• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โครงสร้างของฟัน

โครงสร้างของฟัน

 


 

ในบรรดาอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ส่วนที่ดูเหมือนว่าจะเรียกร้องความสนใจมากที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินเจ้า ‘ฟัน’ เป็นแน่ เพราะทุกๆ เช้าและก่อนนอน (บางคนหลังอาหารด้วย) ทุกคนจะต้องจัดการทำความสะอาดฟัน เพื่อไม่ให้มันมีโอกาสประท้วงด้วยวิธีที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากโรคฟันผุ หรือส่งกลิ่นอันไม่น่าพิสมัย เป็นการฟ้องความไม่เอาใจใส่ของเจ้าตัว

คนเราทุกคนเกิดมาพร้อมกับฟัน 2 ชุด คือ ฟันน้ำนม (deciduousteeth) และฟันแท้ (permanentteeth) แต่ถ้าใครใช้ฟันเปลืองเกินไป ไม่คอยหมั่นดูแลรักษาให้ดี ก็เห็นทีฟันทั้งสองชุดนี้คงต้องบอกลาเหงือกก่อนถึงวัยอันสมควร แต่ก่อนจะตัดสินใจหันไปผูกไมตรีกับฟันชุดที่ 3 (ฟันปลอม) ลองมาทำความรู้จักกับฟันทั้ง 2 ชุดก่อนดีกว่า


เมื่อแรกที่ฟันน้ำนมทั้ง 20 ซี่เริ่มขึ้น (ภายในหงือก) ทารกจะมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นเมื่อทารกเติบโตเข้าสู่วัย 6 ขวบ ฟันแท้ก็เริ่มที่จะงอกแทนฟันน้ำนม ครั้นพออายุ 20 ส่วนใหญ่คนในวัยนี้จะมีฟันครบ 32 ซี่แล้ว แม้ว่าฟันกราม (molar) ซี่ที่ 3 จะยังไม่ขึ้นก็ตาม

เรารู้จักฟันกันเป็นอย่างดีในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องบดเคี้ยวอาหารก่อนเข้าสู่ระบบการย่อย แต่หลายคนคงลืมไปว่าขณะเดียวกันฟันก็ช่วยให้ใบหน้าของเราเข้ารูปเข้ารอย หากยังนึกไม่ออกก็ลองคิดถึงภาพคนแก่ที่ฟันหลุดร่วงหมดปากไปแล้ว ช่วงบริเวณปากจะดูบุ๋มลึกเข้าไป ซึ่งนอกจากจะดูสวยน้อยกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้ระบบการออกเสียงพูดไม่ชัดเจนอีกด้วย

หากมองภาพรวมๆ คุณอาจจะคิดว่า ฟันซี่ไหนๆ ทำหน้าที่เหมือนๆ กันนั่นแหละ คือ กัด เคี้ยว ให้อาหารเป็นชิ้นเล็กลง เพื่อสะดวกในการย่อยของกระเพาะลำไส้ แต่ความจริง ก็คือ ฟันแต่ละซี่แต่ละชุดจะทำหน้าที่ตามลำดับต่างกัน ดังนี้

ฟันหน้า (inciser) ทั้ง 4 ซี่ ล่าง บน และฟันเขี้ยว (canine) ทำหน้าที่ตัดและฉีกอาหารออกเป็นชิ้นๆ ก่อน จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฟันกรามน้อย (premolar) และฟันกราม (molar) ในการบดเคี้ยวอาหารต่อไป แม้ว่าเคลือบฟัน (tooth enamel) จะเป็นสารที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดชนิดหนึ่งของร่างกาย แต่ถึงอย่างไรก็ยังมิอาจทานทนต่อกรดที่ถูกผลิตขึ้นในระหว่างการเคี้ยวอาหารได้ หากไม่ดูแลรักษาฟันให้ดีภายหลังกินอาหาร ก็จะทำให้เป็นโรคฟันผุ

เขียนถึงตรงนี้ทำให้คิดถึงท่อนหนึ่งของเพลงที่กล่าวว่า “น้ำหยดบนหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน...” แต่นี่เป็นเพียงเคลือบฟันที่ไม่ใช่หินสักหน่อย พอเจอกรดที่มีฤทธิ์กัดเซาะแรงกว่าน้ำ ย่อมมีวันกร่อนได้แน่นอน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็แค่อยากจะบอกคุณด้วยความห่วงใยว่า ขยันๆ แปรงฟันให้ถูกวิธีกันหน่อยนะคะ

ข้อมูลสื่อ

173-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536