• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารปลอดสารพิษ

อาหารปลอดสารพิษ

 มะม่วง : มะละกอ
ช่วงนี้มะม่วงออกมาให้กินแข่งกับทุเรียน ชวนอ้วนไปตาม ๆ กัน ส่วนมะละกอนั้นก็มีอยู่คู่แผงขายผลไม้ตลอดทุกฤดู
มะม่วงและมะละกอนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มะม่วงมีสาระสำคัญน้อยกว่ามะละกอเล็กน้อย ซึ่งผลไม้ทั้งสองชนิดนี้มีเอนไซม์ชื่อ ปาเปน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำย่อยเปปซินในกระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงช่วยทำให้ของเสียที่เป็นโปรตีน แตกตัวได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับ โปรเมลิน ทั้งมะม่วงและมะละกอดีสำหรับทำความสะอาดลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร
 


 น้ำกระเจี๊ยบ

น้ำกระเจี๊ยบ เป็นน้ำสมุนไพรที่เราท่านรู้จักกันดี รสชาติเรียกได้ว่า อร่อยกิน( ดื่ม )ขาด เมื่อเทียบกับน้ำหวานสีแดง สีเขียว
แต่เราอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า น้ำกระเจี๊ยบถือเป็นยาสมุนไพรชั้นดี ทั้งมีสรรพคุณ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้นิ่ว แก้ทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สรรพคุณที่กล่าวมานี้เรียกได้ว่าเป็นที่ชื่นชอบของหลาย ๆ คน เพราะจากการจราจรที่ติดขัด ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบกันเป็นแถว เปลืองเงินรักษาอาการอักเสบอีกมาก หรือใครที่เป็นไปแล้วก็ยังไม่สาย หาน้ำกระเจี๊ยบดื่มแก้กระหาย หรือจะหาซื้อกระเจี๊ยบแห้งมาต้มน้ำไว้ดื่มเองที่บ้านก็แก้กระหาย และได้สรรพคุณเช่นเดิม

 

 ทางเลือกเพื่อการบริโภคอาหารปลอดสารพิษ
- เลือกซื้อสินค้าปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพของท่านและทั้งเพื่อสนับสนุนเกษตรกรหรือองค์กรพัฒนาเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐฯ ที่ผลิตพืชผักผลไม้ และสินค้าปลอดสารพิษออกมาจำหน่าย และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแต่ละองค์กรที่มาจำหน่ายด้วย

- เปลี่ยนทัศนคติเรื่อง ต้องกินอาหารสวย ๆ ว่าฝักถั่วต้องยาวเท่านั้นเท่านี้ถึงจะซื้อ ผักต่าง ๆ ต้องไม่มีหนอนมีแมลง ยิ่งสวยเท่าไหร่ก็ควรระวังเพราะว่าต้องใช้สารเคมีมากขึ้นเท่านั้น

 

 สมุนไพรปลอดภัยกันยุงได้ดี
ภาควิชาปาราสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้คัดเลือกสมุนไพรที่เคยมีรายงานว่าสา-มารถขับไล่แมลง และป้องกันยุงกัดมาวิเคราะห์เพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกัน 75 ชนิด แต่คัดเอาเพียง 7 ชนิด คือ ตะไคร้หอม มะกรูด ดอกเบญจมาศสวน สะเดา กะเพรา ข่า และว่านน้ำ
จากนั้นนำมาสกัดด้วย เอธานอล 90 เปอร์เซ็นต์ โดยนำเอาสารสกัดจากพืช 7 ชนิด มาผสมในอัตราส่วนที่เท่ากันแล้วจะได้สารออกมา 21 ชนิด แล้วมาผสมกับน้ำมันมะกอก น้ำมันหอมระเหย กลิ่นชะมด แล้วนำมาทดสอบประสิทธิภาพ พบว่าสารสกัดจากตะไคร้หอม สารที่มีสารของมะกรูด และสารจากเบญจมาศสวนเมื่อนำมาผสมกัน มีประสิทธิภาพในการขับไล่ยุงได้นาน 114-126 นาที ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูง

 

 กะหล่ำดอก
กะหล่ำดกมีวิตามินเอ บี1 บี2 โดยเฉพาะบี2 จะมีมากที่สุด และเมื่อนำมาปรุงอาหาร ไม่ว่าจะต้มกะหล่ำดอกนานแค่ไหน ก็จะไม่เปลี่ยนสีจึงใช้เป็นอาหารที่ให้สี กลิ่น รส ที่ดีที่สุด
นอกจากจะเลือกบริโภคกะหล่ำดอกที่ปลอดจากสารพิษแล้ว ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กะหล่ำดอกนั้นมีดอกเล็ก ๆ ติดกันเป็นจำนวนมาก การล้างให้ล้างในน้ำผสมเกลือ แล้วค่อยล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้มีพยาธิติดอยู่

 

 ร้านสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ
ร้านสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ ฟังชื่ออาจจะแปลกกว่าที่เคยได้ยินและคุ้นหูว่าปลอดสารพิษ แท้จริงแล้วเพียงชื่อเท่านั้นก็ไม่เหมือนกัน แต่ยืนยันได้ว่าไร้สารพิษจริง เพราะในขั้นตอนการปลูกนั้นไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีใด ๆ เลยแม้แต่ชนิดเดียว
พืชผักไร้สารพิษ เช่น ผักกาด ผักคะน้า กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว เหล่านี้มาจากการปลูกแบบไร้สารพิษจากจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ในร้านยังมีผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษอื่น ๆ อีกมากมาย
ร้านสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษเปิดบริการจำหน่ายพืชผักอยู่ด้านหลัง ตลาดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) เยื้องจตุจักร โทร. (01)211-2511

 

 กระเทียม
กระเทียมใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่น จุกเสียด โดยใช้กลีบกระเทียมปอกเปลือกกินดิบ ครั้งละประมาณ 5 กลีบ ด้วยคุณประโยชน์ของกระเทียมทำให้ผู้คนหนีมากินกระเทียมสดกันมากยิ่งขึ้น แต่ผู้ที่กินกระเทียมควรระวัง ทั้งนี้เพราะเราอาจจะไม่ได้รับคุณประโยชน์ของกระเทียมอย่างเดียวเสียแล้ว เนื่องจากขั้นตอนการปลูกมักรองหลุมด้วยฟูราดานเพื่อกันแมลงกัด กินกระเทียม กระเทียมที่ได้จึงหัวใหญ่ สวย แต่สารเคมีที่หัวกระเทียมสะสมไว้นั้นก็มีมากเช่นกัน
ลองเปลี่ยนมากินกระเทียมปลอดสารพิษ ถึงแม้หัวจะเล็กกว่า แต่ก็ลดโอกาสรับพิษตกค้างได้มาก

 

 กลอย
กลอยเป็นไม้ล้มลุกชนิดเลื้อย มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นจะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้ใหญ่ หัวกลอยรูปร่าง
กลมแบนมีขนาดต่าง ๆ กัน จะแตกเถาในฤดูฝน และโตเต็มที่ในฤดูแล้ง
เนื่องจากกลอยมีพิษก่อนนำมาบริโภคต้องมีการล้างพิษที่เรียกว่า “หักเมา” ออกเสียก่อนโดยปลอกผิวเปลือกออกแล้วผ่านเป็นแผ่นบาง ๆ ใส่ตะกร้า แช่น้ำไหล2-3 วัน (แช่ตามลำห้วยหรือลำธาร) เพื่อล้างเมือกให้หมด ก่อนกินต้องต้ม หรือนึ่งให้สุกเสียก่อน


ร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตไทย ๆ ด้วยการจับจ่ายซื้อของในตลาดสด

 

ข้อมูลสื่อ

194-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
พืช-ผัก-ผลไม้