• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “บวม” ตอนที่ 1

การตรวจรักษาอาการ “บวม” ตอนที่ 1

อาการบวม หมายถึง อาการที่เนื้อหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งพองตัวขึ้นเนื่องจากมีน้ำคั่งอยู่ภายใน (น้ำในที่นี้หมายถึง น้ำเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำในร่างกายอื่นๆ)

น้ำที่คั่งอยู่ภายในนี้จะคั่งอยู่นอกเซลล์และนอกหลอดเลือด (ex-tracellular และ extravascular spaces) นั่นคือ น้ำเหล่านี้จะคั่งอยู่ระหว่างเซลล์ (intercellular และ interstitial space) นั่นเอง เมื่อน้ำคั่งอยู่ระหว่างเซลล์,จำนวนน้อยๆ เรามักมองไม่เห็นและไม่รู้ แต่เมื่อน้ำคั่งมากขึ้น อาการบวมจะเห็นได้ชัดขึ้นๆ จนอวัยวะที่บวมอาจจะขยายตัวเป็นหลายๆ เท่าของขนาดเดิม เช่น ในโรคเท้าช้าง (elephantiasis) เป็นต้น

การวินิจฉัย อาการบวมที่มองเห็นได้จะวินิจฉัยได้ง่าย แต่อาการบวมน้อยๆ ก็อาจวินิจฉัยได้จากความรู้สึกนั้นตึง เรียบ หรือนูนกว่าส่วนอื่นๆ ถ้าเป็นการบวมเฉพาะที่ ถ้าเป็นการบวมทั่วไปหรือบวมทั้งตัวที่เป็นน้อยๆ จะสังเกตได้จากน้ำหนักร่างกายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น 2-3 กิโลกรัมต่อวัน เมื่อตรวจพบอาการบวมแล้วก็ต้องตรวจดูว่า อาการบวมนั้นเป็นอาการบวมเฉพาะที่หรืออาการบวมทั่วไป

อาการบวมเฉพาะที่ (localized edema) หมายถึง อาการบวมที่เป็นแห่งเดียว หรือข้างเดียว เช่น บวมเฉพาะที่เท้าขวา เท้าซ้ายไม่บวม หรือบวมเฉพาะที่หน้าผาก ส่วนอื่นของหน้าไม่บวม เป็นต้น อาการบวมทั่วไป (generalized edema) หมายถึง อาการบวมทั้งตัวหรือบวมในหลายส่วน หรือบวมทั้ง 2 ข้าง หรือบวมในที่ต่ำ (ส่วนของร่างกายที่อยู่ต่ำสุด เช่น ถ้านอนหงายอยู่ ส่วนที่อยู่ต่ำสุด คือบริเวณก้นกบด้านหลัง แต่ถ้านั่งห้อยเท้า ส่วนที่ต่ำสุด คือ เท้า เป็นต้น)

เมื่อวินิจฉัยอาการบวมได้แล้วว่า บวมเฉพาะที่หรือบวมทั่วไป ก็ให้ตรวจดูต่อไปว่า ในบริเวณที่บวมนั้น กดบุ๋มหรือไม่ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงตรงบริเวณนั้น ด้วยแรงกดปานกลาง (ถ้าเจ็บให้กดเพียงเบาๆ) และกดไว้สักครู่ (5-10 วินาที หรือนับ 1 ถึง 10) แล้วปล่อยมือ ถ้าบริเวณนั้นเกิดเป็นรอยบุ๋มอยู่นานเกิน 15 วินาที (นับ 1 ถึง 15 ช้าๆ) ก็แสดงว่าเป็นอาการบวมกดบุ๋ม (pitting edema) ส่วนอีกชนิดหนึ่งก็เป็นอาการบวมกดไม่บุ๋ม (nonpitting edema)

เมื่อตรวจได้แล้วว่า เป็นอาการบวมเฉพาะที่หรือมั่วไป กดบุ๋มหรือกดไม่บุ๋มแล้ว ก็ต้องตรวจหาชนิดหรือสาเหตุของอาการบวมต่อไป เช่น อาการบวมเฉพาะที่ ชนิดและสาเหตุของอาการบวมเฉพาะที่มีมากมาย ที่พบบ่อยจะแยกตามประเภทของการบวมได้ ดังนี้

1. ประเภทกดบุ๋ม (localized pitting edema) เกิดได้จาก 4 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ

1.1 หลอดเลือดดำตีบตัน (venous obstruction) พบบ่อยที่ขา

1.2 การแพ้ (allergy และ hypersensitivity) จะเป็นส่วนใดของร่างกายก็ได้

1.3 การอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ นอกจากการแพ้ (non-allergix inflammation) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภยันตราย หรืออุบัติเหตุและการติดเชื้อ

1.4 การบวมทั่วไปที่เป็นน้อย (subcelinical genaralized)

ซึ่งแต่ละสาเหตุมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 หลอดเลือดดำตีบตัน (venous obstruction) พบบ่อยที่ขาโดยเฉพาะในคนที่มีหลอดเลือดขอดหรือหลอดเลือดดำขอด (varicose veins) ที่ขา ซึ่งเห็นเป็นเส้นสีเขียวม่วงบริเวณขาส่วนล่างโดยเฉพาะที่น่อง และเส้นสีเขียวม่วงเหล่านี้จะพองและคดเคี้ยวไปมา (ไม่เป็นเส้นตรง) โดยเฉพาะเมื่อยืนหรือนั่งห้อยขา

หลอดเลือดขอดหรือหลอดเลือดดำขอด จะเป็นสาเหตุให้เลือดในหลอดเลือดดำเหล่านั้นไหลเวียนได้ช้าลง และเกิดแข็งตัวเป็นก้อนอุดหลอดเลือดดำได้ง่าย เมื่อหลอดเลือดดำถูกอุด เลือดจะไหลกลับไม่สะดวก ทำให้เลือดขังอยู่ในส่วนปลาย และทำให้น้ำเลือดซึมออกนอกหลอดเลือด ทำให้ส่วนปลาย (ส่วนที่เลยออกไปจากจุดที่อุดตัน) เกิดอาการบวมขึ้น ถ้าหลอดเลือดดำที่ขาถูกอุด ขาส่วนล่างและเท้าข้างนั้นก็จะบวมขึ้นและกดบุ๋ม อาจจะกดเจ็บได้ถ้ามีการอักเสบ (ปวด บวม แดงและร้อน) ร่วมด้วย

บางคนไม่มีหลอดเลือดขอดแต่ถูกกระแทก หรือนั่งพับขา (พับเพียบ ขัดสมาธิ ไขว่ห้าง ฯลฯ) นานๆ ก็อาจทำให้หลอดเลือดดำที่ถูกทับหรือพับไว้เกิดการอุดตันได้ การอุดตันของหลอดเลือดดำ อาจะเกิดจากการให้น้ำเกลือ การฉีดยา หรือการใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดดำได้ เช่นเดียวกับภยันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดดำจากสาเหตุอื่นๆ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่งไปตรวจด้วยการสวนหัวใจ (ใส่สายผ่านหลอดเลือดดำตรงขาหนีบหัวใจ) เพื่อตรวจสภาพของหัวใจ ไม่พบอะไรผิดปกติ แต่เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว กลับเกิดอาการเจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ตรวจพบว่า หลอดเลือดดำที่ถูกใส่สายนั้น เกิดมีก้อนเลือดอุดตัน แล้วก้อนเลือดนั้นไหลเลื่อนเข้าสู่หัวใจ และไหลเลื่อนไปอุดหลอดเลือดปอด ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อยขึ้น หลอดเลือดดำในบริเวณอื่น เช่น ที่แขน ในช่องเชิงกราน หรือในช่องอก (ในทรวงอก) ก็อาจถูกอุดตันได้

ที่แขน มักเกิดจากภยันตรายต่อหลอดเลือดดำจากสาเหตุต่างๆ รวมทั้งการฉีดยา และการใส่สายคาไว้ในหลอดเลือดดำนานๆ เพื่อให้น้ำเกลือ หรือให้สารอาหารต่างๆ

ในช่องเชิงกราน (ใต้หรือต่ำกว่าท้องน้อย) มักพบในผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับการอักเสบของมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ หรือเป็นมะเร็งของอวัยวะเหล่านี้ ส่วนในผู้ชายพบน้อย ถ้าพบมักพบร่วมกับมะเร็วของต่อมลูกหมาก หรือลำไว้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในหรือใกล้เชิงกราน นอกจากนั้นการผ่าตัดในช่องเชิงกรานก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดดำในบริเวณนั้นอุดตันได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

ในช่องอก หลอดเลือดดำที่อุดตันมักพบบ่อยที่หลอดเลือดดำใหญ่บน (superior vena cava) ส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งปอดลุกลามไปกดหลอดเลือดนี้ และทำให้เกิดการอุดตันขึ้น ทำให้หน้าบวมแดง (หรือเป็นสีคล้ำม่วง) คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่งมากไม่เต้น และคนไข้จะมีอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลียและ/หรือกระสับกระส่าย ทุรนทุรายได้ด้วย

การตรวจรักษา ถ้าอาการบวมเป็นมาก และ/หรือเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดมาก ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) หอบเหนื่อย ทุรนทุราย หรืออาการรุนแรงอื่นๆ ควรให้การปฐมพยาบาลแบบคนไข้หนัก (ดูหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 64-65) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อมูลสื่อ

179-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 179
มีนาคม 2537
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์