• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 1)

วูบ (ตอนที่ 1)

 

 

 เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์ มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อน หรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้ มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป 


“วูบ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายว่า เป็นคำกริยา แปลว่า “ลูกโพลงแล้วดับไปทันที มีลักษณะที่ไปเร็วมาเร็ว”

ส่วน “วูบวาบ” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า “ระยับตา เป็นอาการของแสงหรือเงามันที่ปรากฏแล้วหายลับไปทันทีทันใดต่อเนื่องกัน”

แต่ “วูบ” ในที่นี้หมายถึง อาการไม่สบายอย่างหนึ่ง ( ที่ไม่มีในพจนานุกรมฉบับนั้น ) โดยเป็นคำที่ชาวบ้านใช้บอกเล่าอาการของตน หรือของคนอื่น ให้ หมายถึง อาการ “หน้ามืดเป็นลม หมดสติ (ล้มลง ฟุบลง) หลับไป หลง(เลอะเลือน) ไป หรืออื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด หรือเกือบจะทันทีทันใด และเป็นอยู่ไม่นาน แล้วก็หาย(กลับเป็นปกติ)”

อาการ “วูบ” ที่โด่งดังและเป็นที่โจษจันกันมากเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน ตอนที่ “เขาค้อ” ขึ้นชกป้องกันแชมป์โลก ขณะชกไปได้ไม่เท่าไร อยู่ดี ๆ ก็ “วูบ” หมดสติ ล้มลงไปนอนคาเวที ทั้งที่ไม่ได้โดนหมัดคู่ต่อสู้เลย แต่ก็ถูกนับสิบ และแพ้ไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน (เคราะห์ดีที่ไม่มีใครหาว่า “ล้มมวย” ไม่อย่าง นั้นคงจะเสียชื่อมากกว่านี้)
สิ่งละอันพันละน้อย จะได้นำตัวอย่างผู้ป่วย( คนไข้ )ที่มีอาการ “วูบ” มาแสดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างของอาการและสาเหตุของสิ่งที่คนไข้ชอบใช้คำว่า “วูบ” และการรักษาพยาบาล อาการ “วูบ” นั้น
 

คนไข้รายที่ 1 เป็นคนไข้ที่ถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์(โรงเรียนที่สอนนักเรียนแพทย์ แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านคือแพทย์ที่เข้ามาฝึกอบรม เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง)
ในโรงเรียนแพทย์ นักเรียนแพทย์ แพทย์ฝึกหัด หรือแพทย์ประจำบ้าน มักจะเป็นผู้ที่ตรวจรักษาคนไข้ที่รับไว้ในโรงพยาบาลก่อน แล้วจึงปรึกษาหรือให้อาจารย์แพทย์ตรวจสอบและยืนยันการตรวจรักษาของตนในโอกาสต่อมา

แพทย์ :อาจารย์ครับ มีคนไข้คนหนึ่งมาอยู่โรงพยาบาลหลายวันแล้วครับ อาจารย์ทางระบบประสาทวิทยาสงสัยว่า หลอดเลือดสมองอาจถูกอุดตันด้วยก้อนเลือดที่หลุดมาจากหัวใจ จึงขอปรึกษาให้อาจารย์ช่วยดูคนไข้ด้วยครับ”
อาจารย์ :เอาสิ คนไข้อยู่เตียงไหนล่ะ”

แพทย์ประจำบ้านพาอาจารย์เดินไปที่เตียงคนไข้
แพทย์ :
คุณไสวครับ ผมพาอาจารย์ทางโรคหัวใจมาดูคุณหน่อยนะครับ เพื่อช่วยหาสาเหตุของอาการวูบของคุณ”
คนไข้ : “สวัสดีครับ”

อาจารย์ :สวัสดีครับ เดี๋ยวคุณหมอเขาจะเล่าเรื่องของคุณให้หมอฟังก่อน ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง คุณช่วยแก้ไขด้วยนะครับ”
คนไข้ : ครับ”

แพทย์ :คนไข้เป็นชายไทย อายุ 40 ปี เป็นครู อยู่ในกรุงเทพฯ มาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญว่ามีอาการวูบ และหมดสติล้มฟุบลง เป็นมา 4 ครั้ง ในระยะ 2 วันก่อนมาโรงพยาบาล

“เมื่อคนไข้มาถึงห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ตรวจพบว่าคนไข้ไม่ค่อยรู้สึกตัว ตากระตุกไปมา ไม่มีอาการชักหรืออาการกระตุกของกล้ามเนื้อส่วนอื่น ตรวจอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรผิดปกติชัดเจน
“หลังให้น้ำเกลืออยู่หลายชั่วโมง คนไข้ก็รู้สึกตัว และใช้แขนขาได้ตามปกติ แต่ยังอ่อนเพลีย และแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินสงสัยหลอดเลือดในสมองอุดตัน จึงรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
“หลังรับไว้ในโรงพยาบาล ได้ตรวจเพิ่มเติมหลายอย่าง พบว่าคนไข้ซีดเล็กน้อย แต่ผลการตรวจอื่น ๆ ปกติหมด รวมทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และคลื่นแม่เหล็กสะท้อน (MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging) ของสมองด้วย
“แต่อาจารย์ทางระบบประสาทวิทยายังสงสัยว่า อาจจะมีก้อนเลือดเล็ก ๆ หลุดจากหัวใจไปอุดหลอดเลือดที่ก้านสมอง ( brain stem )จนทำให้คนไข้มีอาการวูบ จึงขอปรึกษาอาจารย์ช่วยดูคนไข้ และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ( echocardiography ) ให้ด้วย”

อาจารย์ : คุณไสวครับ ที่คุณหมอเขาเล่าอาการของคุณให้หมอฟังนั้น ถูกต้องมั้ยครับ”
คนไข้ :ถูกต้องครับ”

อาจารย์ :เวลาที่คุณรู้สึกวูบเป็นอย่างไร ลองเล่าให้หมอฟังอีกทีครับ”
คนไข้ :เวลารู้สึกวูบ มันรู้สึกอ่อนแรง แล้วค่อย ๆ ล้มฟุบลงครับ”

อาจารย์ : ขณะที่อ่อนแรงแล้วล้มฟุบลง คุณรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า และเมื่อวูบแล้วตื่นขึ้นมามีรอยฟกช้ำดำเขียว ปัสสาวะอุจจาระราดหรือเปล่าครับ”
คนไข้ :ผมรู้สึกตัวตลอดเวลาครับ จึงพยายามไมให้ล้มฟาด จึงไม่เจ็บตัว และไม่มีอุจจาระปัสสาวะราดครับ หลังนอนฟุบกับพื้น 3-4 นาที ก็รู้สึกมีแรงขึ้น และลุกขึ้นนั่งได้ไหมครับ แต่ถ้าลุกขึ้นเดินก็จะเกิดอาการวูบใหม่ ต้องนอนพักนาน ๆ จึงจะหายดีครับ”

อาจารย์ : ก่อนที่คุณจะรู้สึกวูบ คุณกำลังอยู่ในท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน หรือกำลังทำอะไรอยู่ครับ”
คนไข้ :อยู่ในท่ายืนครับ ยืนชมวิวบ้าง ยืนคุยกับเพื่อนหรือญาติบ้าง แล้วก็รู้สึกวูบขึ้นมาครับ”

อาจารย์ : ก่อนหรือหลังวูบ คุณมีอาการเห็นแสงระยิบระยับ มีอาการแขนขากระตุก ใจเต้นใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอะไรอื่นบ้างมั้ยครับ”
คนไข้ :ไม่มีครับ”

อาจารย์ :หมอ ประวัติที่หมอเล่าให้ผมฟังกับประวัติที่คนไข้เล่าให้ผมฟังผิดกันมาก จากประวัติที่คนไข้เล่านี้หมอคิดว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคอะไร”
แพทย์ : “พวกเราเห็นว่าน่าจะเป็นโรคก้านสมองขาดเลือดครับ”

อาจารย์ :ก้านสมองขาดเลือด จะเกิดในท่ายืนทุกครั้งเลยหรือ”
แพทย์ : อึกอัก ๆ แล้วตอบว่า “ไม่ครับ เกิดในท่าไหนก็ได้”
อาจารย์ : “คนไข้ที่เกิดอาการวูบในท่ายืน นอนแล้วหาย เมื่อยืนขึ้นมาใหม่ก็เป็นใหม่ หมอควรจะนึกถึงโรคอะไร”

แพทย์ : “ควรนึกถึงภาวะ ‘ความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า’ ( postural hypotension ) ครับ”
อาจารย์ :แล้วทำไมในรายนี้ หมอจึงไม่คิดถึงภาวะนี้ หมอตรวจความดันเลือดท่านอนและท่ายืนในขณะที่คนไข้มีอาการด้วยหรือเปล่า”
แพทย์ : เปล่าครับ เพราะไม่ได้นึกถึงภาวะนี้ และคิดถึงแต่โรคก้านสมองขาดเลือดเท่านั้น เพราะเห็นตาของคนไข้กระตุกไปมาตอนที่มาห้องฉุกเฉิน และคนไข้ไม่ค่อยรู้สึกตัวอยู่หลายชั่วโมงครับ แล้วตอนนั้นก็ซักประวัติละเอียดไม่ได้ด้วยครับ เพราะคนไข้ไม่ค่อยรู้สึกตัวครับ”

อาจารย์ :แล้วตอนคนไข้รู้สึกตัวดีแล้ว ทำไมไม่ซักประวัติใหม่ คุณไสวครับ ตอนที่คุณไสวมาโรงพยาบาลมาอย่างไร และรู้สึกตัวอยู่มั้ย”
คนไข้ : “ตอนผมนั่งรถแท็กซี่มาโรงพยาบาล ผมรู้ตัวครับ แต่เพลียมาก ญาติต้องนั่งขนาบไม่ให้ล้ม พอมาถึงโรงพยาบาล ขณะหมอมาตรวจก็ยังพอรู้ตัวครับ แต่หลังจากนั้นก็จำอะไรไม่ได้ มารู้ตัวอีกทีก็มีสายน้ำเกลือและสายโน่นสายนี่พะรุงพะรังไปหมดครับ”

อาจารย์ : “แล้วหลังรู้สึกตัว คุณมีอาการวูบอีกมั้ยครับ”
คนไข้ :ไม่มีครับ แต่ผมนอนในเตียงตลอด เพราะให้น้ำเกลืออยู่ 2-3 วัน ไม่ได้ยืนและเดินไปไหน และหลังจากให้น้ำเกลือ 2-3 วันแล้ว เวลายืนหรือเดินไปไหน ก็ไม่มีอาการครับ”

อาจารย์ :คุณเคยวูบแบบนี้มาก่อนการเจ็บป่วยคราวนี้มั้ย”
คนไข้ :ไม่มีครับ”

อาจารย์ :ก่อนการเจ็บป่วยคราวนี้ คุณมีอาการผิดปกติอะไรนำมาก่อนหรือไม่ หรือรู้สึกปกติดี”
คนไข้ : “ก่อนที่จะมีอาการวูบ ผมถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนเฉาก๊วยอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ครับ แต่ผมคิดว่าผมคงกินอาหารพวกเลือดหมูเข้าไป อุจจาระจึงเป็นสีดำ เพราะผมไม่รู้สึกผิดปกติอะไร จึงไม่ได้ไปตรวจ”

อาจารย์ : “หมอคงเห็นแล้วว่า อาการวูบของคนไข้เกิดขึ้นหลังจากคนไข้มีเลือดออกในกระเพาะลำไส้ จนอุจจาระดำอยู่  2 สัปดาห์
“เมื่อคนไข้เสียเลือดไปมากจนถึงจุด ๆ หนึ่ง ความดันเลือดจะตกลงอย่างมากเมื่อเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน แม้ความดันเลือดในท่านอนจะปกติ (ถ้าเลือดออกมากกว่านี้ ความดันเลือดในท่านอนจึงจะตกด้วย)
“ดังนั้น ถ้าหมอไม่วัดความดันเลือดในท่านั่งหรือท่ายืน หมอก็จะไม่สามารถวินิจฉัย ‘ภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า’ ได้ เมื่อความดันเลือดตกเลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่พอ คนไข้ก็จะเกิดอาการวูบ ถ้านั่งหรือยืนอยู่ ก็จะล้มลงหรือฟุบลง

การล้มลงหรือฟุบลง เป็นการช่วยเหลือตนเองตามธรรมชาติ เพื่อให้ศีรษะต่ำลง เลือดจะได้ไหลไปเลี้ยงสมองได้ง่ายขึ้น แล้วคนไข้ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาใหม่
“ถ้าคนใกล้ชิดไม่เข้าใจ เห็นคนไข้ล้มนอนลงกับพื้น กลัวคนไข้จะเปื้อนหรือหายใจไม่สะดวก จับคนไข้ลุกขึ้นนั่งหรือพยุงไว้ให้ศีรษะสูงขึ้นจากพื้น เช่น ให้นอนพาดตัก หรืออื่น ๆ เลือดจะไปเลี้ยงสมองได้ยากกว่าท่านอนราบหรือท่านอนหัวต่ำกว่าลำตัว ทำให้คนไข้หมดสตินานออกไปอีก ซึ่งอาจทำให้สมองขาดเลือดนานจนทำให้ชัก เกร็ง กระตุก หรืออื่น ๆ จนทำให้หมอวินิจฉัยผิดคิดว่าเป็นโรคสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดถูกอุดตันได้

“คนไข้รายนี้ขณะมาในแท็กซี่ ถ้านอนมาคงจะไม่มีอาการมาก แต่ถูกญาติขนาบไว้ 2 ข้างเพื่อนั่งอยู่ได้ เลือดจึงไปเลี้ยงสมองน้อยลงกว่าท่านอน พอนั่งมาถึงโรงพยาบาลสมองขาดเลือดนานไปหน่อย จึงใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะรู้สึกตัวขึ้นมา
“เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว ไม่มีความผิดปกติใด ๆ ทางสมองเหลืออยู่แสดงว่าไม่น่าจะใช่ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก
“การส่งไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และคลื่นแม่เหล็กสะท้อนจึงเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ ที่ตรวจจะตรวจคือ หาสาเหตุของการตกเลือดในกระเพาะลำไส้ หมอตรวจหาหรือเปล่า”

แพทย์ : ตรวจครับส่องกล้องตรวจพบแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นครับ ตกลงอาจารย์จะตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจให้หรือเปล่าครับ”
อาจารย์ :หมอจะตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเพื่อดูอะไรอีกล่ะเสียเงินเปล่า ๆ”

คนไข้ : ไม่เป็นไรครับ ผมเป็นข้าราชการ ผมเบิกได้หมดครับ”
อาจารย์ : ถึงคุณเบิกได้หมด แต่ก็ต้องมีคนออกเงินให้คุณ เงินหลวงก็คือเงินภาษีอากรของพวกเราทุกคนรวมทั้งของคุณด้วย
“ยิ่งกว่านั้นการตรวจพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้ ประเทศของเรายังผลิตอุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เอง เงินเหล่านี้จึงต้องเสียไปให้แก่ต่างประเทศ และมันเป็นการเสียเปล่า เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่เป็นประโยชน์แก่คุณหรือแก่สังคมเลย มันเป็นการดำน้ำพริกละลายแม่น้ำเท่านั้น
“ที่คุณได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และคลื่นแม่เหล็กสะท้อน ก็เสียค่าใช้จ่ายไปเปล่า ๆ เป็นหมื่น ๆ บาทแล้ว โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แถมคุณยังต้องทนทรมานไปนอนนิ่ง ๆ กระดุกกระดิกไม่ได้ และยังมีเสียงเครื่อง (MRI) ดังปัง ๆ ๆ รบกวนโสดประสาทอยู่เป็นชั่วโมง ๆ โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรคืนมาเลย คุณคิดว่ามันคุ้มหรือ”

คนไข้ : “ขอบคุณครับ ถ้าอาจารย์คิดว่าไม่จำเป็นผลก็ไม่ทำครับ แต่ทำไมอาจารย์ท่านอื่นถึงคิดว่าจำเป็นล่ะครับ”
อาจารย์ :ในทางการแพทย์ หรือในวิชาชีพอื่นๆ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนย่อมแตกต่างกันได้
“อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณ อาจารย์คนที่มีความเห็นว่าหลอดเลือดสมองของคุณถูกอุดตัน อาจเป็นเพราะเขาฟังประวัติหรือเรื่องราวของคุณตามที่แพทย์ประจำบ้านเล่าให้ฟังและเขาไม่ได้ซักถามคุณเอง เขาจึงเข้าใจผิดและคิดถึงโรคตามที่แพทย์ประจำบ้านคิดและวินิจฉัยไว้”

คนไข้ : ครับอาจารย์ หมอคนอื่น ๆ ไม่เห็นถามอาการผมเหมือนที่อาจารย์ถาม เขามัวไปถามเรื่องอื่น ๆ ผมก็เลยไม่มีโอกาสเล่ารายละเอียดของอาการวูบให้เขาฟัง”
อาจารย์ : บางครั้งอาจารย์เขาเชื่อลูกศูนย์มากเกินไป ไม่ซักประวัติเอง ไม่ตรวจร่างกายเอง ก็อาจโดนลูกศิษย์พาเข้ารกเข้าพงได้ง่าย

ประวัติอาการของคนไข้มีความสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยและติดตามการดำเนินโรค การซักประวัติที่ผิดพลาดหรือซักไม่มีเช่นในกรณีของคุณ ที่คุณไม่ค่อยรู้สึกตัวตอนมาโรงพยาบาล ทำให้ได้ประวัติที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้การตรวจรักษาผิดทางได้ง่าย โชคดีที่โรคของคุณเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง จึงไม่เกิดอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ“

คนไข้ :
แล้วผมจะหายขาดมั้ยครับ และจะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ครับ”
อาจารย์ :เท่าที่ผมทราบจากหมอที่ดูแลคุณอยู่ ขณะนี้คุณมีอยู่โรคเดียว คือ แผลในลำไส้เล็กส่วนต้นที่ตกเลือด และเป็นสาเหตุของอาการวูบของคุณในเวลาต่อมา
“โรคแผลในกระเพาะลำไส้เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าคุณกินยาเป็นประจำ ประมาณ 3-6 เดือน และระวังอย่าให้เครียด และอย่าไปกินยาแก้ปวดที่ระคายกระเพาะลำไส้ เช่น ยาจำพวกแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อปวดกระดูก หรือยาชุดที่ขายกันอยู่ทั่วไปอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารหรือของที่ระคายกระเพาะลำไส้ เช่น พริกน้ำส้ม ของเผ็ดจัด สุรา ยาดอง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องอย่าเครียดกังวลมากเกินไป เพราะความเครียดกังวลจะทำให้กรดในกระเพาะมาก ทำให้แผลหายช้า หรือทำให้เกิดแผลในกระเพาะลำไส้ได้
“ส่วนคุณจะกลับบ้านได้เมื่อไร คงต้องถามแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้ของคุณครับ เพราะเขาเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาคุณโดยตรง ส่วนผมเป็นเพียงแพทย์ที่ปรึกษาเท่านั้น”

                                                                                                                           (อ่านต่อฉบับหน้า )


ข้อมูลสื่อ

195-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 195
กรกฎาคม 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์