• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรไทย กระแสโลกาภิวัฒน์

สมุนไพรไทย กระแสโลกาภิวัฒน์

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนผู้คนจะเริ่มให้ความสนใจกับยาสมุนไพรพื้นบ้านกันอย่างมาก โดยเฉพาะในร้าน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็มีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรประเภทต่าง ๆ ออกมาจำหน่าย เช่น ยาฟ้าทะลายโจร แก้ไข้เจ็บคอ ยาขมิ้นชัน แก้โรคกระเพาะอาหาร แชมพูสมุนไพรว่านหางจระเข้ อัญชัน ทองพันชั่ง รวมไปถึงชาสมุนไพรชงดื่ม เช่น รางจืด มะตูม ขิง ดอกคำฝอย เป็นต้น

หลายคนที่หันมาบริโภคอาหารและยาสมุนไพรก็เพราะค้นพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ และไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพมากนัก อีกทั้งราคาก็ถูกกว่ายาแผนปัจจุบันอย่างลิบลับทีเดียว แม้แต่หน่วยงานของรัฐฯ เช่น องค์การเภสัชกรรมก็ได้ริเริ่มผลิตยาจากสมุนไพรออกมาจำหน่ายเอง
ธุรกิจสมุนไพรพื้นบ้านไม่ใช่เฟื่องฟูเฉพาะแต่ในหมู่คนไทย ในต่างประเทศสมุนไพรก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมกันมาก ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการนำยาสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิต
ภัณฑ์อาหารและยาแผนปัจจุบัน (ที่จริงแล้วยาแผนปัจจุบันกว่าร้อยละ 40 ก็ผลิตมาจากยาสมุนไพรพื้นบ้านนั่นเอง เพียงแต่ได้ผ่านกระบวนการสกัดให้ได้สารออกฤทธิ์ที่มีความเข้มข้นสูงออกมาเป็นสาระสำคัญเพียง 1-2 ชนิด ในขณะที่พืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ๆ จะมีสารต่าง ๆ อยู่มาก)

ดังนั้น เราจึงมักพบว่ามีนักวิจัยจากต่างชาติ (โดยเฉพาะจากบริษัทยาและเครื่องสำอาง) ได้เดินทางเข้ามาศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยกันขนาดใหญ่ มีการกว้านซื้อสมุดข่อยใบลาน ที่เขียนเป็นตำรับยาพื้นบ้านเพื่อแปลเป็นภาษาต่างประเทศ มีการกว้านซื้อตัวยาสมุนไพรจากชาวบ้านเพื่อนำไปทดสอบสารออกฤทธิ์ หรือแม้แต่มีการจ้างนักวิจัยคนไทยให้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องต่างๆให้
หลายคนเคยนึกฝันว่า สังคมโลกาภิวัตน์คงจะต้องเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆภูมิปัญญาท้องถิ่นและวีถีชีวิตแบบดั้งเดิมคงต้องเสื่อมสลายไป เปิดทางให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ หลายคนมัวแต่หันไปหาวิทยาการตะวันตกว่าจะเป็นทางออกให้กับการพัฒนาประเทศ และมองข้ามองค์ความรู้ท้องถิ่นของเราเอง แต่ประเทศเจ้าแห่งวิทยาการเหล่านั้นกลับมาซุ่มค้นห้าสมุนไพรนั้น ที่บรรพชนเราได้สั่งสมต่อๆ กันมา เพื่อนำไปพัฒนาและประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายให้กับเราในราคาแพง ๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างเงียบ ๆ ก็คือ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ไปร่วมลงนามแต่ครั้งเมื่อการประชุมเอิร์ธสัมมิท ที่ประเทศบราซิลเมื่อ 2 ปีก่อน บัดนี้รัฐสภาไทยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้การรับรองต่ออนุสัญญาฯ ฉบับนี้ พร้อม ๆ กันกับการออกกฎหมายใหม่ ที่จะให้มีการคุ้มครองสิทธิ ทรัพย์สินทางปัญญาแก่สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์ทางด้านการเกษตร สัตว์ จุลินทรีย์ และพืชสมุนไพร ซึ่งหมายความว่าในอนาคต อาจมีผู้ขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากยาสมุนไพร เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท หรือของส่วนตัวได้ และเมื่อมีผู้ใดก็ตาม ที่ใช้สารสกัดจากยาสมุนไพรนั้น หรือใช้วิธีการสกัดยาสมุนไพรเช่นเดียวกัน ก็อาจถูกฟ้องร้องค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธ์ได้ (เช่นเดียวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เทปเพลง หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์) เมื่อนั้น สังคมไทยยุ่งเหยิงอลม่านอย่างแน่นอน เพราะคงมีการทะเลาะถกเถียงกันมากมายว่า ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยาสมุนไพรกันแน่
ถามให้ลึกลงไปว่า เป็นการเหมาะสมและสมควรแค่ไหนที่จะให้มีการจดลิขสิทธิ์ สมุนไพรและองค์ความรู้สมุนไพรเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวจองนักวิจัย เพราะที่จริงแล้ว นักวิจัยเกือบทั้งหมดก็ไปขโมยองค์ความรู้ต่าง ๆ มาจากชาวบ้านนั่นเอง

กล่าวคือ ถ้านักวิจัยกำลังศึกษาเรื่อง ยาสมุนไพรรักษาโรคเอดส์ สิ่งที่นักวิจัยเหล่านั้นใช้ในการหาสมุนไพรมารักษาโรคเอดส์ ก็คือ การไปค้นคว้าจากตำราสมุนไพรเก่า หรือสอบถามมาจากหมอยาพื้นบ้านว่ามีสมุนไพรใดบ้างที่สามารถรักษาอาการ “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” ได้บ้าง เมื่อได้ชื่อสมุนไพรพื้นบ้านแล้ว นักวิจัยเหล่านี้ก็จะต้องไปหาหมอยาสมุนไพรพื้นบ้านตามที่ต่าง ๆ เพื่อได้ช่วย “นำทาง” ไปเก็บสมุนไพรจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบกันดู เมื่อทดสอบแล้วปรากฏว่าได้ผลดี จึงนำสมุนไพรนั้นมาสกัดสารออกฤทธิ์ แล้วจึงนำไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง ซึ่งจะทำให้นักวิจัยนั้นสามารถขายสูตรยารักษาโรคเอดส์ให้กับบริษัทผลิตยาได้ในราคาแพง ๆ ส่วนหมอยาพื้นบ้านที่นักวิจัยไปขอความช่วยเหลือต่าง ๆ นานานั้น อย่างมากก็ได้ค่าเบี้ยเลี้ยงนิดหน่อย (ในฐานะที่ช่วยงานวิจัย) และความปลาบปลื้มใจที่ได้ช่วยนักวิชาการจากต่างประเทศ

จะเห็นว่าที่จริงแล้ว องค์ความรู้สมุนไพรทั้งมวลอยู่กับชุมชนท้องถิ่น นักวิจัยเพียงแต่เข้าไปเรียนรู้และดึงองค์ความรู้นั้นออกมานำเสนอ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ (ทางด้านชื่อเสียงและการเงินถ้ามีการนำความรู้นั้นไปจะทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา) ก็คือ นักวิชาการ ส่วนชุมชนนั้นแทบจะไม่ได้รับการชดเชยหรือผลตอบแทนแต่อย่างใด
ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังอาจดูเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเอง ก็เคยมีกรณีตัวอย่างสมุนไพรเปล้าน้อยที่บริษัทจากญี่ปุ่นเข้ามา“ขโมย” ความรู้เรื่องเปล้าน้อยจากหมอยาพื้นบ้านแล้วนำไปจดทะเบียนลิทธิบัตรคุ้มครองสารสกัด “เปลาโนทอล” สำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหาร จนเป็นยาขายดีมูลค่าปีละหลายพันล้านบาททีเดียว

สมุนไพรไทยในยุคโลกาภิวัตน์จึงไม่ใช่แค่เครื่องการกลับไปหาภูมิปัญญาพื้นบ้านของบรรพบุรุษไทยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีและเอกราชของทรัพยากรของชาติเราตลอดจนโอกาสในทางเศรษฐกิจของประเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ(สมุนไพร) นี้เพื่อให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน จึงเป็นหน้าที่ของเราท่านทุกคน


 

ข้อมูลสื่อ

194-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 194
มิถุนายน 2538
วิฑูรย์ ปัญญากุล