• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขี้เหล็กบ้าน : ผักสมุนไพรของชาวไทย

ขี้เหล็กบ้าน : ผักสมุนไพรของชาวไทย

นกกระจอก                      กินดอกขี้เหล็ก
สาวแก่แม่หม้าย              จะได้ผัวเด็ก


บทกลอนที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นบทเพลงที่เด็กไทยภาคกลางสมัยก่อนร้องเล่นกันทั่วไป เนื้อหาของบทเพลงที่เด็กร้องจะสะท้อนคำวิพากษ์วิจารณ์ สังคมยุคนั้นในทำนองเสียดสีสาวแก่แม่หม้าย ขณะเดียวกันก็นำสิ่งที่คนทั่วไปรู้จักกันดีมาประกอบ เช่น นกกระจอก และดอกขี้เหล็ก เป็นต้น

น่าสังเกตที่บทเพลงนี้ขึ้นต้นว่า นกกระจอก กินดอกขี้เหล็ก แสดงให้เห็นว่าผู้คนในสมัยนั้นคุ้นเคยกับการนำดอกขี้เหล็กมากินเป็นอาหาร (เช่นเดียวกับนกกระจอก) แม้ในปัจจุบันชาวไทยที่รู้จักดอกขี้เหล็กก็มักนึกถึงการนำดอกขี้เหล็กมาปรุงอาหาร ก่อนสิ่งอื่น เพราะชาวไทยคุ้นเคยกับขี้เหล็กในแง่การใช้เป็นผักประกอบอาหารมากกว่าประโยชน์อย่างอื่น


ขี้เหล็ก : ต้นไม้ของชาวสยาม

ขี้เหล็กบ้านที่คนไทยรู้จักกันดีนี้มีชื่อในทางพฤกษศาสตร์ Cassia siamea Lamk.ซึ่งคำว่า siamea อันเป็นชื่อชนิด (species) ของขี้เหล็กนั้นมาจากคำว่า Siam หรือสยามนั่นเอง เช่นเดียวกับชื่อในภาษาอังกฤษ Siamea มาจากคำว่า ชาวสยาม ทั้งนี้เพราะผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นขี้เหล็กบ้านนั่นเอง ความจริงขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา อันเดีย มาเลเชีย ฯลฯ แต่ไม่พบทั่วไปในป่าและบ้านเรือนเหมือนในเมืองไทย รวมพลเมืองของประเทศเหล่านั้นก็ไม่นิยมกินขี้เหล็กบ้านเหมือนคนไทยด้วย คงเป็นเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงทำให้ผู้ตั้งชื่อทางพฤกษาศาสตร์เลือกชื่อสยามเป็นชื่อของขี้เหล็กที่ใช้กันทั่วโลก

ขี้เหล็กบ้านเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงเต็มที่ประมาณ 15-20 เมตร วัดรอบต้นได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบ ใบเป็นใบรวมมีย่อย 6-10 คู่ ดอกเป็นช่อใหญ่ ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง ฝักแบนสีน้ำตาลเข็มยาว ประมาณ 15-20 เซนติเมตร

ขี้เหล็กเป็นตระกูลถั่วเช่นเดียวกับคูนและจามจุรี จึงมีคุณสมบัติหลายประการคล้ายคลึงกัน เช่นสามารถปรับตัวขึ้นได้ในดินเหลวและสภาพแห้งแล้งหรือชุ่มชื้น รวมทั้งใช้ประโยชน์ปรับปรุงดินและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่มีสิ่งหนึ่งขี้เหล็กบ้านต่างจากคูนและจามจุรี นั่นคือ การนำขี้เหล็กบ้านมาใช้เป็นผัก

ขี้เหล็กบ้านในฐานะผัก

ปัจจุบันขี้เหล็กบ้านถูกนำไปปลูกในประเทศ (เขตร้อน) ต่างๆ มากมายทั่วโลก รวมทั้งในประเทศที่เป็นถิ่นกำเนิดก็มีการปลูกกันมากขึ้น แต่ในบรรดาประเทศที่ปลูกต้นขี้เหล็กบ้านทั้งหลายนั้น ดูเหมือนจะมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่นำขี้เหล็กมากินเป็นผักกันอย่างจริงจัง เหตุที่ผู้คนในชาติอื่นไม่นำขี้เหล็กบ้านมากินเป็นอาหาร คงจะเนื่องจากรสขมของขี้เหล็กบ้านนั่นเอง เพราะแม้แต่ใบมะขามอื่นและดอกมะตูมที่คนไทยนำมาใช้เป็นผักก็ยังมีรสขมจัดเกินไป หากนำมากินโดยไม่ทำให้รสขมเจือจางลงเสียก่อน ต้องยกให้เป็นความชาญฉลาดของผู้ที่นำขี้เหล็กบ้านมาปรุงอาหาร เป็นคนแรก เพราะสามารถแปรความขมให้เป็นรสชาติพิเศษที่อร่อยได้ (เช่นเดียวกับสะเดาและมะระ) ในขณะเดียวกันก็ได้รับคุณค่าทางสมุนไพรจากรสขมของขี้เหล็กบ้านไปพร้อมกันด้วย

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของขี้เหล็กบ้าน

ขี้เหล็กบ้านจัดอยู่ในจำพวกไม้โตเร็วได้ชนิดหนึ่ง มีกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม และให้ร่มเงาตลอดปี จึงนิยมปลูกเป็นแนวข้างถนน เพื่อกันลม กันไฟป่า เป็นร่มเงาในสวนสาธารณะ หรือบริเวณบ้าน เป็นแนวระดับบนพื้นที่ลาดชัน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ใช้เลี้ยงครั่ง

เนื้อไม้ขี้เหล็กบ้านมีสีน้ำตาล แก่เกือบดำ ค่อนข้างหยาบ แข็ง เหนียว หนักมาก สันนิษฐานว่า จากลักษณะของเนื้อไม้นี่เองทำให้ชาวไทยเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ขี้เหล็ก” เพราะคงมีสีใกล้เคียงกับส่วนที่เหลือจากการถลุงแร่เหล็ก (หรือขี้เหล็ก) ไม้ขี้เหล็กบ้านใช้ทำประโยชน์ได้มากมาย เช่น ปลูกบ้าน ทำเครื่องเรือน เครื่องมือต่างๆ และเผาถ่านก็ให้ความร้อนสูง

สรรพคุณด้านสมุนไพรของขี้เหล็กมีหลายประการ คนไทยนิยมใช้ยอดและดอกมะขามอ่อนนำมาทำเป็นยาระบายอ่อนๆ หากต้องการให้ระบายแรงก็ใช้แก่น ซึ่งใช้รักษากามโรค แผล ฝี และขับน้ำคาวปลาได้ด้วย

ใบแก่ ใช้ขับระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ

ดอกบาน ใช้ลดความดันโลหิต แก้หืด แก้รังแค

เปลือก ใช้แก้ริดสีดวง

นอกจากประโยชน์ด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ขี้เหล็กบ้านยังใช้เป็นต้นไม้ที่ปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและดินที่เสื่อมโทรมแล้วได้ดีมาก

หากผู้อ่านรังเกียจคำว่า “ขี้เหล็ก” จะเรียกว่า “มูลเหล็ก” ก็ได้ เพราะชื่อของวัดบางวัดที่เคยชื่อขี้เหล็กก็เปลี่ยน (อย่างเป็นทางการ) เป็น “มูลเหล็ก”ไปแล้วหลายวัด

ข้อมูลสื่อ

173-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 173
กันยายน 2536
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร