม็ดแมงลัก เป็นต้น

- ถ้ายังไม่หายท้องผูกอาจใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ ยาระบายมะขามแขกขององค์การเภสัชกรรม หรืออื่นๆ

- ส่วนเรื่องเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ และอาการเจ็บแสบเล็กๆ น้อยๆ ที่ทวารหนัก มักจะหายเองในเวลาไม่นานนักหลังจากเช็ดและ/หรือล้างก้นให้สะอาดแล้ว

- ในกรณีที่เลือดออกมากหรือเจ็บแสบที่ทวารหนักมาก มักเกิดจากโรคริดสีดวงทวารหนักอักเสบ ถ้าเป็นมากควรไปโรงพยาบาล ถ้ายังไปไม่ได้ หรือถ้าเป็นไม่มากนักในระยะแรก ควรล้างก้นให้สะอาดแล้วใช้ผ้าห่อน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ประคบบริเวณทวารหนักจนเลือดหยุดไหลและอาการเจ็บดีขึ้น

เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วสัก 2-3 ชั่วโมง และยังมีอาการเจ็บบริเวณก้นอยู่ ควรนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่นๆ (เอาน้ำอุ่นใส่ในกะละมังแล้วนั่งแช่) ครั้งละ 20-30 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ ถ้าสามารถหาซื้อยาเหน็บทวารหนักได้ ให้ใช้ยาเหน็บทวารหนัก เช่น พร็อกโทซีดิล (Proctosedyl) เชอริพร็อก (Scheriproct) เหน็บเข้าไปในทวารหนักตอนเช้า และตอนเย็น จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการปวดบวมของก้อนริดสีดวงและทำให้ถ่ายอุจจาระได้สะดวกขึ้น ถ้าเลือดยังออกบ่อยๆ หรือมีอาการเจ็บปวดรุนแรงหรือเรื้อรังควรไปตรวจที่โรงพยาบาล

(3) เลือดออกจากลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ในกรณีเช่นนี้จะมีการถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือดสีแดงปนกับเลือดสีแดงคล้ำ และมักจะมีลิ่มเลือด (ก้อนเลือด) ปนออกมาด้วย อาจจะมีหรือไม่มีอาการปวดท้อง และมักจะไม่มีอาการเจ็บปวดที่ทวารหนัก ในกรณีเช่นนี้ ควรให้ผู้ป่วยนอนพัก งดอาหารและน้ำ แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล ถ้าสามารถเก็บเลือดที่ออกมา (เก็บใส่กระโถน หรือถุงพลาสติก) นำไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลได้ก็ยิ่งดี จะทำให้การตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเร็วขึ้น จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากขึ้น

9.2 เลือดสีแดงคล้ำ มักพบใน

(1) โรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งส่วนใหญ่เลือดจะออกไม่มากและจะหยุดเองได้ ให้การรักษาดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

(2) เลือดออกในลำไส้ใหญ่ ถ้าเลือดออกมากจะมีเลือดสีแดงสดและลิ่มเลือดปนออกมาด้วย ในกรณีเช่นนี้ ต้องให้ผู้ป่วยนอนพัก งดน้ำและอาหาร แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล ถ้าเลือดออกน้อยและหยุดเองให้รอดูอาการก่อนได้ ถ้าไม่เป็นอีกก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าเป็นอีกควรไปโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน

9.3 เลือดสีดำ หรืออุจจาระเหลวเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยเหลวๆ หรือเฉาก๊วยเหลวๆ มักพบใน

(1) เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก มักมีอาการอาเจียนเป็นเลือดมาก่อน หรือไม่มีอาการอาเจียนก็ได้ ถ้าอุจจาระเหลวเป็นสีดำเป็นจำนวนมาก ควรให้ผู้ป่วยนอนพัก งดน้ำและอาหาร ควรรีบพาไปโรงพยาบาล (นำอุจจาระไปด้วยถ้าทำได้) ถ้าอุจจาระเหลวเป็นสีดำเป็นจำนวนไม่มากนัก และผู้ป่วยไม่มีอาการอะไร ควรเก็บอุจจาระนั้นไปตรวจที่โรงพยาบาลพร้อมกับผู้ป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องรีบด่วนเหมือนในกรณีที่อุจจาระเหลวดำเป็นจำนวนมาก

(2) เลือดออกในลำไส้ใหญ่ส่วนต้นๆ และออกไม่มากนัก ทำให้เลือดค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานจึงเปลี่ยนเป็นสีดำ ควรเก็บอุจจาระและพาผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล

(3) การกินอาหารที่มีเลือดสัตว์ผสมอยู่ เช่น กินอาหารที่มีเลือดหมู เลือดเป็ด เลือดไก่ หรือเสื้อสัตว์อื่นผสมอยู่จำนวนมาก จะทำให้อุจจาระเป็นสีดำได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าอุจจาระสีดำหลังจากการกินอาหารดังกล่าว ก็ไม่ต้องตกใจอะไร จะหายเองหลังจากเลิกกินอาหารเหล่านั้น

(4) การกินยาบำรุงเลือด ก็จะทำให้อุจจาระเป็นสีเทาดำได้ แต่จะไม่ดำเหมือนเฉาก๊วย หรือยางมะตอย สีจะออกไปทางสีเทาดำมากกว่า ถ้ากินยาบำรุงเลือดแล้วอุจจาระเป็นสีดำ ก็ไม่ต้องตกใจ ถ้าจะให้แน่ใจก็ควรหยุดยาดู ถ้าหยุดยาแล้ว อาการอุจจาระดำหายไป ก็แสดงว่าอุจจาระดำเพราะยานั่นเอง ให้กินยาต่อไปถ้ายังซีดอยู่

(5) การกลืนเลือดที่ออกในจมูก (เลือดกำเดา) หรือออกในหลอดลม (ไอเป็นเลือด) หรือออกในปาก (แผลในปาก) ลงไป ก็จะทำให้อุจจาระดำได้เช่นเดียวกัน ให้รักษาอาการเลือดออกในจมูก ในหลอดลม หรือในปาก ดังที่กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อนๆ อาการอุจจาระดำก็จะหายไปได้

หมายเหตุ : อุจจาระเป็นสีดำที่เป็นก้อนแข็ง มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น แต่เกิดจากการที่อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกินไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีดำ เมื่อกินยาระบายหรือเปลี่ยนอุปนิสัยให้กายท้องผูก (หายอุจจาระแข็ง) แล้ว อุจจาระก็จะกลับมีสีเป็นปกติดังเดิม

9.4 เลือดปนมูก หรืออุจจาระเป็นมูกเลือด มักพบใน

(1) โรคบิด คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล จึงอุจจาระเหลว และเป็นมูกเลือด เกิดได้ในคนทุกวัย เกิดจาก

ก. เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะแยกจากเชื้อแบคทีเรีย จึงอาจเรียกว่า “โรคบิดไม่มีตัว” มักมีอาการปวดบิดในท้องมาก มักมีไข้ อุจจาระเหลว ถ่ายกะปริดกะปรอย และไม่มีกลิ่นเน่าเหม็น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และมักจะไม่เป็นเรื้อรังเกินกว่า 1 สัปดาห์

การรักษา : ถ้าไม่มีอาการมาก ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแอมพิซิลลิน (ampicilin) ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอนเป็นเวลา 5-7 วัน หรือยาอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) เม็ดละ 500 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5-8 วัน หรือยาโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) กินครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารเช้าและอาหารเย็น เป็นเวลา 5-7 วัน ถ้ามีอาการมาก เช่น อ่อนเพลีย หมดแรง หน้ามืด เป็นลม ไข้สูง หรืออื่นๆ ควรให้น้ำเกลือ และส่งโรงพยาบาล

ข. เชื้อพยาธิ ซึ่งมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นตัวพยาธิเคลื่อนไหวได้ หรือเป็นไข้พยาธิในอุจจาระสดๆ (ไม่ต้องย้อมสี) จึงอาจเรียกว่า “โรคบิดมีตัว” มักไม่ค่อยมีอาการปวดท้อง หรือปวดท้องก็ไม่รุนแรง ถ้ามีไข้ ไข้ก็มักจะไม่สูง อุจจาระบางครั้งก็ไม่เหลวแต่มีมูกเลือดปน และมีกลิ่นเหม็นเน่า ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื้อรัง อาจเรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปีได้

การรักษา : ควรวินิจฉัยให้แน่นอนก่อนโดยการตรวจอุจจาระ จึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาล ถ้าพบว่าเป็นโรคบิดมีตังจริง ให้รักษาด้วยยาเมโทรนิดาโซล (metronidazole) เม็ดละ 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเป็นเวลา 10 วัน (คนรูปร่างเล็กกินครั้งละ 2 เม็ด คนตัวใหญ่ หรือน้ำหนักมาก กินครั้งละ 3 เม็ด)

(2) โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะส่วนใกล้ทวารหนัก มะเร็งทำให้เกิดแผล จึงเกิดมูกเลือดในอุจจาระได้ โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่มักเป็นกับคนที่อายุมากกว่า 40 ปี มีอาการอุจจาระเป็นมูกเลือดเรื้อรัง ไม่มีไข้ มักไม่ปวดท้องโดยเฉพาะอาการปวดบิด (ผิดกับโรคบิด) คนสูงอายุที่อุจจาระเป็นมูกเลือดเป็นๆ หายๆ เกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาล พร้อมกับนำอุจจาระไปด้วย เพราะอาจจะต้องตรวจด้วยวิธีพิเศษ เช่น การส่องกล้องทางทวารหนัก หรือการเอกซเรย์โดยการสวนแป้งแบเรียมเข้าทางทวารหนัก เป็นต้น

(3) โรคลำไส้ขาดเลือด หรือลำไส้อักเสบจากกรณีอื่นๆ มักมีอาการอื่นๆ ด้วย และอาการมักจะรุนแรง ดังนั้น ถ้าอุจจาระเป็นมูกเลือด และมีอาการมาก ควรจะไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม

ข้อมูลสื่อ

172-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์