• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะกอก ผักพื้นบ้านที่ไม่ชอบคนเจ้าเล่ห์

มะกอก ผักพื้นบ้านที่ไม่ชอบคนเจ้าเล่ห์

 
“มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก”

ประโยคที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นคำพังเพยดั้งเดิมของชาวไทยที่ใช้เปรียบเทียบ (โทษ) ลักษณะของคนประเภทกลิ้งกลอกเจ้าเล่ห์ที่ทำอย่างไรก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันเหมือนกับเอาผลมะกอกตั้งสามตะกร้าขว้างปาก็ยังไม่ถูกเลยสักครั้งเดียว คนประเภทนี้สมัยก่อนรียกกันว่าเป็นคน “มะกอกสามตะกร้า” ก็จะเข้าใจกันทั่วไป

แต่ในปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนคำเรียกเสียใหม่ เพราะแม้คนประเภทนี้จะมีมากขึ้น (เช่น นักการเมืองหรือพ่อค้าบางคน) แต่คำพังเพยประโยคนี้กลับมีผู้เข้าใจความหมายน้อยลง จึงอาจใช้คำว่า “จอมกะล่อน” หรือ “สิบแปดมงกุฏ” แทนก็ได้ เพราะมีความหมายเช่นเดียวกัน

เหตุที่คนไทยโบราณใช้มะกอกมาเป็นสิ่งเปรียบเทียบในคำพังเพยบทนี้ ก็คงเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่พบเห็นและรู้จักคุ้นเคยกับมะกอก (รวมทั้งตะกร้าด้วย) กันเป็นอย่างดี เนื่องจากมะกอกเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่นำมาใช้ประกอบอาหารกันอย่างกว้างขวางนั่นเอง

มะกอก : จากป่ามาสู่บ้านและครัว

มะกอกที่นำมากล่าวถึงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านยังนึกหน้าตาไม่ออก หรือบางคนอาจนึกถึงผลมะกอกดองหรือมะกอกเชื่อมที่เคยกินจากรถเข็น ซึ่งความจริงเป็นผลของมะกอกน้ำอันเป็นผลไม้คนละชนิดกับมะกอกที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เพราะมะกอกซึ่งยกมาขึ้นต้นและกำลังจะเขียนถึงต่อไป เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า spondias pinnata Kurz. ภาษาอังกฤษเรียก Hog Plum (ผลคล้ายลูกพลับ หมูป่าชอบกินผลมะกอก) ในประเทศไทยเรียกกันหลายชื่อ ทั่วไปเรียก มะกอก มะกอกบก มะกอกไทย มะกอกป่า ภาคใต้เรียกว่า กอก เชียงรายเรียกว่า กอกก๊ก เป็นต้น

“มะกอก เป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่นำมาใช้ประกอบอาหารกันอย่างกว้างขวาง”

มะกอกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง โตเต็มที่อาจสูงกว่า 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นอาจถึง 1 เมตร เปลือกเรียบ ต้นแก่เปลือกแตกเป็นร่อง เนื้อไม้สีขาว อ่อน ไม่มีแก่น ใบมีลักษณะใบรวมคล้ายขนนก ใบย่อยเป็นรูปไข่ออกสลับกันบนก้านใบ ผลเป็นรูปไข่ มีหลายขนาดปกติขนาดไข่ไก่ ผลสุกมีผิวสีเขียวอมเหลืองและจุดประสีเหลืองเข้มสลับดำ ในแต่ละผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ๆ เพียงเมล็ดเดียว เปลือกของเมล็ดมีเส้นใยหยาบปกคลุมคล้ายเมล็ดมะม่วง ช่อดอกมีสีขาวนวล ลักษณะคล้ายช่อดอกมะม่วง เพราะเป็นพืชอยู่ในวงศ์ (Family) เดียวกับมะม่วง คือ วงศ์ anacardiaceae

ในธรรมชาติมะกอกขึ้นเองตามป่าเบญจพรรณแล้งและป่าแดงทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบขึ้นอยู่ตามเรือกสวนไร่นาหรือในบริเวณบ้าน เนื่องจากมีผู้นำมาปลูกไว้ ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะกอกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งไทย) แลหมู่เกาะต่างๆ ในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามะกอกเป็นพืชดั้งเดิมของชาวไทยชนิดหนึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวไทยมาแสนนาน

คนไทยรู้จักและใช้ประโยชน์มะกอกในฐานะผักพื้นบ้านอย่างหนึ่งมากกว่าใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ใบอ่อน (ยอด) และช่อดอกของมะกอกนั้น ชาวไทยนำมากินเป็นผักทั้งดิบและสุก ในตำรับสายเยาวภา กล่าวถึง มะกอกไว้ว่า “ยอดมะกอก กินดิบเป็นผักจิ้ม สุกก็กินได้ เผาจิ้มน้ำพริก” “ช่อมะกอก กินดิบ” ใบอ่อนมะกอกมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวและฝาดสมานใช้ได้ทั้งเป็นผักจิ้ม ใส่ยำ และแต่งกลิ่นอาหาร ช่อดอกมะกอกใช้ได้เช่นเดียวกับใบอ่อน

สำหรับผลมะกอกนิยมใช้ผลสุก ซึ่งมีรสเปรี้ยวอมฝาด หากกินเปล่าๆ ครั้งแรกจะรู้สึกเปรี้ยวอมฝาดต่อมาจะเปลี่ยนเป็นรสหวาน ชุ่มคอ ผลสุกมีกลิ่นหอมมาก เป็นกลิ่นเฉพาะตัวซึ่งใช้แต่งกลิ่นอาหารได้ดี เช่น ใช้ตำน้ำพริกมะกอก โดยใช้ทั้งเนื้อสุกและเปลือกใช้แต่งรสน้ำปลาจิ้มพวกเนื้อหรือปลาย่าง ที่นิยมมากที่สุด คือ ใช้ผลมะกอกสุกเป็นส่วนประกอบของส้มตำ (ลาว) ให้กลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนส้มตำตำรับอื่นๆ ความนิยมใช้ผลมะกอกสุกในตำรับส้มตำ (ลาว) นั้น เห็นได้จากราคาของผลมะกอกสุก ซึ่งบางฤดู (ที่มีผลมะกอกสุกน้อย) ราคาแพงถึงผลละหลายบาทเช่นเดียวกับราคาของผลมะนาวหน้าแล้งนั่นเอง

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะกอก

เนื้อในผลสุกของมะกอกนอกจากใช้ทำกับข้าว (ของคาว) แล้วยังใช้ทำน้ำผลไม้ (ของหวาน) เป็นเครื่องดื่มได้ดีอีกด้วย โดยปอกเปลือกออกฝานเอาแต่เนื้อไปเข้าเครื่องปั่นผลไม้ เติมน้ำเชื่อมให้มีรสหวานตามชอบ จะได้เครื่องดื่มน้ำมะกอกที่มีกลิ่นและรสชาตอร่อยไม่เหมือนใคร และยังอุดมด้วยวิตามินซีและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่างๆ อีกด้วย

เนื้อไม้มะกอกแม้จะเป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำกล่องไม้ขีด ทำไม้จิ้มฟัน ทำกล่องใส่ของ และหีบศพ เป็นต้น

ในตำราสรรพคุณสมุนไพรไทยกล่าวถึงคุณสมบัติของมะกอกในแง่สมุนไพรไว้หลายประการ เช่น

เปลือก ป่นเป็นผง ผสมน้ำ ใช้ทาแก้โรคปวดตามข้อ ใช้เป็นยาเย็นแก้โรคท้องเสีย โรคเกี่ยวกับลำไส้ ระงับอาเจียน

เมล็ด เผาไฟ แช่เอาน้ำดื่ม แก้อาการผิดสำแดง แก้ร้อนใน แก้หอบ สะอึก

ผลสุก ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) รักษาโรคกระเพาะอาหารพิการ

แม้ตำราปลูกต้นไม้ในบ้านของชาวไทยจะไม่ถือว่ามะกอกเป็นไม้มงคล เพราะไม่มีข้อห้ามมิให้ปลูกมะกอกในบริเวณบ้าน (เช่น ลั่นทมหรือมะรุม) ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีพื้นที่บริเวณบ้านพอก็น่าจะหามะกอกมาปลูกไว้สักต้น เพราะนอกจากรูปทรงต้นและลักษณะใบที่งดงามแล้ว ท่านยังจะได้ประโยชน์จากมะกอกมากมาย

ยิ่งกว่านั้นยามที่ท่านมองเห็นต้นมะกอก ก็อาจระลึกถึงคำพังเพยเก่าแก่ของไทยที่ยกมาข้างต้น และระมัดระวังตัวให้ปลอดภัยจากบุคคลประเภท “มะกอกสามตะกร้า” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะแฝงตัวมาในรูป “นักการเมือง” หรือ “นักธุรกิจ” ฯลฯ ก็ตาม

ข้อมูลสื่อ

180-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 180
เมษายน 2537
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร