• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนจบ)

เจ็บหัวใจ (ตอนจบ)


 เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อนหรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสนจนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้มาทำให้อ่านง่ายเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป


การรักษาอาการ :
1. หยุดพัก หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่และนั่งลง ถ้านั่งพิงได้และผ่อนคลายจิตใจและร่างกายให้ได้มาก
เท่าใดก็ยิ่งทำให้หายเร็วขึ้นเท่านั้น

2. อมยาใต้ลิ้นหรือพ่นยาทันที ถ้ามียาติดตัวอยู่ (คนไข้โรคนี้จะต้องพกยาอมใต้ลิ้น หรือยาพ่นติดตัวเป็น
ประจำ แม้เวลาเข้าห้องน้ำหรือเข้านอน เป็นต้น) ถ้าอมยาหรือพ่นยา 1 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ให้อมยาพ่นยาซ้ำได้ทุก 5-10 นาที ถ้าทำเช่นนี้ 4-5 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล

3. กลั้นหายใจแล้วเบ่ง หรือล้วงคอให้อาเจียน ถ้าหยุดพักและอมยาหรือพ่นยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่มี
ยาอมหรือยาพ่นติดตัวอยู่


 

การป้องกันอาการ :
1. อย่าทำอะไรอย่างรีบเร่งฉุกละหุก หรือไม่ได้เตรียมตัว (อุ่นเครื่อง)ก่อน

2. อย่าทำอะไรหนักหรือหักโหมกว่าที่เคยทำเป็นประจำ

3. อมยาใต้ลิ้นหรือพ่นยาก่อนจะทำอะไรที่รู้ว่าทำแล้วจะเกิดอาการจากประสบการณ์ครั้งก่อน แต่แม้จะอมยาแล้ว ถ้าจะทำในสิ่งที่เคยทำให้เกิดอาการครั้งก่อน ก็ต้องทำอ่างระมัดระวังและถ้ามีอาการเกิดขึ้น ต้องหยุดทำทันที และอมยาหรือพ่นยาซ้ำทันที อย่ากลัวยาอมใต้ลิ้นหรือยาพ่น การอมบ่อยหรือพ่นบ่อยไม่ทำให้ติดยา และไม่ทำให้เกิดอันตรายอะไร นอกจากแสบลิ้นแสบปาก ปวดหัว เวียนหัว ใจสั่น หน้ามืด และคลื่นไส้ อาเจียนเท่านั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้แสดงว่าใช้ยาเต็มที่แล้วไม่ต้องอมยาหรือพ่นยาเพิ่มอีก

4. ควบคุมและรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้ดี เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเครียด เป็นต้น
การควบคุม และรักษาโรคเหล่านี้จำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยให้ถูกต้องก่อนและให้ยาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนต่อไป

ถ้ารักษาทางยาอย่างเต็มที่และอย่างถูกต้องแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรจะพิจารณาสวนหัวใจและทำการขยายหลอดเลือดหรือผ่าตัดเสริมหลอดเลือดใหม่(bypass graft) เข้าไปแทนที่หลอดเลือดที่ตีบตันอยู่ต่อไป การรักษาและการป้องกันอาการเจ็บหัวใจจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ถ้าคนไข้หมั่นศึกษาและปฏิบัติตนให้ถูกต้อง อาการเจ็บหัวใจก็จะหายและไม่ลุกลามไปเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และจะไม่เกิดอาการบ่อย ๆ นอกจากเวลาลืมตัว( เผลอตัว )เท่านั้น จึงมีชีวิตเกือบเหมือนคนปกติได้ 

                           

     

 

ยาสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ
สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาที่สำคัญและจำเป็นสำหรับโรคนี้มี 3 ตัว คือ

1. ยาอมใต้ลิ้น หรือยาพ่นจำพวกไนโตรกลีเซอรีน( nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบต์( isosorbide) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วมาก หลังอมยาไว้ใต้ลิ้น หรือในปาก แต่ยาจะหมดฤทธิ์เร็ว ภายใน 15-30 นาที ยาอมใต้ลิ้นราคาเม็ดละ 2-3 บาท ยาพ่น 1 หลอดพ่นได้ประมาณ 100 ครั้ง ราคาประมาณ 200 บาท ยานี้จะไปขยายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดดำทั่วร่างกาย ทำให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจน้อยลง ทำให้หัวใจทำงานน้อยลง จึงหายเจ็บหัวใจ

ส่วนฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง จะทำให้ความดันเลือดตก และหัวใจเต้นเร็วขึ้น หลาย ๆ คนจึงรู้สึกปวดหัว มึนหัว เพราะหลอดเลือดแดงในสมองขยายตัว บางคนรู้สึกเวียนหัว หน้ามืดเป็นลม เพราะความดัน-เลือดตก และบางคนรู้สึกใจสั่น เพราะหัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ไม่นานก็จะหายไป เพราะยาหมดฤทธิ์เร็วอาการเหล่านี้ช่วยให้รู้ว่ายานั้นยังดี (มีฤทธิ์) อยู่ ถ้าอมยาหรือพ่นยาแล้วไม่มีอาการดังกล่าวเลย อาจแสดงว่ายานั้นเสื่อมแล้วหรือหมดอายุแล้ว เพราะยาพวกนี้เสื่อมง่ายเมื่อถูกความร้อนความชื้น แสงสว่างหรืออื่น ๆ

ผู้ที่จะอมยาหรือพ่นยานี้ ควรนั่งลงก่อนแล้วจึงอมยาหรือพ่นยา เพื่อป้องกันอาการหน้ามืดเป็นลมจากฤทธิ์ของยานี้ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะต้องพกยานี้ติดตัวเป็นประจำ แม้เวลาเข้าส้วมหรือห้องน้ำ เพราะเวลาเจ็บหัวใจเมื่อใด ต้องรีบยาทันทีเมื่อนั้นจึงจะได้ผลดี และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้
ยานี้จึงใช้รักษาและป้องกันอาการเจ็บหัวใจที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนได้เท่านั้นเพราะมีฤทธิ์สั้นมาก

2. ยากั้นเบต้า (beta-blocker) ซึ่งเป็นยากิน ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและทำงานน้อยลง
ยานี้ออกฤทธิ์ช้า จึงไม่เหมาะสำหรับการรักษาอาการเจ็บหัวใจเพราะอาการเจ็บหัวใจจะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนยานี้จึงใช้สำหรับป้องกันการเจ็บหัวใจ หรือป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นสำคัญ

ยานี้ไม่ควรใช้ในคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือหลอดลมตีบ และในคนที่อยู่ในภาวะหัวใจล้ม นอกจากจะรักษาภาวะเหล่านี้ให้ดีขึ้นก่อน แล้วลองใช้ยานี้ดูในขนาดน้อย ๆ ถ้าทำให้อาการหอบหืดหรือภาวะหัวใจล้มกำเริบขึ้น ก็ไม่ควรใช้ยานี้ต่อไป แต่ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ก็อาจใช้ยานี้ได้ แต่ให้ระวังอาการแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะ 2-3 เดือนแรก

ยากลุ่มนี้มีจำนวนมาก เช่น propranolol (หรือชื่อการค้า เช่น Inderal, Betalol), atenolol (หรือชื่อการค้า เช่น Tenormin, Oraday) เป็นต้นการใช้ยาในกลุ่มนี้ ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้ เพราะจะต้องปรับเพิ่มและลดขนาดยาให้พอดีกับคนไข้แต่ละคน และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยานี้โดยเฉพาะเรื่องหลอดลมตีบ หัวใจล้ม หัวใจเต้นผิดปกติและอื่น ๆ

3. ยาแอสไพริน (Aspirin) : ซึ่งปกติใช้เป็นยาแก้ไข้แก้ปวด แต่ในกรณีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แอสไพรินถูกใช้เป็นยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย จะได้ไม่อุดตันหลอดเลือด
โดยทั่วไป จะใช้ยาแอสไพริน (ขนาด 5 เกรน หรือ 300 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 20 สตางค์) กิน หรือ 1 เม็ดพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที วันละ 1 ครั้ง

ยานี้ระคายกระเพาะอาหาร อาจจะทำให้ปวดท้องหรือแสบท้องหลังกินยา จึงควรกินพร้อมกับอาหารมื้อใหญ่ ๆ หรือหลังอาหารทันที ไม่ควรกินเวลาท้องว่างเป็นอันขาดถ้ากินขนาดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปวดท้องหรือแสบท้อง ควรจะกินแอสไพรินเม็ดเล็ก (ขนาดเด็ก หรือขนาด 1 เกรน หรือ 60 มิลลิกรัม เม็ดละ 20 สตางค์เท่ากัน) ครั้งละ 1 เม็ดพร้อมกับอาหารมื้อใหญ่ถ้ากินยานี้แล้ว อุจจาระดำเป็นยางมะตอยหรือเฉาก๊วยต้องหยุดยาทันที หรือถ้ากินแล้ว เป็นจ้ำ ๆ พรายย้ำ หรือผิวหนังถูกอะไรกระแทกแล้วเป็นรอยช้ำเขียวหรือเลือดออกได้ง่าย ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์

4. ยาอื่น ๆ : เช่น ยาไอโซซอร์ไบต์( isosorbide ) แบบกินวันละ 2-3 ครั้ง ยากั้นแคลเซียม( calcium-blocker) ยายั้งเอช(ACE-inhibitor) หรืออื่น ๆ เป็นยาที่ใช้ประกอบการรักษาเมื่อใช้ยา 3 ตัวแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเมื่อใช้ยากั้นเบต้าไม่ได้ เพราะมีอาการแทรกซ้อน เป็นต้น


 

 

ข้อมูลสื่อ

194-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์