• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลิ่นปาก

ปากของคนเราเปรียบเสมือนห้องครัวในบ้าน โดยที่อาหารต่างๆจะผ่านเข้าออกทุกวัน วันละหลายๆครั้ง บางทียังเป็นที่เก็บอาหารทั้งโดยความตั้งใจและเผลอปล่อยไว้ ถ้าอาหารถูกเก็บไว้นานเกินควร โดยละเลยการทำความสะอาดในระยะเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับเชื้อโรคที่มีอยู่ในบริเวณนั้น ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดการบูดเน่า และเกิดกลิ่นที่ไม่สะอาดตามมาในที่สุด

เมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว นายแพทย์ค็อก ผู้ค้นพบกล้องจุลทรรศน์ ได้ตรวจพบเชื้อโรคมากมายในน้ำลายของคนเรา และเป็นข้อเท็จจริงต่อมาว่า ในช่องปากจะมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ จำนวนมาก บางชนิดก็อาศัยอยู่โดยไม่ก่อความเสียหาย แต่อีกหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปากต่างๆ เช่น เชื้อจุลินทรีย์ที่สร้างกรดจากน้ำตาลในการทำลายฟันให้เกิดโรคฟันผุ เชื้อจุลินทรีย์ที่ปล่อยสารพิษมาทำลายเหงือกและอวัยวะรอบรากฟัน ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ นอกจากนั้นยังอาจมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการอักเสบอื่นๆในปากด้วย

เชื้อจุลินทรีย์สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ในปากได้ดีมาก โดยอาศัยอาหารที่ผ่านเข้ามาและเศษอาหารบางส่วนที่กักเก็บไว้ตามซอกมุมต่างๆ ในปาก เช่น ร่องฟัน ซอกเหงือก ร่องบนพื้นลิ้น และแม้กระทั่งบนเคลือบฟันปกติ ที่เรียกว่า “คราบจุลินทรีย์”

ในบางกรณี ซอกมุมที่เป็นแหล่งหมักหมมของเศษอาหารและที่อยู่ของเชื้อจุลินทรีย์จำนวนมากมายในปากจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าสภาวะในปากไม่สมบูรณ์ เช่น มีรูฟันผุที่ยังไม่ได้อุด รากฟันที่เหลือ แต่ตอยังไม่ได้ถอน ช่องว่างระหว่างเหงือกกับฟันที่เรียกว่า “กระเป๋าปริทนต์” ในฟันที่โยกเนื่องจากโรคเหงือกอักเสบรุนแรง ความขรุขระจากหินปูนรอบคอฟัน รอยต่อระหว่างฟันปลอมกับขอบฟันถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันปลอมพลาสติกที่สามารถถอดได้ ฯลฯ ซึ่งซอกเล็กซอกน้อยเหล่านี้เป็นแหล่งเกิดของกลิ่นปาก จากการที่เชื้อจุลินทรีย์ย่อยเศษอาหารที่ตกค้าง

การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นวิธีหนึ่งในการกำจัดกลิ่นปากเพื่อลดเศษอาหารตกค้างตามซอกมุมต่างๆ แต่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อสภาพผิดปกติต่างๆในปากได้รับการแก้ไขบูรณะแล้ว เช่น อุดฟันที่ผุ รักษาเหงือกให้แข็งแรง อาจรวมไปถึงการขูดหินปูน การแก้ไขหรือเปลี่ยนฟันปลอมให้เหมาะสม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อจุลินทรีย์ให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในบางคนร่องบนพื้นลิ้นอาจลึกเป็นพิเศษ ก็จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อจุลินทรีย์อีกแห่งหนึ่ง การทำความสะอาดลิ้น โดยการขูดบนลิ้นด้วยด้านหน้าตัดของฟันหน้าบนของตนเอง หรือใช้ไม้ไอศกรีมสะอาดขูดลิ้นเบาๆ หรือแปรงสีฟันขนอ่อนๆ แปรงบนลิ้นทุกครั้งที่แปรงฟันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ในปาก และลดการสะสมเศษอาหารที่จะเป็นสาเหตุของกลิ่นปากด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสาเหตุของกลิ่นปากจากปัจจัยเฉพาะที่ในช่องปากเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องจากระบบทั่วร่างกายที่ต่อเนื่องกับช่องปาก ได้แก่ ระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจไม่ปกติ เช่น ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว การอักเสบของไซนัสจากโพรงจมูก ซึ่งอาจมีรูเปิดของหนองในปาก รวมทั้งการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้มีเสมหะเหนียว ข้นผิดปกติ ในขณะที่เป็นหวัดหรือไอเรื้อรัง ซึ่งควรจะได้รับการรักษาและเป็นการรักษากลิ่นปากอีกทางหนึ่งด้วย

สาเหตุของกลิ่นปากทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ อาหารบางชนิดที่มีกลิ่นรุนแรงและอยู่ได้นานเป็นพิเศษ เช่น กระเทียม ชะโอม กะปิ น้ำพริกต่างๆ ฯลฯ ในทางตรงข้าม อาหารบางชนิดโดยเฉพาะผลไม้ เช่น ฝรั่ง สับปะรด ใบฝรั่ง เมื่อเคี้ยวภายหลังอาหารจะช่วยลดกลิ่นปากได้ นอกเหนือไปจากประโยชน์จากเส้นใยของผลไม้เหล่านั้นในการทำความสะอาดฟันโดยทั่วไปด้วยแล้ว

สาเหตุอีกประการหนึ่งของกลิ่นปาก ได้แก่ คนที่มีน้ำลายเหนียว ข้น หรือน้ำลายน้อย เป็นผลให้การชะล้างตามธรรมชาติไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการดื่มหรือจิบน้ำบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาลหรือการกระตุ้นน้ำลายด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น ยาอมชนิดต่างๆ

จุดประสงค์ของยาอมคือ ช่วยให้ชุ่มคอ ปากหอมและกระตุ้นน้ำลายด้วย แต่ยาอมทุกชนิดมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ยาอมที่มีสีดำ ถ้าอมบ่อยๆจะเป็นสาเหตุให้สีดำจับกับคราบจุลินทรีย์และอาจถึงชั้นเคลือบฟัน มีลักษณะคล้ายคราบบุหรี่ ซึ่งไม่น่าดู ส่วนยาอมที่มีรสหวานเย็นซ่าอื่นๆ จะมีส่วนผสมของน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งการอมบ่อยๆจะมีผลให้เกิดโรคฟันผุ เช่นเดียวกับขนมหวานหรือลูกอม ทอฟฟี่อื่นๆ นอกจากนี้ ผลได้จากกลิ่นหอมเย็นซ่าต่อกลิ่นปากยังอยู่ได้เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นมาก ดังนั้น การอมยาอมหรือลูกอมหวานเย็นซ่าทั้งหลาย จึงได้ (กลิ่นสะอาดในปากชั่วคราว) ไม่คุ้มเสีย (ฟันผุ)

การใช้ยาอมบ้วนปาก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดกลิ่นปากที่นิยมกันแพร่หลาย เพราะนอกจากเป็นการกำจัดเศษอาหารที่ค้าง โดยแรงบ้วนจากน้ำโดยตรง และช่วยให้ปากหอมในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ยาอมบ้วนปากส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจมีผลในการลดจำนวนและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปาก และ/หรืออาจกำจัดคราบจุลินทรีย์บนตัวฟันในระยะเวลาหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี การใช้ยาอมบ้วนปากเพื่อหวังผลในส่วนของยาฆ่าเชื้อจะต้องมีความเข้มข้นที่พอเหมาะที่จะไม่เป็นการทำลายเนื้อเยื่ออ่อนในปาก และไม่ทำให้ความสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในสภาวะแวดล้อมในปากเปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดเชื้อจุลินทรีย์แล้วไปเพิ่มเชื้อราในปากซึ่งจะมีผลเสียตามมาเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหา “กลิ่นปาก” นี้ ใช้หลักความจำเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ จะต้องมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายทั่วไป เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ และที่สำคัญคือ สุขภาพในช่องปากที่ปกติทั้งเหงือกและฟัน ซึ่งถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ โดยเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ และแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการพิเศษตามคำโฆษณาอวดอ้างใดๆ ให้ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุแต่อย่างใด

 

ข้อมูลสื่อ

97-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช