• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้วยชามของคุณแม่

ถ้วยชามของคุณแม่

ลูกเล่นของเล่นอย่างสนุก คุณแม่ก็พลอยสนุกไปด้วย สลับกับความรู้สึกตื่นเต้นเป็นบางครั้งบางคราวที่ต้องคอยรีบเข้าประคองลูกก่อนที่จะล้มก้นกระแทกกับพื้น
เมื่อย่างเข้าวัย 9 เดือน ความคล่องตัวของลูกในการนั่ง คืบตัว และยืนเป็นไปได้เร็ว จึงทำให้คุณแม่ต้องทำตัวกระฉับกระเฉงตามไปด้วย เพราะกลัวลูกจะพลาด นับว่าลูกน้อยก็มีส่วนช่วยให้คุณแม่ได้ออกกำลังฝึกหัดความว่องไว เสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้น

ความห่วงใยของคุณแม่ ทำให้ต้องใกล้ชิดลูกมากยิ่งขึ้น แม้ในขณะปฏิบัติภารกิจประจำวัน
ภารกิจของคุณแม่ที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ คือ งานครัว คุณแม่มีหม้อ กระทะ ถ้วยชาม ช้อน ทัพพีที่มีความมันวาว เมื่อกระทบกัน มีเสียงดังแตกต่างกันหาอุปกรณ์เหล่านี้ที่มีขนาดเล็กสุดที่คุณแม่มีอยู่ 3-4 ชิ้น นำมาวางใกล้ ๆ กันที่พื้นให้ลูกเล่น และจะต้องไม่ขาดถ้วยมีหูและช้อนที่มีด้ามสำหรับลูกถือ
เริ่มด้วยการส่งช้อนให้ลูกถือที่ด้ามด้วยมือขวา มือซ้ายให้ลูกจับที่หูถ้วย เมื่อช้อนกระทบกับถ้วยจะเกิดเสียงดัง คราวนี้คุณแม่หันไปสนใจงานครัวได้มากขึ้น และคงไม่ต้องบอกให้ลูกเบาเสียงการเคาะ มันเป็นของใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูก

ความสามารถของลูกจะมีมากขึ้นตามลำดับ ในการทำให้เกิดการกระทบกันแล้วมีเสียงค่อยหรือดังมาก
คุณแม่จะพบว่า งานที่ลูกชอบทำตามหรืออยากช่วยคุณแม่มากที่สุดคือการชงกาแฟ คุณแม่เอาช้อนไปแกว่งในถ้วยกาแฟมีเสียงดัง ลูกจะทำตามและชอบมากคุณแม่ปล่อยให้ลูกเล่นเช่นนี้ แต่ถ้าเสียงดังหายไป คุณแม่ต้องหมั่นหันมาดูลูกว่าลูกกำลังศึกษาอะไรอยู่ จะเป็นอันตรายหรือไม่
เมื่อลูกเบื่อการเคาะ ลูกก็ยังสามารถหยิบถ้วย หยิบช้อนใส่ในหม้อหรือกระทะ หยิบของชิ้นเล็กใส่ในชิ้นใหญ่ได้

ตุ๊กตาทั้งหลายที่มีอยู่จึงอาจหมดความหมายสำหรับลูกวัย 9 เดือนบล็อกไม้รูปทรงต่าง ๆ ยังไม่ล้าหลัง สอนให้ลูกเก็บใส่ในหม้อสเตนเลส เสียงจะดังป๋องแป๋ง หยิบเข้าหยิบออกสนุกมาก
โดยปกติแล้วหม้อที่ใช้เป็นหม้อปากกว้าง ลองหาปีบขนมปังใบเล็กที่มีปากเป็นวงกลม แคบกว่าตัวปีบ แล้วให้ลูกเอาบล็อกใส่ นอกจากลูกจะชอบเอาบล็อกใส่ปีบ ลูกยังรู้สึกอยากจะเอามือล้วงลงไปหยิบบล็อกออกมา หรือก้มหน้าลงไปมองในปีบ หรือยกปีบขึ้นมามองเข้าไปในข้างใน เพราะดูเหมือนจะมีอะไรมืด ๆ ลึกลับชวนสนใจ เป็นการสร้างพัฒนาการในการใช้สายตาร่วมกับการใช้มือ แขน ศีรษะ และลำตัว สมองก็เริ่มค้นหาความจริง

ห่วงพลาสติกรูปร่างเหมือนขนมโดนัท คล้องเข้ากับเสาแท่งกลมตรงกลางสูงประมาณ 1 คืบ เป็นของเล่นอีกชิ้นหนึ่งที่ควรแนะนำให้ลูกเล่น จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของมือได้ดีมาก เพราะลูกจะต้องรู้จักเอาห่วงมาคล้องให้ตรงตำแหน่ง แล้วปล่อยห่วงให้หล่นลงไปที่โคนเสาก่อนที่จะนำชิ้นใหม่มาคล้องอีก แต่ในระยะแรกลูกจะหยิบห่วงอันเดียวคล้องเสาแล้วดึงออกมาโดยไม่ปล่อยห่วงให้หล่นไปที่โคนเสา คุณแม่ปล่อยให้ลูกเล่นตามใจชอบ เพราะการคล้องมาที่เสาจะเป็นการฝึกความเที่ยงตรงของการทำงานของมือ เพื่อนำไปใช้ในการติดกระดุมเสื้อและกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ

สิ่งที่ต้องระวัง เมื่อปล่อยลูกเข้าครัว คือ มีดและของมีคมทุกชนิด เช่น ช้อนส้อม เหล็กหรือไม้ปลายแหลมสำหรับเสียบอาหาร คีมสำหรับคีบที่เป็นโลหะมีคม ของหนักทุกชนิด เช่น ครก เขียง หม้อใบโต ๆ เป็นต้นลูกยังไม่ตระหนักถึงภัยอันตรายจากการที่ลูกเอื้อมไปดึงแล้วของตกลงมาใส่เท้าหรือใส่ตัวเอง และที่สำคัญและนึกไม่ถึง คือ ลิ้นชักเคาน์เตอร์ครัวหรือตู้ที่สามารถดึงออกได้ง่าย ซึ่งในระยะแรกลูกอาจจะยังไม่รู้จักดึง แต่ค้นพบโดยบังเอิญจากการจับหูลิ้นชักแล้วลุกขึ้นยืน ลิ้นชักจะเลื่อนออกมาได้เอง ลูกก็จะพบของใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในลิ้นชักนั้น เช่น มีดหรือวัตถุมีคมที่เป็นอันตราย หรือมิเช่นนั้นการเลื่อนของลิ้นชักที่เร็ว ทำให้การทรงตัวของลูกเสีย ลูกล้มลงหรือลิ้นชักเลื่อนหล่นลงมาทับลูก


ขอย้อนกล่าวถึงการเริ่มคลานของลูก ซึ่งในระยะ 8 เดือนคุณแม่ได้ฝึกหัดการคืบของลูกโดยให้ก้าวแขนและขาด้านตรงกันข้าม จึงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการคลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในวัย 9 เดือน ลูกเริ่มคลาน นอกจากลูกจะก้าวแขนและขาตรงกันข้ามลูกยังยกท้องให้สูงพ้นพื้น และใช้ฝ่าเท้าก้าวเหยียบบนพื้น ลูกใช้ขาได้คล่องขึ้น การเคลื่อนไหวไปตามจุดต่าง ๆ จะรวดเร็วปล่อยลูกให้ให้ทำตามใจบ้าง ถ้าเห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงควรยับยั้ง โดยคุณแม่อาจส่งเสียงดุลูกให้หยุด ลูกวัยนี้รู้สึกถึงน้ำเสียงที่แตกต่างกัน หรือน้ำเสียงที่ไม่พอใจของคุณแม่ น้ำเสียงที่ดุอาจทำให้ลูกร้องไห้ได้
โปรดอย่าจำกัดสถานที่หรือดุลูกมากนักมิเช่นนั้นลูกของคุณจะมีแต่ความหวาดกลัวไม่ใฝ่หาระสบการณ์และความคิดริเริ่มใด ๆ


ขอให้ฟังเสียงไร้เดียงสาของลูกวัย 9 เดือนที่เรียกคุณพ่อและคุณแม่ว่า ป้อ ป้อ มา มา แล้วขอให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูก รัก และสอนลูกมากกว่าพี่เลี้ยง

ข้อมูลสื่อ

193-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 193
พฤษภาคม 2538
สุมนา ตัณฑเศรษฐี