• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ฮอร์โมนฉุดสังขาร

ใช้ฮอร์โมนฉุดสังขาร

เมื่อปลายปี 2535 มีภาพยนตร์ดังจากฮอลลีวู้ด ชื่อ Death becomes her หรือที่ฉายในเมืองไทยในชื่อว่า “อมตะเจ้าค่ะ ขอค้ำฟ้าด้วยคน” ซึ่งเป็นเรื่องของการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างนักเขียน (แสดงโดย โกลดี้ฮอว์น) และนักแสดง (แสดงโดยเมอร์รีล สตรีฟ) โดยที่ทั้งสองคนต่างพยายามเอาชนะใจศัลยแพทย์ฝีมือดีรูปหล่อ (แสดงโดย บรูช วิลลิส) ด้วยการดื่มน้ำวิเศษที่ทำให้ความสวยและร่างกายเป็นอมตะ

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยการให้แง่คิดว่า การไม่ยอมรับกฎของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ทำให้สองสาวต้องมีชีวิตอยู่อย่างทรมานไม่รู้จบ ส่วนฝ่ายชายไดปฏิเสธการใช้ยาวิเศษ โดยเลือกที่จะแก่ตายตามปกติ และใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อส่วนราม เมื่อเขาตายก็มีคนรำลึกถึงคุณงามความดีของเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่วิ่งหนีความจริง วิ่งหนีสัจธรรม พยายามเอาชนะสังขารซึ่งเสื่อมไปโดยธรรมชาติ แต่ในที่สุดธรรมชาติก็ยังคงความยิ่งใหญ่เสมอ

ที่มีของการรักษาด้วยฮอร์โมน

การพัฒนาทางการแพทย์ส่วนหนึ่งมีผลทำให้ผู้หญิงมีหนทางที่จะเอาชนะสังขารตัวเอง เช่น การดึงหน้า ดึงอก ทำสาวเป็นต้น และที่กำลังเริ่มกล่าวถึง คือ การใช้ฮอร์โมน เรียกว่าการรักษาด้วยฮอร์โมน (Homone replacement therapy) ที่จริงการรักษาด้วยฮอร์โมนนี้มีมานานแล้ว แต่ที่ปรากฏกล่าวขานกันแถบอเมริกาเหนือก็เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมานี้ และยิ่งเป็นที่ฮือฮากันมากก็ในช่วง 5-10 ปีมานี้ ส่วนในประเทศไทยก็คงประมาณ 2-3 ปีนี้เอง

การรักษาด้วยฮอร์โมนเริ่มจากการที่แพทย์พบว่าผู้หญิงในช่วงหมดประจำเดือนบางคนจะมีอาการไม่ สุขสบายต่างๆ นานา เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ออกร้อนวูบๆ วาบๆ ตามใบหน้า ตามตัว เหงื่อออกมาก นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น แล้วก็สรุปว่า อาการพวกนี้เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลง จึงให้ฮอร์โมนชนิดนี้เข้าไปเพิ่ม ซึ่งอาจจะผลิตจากธรรมชาติ หรือติดจากธรรมชาติหรือสังเคราะห์เข้าไปทดแทน อาการเหล่านั้นก็หายไป

หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างบริษัทผู้ผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ และแพทย์ทางสูตินารีเวช ก็มีงานวิจัยที่ให้ผลชวนระทึกใจว่า การที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน แล้วมีโอกาสเป็นโรคกระดูกผุ และโรคหัวใจได้ เนื่องจากพบว่า กระดูกผู้หญิงจะบางลงอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีหลังหมดประจำเดือน และระดับของโคเลสเตอรอลในเสือดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้หญิงได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้าไปทดแทนส่วนที่ขาดเป็นระยะเวลานานมากกว่า 5-10 ปี หรือตลอดชีวิตก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้ เท่านี้ยังไม่พอ มีการขยายผลการรักษาเพิ่มขึ้นอีกว่า การได้รับฮอร์โมนชนิดนี้ทดแทนกัน ทำให้ผิวไม่เหี่ยว อวัยวะเพศไม่เปลี่ยนแปลงเร็ว ช่องคลอดมีน้ำหล่อลื่นตามปกติ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่แก่ นั่นเอง

ฮอร์โมนเอสโตรเจนมาจากไหน

หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้าฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้คืออะไร ทำไมมันจึงมีอิทธิฤทธิ์ได้ถึงขนาดนี้

หากตอบสั้นๆ ก็คือ เอสโดรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ผลิตจากรังไข่ และต่อมหมวกไตในช่วงที่เด็กผู้หญิงเจริญเติบโตเต็มที่ ฮอร์โมนชนิดนี้ได้ทำให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นเด็กสาวที่ผิวพรรณผ่องใส มีน้ำมีนวล มีทรวดทรงองค์เอวที่สวยงาม และมีประจำเดือนอันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์

เมื่อเด็กสาวคนนั้นเจริญวัยขึ้นจนถึงอายุประมาณ 47 ปี (บางคนเร็วกว่า 47 และบางคนช้ากว่า 47) รังไข่ก็หยุดผลิตเอสโตรเจนด้วยสาเหตุใดที่ยังไม่มีใครบอกได้ แต่ต่อมลูกหมากไตยังคงผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ตามปกติ เมื่อรังไข่หยุดผลิตเอสโตรเจน ผู้หญิงก็ไม่มีประจำเดือน จึงหยุดการเจริญพันธุ์ ส่วนผลของการที่เอสโตรเจนลดลง นอกจากจะทำให้เกิดอาการดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การที่เอสโตรเจนในเลือดน้อยกว่าปกติไปเป็นเวลานานมากกว่า 1 ปี ยิ่งทำให้ผิวพรรณเหี่ยวแห้งเช่นเดียวกับอวัยวะเพศที่แฟบลง ช่องคลอดสั้นและแคบเข้า น้ำหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง ทำให้เจ็บเวลาร่วมเพศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ยังให้คำตอบไม่ชัดเจนว่าเพราะอะไร หรือเอสโตรเจนทำให้เกิดกระบวนการอย่างไรจึงทำให้เกิดผู้หญิงมีอาการและเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา แล้วตอบคำถามไม่ได้ว่า เพราะอะไรผู้หญิงบางคนจึงมีอาการดังกล่าว ในขณะที่บางคนเป็นมาก บางคนก็เป็นน้อย และบางคนไม่เป็นอะไรเลย

ทำไมต้องเสริมด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน

เมื่อการศึกษาทางการแพทย์พบว่า การให้ฮอร์โมนทดแทนช่วยลดอาการไม่สุขสบาย ทำให้เนื้อกระดูกบางช้าลง (แต่ไม่ช่วยให้กระดูกที่บางอยู่แล้วหนาขึ้น) และลดโคเลสเตอรอล ก็มีการเผยแพร่ประสิทธิภาพของการรักษาชนิดนี้กันอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งพัฒนาวิธีให้ฮอร์โมนจนปัจจุบันทั้งชนิดเม็ด ชนิดครีม ชนิดแผ่น (ติดเหมือนกอเอี๊ยะ) ให้เลือกใช้ได้ตามสะดวก แต่ละชนิดก็มีประสิทธิภาพในการซึมซาบเข้าสู่กระแสเลือดต่างกัน และให้ผลต่อร่างกายแตกต่างกันด้วย

เป้าหมายของการใช้ฮอร์โมนจากเดิมที่ให้ฮอร์โมนระยะสั้นเพื่อลดอาการไม่สุขสบายต่างๆ ก็ขยายเป็นการป้องกันโรคกระดูกผุ และโรคหัวใจซึ่งจะต้องใช้ฮอร์โมนเป็นระยะยาวหรือถึงตลอดชีวิต และจากการมีเป้าหมายที่จะใช้ฮอร์โมนในผู้หญิงบางคนที่มีอาการเท่านั้น ก็กลายเป็นการให้ฮอร์โมนในผู้หญิงบางคนที่มีอาการเท่านั้น ก็กลายมาเป็นการให้ฮอร์โมนนี้แก่ผู้หญิงทุกคน (ถ้าเป็นไปได้)

ถึงตอนนี้จะเห็นว่า การให้ฮอร์โมนสามารถฉุดสังขารของผู้หญิงได้จริงๆ ดูเหมือนจะเป็นยาวิเศษที่ช่วยให้ผู้หญิงคงความสาวอยู่ได้นานเท่านาน ซ้ำยังช่วยป้องกันโรคที่เป็นแล้วต้องรักษานาน (โรคกระดูกผุ) และโรคที่เป็นสาเหตุของการตายอันดับต้นๆ (โรคหัวใจ) อีกด้วย

ควรเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนดีหรือไม่

อ่านถึงตรงนี้ คำถามที่เชื่อว่าหลายคนคงสงสัย ก็คือ เมื่อฮอร์โมนดีอย่างนี้ ทำไมผู้หญิงทุกคนไม่รีบหามาใช้ ราคาแพงหรือ ก็ไม่แพงเท่าไหร่ ค่าฮอร์โมนเดือนละประมาณ 200 บาท ใช้ยากหรือ ไม่ยากเลย ที่นิยมมาก คือ แบบเม็ดซึ่งก็กินเหมือนยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดทั่วไป แบบครีม แบบแผ่นก็ใช้ไม่ลำบาก หายากหรือ ไม่น่ายาก สูตินารีแพทย์สมัยนี้ทุกคนรู้จักฮอร์โมนชนิดนี้ดี แต่ยังมีความเห็นในการให้ฮอร์โมนไม่เหมือนกัน เช่น แพทย์บางคนอยากให้ผู้หญิงวัย 40 ต้นๆ ทุกคนใช้ฮอร์โมนนี้ไปนานๆ จนอายุ 60 ปี หรือตลอดชีวิตได้ยิ่งดีเพื่อเป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” และ “เป็นสาวนานๆ”

แพทย์บางคนเก็นว่าควรให้ฮอร์โมนนี้เฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง และให้ใช้ระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเราผลิตฮอร์โมนไม่ได้เอง ต้องสั่งจากต่างประเทศ ใช้มากเปลืองเปล่าๆ ส่วนแพทย์บางคนก็ยังไม่แน่ใจว่า ควรให้ฮอร์โมนดีหรือไม่ เพราะกลัวว่าคนไข้จะไม่ยอมรับเพราะต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอ ต้องตรวจกันบ่อยๆ และการให้ฮอร์โมนชนิดที่มีโปรเจสโตรเจนผสมอยู่ด้วย ผู้ที่ได้รับจะมีเลือดออกทางช่องเลือดคล้ายประจำเดือนออกมาทุกเดือน นอกจากนั้นคนไข้อาจมีเงินไม่พอที่จะรับฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้แพทย์บางคนก็ยังตั้งข้อสงสัยในความจำเป็น และความปลอดภัยของการให้ฮอร์โมนชนิดนี้
คำตอบที่คิดว่าเป็นสาเหตุให้การใช้ฮอร์โมนไม่แพร่หลายมาก ก็คือ เรื่องความ “ไม่โปร่งใส” ทางการแพทย์เกี่ยวกับผลของการขาดเอสโตรเจนกับอาการหรือโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว และความปลอดภัยในการใช้ฮอร์โมน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมผู้หญิงแต่ละคนจึงตอบสนองต่อการที่ร่างกายมีปริมาณเอสโตรเจนลดน้อยลงไม่เหมือนกัน ในเมื่อผู้หญิงทุกคนในโลกมีเอสโตรเจนที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอีกหลายคำถาม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกิดขึ้นภายหลังจากหมดประจำเดือน เพราะเหตุใดปริมาณเอสโตรเจนจึงลดลง และความชราภาพส่งผลตามอย่างไรบ้าง อาการออกร้อนวูบวาบที่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของอาการภาวะหมดประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร เกี่ยวกับปริมาณเอสโตรเจนอย่างไร ทำไมผู้หญิงขณะหมดประจำเดือนจึงมีอาการนอนไม่หลับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอาการร้อนวูบวาบ หรือเหงื่อออกจนน่ารำคาญ ความชราทำให้หมดประจำเดือนหรือเพราะหมดประจำเดือนทำให้ผู้หญิงชราลง ความไม่โปร่างใสในคำถามเหล่านี้ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการใช้ฮอร์โมนจะเป็นการ “เกาถูกที่คัน” หรือไม่ ที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้นก็คือ ผลของการใช้ฮอร์โมนทำให้คนธรรมดากลายเป็น “คนไข้” และทำให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

เสี่ยงแค่ไหนหากใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

เมื่อตกลงจะใช้ฮอร์โมนก็เท่ากับตกลงใจว่าจะเป็นคนไข้ที่อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะแพทย์ต้องควบคุมปริมาณของฮอร์โมนในร่างกายอยู่ตลอด ดังนั้นจะต้องตรวจเลือดเสมอไม่น้อยกว่าปีละครั้ง นอกจากนั้นผลของฮอร์โมนที่เข้าไปทดแทนนี้ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งที่มดลูก และมีโรคในถุงน้ำดีอีกด้วย ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนจึงต้องตรวจมะเร็งเต้านม เป็นระยะๆ ทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ตรวจมะเร็งมดลูกทุกปี อาจจะต้องขูดมดลูกทุก 2 ปี นั่นคือ ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอย่างน้อยทุก 6 เดือนตลอดไป

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนในประเทศไทย แต่มีผลการศึกษาของผู้หญิงยุโรป เช่น ผู้หญิงที่อยู่ตามชานเมือง 4 แห่งรอบเมืองโคเปนเฮเกน จำนวน 526 คนที่ใช้ฮอร์โมนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนพบว่า ร้อยละ 20 หายจากอาการไม่สุขสบายต่างๆ ร้อยละ 44 มีอาการอื่นๆ และอีกร้อยละ 12 พบว่า ไม่ชอบใช้ฮอร์โมนเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไม่ชอบที่เลือดออก รู้สึกกลัว กังวล และบางคนบอกว่าค่าใช้จ่ายสูง

ผลการศึกษาผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ใช้ฮอร์โมนร้อยละ 30-40 เมื่อปี 2534 มีผลการศึกษาเรื่องหนึ่งรายงานว่า ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้นเมื่อใช้ฮอร์โมนเกิน 5 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นอีก และผู้หญิงที่เริ่มใช้ฮอร์โมนก่อนหมดประจำเดือนมีโอกาสมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่เริ่มใช้ฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือน

นอกจากนั้นยังมีผู้โต้แย้งว่า แม้การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจะทำให้กระดูกบางช้าลง และป้องกันโรคหัวใจบางอย่างได้จริง แต่การให้ฮอร์โมนไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่ป้องกันโรคกระดูกผุ หรือโรคหัวใจ ยังมีวิธีธรรมชาติอื่นๆ อีก เช่น การกินอาหารที่มีไขมันน้อย มีแคลเซียมมาก การออกกำลังกายอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ และการไม่สูบบุหรี่ ก็ลดโอกาสของการเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเท่านี้ก็คงจะเพียงพอสำหรับให้ผู้หญิงหลายคนที่คิดจะใช้ฮอร์โมนหยุดคิดเสียใหม่ ชั่งใจให้ดี เอาความเสี่ยงขึ้นตาชั่ง กับความอยากคงความสาว หรือจะกลับไปหาภาพยนตร์ เรื่อง Death becomes her มาดูอาจจะพบสัจธรรมและให้คำตอบด้วยตนเองได้ว่าจะใช้ฮอร์โมนฉุดสังขารดีหรือไม่

ข้อมูลสื่อ

176-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 176
ธันวาคม 2536
เรื่องน่ารู้
พญ.ศิริพร จิรวัฒน์กุล