• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ เข้าสู่เทศกาลล้างกายและใจ

เจ เข้าสู่เทศกาลล้างกายและใจ


ในช่วงราวเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้ตกประมาณกลางเดือน ถือเป็นวาระ “เทศกาลถือศีลเจ” หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “เทศกาลกินเจ” ได้เวียนมาเยือนอีกครั้ง ตามตึ้งหรือโรงเจของคนจีน ซึ่งมักอยู่ในย่าน “ไชน่าทาวน์” ก็เริ่มคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งจีนและไทย (ผู้รักที่จะมีส่วนร่วมกับทุกเทศกาลของทุกชาติอยู่แล้ว)

ร้านอาหารบางร้านที่เคยขายอาหารเนื้อสัตว์ตามปกติ ก็จะเปลี่ยนมาขายอาหารที่ผลิตขึ้นโดยปราศจากเนื้อสัตว์ เช่น พืชผักต่างๆ แทน เพื่อตอบสนองความต้องการของบรรดาผู้บริโภคที่เริ่มหันมาถือศีลเจ โดยงดการกินเนื้อสัตว์กันมากขึ้นในช่วงนั้น

เจ คืออะไร

คำว่า “เจ” หรือ “แจ” ซึ่งเป็นภาษาจีน คำนี้ได้มีผู้ให้คำจำกัดความเอาไว้หลายความหมายด้วยกัน แต่จะขอยกเอาความหมายซึ่งผู้รู้ท่านหนึ่งได้แปลไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก ดังนี้

1. หมายถึง พุทธภาวะแห่งตน ซึ่งทุกคนมีอยู่แล้ว

2. หมายถึง สัจจะมีหนึ่งเดียว การบำเพ็ญธรรมย่อมมีหนึ่ง ไม่มีสอง

3. หมายถึง เข้าใจ

4. หมายถึง ดาบสุริยัน (ซ้าย) และดาบจันทรา (ขวา) โดยใช้ดาบสุริยันเพื่อฟาดฟันสิ่งที่มากระทบสัมผัสภายนอก เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพราะเมื่อมากระทบแล้วจะทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ดีใจ เศร้า ซึ่งอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ดาบจันทราฟาดฟันให้หมดสิ้นไป

5. หมายถึง หนทางขึ้นสู่เบื้องบน ต้องฝึกฝนให้จิตเบา ใส โปร่ง (ในที่นี้การขจัดล้างจิต)

6. หมายถึง หนทางลงสู่เบื้องล่าง มันเป็นสิ่งขุ่น ข้น หนัก (ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่พอกพูนในจิต)

7. หมายถึง การก้าวเดินในแต่ละก้าว ต้องเดินด้วยความระมัดระวัง

ทั้ง 7 ข้อนี้รวมความแล้วจึงมีความหมายว่า จงรู้ตื่นถึงสภาวะแห่งตนว่าคือ พุทธะ อันเป็นหลักเดียวเที่ยงแท้ ไม่เอนเอียง เมื่อเข้าใจถ่องแท้แล้ว จงหยิบใช้ดาบสุริยันและจันทราเพื่อฟาดฟันอุปสรรคแห่งการเดินสู่หนทางธรรมนั้นเสีย

กำเนิดประเพณีถือศีลเจ

มีตำนานเล่าว่า ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์หนึ่งซึ่งชนชาวจีนเคารพนับถือมากและถือว่าเป็นผู้วิเศษ มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์เป็นพี่น้องกันได้สวรรคตแล้วจุติเป็นดาวจระเข้เรียงกัน 9 ดวง จึงเรียกกันว่าเป็น “กิ๋วอ๊วง ฮุดโจ๊ว” ซึ่งจะเป็นผู้ท่ถือบัญชีอายุขัยคนในโลกมนุษย์ สามารคต่อชีวิตแก่ผู้ที่ใกล้สิ้นอายุขัยให้ยืนยาวต่อไป ชาวจีนจึงถือว่าระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 เป็นวันกิ๋วอ๊วง ฮุดโจ๊วจะลงมาตรวจสอบจดบันทึก และบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละบุคคล ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (เดือน 9 ตามปฏิทินจีน แต่ถ้าเป็นปฏิทินไทยในปีนี้จะตกประมาณกลางเดือนตุลาคม) คนจีนจึงพากันงดเว้นการกินอาหารสดคาวเสียชั่วคราว เพื่อแสดงว่าตนได้ประกอบกรรมดีให้พระเจ้าเห็น นอกจากสาธุชนที่ประกอบพิธีกรรมนี้จะละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และพืชผักทั้ง 5 ชนิดแล้ว ยังละกิเลสทางโลกมาถือศีลเจหลัก 3 ข้อ ดังจะกล่าวต่อไป

หลักปฏิบัติของผู้ถือศีลเจ

หากสังเกตท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ตั้งแต่ต้นผู้เขียนได้พยายามเลี่ยงคำว่า “กินเจ” โดยจะใช้คำว่า “ ถือศีลเจ” แทน ทั้งนี้เพราะความหมายของคำว่า “เจ” นั้นไม่ใช่เพียงการไม่กินเนื้อสัตว์เท่านั้นดังที่กล่าวข้างต้น แต่ยังหมายรวมถึง การถือปฏิบัติในข้อห้ามต่างๆ ด้วย ดังนั้นการใช้คำว่า “ถือศีลเจ” น่าจะเหมาะสมกว่า

การถือศีลเจในทางธรรมส่งเสริมให้ปฏิบัติตามศีล 3 ข้อใหญ่ คือ

1. เจที่ปาก (วาจา) ต้องควบคุมปาก (วาจา) มิให้ละเมิดข้อห้ามดังต่อไปนี้

- ไม่พูดเพ้อเจ้อ

- ไม่พูดยุแหย่ ส่อเสียด

- ไม่กล่าวคำหยาบ

- ไม่กินเนื้อ เนื่องจากมีความเชื่อว่าทุกชีวิตมีการว่ายตายเกิด คนที่ทำบาปอาจไปเกิดเป็นสัตว์ การกินเนื้อสัตว์ จึงเท่ากับกินเนื้อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

2. เจที่กาย ต้องควบคุมมิให้ตนเองประพฤติผิดดังข้อห้ามต่อไปนี้

- ไม่ทำให้ตนเองเดินทางชั่ว เช่น เล่นการพนัน

- ไม่คิดความเคยชินที่ไม่ดี

- ไม่เกิดความโลภ ฟุ้งช่าน ติดอยาก

- ไม่ฆ่าสิ่งที่มีชีวิต

- ไม่เป็นคนที่แสวงหาโชคลาภ

3. เจที่ใจ ต้องควบคุมมิให้จิตของตนหมกหมุ่นครุ่นคิดในข้อห้ามต่างๆ ดังนี้

- ไม่เกิดขณะจิตที่เป็นสิ่งชั่วร้าย

- ไม่คิดในเรื่องกามราคะ (สำส่อนทางเพศ)

- ไม่คิดเรื่องไร้สาระ

- ไม่ควรให้จิตเคลื่อนไหวง่าย พลิ้วไหวตามเหตุการณ์ต่างๆ

- ไม่เป็นคนที่โลภมาก อยากเสพสุข

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่ปวารณาตัวเข้าชื่อเป็นสมาชิกโรงเจต่างๆ หรือแม้แต่คนที่ตั้งสัตย์ปฏิญาณกับตนเองว่าจะขอถือศีลเจ ฉะนั้นหากต้องการ “ล้าง” จิตใจให้ผ่องแผ้วใสสะอาด ปลอดโปร่งอย่างแท้จริงแล้วล่ะก็ การปฏิบัติให้ควรทุกข้อศึลจึงถือเป็นกุศลธรรมยิ่ง

อาหารเจคืออย่างไร

การกินอาหารของผู้ถือศีลเจ ถือเป็นกิจอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดการละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง “ชาวเจ” ทุกคนทราบดีกว่าอาหารสำคัญที่ต้องละเว้นโดยเคร่งครัดนั้น ก็คือ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และพืชผัก 5 ชนิด ถ้ามองในแง่คุณค่าทางโภชนาการ คงจะเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ค่อนข้างมากสักหน่อย เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนและพลังงานที่สำคัญสำหรับการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงวันกำลังเจริญเติบโต ลำพังเพียงแค่การงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ช่วงระยะแห่งการถือศีล 9 วันในช่วงเทศกาลคงไม่กระไรนัก แต่ที่หลายคนเป็นห่วง คือ การถือศีลเจที่ตั้งใจจะกระทำตลอดชีวิต (โดยปกติจะต้องถือศีลตลอดชีวิต) นั้นจะทำอย่างไร จึงจะดูแลไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดอาหารได้

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่กินอาหารเจ

ในหมู่ชนชาวจีน มีคำกล่าวว่าอาหารและยามาจากแหล่งเดียวกันหรือ “อาหารและยาไม่เคยแยกจากกัน” นั้นหมายถึงว่า อาหาร ก็คือ ยา นั่นเอง ตามหลักการแพทย์ของจีนได้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยโดยวิธีดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ใช่เพียงแต่บำบัดอาการเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นแล้วเท่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือ การกินที่ถูกต้อง อาการที่กินมีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก แต่ก่อนอื่นขอกล่าวถึงหลักการกินอาหารที่ถือนิยมตามแนวคิดของผู้ที่ถือนิยมตามแนวคิดของผู้ที่ถือปฏิบัติศีลเจเสียก่อน ดังนี้

1. งดพืชผัก 5 ชนิด อาหารเจหรืออาหารของผู้ถือศีลเจ เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นโดยปราศจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และที่สำคัญคือ ต้องงดการบริโภคพืชผัก 5 ชนิด อันได้แก่

1. กระเทียม (หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)

2. หัวหอม (ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)

3. หลักเกียว (ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่เล็กกว่า)

4. กุยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)

5. ยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพมึนเมา)

เหตุที่พืชผักเหล่านี้ถูกจัดเป็นของต้องห้ามสำหรับชาวเจ เนื่องเพราะเป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มีสารพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ของร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ไม่ควรกินเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจ อารมณ์เร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวไม่ติดอีกด้วย

2. กินพืชผักผลไม้ให้ครบสี นอกจากการนำผักสดมาปรุงเป็นอาหารแล้ว ยังจำเป็นต้องกินผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพืชผักผลไม้นับว่าเป็นแหล่งสารอาหารประเภทวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญ และในการเลือกซึ้อเพื่อนำมาปรุงและบริโภคในแต่ละมื้อ ควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง 5 ดังนี้

- สีแดง (แดง ส้ม แสด ชมพู) สัญลักษณ์ธาตุไฟ

- สีดำ (น้ำเงิน ม่วง) สัญลักษณ์ธาตุน้ำ

- สีเหลือง (เหลืองแก่ เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ธาตุดิน

- สีเขียว (เขียวเข้ม เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ต้นไม้

- สีขาว (ขาวนวล ขาวละเอียด) สัญลักษณ์ธาตุโลหะ

เมืองไทยเป็นดินแดนที่อุดมด้วยผักและผลไม้มากมายหลายชนิดตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงควรเลือกกินให้ได้ครบทุกสี โดยกินสับเปลี่ยนไม่ให้ช้ำกันในแต่ละวัน ไม่เลือกกินเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบโดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ ด้วยพบว่าหลายคนเลือกกินเฉพาะอย่างเพื่อความอร่อยลิ้นเท่านั้น นับว่าเป็นการกินอาหารเจที่ยังไม่ถูกหลัก

3. ถั่ว คือ อาหารหลัก ถั่วในที่นี้หมายรวมถึง เมล็ดธัญพืชทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ ถั่วเหลือง และถั่วเปลือกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน ผู้ที่ไม่กินเนื้ออสัตว์จะทำให้ขาดโปรตีนซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต และให้พลังงานต่อร่างกาย ดังนั้นจึงต้องกินถั่วและธัญพืชต่างๆ แทน เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากดังกล่าว คนที่กินอาหารเจควรกินเป็นประจำ เพื่อบำรุงส่งเสริมให้อวัยวะหลักทั้ง 5 ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ในการกินถั่วต่างๆ เหล่านี้ ตามตำราท่านว่าไว้ว่าควรกินให้ได้ครบทุกสี เพราะนอกจากจะเป็นพืชที่หาซื้อได้ง่าย สนนราคาไม่แพงแล้ว ที่สำคัญทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดี ซึ่งสูตรอาหารที่นำมาทำให้ถั่วเหล่านี้มีความอร่อยลิ้นมากขึ้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี อาทิ ถั่วดำบด ถั่วแดงต้มน้ำตาล ถั่วเหลืองน้ำกะทิ (เต้าส่วน) ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ถั่วลิสงอบหรือเคลือบน้ำตาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนอร่อยไปคนละแบบ

4. งาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในคนที่กินอาหารเจ ควรจะต้องใช้งาปรุงผสมในอาหารด้วยเสมอ เพราะในเมล็ดงามีกรดไขมันไลโนเลอิกซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมาก แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากงาซึ่งมักใช้งาดำ

สำหรับผู้ที่ทำอาหารเจกินเองให้ใช้งาล้างให้สะอาด ทิ้งให้แห้งแล้วคั่วไฟอ่อนๆ จนสุกเหลืองพอดี ต่อจากนั้นจึงนำมาโขลก บด หรือใช้เครื่องปั่นให้แตก จะได้รับประโยชน์จากน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดดียิ่งขึ้น สำหรับงาที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอม นำมาใช้ปรุงอาหารได้เกือบทุกประเภท ทำให้มีรสดี หอมน่ากิน โดยปกติผู้ที่กินอาหารเจควรกินงาประมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็ถือว่าเพียงพอ

5. ไม่กินอาหารรสจัดเกินไป ผู้ที่กินอาหารเจ หากกินอาหารรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด รสชาติเหล่านี้จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้ คือ รสขมส่งผลต่อหัวใจ รสเค็ม-ไต, รสหวาน-ม้าม, รสเปรี้ยว-ตับ, รสเผ็ด-ปอด ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินรสจัด และในขณะเดียวกันควรกินให้ได้ครบทุกรสในแต่ละมื้ออาหาร

6. ละเว้นการบริโภคอาหารหมักดอง เช่น ผัก-ผลไม้ดอง อาหารกระป๋อง อาหาร(กึ่ง) สำเร็จรูป ควรพยายามเลือกสรรอาหารที่ใหม่สด หรืออาหารที่ปรุงใหม่ๆ จะทำให้ได้รับประโยชน์ต่อร่างกายดีกว่า

เจ-มังสวิรัติ ความเหมือนที่แตกต่าง

ได้กล่าวถึงอาหารเจไปค่อนข้างมากพอสมควร หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วอาหารมังสวิรัตินั้นต่างจากอาหารเจอย่างไร ก่อนอื่นขอขยายความหมายของคำว่า “มังสวิรัติ” เสียก่อน

คำว่า “มังสวิรัติ” นี้มาจากคำว่า “มังสะ” แปลว่า เนื้อสัตว์ “วิรัติ” แปลว่า การงดเว้น รวมความแล้วจึงแปลได้ว่า การงดเว้นเนื้อสัตว์ หรือกากรไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า เวเจแทเรียนนิซึม (vewgetarianism) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ เวเจทัส (Vegetus) แปลว่า สมบูรณ์ดีพร้อม สดชื่น เบิกบาน หรือมีความหมายว่า ผู้ซึ่งละเว้นจากการนำสัตว์ทุกชนิดมาเป็นอาหาร ทั้งนี้อาจรวมหรือไม่รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์จากนม

กล่าวกันว่ามังสวิรัตินั้นมีผู้ถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน และกลายเป็นแนวปฏิบัติทางศาสนาสำหรับหลายศาสนาในตะวันออกกลางมาหลายพันปีแล้ว เช่น ศาสนาเซน ศาสนาฮินดูบางนิกาย ศาสนาโซโรแอสเตอร์ ศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารมังสวิรัติแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. มังสวิรัติชนิดเคร่งครัด (strict vegetarian) เป็นมังสวิรัติที่กินอาหารจากพืชอย่างเดียว ไม่มีอาหารพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือผลิตภัณฑ์ของไข่และนมเป็นส่วนประกอบของอาหารเลย

2. มังสวิรัติชนิดที่ดื่มนม (Lacto-vegetarian) อาหารมังสวิรัติประเภทนี้มีนมและผลิตภัณฑ์ของนมนอกเหนือจากอาหารพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์และไข่เป็นส่วนประกอบของอาหารเลย

3. มังสวิรัติที่ดื่มนมและกินไข่ (Lacto-ovo-vegetarian) อาหารมังสวิรัติประเภทนี้มีไข่ นม และผลิตภัณฑ์ของนม นอกเหนือจากอาหารพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย

สำหรับอาหารหลักของนักมังสวิรัติไม่ว่าจะอยู่กลุ่มใดก็ตาม ก็สามารถแบ่งได้เป็น 4 หมู่ ดังนี้

1. โปรตีน ได้จากถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดทุกชนิด เห็ดข้าวกล้อง งา เมล็ดในของพืช โปรตีนเกษตร (เนื้อเทียม) ในผักบางชนิดก็มีโปรตีนแต่น้อยมาก ซึ่งอาหารโปรตีนนี้จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ทำให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย

2. คาร์โบไฮเดรต ได้จากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าวกล้อง มัน เผือก น้ำตาลสีรำ และของหวานต่างๆ อาหารพวกจะให้พลังงานและความร้อน ทำให้เกิดพลังงาน ถ้ารู้สึกว่าอ่อนเพลีย ให้กินผลไม้ น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย จะทำให้รู้สึกสดชื่นทันที

3. ไขมัน ได้จากน้ำมันพืช นม เนย และเมล็ดผลไม้ ถั่ว งา อาหารพวกนี้จะให้พลังงานและความร้อนเช่นเดียวกับหมู่ที่ 2

4. วิตามินและเกลือแร่ ได้จากผักสด ผลไม้ ถั่ว งา ข้าว ซึ่งแต่ละชนิดจะมีไม่เหมือนกัน จึงควรกินให้ครบทุกชนิดหมุนเวียนกันไป อาหารพวกนี้จะช่วยทำให้การสังเคราะห์สารเคมีต่างๆ ในร่างกายและการทำงานของอวัยวะต่างๆ สมบูรณ์

ที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ ควรดื่มน้ำบริสุทธิ์อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอกจะทำให้เซลล์สดชื่นแล้ว ยังช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย

ถึงตรงนี้ถ้ามองเฉพาะในเรื่องของอาหาร ระหว่างอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ (เคร่งครัด) ดูจะที่ต่างอยู่ประการเดียวเท่านั้น คือ อาหารมังสวิรัติไม่ได้ระบุว่า ห้ามกิน (เสพ) พืช 5 ชนิด อันได้แก่ หัวหอม หลักเกียว กระเทียม กุยช่าย และใบยาสูบ เช่นคนที่กินอาหารเจ ส่วนในแง่ข้อปฏิบัติทางด้านศาสนานั้นพบว่า ทั้งผู้ที่กินอาหารเจและมังสวิรัติมักจะเป็นผู้ที่เคร่งครัดในข้อปฏิบัติทางศาสนาหรือสนใจในสุขภาพเป็นส่วนใหญ่

คุณค่าของอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์

อย่างที่พูดถึงไว้ตอนต้นแล้ว อาหารเจ (มังสวิรัติ) ได้ถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ทีนี้ลองมาเจาะดูคุณค่าทางอาหารหลักๆ ของชาวเจ (มังสวิรัติ) กันดูสิว่า เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แล้ว มีโอกาสสูสีกับเนื้อสัตว์ได้หรือไม่

ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ(โดยเฉพาะมังสวิรัติ) พบว่า มีโปรตีนร้อยละ 7-12 มีวิตามินและแร่ธาตุมากกว่า 10 ชนิด ในรำจะมีกากใยช่วยในการขับถ่ายได้ดี ถ้าหากขาดกากใยอาหารจะทำให้เป็นโรคท้องผูก นอกจากนี้ยังอาจจะช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งอักเสบ ริดสีดวงทวาร

ถั่วเหลือง เป็นพืชที่มีโปรตีนสูง เมื่อใช้บริโภคร่วมกับข้าวจึงมีโปรตีนเทียบเท่าเนื้อสัตว์ ในถั่วเหลืองยังพบว่า มีสารอาหารวิตามินและเร่ธาตุบางชนิดใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์อีกด้วย เช่น วิตามินอี และไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งช่วยละลายโคเลสเตอรอล มีธาตุเหล็กสูงจึงบำรุงเลือดและประสาท ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากถั่วเหลืองเช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ นมถั่วเหลือง โปรตีนเกษตร (เนื้อเทียม) น้ำซีอิ๊วถั่ว เต้าเจี๊ยว (ปลาร้าเจ) กะปิเจ

เห็ด ใช้ปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์ เป็นแหล่งโปรตีนที่มีรสดี เห็ดมีมากมายหลายชนิด ในแง่โภชนาการเห็ดสดมีโปรตีนประมาณร้อยละ 3 รวมทั้งวิตามินแร่ธาตุหลายชนิด นอกจากนี้เห็ดจัดว่าเป็นอาหารที่ดีต่อคนที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง

เมล็ดพืช พบว่า มีไขมันที่มีประโยชน์ มีโปรตีนประมาณร้อยละ 20 มีวิตามินแร่ธาตุมาก ตัวอย่างเช่น เมล็กฟักทอง มีโปรตีนร้อยละ 29 ไขมันร้อยละ 46 และฟอสฟอรัสสูง

ผักและผลไม้ มีวิตามินและเกลือแร่สูงมาก และให้กากอาหารที่ช่วยป้องกันโรคท้องผูก บำรุงประสาท และผิวพรรณ ทั้งยังพบว่า แพทย์ปัจจุบันหลายคนหันมาใช้ผักและผลไม้รักษาโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงอีกด้วย

กินอาหารและมังสวิรัติดีอย่างไร

สำหรับผู้ที่หันมากินาหารเจ (มังสวิรัติ) เพราะความเชื่อในเรื่องศาสนานั้น ผลดีย่อมเกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอนในแง่ของความสบายใจ ทั้งนี้ด้วยแนวคิดที่ว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเท่ากับการปลดปล่อยชีวิตสัตว์แต่ละชีวิตให้มีอายุยาวนานต่อไปได้อีก เป็นการหยุดหนี้เวร ตัดกรรมผูกพัน ไม่มีศัตรูมุ่งร้ายพยายามอาฆาต ติดตามจองเวรต่อไป

นักมังสวิรัติคนหนึ่งบอกถึงความรู้สึกของตนเมื่องดเนื้อสัตว์ว่ารู้สึกสมาธิดีขึ้น สุขภาพจิตดี มีความเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น จิตใจลดความรุนแรงและความดุร้ายลง พบว่าชีวิตมีความสะอาด สงบ และร่มเย็น นั่นคือ อานิสงส์ที่ได้รับทางจิตใจ ในด้านสุขภาพกาหยนั้นพบว่า ผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์มีผลดีต่อร่างกายหลายประการ

จากการสัมภาษณ์ของนายแพทย์คลาเรนซ์ อิง (Clarence Ing) นายแพทย์จากโรงพพยาบาลยังเบิร์ก แอดเวนทิสต์ (Youngberg Adventist Hospital) ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งให้สัมภาษณ์นิตยสารไวน์ แอนด์ไดน์ ว่าการกินพืพชผักแทนเนื้อสัตว์จะช่วยลดอัตราการเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ มดลูก และตัวอ่อน โรคเบาหวาน อาหารเป็นพิษเนื่องจากเนื้อสัตว์ค้างคืน ทั้งยังสามารถลดไขมันในเส้นเลือด ไขมันอิ่มตัว ลดการรับเชื้อโรคประเภทพยาธิที่พบในเนื้อสัตว์

ในเมืองไทยการรักษาโรคด้วยอาหารมังสวิรัติก็มีเช่นกัน เช่นที่โรงพยาบาลมิชชั่น นางเลทิเซีย เวลมองต์ วู (Leticia Velmonte Wu) นักโภชนาการเฉพาะอาหารบำบัดโรคของโรงพยาบาล ผู้จัดอาหารเฉพาะคนไข้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “คนไข้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นสารที่มีมากเกินไปในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดตีบแข็ง เมื่อบริโภคอาหารมังสวิรัติต่อไป โคเรสเตอรอลจะลดลง เนื่อจากพืชไม่มีโลเลสเตอรอลอยู่เลย นอกจากนี้เนื้อสัตว์ยังมีธาตุโซเดียม ซึ่งไม่เป็นผลดีสำหรับคนที่เป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไตด้วย

ใครที่กำลังมีปัญหาด้วยโรคเหล่านี้ จะทดลองทฤษฎีนี้ก็คงไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด และ...ทุกคนรู้ดีว่าพละกำลังของคนเราได้มาจากสารอาหาร และอาหารที่ให้พลังงานหลักแก่ร่างกายนั้นได้มาจากน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคส แค่กลูโคสก็ยังให้พลังงานที่จะกัดและผลทางปฏิกิริยาของมันเองก็ต่างกับน้ำตาลฟรักโทส ซึ่งสามารถนำพลังงานมาใช้ได้เต็มที่ ในผลไม้พืชผักต่างๆ มีน้ำตาลฟรักโตสสูงมาก นักมังสวิรัติจึงมีโอกาสได้รับน้ำตาลฟรักโทสมากกว่าผู้กินเนื้อสัตว์

นักกีฬาสำคัญระดับโลกหลายคนที่เป็นนักมังสวิรัติ เช่น จอห์นนี่ ไวรัสมุลเลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในบท “ทาร์ซาน” เขาเป็นแชมป์ 5 เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก มีชื่อเสียงในฐานะนักว่ายน้ำผู้ยิ่งใหญ่แห่งครึ่งศตวรรษทีเดียว

เทศกาลถือศีลเจ (กินเจ) ที่จะมาถึงระยะเวลาอันใกล้นี้ ใครจะถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการถือศีลปฏิบัติธรรมให้ทานชีวิตแก่ผู้อื่นสัก 9 วัน ก็ขออนุโมทนาจิตในกุศลธรรมเจริญยิ่งนี้ด้วย เพราะนอกจากการถือปฏิบัติเช่นนี้จะนำมาซึ่งความสุขสงบในแง่ของจิตใจแล้ว ยังก่อผลดีในแง่สุขภาพด้วย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก ขับถ่ายไม่สะดวก คุณจะรู้สึกถึงความแตกต่างได้อย่างดีทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม คุณต้องพยายามเลือกสรรรายการอาหารให้ร่างกายได้รับครบถ้วนทุกหมู่ในทุกมื้อด้วย

อ้อ! สำหรับคนที่ตั้งใจดีว่าจะไม่ทำร้ายร่างกายผู้อื่น (สัตว์) แล้ว ควรระมัดระวังถ้อยคำวาจา และจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เจริญพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ สมกับเป็นผู้ที่ถือศีลเจอย่างแท้จริง

ข้อมูลสื่อ

174-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 174
ตุลาคม 2536
บทความพิเศษ
สุกาญจน์ เลิศบุศย์