• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กัญชา มีอะไรมากกว่ายาเสพติด

กัญชา มีอะไรมากกว่ายาเสพติด

 

    

 

เมื่อผมเด็กๆผมจำได้ว่าที่บ้านผมซึ่งเป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ดอยู่ที่ตำบลบ้านเหนือ จังหวัดกาญจนบุรีนั้นมีกัญชาขายด้วย ดูเหมือนจะเป็นมัดเล็ก ๆ ใส่อยู่ในปีบ มัดละ 2-3 สตางค์ มีคนมาซื้อบ้างนาน ๆ ครั้ง
พ่อบอกว่าตาล้วนซึ่งมีนิวาสสถานอยู่หลังบ้านแกสูบกัญชา แกเป็นคนขี้ขโมย ขโมยดะตั้งแต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนปลาที่พ่อผมไปลงแหลงอวนไว้ที่แม่น้ำ ตลอดจนขโมยเอาทั้งเบ็ดและตะครัดที่ลงไว้ แกก็เอาไป พ่อบอกว่าสูบกัญชาไม่ดี ทำให้ขาดความรับผิดชอบชั่วดี และเกียจคร้านทำการทำงาน ต่อมามีกฎหมายห้ามเสพ ห้ามมีไว้ในครอบครอง ซื้อขาย และปลูกกัญชา บ้านผมก็เลยไม่ได้ขายกัญชาอีก
ผมมาเห็นกัญชาอีกทีก็ตอนไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ต่างจังหวัด อุดรธานี ตอนนั้นประมาณ พ.ศ. 2511-2512 กำลังอยู่ในช่วงสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันเกลื่อนจังหวัดอุดรธานี และหลังสถานีอนามัยที่ผมทำงานก็มีต้นกัญชา จะขึ้นเองหรือมีใครไปปลูกก็ไม่ทราบ
คนครัวเคยเอามาใส่แกงให้กิน กล่าวกันว่าทำให้แกงอร่อย ผมนั้นไม่รู้หรอกว่าแกงใส่กัญชา เมื่อกินแล้วจึงมีคนมาบอกว่าแกงใส่กัญชา สำหรับผมเองผมไม่รู้สึกว่าแกงอร่อยผิดปกติไปจากทุกวันที่กิน เพราะผมกินอะไรก็อร่อยไปทั้งนั้น ผมกินแล้วก็ไม่รู้สึกผิดปกติอะไร แต่มีพยาบาลคนหนึ่งที่กินเข้าไปเหมือนกันมีอาการพิกล ซึ่งผมเคยเห็นเป็นครั้งแรก กล่าวคือ แกมีอาการหัวเราะสลับกับร้องไห้ ถามว่าเป็นอะไร แกก็บอกว่าบอกไม่ถูก บางทีก็หัวเราะทั้งน้ำตาอย่างไม่มีเหตุผล คนแถวนั้นบอกว่าเป็นอาการของการเมากัญชา

คุณหมอนิยม เกตุจำรัส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี พาผมไปดูหนังในเมือง มีคนสูบบุหรี่ในโรงหนังกันมาก ขณะนั้นยังไม่มีการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ คุณหมอนิยมบอกว่า “มันสูบกัญชากัน” แกได้กลิ่นและรู้ ผมนั้นพยายามดมเท่าไรก็ไม่รู้ อย่างหนึ่งเพราะเป็นคนไม่สูบบุหรี่ จึงแยกไม่ออกว่ากลิ่นบุหรี่กับกัญชาต่างกันอย่างไร ขณะนั้นกัญชาหาได้ง่ายมากในเมืองอุดรฯ
ผมมาเขียนเรื่องกัญชาเพราะไปอ่านเจอบทความเกี่ยวกับกัญชาในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2538 ภายใต้หัวเรื่องกัญชายาเสพติดหรือพืชสารพัดประโยชน์ คุณอดัม ออสเวลล์ เป็นผู้รายงานในหนังสือพิมพ์นั้นบอกว่า กัญชาเป็นพืชต้องห้าม เพราะถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษเช่นเดียวกับฝิ่น โคเคน เฮโรอีน และอื่น ๆ มาประมาณ 50 กว่าปีแล้ว

กัญชาเป็นพืชประเภทป่านและปอ ซึ่งมีเส้นใยเหนียวมากและครั้งหนึ่งเคยเป็นพืชสำคัญทางการเกษตร เมื่อครั้งกัญชายังเป็นพืชที่ถูกกฎหมายนั้น ในอเมริกาเองสามารถใช้กัญชาชำระภาษีได้!
สารออกฤทธิ์ของกัญชาอยู่ที่ใบและช่อดอก ชื่อเททรา ฮัยตรา คานาบานอล หรือที.เอช.ซี.เป็นสารออกฤทธิ์ทางจิตและประสาท กล่าวกันว่าพระนางเจ้าวิคทอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงเคยใช้สารสกัดจากกัญชารักษาพระอาการปวดก่อนมีประจำเดือน นอกนั้นสารสกัดยังใช้เป็นยารักษาโรคอีกหลายอย่าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมอ่านพบในหนังสืออะไรลืมไปแล้วว่าสารสกัดจากกัญชาใช้บรรเทาอาการผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งทั้งดีและถูก
ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กล่าวว่า ก่อนจะมีการห้ามปลูกกัญชานั้น ต้นกัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้ากว่าห้าพันชนิด นี่คือไม่มีการห้ามและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย คงจะค้นพบประโยชน์ของกัญชาไม่รู้ว่ามากมายอีกเท่าไร

การเสพกัญชาเพื่อผ่อนคลายอารมณ์นั้นเริ่มมาจากอินเดียเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว การเสพกัญชาลุก-ลามมาทางตะวันออกกลางและแอฟริกา และต่อมาก็ข้ามมาทางอเมริกาโดยเส้นทางการค้า สมัยนั้น มีการปลูกกัญชากันทั่วไปในอเมริกา และคนสูบกัญชาก็ถูกมองว่าเป็นคนแปลกและไม่น่าไว้ใจ
ใน พ.ศ. 2457 รัฐบาลซัสก็ออกกฎหมายห้ามเสพกัญชา มีหลายคนกล่าวว่ากฎหมายห้ามเสพกัญชาที่ออกใน พ.ศ. 2476 เป็นการแก้เกี้ยวกรณีที่เกิดภาวะทางสังคม และศีลธรรมเสื่อมโทรม บางคนก็กล่าวว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะถ้าปล่อยให้ปลูกกัญชากันมาก เส้นใยจากกัญชาจะทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่ากลัว

เดี๋ยวนี้มีการผสมพันธุ์กัญชา ชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และแม้แต่พันธ์ที่ไม่มีสารออกฤทธิ์นี้ก็ยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้ปลูก ในเกือบทุกประเทศในโลก เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เราวาดภาพกัญชาเสียน่ากลัวจนมองข้ามสิ่งดี ๆ ที่ได้จากต้นกัญชา

อเมริกาเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องปิโตรเคมี และคู่แข่งเส้นใยที่ทำจากปิโตรเคมี คือเส้นใยที่ได้จากต้นกัญชา ในอเมริกานั้นกิจการอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับการเมือง เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงอเมริกาก็ประกาศสงครามทำลายล้างกัญชา กะกันว่า จะให้สูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว ไร่กัญชาหลายหมื่นหลายพันไร่ถูกเผาทำลายเรียบ นอกจากนั้นสหประชาชาติยังประกาศนโยบายที่จะให้ภาคีสมาชิก ทุกประเทศออกกฎหมายห้ามมี ห้ามครอบครอง ห้ามเสพกัญชา ทุกวันนี้ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะต้องมีแผนปราบปรามกัญชาอย่างเบ็ดเสร็จ
เส้นใยจากกัญชาร้อยละ 80 เป็นเซลลูโลสซึ่งย่อยสลายได้ง่าย ไม่เกิดพิษภัย ลำต้นสามารถใช้ทำกระดาษสังเคราะห์ได้ดีกว่ากระดาษที่ทำจากไม้ยืนต้น

ทุกวันนี้บริษัททำกระดาษของญี่ปุ่นและอเมริกา ทำลายป่าไม้ปีละกว่าห้าหมื่นตารางกิโลเมตร กัญชาซึ่งเป็นพืชที่มีวงชีวิตเพียง 120 วัน สามารถที่จะปลูกได้ 10 ตันต่อพื้นที่ 1 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = 2 ไร่) ภายในเวลา 4 เดือน ปลูกได้เร็วกว่าฝ้าย 4 เท่า ได้น้ำหนักมากกว่าฝ้าย 3 เท่า กัญชาไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารพิษฆ่าแมลง นอกจากนั้นยังเพิ่มคุณภาพของดิน เพราะรากของกัญชา หยั่งลงไปลึก เมื่อตัดต้นกัญชาแล้ว รากก็ยังยึดดิน กันการกัดกร่อนของหน้าดินได้ดี จากสถาบันวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่ากัญชาสามารถปลูกและนำมาทำกระดาษได้มากเป็น 4 เท่าของการทำไม้ยืนต้น
นอกจากนี้การทำกระดาษจากต้นกัญชาไม่ต้องใช้คลอรีนเหมือนการทำจากไม้ ซึ่งทำให้เกิดสารไดออกซิน นอกจากนั้นเส้นใยของต้นกัญชาใช้ทำกระดาษได้ดีกว่าไม้มาก


การทำอุตสาหกรรมปลูกต้นกัญชาดีอีกอย่างที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่ใช้ใช้เงินทุนเป็นหลัก ดังนั้นเหมาะสำหรับประเทศกสิกรรมเป็นอย่างยิ่ง ลำต้นใช้ทำกระดาษและเส้นใย ส่วนใบใช้เลี้ยงสัตว์ได้ นอก-จากนั้นส่วนเหลือจากการทำเส้นใย นำมาผสมกับปูนขาวและน้ำ จะได้วัสดุที่เบาและแข็ง ทนทานกว่าซีเดมนต์ สารชนิดนี้นักโบราณคดีเชื่อว่าในสมัยโบราณใช้สร้างวัสดุต่าง ๆ เมื่อสามพันปีก่อน

คริสตกาลราคาเยื่อไม้ที่ได้จากต้นกัญชา ถ้าเป็นอย่างคุณภาพต่ำก็ตกราคาตันละ 1 หมื่นบาท ถ้าคุณภาพสูง มีราคาตันละ 37,000 บาท เมื่อเทียบกับเยื่อไม้ราคาตันละ 1,500 บาท แล้วต้นกัญชาน่าจะปลูกมากกว่ามาก
ในที่ดินว่างเปล่าที่มีอยู่มากมายในโลก ชาวบ้านที่ยังยากจนและปรารถนาจะได้พืชทำเงิน น่าจะได้หันมาปลูก ราคาที่ว่านี้คงจะไม่เป็นราคาที่ตรงตามความจริงนัก เพราะเมื่อมีการปลูกมากขึ้นราคาน่าจะถูกลง ถึงจะถูกลงอย่างไรก็ยังดีอยู่นั่นเอง เพราะเพียงแค่ทดแทนการใช้เยื่อกระดาษที่ทำจากการตัดต้นไม้ทำลายป่าก็คุ้มแสนคุ้มแล้ว
กล่าวกันว่า กางเกงยีนลีวายที่ลือชื่อ กระดาษที่ใช้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิล หรือแม้แต่ธงชาติอเมริกันเอง แต่เดิมก็ทำจากป่านที่ได้มาจากต้นกัญชา


ผมเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเราที่มีอยู่หลายแห่งมีข้องมูลของผลงานวิจัยของต้นกัญชาที่ไม่มีสารเสพติดเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ไม่ควรมองข้ามการสกัดสารออกฤทธิ์ที่อาจนำมาใช้รักษาโรค หรืออาการของโรคต่าง ๆ ในราคาถูก
เมื่อเรามีข้อมูลเพียงพอก็อาจมีการผลักดันให้มีการอนุญาตให้ปลูกพืชชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์อันตรายต่อคนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ปัญหาอาจอยู่ที่ความยากลำบากในการแยกพืชที่มีสารออกฤทธิ์และพืชที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ เพราะอาจมีบุคคลปลูกพืชต้องห้ามลงไปในแปลงเดียวกันและเก็บเกี่ยวไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย


ถ้าเราสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ กัญชาก็อาจเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ไม่เพียงผ่อนคลายความยากจนของเกษตรกรเท่านั้น ยังช่วยส่งเสริมผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่ลดมลภาวะ อันกำลังเป็นตัวสำคัญในการทำลายมนุษยชาติในอนาคตอีกด้วย


 

ข้อมูลสื่อ

193-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
นานาสาระ
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์