• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการปวดท้อง (ต่อ)

5. ประเภทที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลัง : หมายถึง อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นเนื่องจากการออกกำลังกาย เช่น การบริหารหน้าท้อง การขุดดิน การก้มๆเงยๆ (ซึ่งมักจะทำให้ปวดหลังด้วย) การหัวเราะมากๆ (จนท้องคัดท้องแข็ง) การไอหรือจามรุนแรง (ซึ่งมักจะทำให้เจ็บชายโครงและหน้าอกด้วย) การอาเจียนรุนแรง เป็นต้น

อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นในกรณีเหล่านี้อาจเกิดจาก
5.1 การปวดที่กล้ามเนื้อหน้าท้องและข้างท้อง (สีข้าง) มักเกิดในกรณีที่ไอรุนแรง หรือจามรุนแรง อาจจะเป็นการปวดที่กระดูกและข้อได้ด้วย เช่น กระดูกซี่โครงหัก ข้อหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปกดเส้นประสาททำให้ปวดหลังหรือปวดขา เป็นต้น

เมื่อตรวจบริเวณที่เจ็บจะพบว่าบริเวณนั้นจะกดเจ็บและเมื่อเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนั้นก็จะเจ็บ เช่น
ถ้าบริเวณหน้าท้องเจ็บ ให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วพยายามผงกศีรษะขึ้นหรือพยายามลุกขึ้น อาการที่เจ็บที่หน้าท้องจะเป็นมากขึ้น

ถ้าบริเวณสีข้างหรือชายโครงเจ็บ การบิดตัวหรือเอี้ยวตัวจะทำให้เจ็บมากขึ้น รักษาได้โดยให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆ อย่าเคลื่อนไหวหรือเกร็งส่วนที่เจ็บบ่อย ถ้าปวดมากให้ใช้ของร้อนประคบและกินยาแก้ปวดเช่น แอสไพรินหรือพาราเซตามอล จะดีขึ้นเองในเวลา 3-7 วัน

5.2 อาการตะคริว
ซึ่งเป็นการปวดที่กล้ามเนื้อเช่นเดียวกัน แต่เกิดอาการเป็นพักๆ เช่น ในกรณีที่หัวเราะจนท้องคัดท้องแข็ง ในคนที่สุขภาพเสื่อมโทรม เช่น เป็นโรคปอดเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ คนที่ขาดเกลือแร่อาจเกิดอาการตะคริวที่หน้าท้องเป็นครั้งคราวเวลาก้มๆเงยๆ หรือบิดตัวเอี้ยวตัว อาการตะคริวเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แล้วก็หายไป ผิดกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในข้อ 5.1 ที่เป็นอยู่หลายๆชั่วโมงหรือเป็นวันๆ

รักษาได้โดยบีบนวดส่วนที่เป็นตะคริวเบาๆ ให้กล้ามเนื้อที่เกร็งแข็งอยู่นิ่มลง อาการตะคริว(อาการกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง) จะหายไป แล้วอาการปวดก็จะหายไป คนที่เป็นตะคริวใหม่ๆให้กินเกลือ กล้วย ส้ม และนมเพิ่มขึ้น ถ้าสุขภาพทรุดโทรมควรตรวจหาและรักษาสาเหตุที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรมด้วย

5.3 อาการปวดจากการขาดเลือด
ในคนสูงอายุ คนที่มีความดันเลือดสูง คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการปวด จุก หรือแน่นที่ท้องส่วนบนในขณะหรือหลังจากออกกำลังทันที อาจจะเป็นอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักจะร่วมด้วยอาการแน่น อึดอัด หายใจไม่สะดวก จนต้องหยุดออกกำลังและนั่งพักสักครู่แล้วจึงจะดีขึ้น

จะรู้ว่าเป็นอาการปวดท้องจากภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ได้แน่นอนขึ้น โดยให้อมยาใต้ลิ้นไนโตรกลีเซอรีน 1 เม็ด ถ้าอาการปวดท้องหายไปใน 2-3 นาที ก็น่าจะเป็นอาการปวดท้องจากหัวใจขาดเลือด ควรให้พกยาอมใต้ลิ้นไนโตรกลีเซอรีน ติดตัวไว้และให้อมทุกครั้งที่มีอาการปวด จุก แน่นบริเวณอก ท้อง หรือคอ โดยเฉพาะในขณะออกกำลังหรือหลังออกกำลัง

บางครั้งอาการปวดท้องในขณะออกกำลังที่เกิดจากการขาดเลือด อาจเกิดจากการขาดเลือดในลำไส้ซึ่งมักเป็นในคนสูงอายุ คนที่มีความดันเลือดสูง คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่นเดียวกัน ถ้าลำไส้ขาดเลือดมาก จะเกิดอาการท้องเดิน อุจจาระเป็นเลือดและปวดท้องรุนแรงจนหน้าท้องแข็งเป็นกระดาน ซึ่งในกรณีเช่นนั้น ต้องทำการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายจากการขาดเลือดออก ในกรณีที่ลำไส้ขาดเลือดไม่มาก การอมยาไนโตรกลีเซอรีน และการกินอาหารครั้งละน้อยๆ และย่อยง่ายจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้

6. อาการปวดท้องอื่นๆ เช่น

6.1 มีพยาธิในลำไส้มาก โดยเฉพาะพยาธิไส้เดือน พบบ่อยในเด็ก ทำให้มีอาการปวดท้อง ทำให้เด็กร่างกายซูบผอม ร้องกวนบ่อย อาจพบพยาธิในอุจจาระหรือถ้านำอุจจาระไปตรวจจะพบไข่พยาธิ เป็นต้น
รักษาโดยให้ยา mebendazole (Fugacar) เม็ดละ 500 มิลลิกรัม (25 บาท) กิน 1 เม็ด ครั้งเดียว หรือ albendazole (Zentel) กิน 2 เม็ดครั้งเดียว (25 บาท) ในเด็กลดลงตามส่วน

6.2 มีลมในท้องมาก ทำให้แน่นท้อง เรอบ่อย ผายลมบ่อย
ส่วนมากจะเกิดในคนที่มีเรื่องห่วงกังวลหรือเครียดมาก หรือในคนที่พูดมาก พูดไม่หยุด ทำให้กลืนลมเข้าไปในกระเพาะลำไส้บ่อยๆ โดยไม่รู้สึกตัว (ลมถูกกลืนลงไปในขณะที่กลืนน้ำลาย) จึงมักจะแน่นท้องในตอนบ่าย ตอนเย็น หรือตอนค่ำ อาจทำให้ปวดท้องมากๆได้ แต่เมื่อได้เรอหรือผายลมแล้วอาการจะดีขึ้น

ป้องกันได้โดยให้จิบน้ำบ่อยๆ (ทุก 10-15 นาที) ให้พูดน้อยลง และออกกำลังเพิ่มขึ้นเพื่อลดความเครียด ความห่วงกังวลลง ถ้าไม่ดีขึ้นอาจให้ยาไดอะซีแพม เม็ดละ 2 หรือ 5 มิลลิกรัม กินครั้งละครึ่งเม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น และอาจให้ยาลดกรดควบไปด้วยเช่นเดียวกับการรักษาโรคกระเพาะ (ดูเรื่องการปวดท้องที่เกี่ยวกับการกินอาหารในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 94)

ในขณะที่ปวด รักษาได้โดยดื่มน้ำร้อนๆ หรือน้ำขิงร้อนๆ หรือเอากระเป๋าน้ำร้อนวางบนหน้าท้อง นอนพัก พอเรอหรือผายลมแล้วจะดีขึ้น

6.3 เครียดขึ้นมาทันที
ทำให้มีอาการจุกเสียดบริเวณท้องด้านบนหรือทั่วๆไป เกิดจากการหดเกร็งของลำไส้ มักเกิดร่วมกับภาวะมีลมในท้องมาก (ข้อ 6.2) รักษาและป้องกันได้โดยวิธีเดียวกัน

6.4 เป็นโรคในส่วนอื่นแล้วปวดร้าวมาที่ท้อง เช่น

6.4.1 โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบที่ปอดกลีบขวาล่าง อาจจะมาหาหมอด้วยเรื่องอาการปวดท้องด้านขวาหรือปวดท้องทั่วไปในระยะแรกและคนไข้มีไข้ด้วย อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ หรือโรคในช่องท้องได้ จึงต้องสังเกตและตรวจร่างกายผู้ป่วยให้ละเอียด จะพบว่าปอดบวมหรือปอดอักเสบถ้าไม่แน่ใจควรส่งตรวจเอกซเรย์ปอด และ/หรือรอดูอาการก่อนส่งผู้ป่วยไปผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ มิฉะนั้นผู้ป่วยจะโดนผ่าตัดโดยไม่สมควร เพิ่มอันตรายต่อชีวิตขึ้นอย่างมาก

6.4.2 โรคหัวใจขาดเลือด อาจจะมาหาหมอด้วยอาการปวดท้องด้านบน หรืออาการจุกเสียดแน่นหลังกินอาหารอิ่มมาก ทำให้มีลักษณะคล้ายโรคกระเพาะเป็นแผลหรือมีกรดมาก หรือมีลมมากหรือมีอาการจุกเสียดหรือแน่นท้องขณะออกกำลัง (ข้อ 5)

อาการจุกเสียดแน่นท้องที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด มักจะเป็นเพียงชั่วครู่ (ไม่เกิน 15-20 นาที) และจะดีขึ้นหลังนั่งพักเงียบๆ ต่างกับอาการที่เกิดจากโรคกระเพาะที่มักเป็นนานกว่าครึ่งชั่วโมง ดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นเดินไปมาในกรณีที่กินอิ่มมากหรือมีลมในท้องมาก ในกรณีที่ไม่แน่ใจ ควรให้อมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ที่ใต้ลิ้น ถ้าอาการหายไปใน 1-2 นาที ให้สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีอาการขึ้นอีกเมื่อใดให้อมยาทันที

อาการปวดท้องทั้งแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินที่ได้กล่าวไว้ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 92 จนถึงฉบับนี้จะครอบคลุมอาการปวดท้องที่สำคัญและพบได้ ถ้าหมั่นศึกษาและฝึกหัดจะสามารถวินิจฉัยและรักษาได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม ต้องส่งคนไข้ไปปรึกษาหมอหรือผู้ที่ชำนาญกว่าเสมอ ถ้าคนไข้มีอาการทรุดหรืออาการไม่ดีขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

97-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์