• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหลัง

ปวดหลัง


โรคปวดหลังเป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณว่าร้อยละ 80 ของคนทำงานจะมีอาการปวดหลัง อาการปวดอาจมีหลายรูปแบบตั้งแต่ปวดหลังไม่กี่วันแล้วหายได้เองจนถึงปวดหลังรุนแรงขนาดต้องหามส่งโรงพยาบาล ความสำคัญของโรคปวดหลังถูกจัดไว้เป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจ และโรคไขข้อในคนที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี มีรายงานสำรวจของประเทศสวีเดน พบว่า ประมาณร้อยละ 53 ของคนที่ทำงานนั่งโต๊ะ และประมาณ 64 ที่ทำงานหนักจะต้องเป็นโรคปวดหลัง

โรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านทางด้านกระดูกและข้อจะมีคนไข้ปวดหลังเป็นขาประจำทุกๆ วัน ประมาณคร่าวๆ ว่าในคลินิกโรคกระดูกจะมีประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ทีเดียว เรื่องปวดหลังที่พบตามโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละปี พบตั้งแต่ร้อยละ 1-20 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากกว่าฝีมือด้วยแล้ว อุบัติการของโรคปวดหลังก็จะสูงขึ้นตามสภาพและลักษณะของการใช้แรงงาน โรคปวดหลังอาจก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเรื้อรังและความพิการ

ในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณว่าจะมีประชากร 52 ล้านคนที่มีการปวดหลังจนขนาดทำงานไม่ได้ต้องนอนพักรักษาตัว และครึ่งหนึ่งของบุคคลเหล่านี้ (2.6 ล้าน) จะพบความพิการแบบถาวร ทีนี้มาพูดถึงความสูญเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปนั้นมีหลายทาง แต่อาจแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 2 ทาง คือ

1. ทางตรง ซึ่งหมายถึง ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยหรือคนไข้ต้องจ่ายไปสำหรับค่าตรวจรักษา ค่าเอกซเรย์ ค่ายา ค่ากายภาพบำบัด (เวชศาสตร์ฟื้นฟู) และค่าเดินทาง ประมาณว่าเฉพาะค่าเอกซเรย์กระดูกสันหลังเพียงอย่างเดียวประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว

นอกจากนั้นค่าชดเชยซึ่ง หมายถึง เงินที่ต้องจ่ายให้ผู้ป่วยขณะที่ทำงานไม่ได้ ก็เป็นการสูญเสียโดยตรงที่นายจ้างต้องจ่ายให้กับลูกจ้างรายวัน

2. ทางอ้อม ซึ่งหมายถึง ความสูญเสียที่เกิดจากการหยุดงาน มีการสำรวจพบว่า ในคนทำงานชายที่มีอายุตั้งแต่อายุ 18-55 จะต้องมีการสูญเสียทางนี้คิดเป็นตัวเงินถึง 11 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปวดหลัง

1. อายุ คนที่มีอายุ 50 ปีจะมีโอกาสเป็นโรคปวดหลังมากกว่าอายุช่วงอื่น ทั้งนี้อาจเป็นผลจากกระบวนการเสื่อมของร่างกาย เปรียบเทียบเหมือนรถยนต์ที่ใช้งานมานาน เครื่องยนต์และส่วนประกอบต่างๆ จะเริ่มหลวมแล้ว

2. ภาวะกระดูกกร่อน (osteoporosis) ก็อาจเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้หญิงที่กระดูกร่อนลงทุกวันตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอยู่ในวัยใกล้หมดหรือหมดประจำเดือนด้วยแล้ว กระดูกจะอยู่ในสภาพค่อนข้างกร่อน

3. หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรหลายคนก็มีโอกาสเป็นโรคปวดหลังได้มากกว่าสาวโสดที่มีอายุใกล้เคียงกัน ทั้งนี้คงเกิดจากการตั้งครรภ์หลายท้อง ตัวเด็กจะแย่งสารอาหารจากแม่ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ยิ่งถ้าคุณแม่ปล่อยปละละเลยสุขภาพของตัวเองด้วยแล้ว พอตั้งครรภ์อีก สภาพร่างกายก็จะทรุดลงไปอีก

4. เพศชาย ผู้ชายยังมีโอกาสในการถูกผ่าตัดหลังเพื่อเอาหอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า

5. กรรมพันธุ์ ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคปวดหลัง ลูกๆ จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคปวดหลังได้บ่อยกว่าลูกของพ่อแม่ที่ไม่ปวดหลัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังที่มีต้นเหตุมาจากความพิการแต่กำเนิดของกระดูกสันหลัง อันนี้สามารถถ่ายทอดเป็นมรดกตกมาถึงรุ่นลูกได้ มีการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหมอนรองกระดูก หลังจากซักประวัติครอบครัวของพ่อหรือแม่จะพบว่า พ่อหรือแม่ก็เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อนเช่นเดียวกัน

6. บุหรี่ คนที่สูบบุหรี่จัดๆ ประมาณร้อยละ 1-2 ซองจะมีโอกาสเป็นโรคปวดหลังอย่างแน่นอน จากการศึกษาทดลองพบว่า การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการไอเรื้อรังซึ่งจะรบกวนสภาพปกติของกระดูกสันหลัง เนื่องจากการไอแต่ละครั้งจะมีการเพิ่มความดันภายในช่องท้อง นอกจากนี้สารนิโคตินในบุหรี่จัดหรือผู้ที่สูบมานาน เซลล์ในร่างกายมักจะอยู่ในสภาพขาดออกซิเจน และการไอแต่ละครั้งก็อาจกระทบกระเทือนและกระตุ้นในอาการปวดหลังเพิ่มความรุนแรงขึ้น

7. อาชีพบางอย่าง คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสั่นสะเทือน เช่น คนงานขุดเจาะถนน คนขับรถบรรทุก คนขับขี่จักรยานยนต์ คนงานเหล่านี้จะมีโอกาสปวดหลังได้มากกว่าคนในอาชีพอื่น แรสั่นสะเทือนประมาณ 4.5-5.5 เฮิรตซ์ (Hertz) และระยะทางประมาณ 20 ไมล์ ตามลำดับ คนงานที่ต้องก้มๆ เงยๆ หรือต้องยกของหนักก็เป็นโรคปวดหลังได้บ่อยเช่นเดียวกัน การก้มหลังแต่ละครั้งจะทำให้ความดันภายในหมอนรองกระดูกเพิ่มขึ้น ถ้าต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวันหมอนรองกระดูกก็จะเสื่อมเร็วกว่าคนอื่นๆ

8. รูปร่าง ส่วนสูง และน้ำหนักตัว มีรายงานหลายชิ้นได้พยายามศึกษาตัววัดต่างๆ เหล่านี้พบว่า ความสูงและความอ้วน อาจสัมพันธ์กับโรคปวดหลัง กล่าวคือ คนสูงอาจมีโอกาสปวดหลังได้มากกว่าคนเตี้ย สำหรับคนอ้วนที่มีอาการปวดหลัง เพราะพุงที่ยื่นออกมาจะทำให้น้ำหนักตัวตกลงมาข้างหน้ากว่าจุปกติ กล้ามเนื้อหลังจึงต้องพยายามออกแรงต้านเพื่อให้เกิดความสมดุล จึงต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้กล้ามเนื้อหลังมีโอกาสอ่อนแรงปวดเมื่อยได้ง่ายกว่า

อาการของโรคปวดหลัง

อาการปวดหลังอาจแบ่งออกได้เป็นหลายลักษณะ ดังนี้
 

  • ปวดหลังเพียงอย่างเดียว

อาการปวดอาจเป็นผลจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ความไม่มั่นคงของกระดูกสันหลัง หรืออาจเป็นผลจากปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดในหมอนรอกระดูก อาการปวดมักจะเลวลงภายหลังการใช้งานหรือทำงานหนัก แต่จะดีขึ้นถ้าได้นอนพัก

อาจมีประวัติของการบาดเจ็บ เช่น หกล้มนำมาก่อนกล้ามเนื้อหลังจะตึงแข็งจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ความเจ็บปวดเป็นสัญญาณเตือนให้พักงานหรือเปลี่ยนท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม บ่อยครั้งที่เตียงนอนเป็นต้นเหตุของการปวดหลัง ถ้าเป็นสาเหตุจากเตียงนอนแล้ว อาการปวดมักจะเกิดขึ้นตอนเช้ามืด ผู้ป่วยมักถูกปลุกด้วยอาการปวดหลังจนต้องตื่นขึ้นมาหาที่นอนใหม่ เมื่อลุกขึ้นเดินทำอะไรสักพักหนึ่ง อาการปวดก็จะดีขึ้นได้เอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะชอบนอนบนเตียงที่เป็นกระดานแข็ง
 

  • อาการปวดร้าวลงขา (sciatica)

หมายถึง อาการปวดที่เกิดจากการระคายหรือกดทับเส้นประสาทที่เลี้ยงขา บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทใหญ่ที่เลี้ยงต้นขา ขา และเท้า การกดทับโดยสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้เกิดความเจ็บปวดที่รุนแรง จนบางครั้งการเดินธรรมดาหรือการปืนขึ้นเตียงกลายเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา และใช้ความพยายามอย่างมาก

อาการปวดหลังจะเลวลงจากการทำงานหรือใช้งานเบาๆ แม้แต่การไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ ก็จะกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดเป็นทวีคูณ หลังจะแข็งเกร็ง บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยต้องเดินตัวเอียงด้วยความระมัดระวัง การรักษาจัดการกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงขา มักจะยุ่งยากซับซ้อน และต้องการเวลามากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว
 

  • อาการปวดแสบท้องปวดร้อนบริเวณน่อง เท้า

ผู้ป่วยมักให้ประวัติเวลาเดินสักระยะต้องหาที่นั่งพัก เนื่องจากหมดแรงที่จะเดินต่อ บางครั้งเดินนานเกินไปก็จะปวดร้าวลงขา กลุ่มอาการนี้มักจะเกิดในคนที่มีอายุมากขึ้น เวลาเดินต้องเดินหลังค่อมๆ ขณะเดินขึ้นบนทางสูงชันจะสบายกว่าตอนเดินลง ทั้งนี่เพราะขณะเดินขึ้น หลังจะต้องก้มเสมอ ขณะเดินลงหลังจะแอ่น คนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีโพรงกระดูกสันหลังแคบปกติ ทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทภายในโพรงกระดูก อาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปวดรุนแรงเหมือนในกรณีของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดทับเส้นประสาท

การหาสาเหตุของโรคปวดหลัง อาจทำได้หลายวิธี เช่น

1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจแผ่นหลัง ตรวจระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาท

2. ความเครียด

3. ภาพถ่ายรังสีของกระดูกสันหลังส่วนเอว และส่วนกระเบนเหน็บ

4. ภาพถ่ายรังสีพิเศษ รวมถึงการฉีดสีเข้าในหมอนรองกระดูก และไขสันหลัง

5. ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษาโรคปวดหลัง

โดยทั่วไปแล้ว การรักษาโรคทุกชนิดต้องรักษาที่สาเหตุ โรคจึงจะหายได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกัน คือ การรักษาอาการปวดหลัง หรือระงับอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลายเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าจะมีปริมาณร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลัง ที่เหลืออีก 80-85 เป็นอาการปวดหลังที่หาสาเหตุไม่พบ การรักษาส่วนใหญ่ จึงเป็นการรักษาตามอาการ บางรายอาจให้ยาแก้ปวดธรรมดาก็หายได้แล้ว

วิธีการรักษาอาการปวดหลังมี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ วิธีอนุรักษ์ (ไม่ผ่าตัด) และวิธีผ่าตัด โดยจะเริ่มการรักษาแบบวิธีไม่ผ่าตัดก่อนเสมอเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเลวลงแพทย์จึงจะพิจารณาดูว่าจะสามารถรักษาโดยวิธีผ่าตัดหรือไม่ มีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดชัดเจนมากน้อยเพียงใด เพื่อการันตีว่าผู้ป่วยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดครั้งแรกถ้าล้มเหลวแล้ว การผ่าตัดครั้งที่สองจะประสบผลสำเร็จน้อย เนื่องจากกระดูกสันหลังที่เคยผ่าตัดแล้วมักจะไม่เป็นที่ต้องการของแพทย์ เพราะการผ่าตัดครั้งที่ 2 จะทำให้ยากลำบากกว่าจากเยื่อพังผืด หรือจากแผลเป็น ทำให้เลือดออกง่าย และมีโอกาสพลาดไปตัดเอาเส้นประสาทภายในโพรงกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการชาและการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาและเท้าได้ ดังนั้นว่ากรณีใดๆ การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ยกเว้นในผู้ป่วยบางคนที่มีการกดทับเส้นประสาทที่รุนแรง การผ่าตัดจะช่วยขจัดสิ่งที่กดทับเส้นประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นอย่างถาวรจากการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานานๆ

วิธีการรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • การนอนพัก

การนอนพักหลังเพื่อลดการอักเสบและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลังเป็นวิธีการรักษาที่ดีวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเฉพาะที่แผ่นหลัง แต่ความสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาของการนอนพัก เพราะถ้านอนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกกร่อน ข้อต่อเอ็นกล้ามเนื้อติดยึดจากการไม่ได้ใช้งานตามปกติ

มีการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ระยะเวลาที่เหมาะสมของการนอนพักพบว่า การนอนพักเต็มที่เพียง 2 วัน จะได้ผลเท่ากับการนอนพัก 7 วัน ในกรณีนี้ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว (ไม่มีอาการปวดขา) จากการศึกษาเพื่อวัดความดันภายในหมอนรองกระดูก พบว่าในท่านอนราบ แรงดันจะต่ำกว่าในท่านั่งโดยเฉพาะในท่านอนราบงอเข่า โดยใช้หมอนหนุนใต้เข่าความดันภายในหมอนรอกระดูกจะต่ำเป็นพิเศษ คนที่อยู่ในท่าทางที่ทำให้ความดันภายในหมอนรองกระดูกสูงอยู่ตลอดเวลา จะมีโอกาสเกิดอาการปวดหลังได้บ่อยกว่าคนที่มีความดันภายในหมอนรองกระดูกต่ำ ทั้งนี้เพราะความดันที่สูงอยู่ตลอดเวลานั้น จะทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วกว่าปกติ

สำหรับคนที่ต้องนั่งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีพนักพิงหลังนอกจากความดันที่เพิ่มสูงในหมอนรองกระดูกแล้ว กล้ามเนื้อหลังจะต้องทำงานหนัก เพื่อดึงหลังให้ตั้งตรงตลอดเวลาที่ทำงาน พอถึงระดับหนึ่งกล้ามเนื้อจะหมดแรงหรืออ่อนล้ายิ่งต้องทำงานอยู่ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด ซ้ำร้ายบางคนยังฝืนทำงานล่วงเวลา ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นภายในกระดูกสันหลังนี้ค่อยๆ สะสมจนในที่สุดแสดงอาการออกมาเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรง การนอนพักนอกจากสามารถลดความดันภายในหมอนรองกระดูกแล้วการนอนราบยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลังได้พักงานอีกด้วย ความเจ็บปวดเมื่อยล้าต่างๆ ก็จะดีขึ้นได้

การเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น การลุกขึ้นยืนสลับกับเดินระหว่างการนั่งนานๆ จะช่วยลดความดันภายในหมอนรองกระดูกได้ สถานที่สำหรับการนอนพักที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ คือ บนเตียงนอนที่บ้าน แต่ต้องมีคนคอยดูแลรับใช้บ้างตามสมควร แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ต้องเข้านอนพักในโรงพยาบาล เพื่อจะได้นอนพักได้เต็มที่ (absolute bed rest) และค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด

  • ยา

ยาที่ใช้รักษาโรคปวดหลังมี 2 ชนิดใหญ่ ชนิดแรก คือ ยากิน อีกชนิดหนึ่ง คือ ยาฉีด ยาที่สำคัญเป็นยาที่แพทย์สั่งให้ผู้ป่วยบ่อยๆ ได้แก่

1. ยาแก้ปวด (ในรูปของยากินและยาฉีด) ได้แก่ แอสไพริน (aspirin ขนาด 300 มิลลิกรัม หรือเกรน 5) และพาราเซตามอล (paracetamol หรือ acetaminophen ขนาด 500 มิลลิกรัม) ยาทั้ง 2 ตัวเป็นยากินพื้นๆ ที่สามารถแก้ปวดและลดไข้ได้ทุกชนิดมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง

ยาแอสไพริน (ขนาด 300 มิลลิกรัม หรือเกรน 5)

แอสไพรินขนาด 1-2 เม็ดจะมีฤทธิ์แก้ปวดลดไข้ ถ้าต้องการให้มีฤทธิ์แก้อักเสบจะต้องให้ขนาดสูง คือ 80-90 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักกิโลกรัมต่อวัน แอสไพรินมีราคาถูกแต่มีปัญหาเรื่องการระคายกระเพาะหรือกัดกระเพาะ จึงต้องกินหลังอาหาร หรือดื่มน้ำตามมากๆ หรือตามด้วยยาลดกรด ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติของโรคกระเพาะ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ ก่อนสั่งยาแพทย์จึงต้องถามผู้ป่วยว่า เคยมีอาการจุกเสียดแน่นหน้าอกหรือเคยรักษาโรคกระเพาะมาก่อนหรือไม่ ขณะที่กินยา แพทย์ก็จะถามว่ามีอาการระคายกระเพาะจากยาแอสไพรินหรือไม่

ผู้ป่วยควรสังเกตสีของอุจจาระว่ามีสีดำเหมือนเฉาก๊วยหรือไม่ เนื่องจากในผู้ป่วยบางคนที่มีเลือดออกในกระเพาะจากยาอาจไม่มีอาการใดๆ นอกจากถ่ายอุจจาระดำ แต่ถ้าถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ ต้นสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากโรคริดสีดวง ซึ่งผู้ป่วยมักมีประวัติท้องผูก อุจจาระแข็ง นอกจากระคายกระเพาะแล้ว แอสไพรินยังทำให้เลือดแข็งตัวช้า การสั่งยาในผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังรอการผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวด ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ยกเว้นผู้ป่วยบางคน ที่มีการกดทับเส้นประสาทที่รุนแรง

ยาพาราเซตามอล

เป็นยาที่มีราคาถูก ใช้ง่าย ใช้แก้ปวดลดไข้เหมือนแอสไพริน แต่ไม่มีฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบ ขนาดที่ใช้ในเด็กให้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ ไม่มีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหาร แต่ต้องให้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือไต

ถ้าใช้เกินขนาดมากๆ เช่น ผู้ใหญ่ครั้งละ 10 กรัม (ขนาด 500 มิลลิกรัม 20 เม็ด) หรือเด็กครั้งละ 3 กรัม ก็อาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับทำงานไม่ได้ หรือตับวายได้ ดังนั้น ในเด็กไม่ควรใช้เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่ไม่ควรเกินวันละ 4 กรัม

ในท้องตลาดบ้านของเรามียาแก้ปวดรุ่นใหม่ๆ อีกหลายตัวทั้งในรูปยากิน ยาฉีด ยาอมใต้ลิ้น และยาผสม (ยาผสมเป็นยาผสมระหว่างยาแก้ปวด 2 ตัว เช่น พาราเซตามอลบวกกับแอสไพริน หรือยาแก้ปวดบวกกับยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น)

2. ยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสารสตีรอยด์ผสม (nonsteroidal anti-inflammatory drugs, nsaids)

การอักเสบมี 2 ชนิด คือ การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และการอักเสบที่มิใช่เกิดจากการติดเชื้อ (เช่น การอักเสบที่เกิดจากการเสื่อมของข้อต่างๆ การอักเสบที่เกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริกในโรคเกาต์) การอักเสบที่ทำให้เกิดอาการปวดในโรคปวดหลังเชื่อว่าเกิดจากการกดทับ หรือระคายเคียงของเส้นประสาททำให้เกิดอาการบวมแดงของเส้นประสาท

การให้ยาต้านอักเสบเป็นการรักษาที่ปลายเหตุและไม่แนะนำให้ใช้เป็นเวลานานๆ ควรหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุ และกำจัดสาเหตุ ยกเว้นในกรณีที่หาสาเหตุไม่พบจะต้องรักษาตามอาการโดยใช้ยาซึ่งมีหลายกลุ่มที่แพทย์ใช้

3. ยากลุ่มสตีรอยด์

มีทั้งรูปยากินและยาฉีด ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี แต่ควรให้ยาในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีผลข้างเคียงมากมายที่สำคัญ คือ การติดยา คนไข้ที่กินยากลุ่มนี้เป็นเวลานานจะรู้สึกสบายในระยะแรกๆ คือ กินอิ่มนอนหลับ ที่เคยปวดก็จะไม่ปวด แต่ยิ่งกินความต้านทานของร่างกายจะต่ำลง น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น เป็นลักษณะอ้วนฉุๆ หน้ากลมบวม เพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง วันไหนไม่ได้กินยาจะรู้สึกแย่มากๆ โดยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตามัว ต้องรีบหายามากิน

นอกจากอาการติดยาแล้ว สตีรอยด์ยังทำให้เกิดอาการระคายกระเพาะ แผลในกระเพาะ กระดูกกร่อน เบาหวาน อาการแสดงทางจิต ผู้ป่วยมีอาการเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ สูง หัวกระดูกบริเวณสะโพกเกิดภาวะขาดเลือด ทำให้กระดูกตาย เวลาเดินลงน้ำหนักจะปวด ต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม จึงจะหายปวด

ยาฉีดจำพวกสตีรอยด์ เป็นยาฉีดที่นิยมใช้ตามคลินิกทั่วไป แต่ไม่ควรฉีดบ่อยเนื่องจากการฉีดยาเฉพาะที่ตรงตำแหน่งที่ปวดหลายๆ ครั้งซ้ำกันโดยไม่มีข้อบ่งชี้เหมาะสม อาจทำให้เอ็นหรือกล้ามเนื้อที่ถูกฉีดยาเปื่อยยุ่ยง่าย ยิ่งถ้าฉีดเข้าข้อบ่อยๆ ก็จะทำให้ข้อต่อเสื่อมเร็ว พังเร็วขึ้น

ในโรคปวดหลัง ควรใช้ยากลุ่มนี้เป็นทางเลือกที่ 2 หรือหลังจากใช้ยาแก้ปวดยาต้านอักเสบไม่ได้ผลแล้ว และควรห้าเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ควรสั่งยาในผู้ป่วยที่มีประวัติของโรคกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ในปัจจุบันยาที่ชาวบ้านชอบ คือ ยาลูกกลอน (ที่มีสารสตีรอยด์เจือปน) ส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำถึงสรรพคุณของยา คือ ผอมก็กินได้ อ้วนก็กินได้ สามารถรักษาอาการปวดได้ทุกชนิด กินนานๆ เข้าก็มีอาการข้างเคียงของยาสตีรอยด์ดังกล่าวข้างต้น ถึงตอนนี้กลายเป็นว่าโรคเดิมก็ยังไม่หายแต่ต้องมารักษาโรคติดยาอีกโรคหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะหยุดยาได้

4. ยาคลายกล้ามเนื้อ

การให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ยาจะทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และอาจทำให้เกิดการง่วงซึมร่วมด้วย การกินยานี้ต้องกินด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในคนที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือคนขับรถ

5. ยาแก้ซึมเศร้า (antidepressants)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปวดหลังเรื้อรังมักมีความไม่แน่ใจในโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ เนื่องจากรักษามานานแล้วแต่ไม่หายเสียที เริ่มมีความกังวล เครียด บาครั้งอาจมีอาการเศร้าซึม นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นั่งหรือนอนร้องไห้คนเดียว ยิ่งถ้าเคยได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคปวดหลังหลายครั้งแต่ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากจำนวนแผลผ่าตัดที่เพิ่มขึ้น

การให้ยาซึมเศร้าจะมีความสำเร็จในระดับหนึ่ง อาการมักจะดีขึ้นหลังจากให้ยาประมาณ 10-14 วัน ไม่ควรให้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดชนิดเฉียบพลัน และต้องสั่งให้ด้วยความระมัดระวังในคนสูงอายุ ถ้าหลงลืมกินยาเกินขนาดอาจทำให้หลับไม่ตื่นได้

  • การฉีดยา

การฉีดยาเฉพาะตรงตำแหน่งที่เจ็บหรือปวด เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง ยาที่ฉีด คือ สตีรอยด์ผสมกับยาชาไซโลเคน (xylocaine) มักจะได้ผลในกรณีที่มีจุดกดเจ็บเล็กๆ เพียงจุดเดียว การฉีดยาเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ การฉีดยาเพียงหวังผลในการลดความทรมานจากความเจ็บปวดเพื่อความราบรื่นในการสืบหาสาเหตุของโรคปวดหลังต่อไป

บางครั้งการฉีดยาก็อาจจะทราบตำแหน่งคร่าวๆ ของเหตุแห่งความเจ็บปวดได้ แต่แพทย์ผู้ฉีดต้องมีความรู้ความเข้าใจในกายวิภาคของตำแหน่งที่ฉีดอย่างละเอียด ยกตัวอย่าง คือ ถ้าฉีดยาเข้าไปในข้อ แล้วอาการปวดหายไป ก็แสดงว่า ข้อนั้นๆ น่าจะเป็นต้นเหตุของอาการปวดหลัง เป็นต้น การเลือกวิธีการฉีดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อที่จะทำการศึกษาหาสาเหตุแห่งปวดหลังต่อไป จึงไม่ควรฉีดยาหรือฉีดซ้ำที่ การฉีดยามีผลสำเร็จค่อนข้างจำกัด ผู้ป่วยไม่ควรหลงงมงายกับวิธีการรักษาแบบนี้ และแพทย์ผู้รักษาก็ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเพียงเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากคนไข้แบบฉีดยาไปวันๆ โดยไม่พยายามหาสาเหตุและแก้เหตุแห่งความเจ็บปวดนั้นๆ

การบริหารกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบดบังความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบได้ สังเกตจากคนที่มีมัดกล้ามเนื้อใหญ่มักมีความแข็งแกร่งและทนทานสูงกว่าคนที่ผอมบาง ดังนั้นการบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องให้แข็งแรงเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญเพื่อลดความเจ็บปวด และยังสามารถป้องกันโรคปวดหลังได้อีกด้วย แต่การที่จะได้มาซึ่งกล้ามเนื้อที่แข็งแรงนั้นจะต้องลงทุนลงแรงบ้าง ที่สำคัญ คือ ต้องบริหารให้ถูกวิธีสม่ำเสมอเพื่อหวังผลระยะยาว

การบริหารต้องใช้เวลาและอาจมิเห็นผลทันทีทันใด ผู้บริหารต้องมีความอดทน และที่สำคัญ คือ ต้องบริหารให้ถูกวิธี คนไข้บางคนยิ่งบริหารยิ่งมีอาการปวดหลังมากขึ้น เพราะไปจำคนอื่นมาเห็นคนอื่นบริหารก็บริหารตาม ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ถ้าบริหารถูกหลักแล้ว อาการปวดต้องดีขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องจากท่าบริหารมีมากมายหลายท่าหลายตำรา จึงต้องลองบริหารออกกำลังกายไปก่อนเพื่อทดสอบว่าท่าบริหารนั้นๆ เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ ยิ่งถ้าไปปรึกษาแพทย์หลายคนแล้วได้ท่าบริหารมาหลายท่าไม่เหมือนกันเลย ก็อาจต้องลองบริหารมดลองเป็นท่าๆ ไปก่อนทีละท่า เพื่อวัดผลเปรียบเทียบกัน

หลักการบริหารมีจุดประสงค์เพื่อ

(1) เพิ่มขีดความสามารถการเคลื่อนไหวของข้อต่อ

(2) ยืดเอ็นที่หดยึด และ

(3) เพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อ

วิธีการบริหารอาจทำได้ด้วยตัวเอง หรือใช้เครื่องมือในสถานออกกำลัง หรือในโรงยิม

การบริหารควรเริ่มต้นช้าๆ แต่สม่ำเสมออาจทีละน้อยครั้ง พอกล้ามเนื้อกำลังดีขึ้นแข็งแรง เพิ่มทีละน้อย
ควรเริ่มต้นทำ 5-10 ครั้ง ต่อจากนั้นค่อยๆ เพิ่มจำนวนครั้ง จนสามารถบริหารได้ประมาณ 10 นาที ทุกเช้า-เย็น และรักษาระดับการบริหารให้ได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง การบริหารอาจทำได้หลายท่าคือ ท่านอนหงาย ท่านอนคว่ำ ท่านอนตะแคง ท่ายืน
 

การบริหารในท่านอนหงาย

ท่าที่ 1 นอนหงาย งอเข่า ขณะงอเข่าฝ่าเท้าแตะพื้นจะทำให้แผ่นหลังแบนราบ ทำให้กล้ามเนื้อหลังได้พักเต็มที่ วางมือข้างหนึ่งใต้แผ่นหลัง (นอนทับมือ) เริ่มเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อกดทับมือ

ท่าที่ 2 นอนราบ งอเข่า 2 ข้างมาให้ชิดหน้าอก ใช้มือจับเข่าให้แนบหน้าอก จากนั้นเหยียดเข่าออกไป

ท่าที่ 3 นอนราบ งอเข่า ยกตัวขึ้นเพื่อให้มือและเข่า จากนั้นจึงค่อยๆ นอนราบให้หลังแนบพื้น ท่านี้คล้ายท่า sit-up

การงอเข่าจะช่วยผ่อนคลายแรงอัดที่เกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังส่วนเอวขณะที่ยกตัวขึ้น ในคนสูงอายุต้องบริหารท่านี้ด้วยความระมัดระวัง
 

การบริหารในท่านอนคว่ำ

ท่าที่ 1 นอนคว่ำมือและแขนเก็บไว้ข้างลำตัว หน้าหันไปข้างใดข้างหนึ่ง หายใจเข้าลึกๆ แล้วค่อยๆ ผ่อนออกช้าๆ ท่านี้จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งแข็งจากการอักเสบ

ท่าที่ 2 อาจทำต่อเนื่องจากท่าแรกหลังจากกล้ามเนื้อคลายตัวเต็มที่ ค่อยๆ ใช้แขนพยุงตัวขึ้นเพื่อให้หลังแอ่นตามรูป
 

การบริหารในท่านอนตะแคง

นอนตะแคงข้างค่อยๆ กางขาออกสลับคุกเข่า ควรบริหารโดยนอนสลับข้าง ตะแคงขวาก่อน แล้วจึงตะแคงซ้าย เป็นต้น
 

การบริหารท่ายืน

ท่าที่ 1 ยืนตัวตรงมือเท้าสะเอว ค่อยๆ แอ่นหลังทีละน้อย

ท่าที่ 2 ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง ใช้มือเท้ากำแพง ฝ่าเท้าแนบพื้น ค่อยๆ ออกกำลังยันข้อเท้า และข้อเข่า

การใช้เครื่องพยุงหลัง

เครื่องช่วยพยุงหลังสามารถจำกัด การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ลดความดันภายในช่องท้องและเพิ่มความมั่นคงต่อกระดูกสันหลัง การใช้เครื่องพยุงหลังเป็นเวลานานๆ โดยละเลยการบริหารกล้ามเนื้อหลังจะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังอ่อนแรงต้องใช้เครื่องช่วยพยุงหลังตลอดเวลา กลายเป็นว่าติดเครื่องช่วยพยุงหลังจนถอดออกไม่ได้ ถอดแล้วจะปวดหลัง ควรใส่เครื่องช่วยพยุงหลังในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังรุนแรง หรือเฉียบพลัน ถ้าอาการดีขึ้นก็ถอดออก ควรแนะนำให้คนไข้บริหารกล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังให้แข็งแรงเพื่อสร้างเป็นเครื่องช่วยพยุงหลุงของคนไข้เอง ซึ่งไม่ต้องซื้อ และไม่ต้องถอดเข้าถอดออก

กายภาพบำบัด (เวชศาสตร์ฟื้นฟู)

กายภาพบำบัด หมายถึง การใช้เครื่องมือต่างๆ มาบำบัดโรคปวดหลัง อาจเป็นความเย็น ความร้อน คลื่นเสียง เครื่องถ่วงหลังในช่วงที่เกิดอาการปวดหลังรุนแรง ภายหลังอาการบาดเจ็บจะมีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ ระบบไหลเวียนจะเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มีการอักเสบอย่างมากมาย การใช้ความเย็น เช่น น้ำแข็งประคบตรงตำแหน่งการอักเสบ จะช่วยลดความเจ็บปวด ลดจุดแดงออกและลดอาการบวม ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบ ความร้อนจากเครื่องอัลตราซาวนด์ หรือเครื่องไดอาเทอร์มีเป็นความร้อนลึกทำให้ปริมาณการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นตรงตำแหน่งที่เจ็บปวด

การถ่วงหลังเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม เรียกว่าถ้ากินยาแล้วไม่ดีขึ้นแพทย์ก็จะเพิ่มการรักษาโดยการถ่วงหลัง การถ่วงหลังมีหลักการเพื่อให้เกิดแรงถ่วงระหว่างกระดูกสันหลังโดยหวังว่าช่องระหว่างหมอนรองกระดูกสันหลังจะเพิ่มความร้อนสูงขึ้นจากการถ่วงหลัง หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนหลุดจากที่เดิมก็อาจเคลื่อนกลับเข้าที่เดิมได้

ในทางปฏิบัติการถ่วงหลังอาจได้ผลดีสำหรับบางคนเท่านั้น ผู้ป่วยบางคนหลังจากถ่วงหลังแล้วอาจมีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้น ต้องหยุดถ่วงโดยปริยาย ยิ่งในรายที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนทะลักหลุดจากที่เดิม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างทารุณ ต้องรีบผ่าตัดรักษา การถ่วงหลังจะทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ ทางกายภาพบำบัด สามารถประสบผลระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่จะได้ผลบ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดก็เป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองเงินทอง ทั้งยังอาจเป็นผลเสียและอันตรายต่อคนไข้

การรักษาโดยวิธีผ่าตัด

การผ่าตัดรักษามิใช่เป็นเลือกแรก แพทย์จะเลือกเป็นทางเลือกที่สองเสมอ กล่าวคือ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดหลังจากการล้มเหลวจากการรักษาแบบอนุรักษ์หรือวิธีไม่ผ่าตัด การผ่าตัดจึงต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ต้องทราบพยาธิสภาพหรือสาเหตุของอาการปวดหลังให้ได้

การรักษาวิธีผ่าตัดมีหลักการใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

1. ผ่าตัดเพื่อเอาสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออก เช่น ในกรณีหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือผ่าตัดเอาหนองหรือเศษกระดูกตายออก ในกรณีของการติดเชื้อ

2. ผ่าตัดเพิ่มเพื่อความมั่นคงของกระดูกสันหลัง ในกรณีของกระดูกสันหลังหักยุบหรือกระดูกสันหลังหักรวนไม่มั่นคงจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังครั้งก่อน หรือในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความไม่มั่นคงแต่กำเนิด

3. ผ่าตัดเพื่อเอาสิ่งกดทับออกร่วมกับยืดหรือตรึงกระดูกสันหลังให้มั่นคง

ถึงตอนนี้ อาการปวดหลังของคุณควรบรรเทาลงบ้างแล้ว ใช้วิธีไหนที่ได้ผลและเหมาะสมกับตัวเอง ก็อย่าลืมบอกต่อกับคนที่มีอาการปวดหลังบ้างนะครับ

ข้อมูลสื่อ

179-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 179
มีนาคม 2537
โรคน่ารู้
นพ.ธวัช ประสาทฤทธา