• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การอยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟหลังคลอด


คำว่า “อยู่ไฟ” นี้ดูเหมือนจะเป็นคำที่รู้จักคุ้นเคยกันดีในหมู่ผู้ที่เป็นแม่สูงวัยทั้งหลาย แต่อาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยหรือคร่ำครึในทัศนะของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งในหมู่บุคลากรสาธารณสุข

การอยู่ไฟ เป็นการปฏิบัติของมารดาหลังการคลอดบุตรที่ถือปฏิบัติตัวกันมาหลายร้อยปีแล้ว โดยหญิงหลังคลอดจะต้องนอนผิงไฟตลอดเวลาบนกระดานไม้แผ่นเดียว อาบน้ำร้อน และดื่มเฉพาะน้ำร้อน งดอาหารแสลงบางประเภท และกินข้าวกับเกลือ การปฏิบัติตัวแบบนี้ถ้าพิจารณากันอย่างผิวเผินแล้วอาจจะน่าเป็นห่วง แต่โดยเท็จจริงแล้วการอยู่ไฟและการปฏิบัติแต่ละอย่างนั้นล้วนมีคำอธิบายและมีเหตุผลรองรับกันทั้งสิ้น

การนอนผิงไฟ การอาบน้ำร้อน และการดื่มน้ำร้อนนั้นช่วยให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น และทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น มีผลทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ปากมดลูกจะปิดเร็วขึ้น จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอดและช่วยป้องกันอันตรายจากภาวะตกเลือดหลังคลอดอันเกิดจากการที่มดลูกไม่หดรัดตัวเท่าที่ควรได้ โดยที่การทำคลอดแบบพื้นบ้านนั้น หมอตำแยจะไม่มีการเย็บแผล ฉีกขาดบริเวณฝีเย็บ การนอนบนกระดานแผ่นเดียวจะช่วยให้หญิงหลังคลอดได้นอนแนบเท้าสองข้างให้อยู่ชิดกันนิ่งๆ ซึ่งจะทำให้แผลมีโอกาสติดกันอย่างแนบสนิทไม่เคลื่อนแยกจากกัน ทำให้แผลหายเร็วและติดสนิทยิ่งขึ้น และการกินเกลือมากในขณะอยู่ไฟจะช่วยทดแทนเกลือที่ร่างกายต้องสูญเสียไปทางเหงื่อที่ไหลออกมาระหว่างการอยู่ไฟ

ตามปกติในภาวะหลังคลอดนั้น มดลูกและเยื่อยึดเกาะมดลูกจะอยู่ในสภาพบวมน้ำ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด การอยู่ไฟช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ทำให้อาการบวมน้ำของมดลูกและเนื้อเยื่อเกาะมดลูกลดลงคืนสู่สภาพปกติได้เร็ว ช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นและทำให้ร่างกายแข็งแรงเร็วขึ้น ทั้งยังลดโอกาสการเกิดภาวะมดลูกหย่อน (กะบังลมหย่อน) เพราะเยื่อยึดเกาะมดลูกยืดตัวและหมดสภาพยืดหยุ่น อันเนื่องจากการบวมน้ำของเยื่อยึดมดลูกคั่งค้างอยู่เป็นเวลานานอีกด้วย ถึงแม้ว่าการอยู่ไฟจะมีข้อปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น การงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ในระหว่างการอยู่ไฟ กินเฉพาะข้าวกับเกลือนั้น อาจจะทำให้หญิงหลังคลอดขาดอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับตนเองในยามพักฟื้นและมีผลต่อน้ำนมของลูกได้ เพราะข้อปฏิบัตินี้จะเหมาะสมกับวิถีชีวิตในอดีตที่คนยังกินข้าวตำ (ข้าวซ้อมมือ) ซึ่งมีโปรตีนสูง การกินข้าวซ้อมมือตลอดช่วง 10-15 วัน ระหว่างอยู่ไฟจึงไม่ทำให้เกิดภาวะขาดอาหาร

ดังนั้นหากคุณแม่สมัยใหม่ที่ต้องการอยู่ไฟตามแผนการปฏิบัติตัวที่มีมาแต่โบราณ ควรจะประยุกต์ให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เช่น เลือกกินอาหารที่มีคุณค่า เนื่องจากปัจจุบันข้าวที่เรากินกันเป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวซ้อมมืออย่างแต่ก่อน คุณจะเป็นคุณแม่อีกคนหนึ่งที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีน้ำนมที่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยของคุณ
 

ข้อมูลจาก : หนังสือคืนสุขภาพแก่ประชาชน  โดย น.พ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ข้อมูลสื่อ

172-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 172
สิงหาคม 2536
อื่น ๆ
ทานตะวัน