• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 2)

วูบ (ตอนที่ 2)

 

 เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์มีมากมาย หลายคนดูว่ายุ่งยากซับซ้อนหรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสนจนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้มาทำให้อ่านง่ายเข้าใจง่ายเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป 


“วูบ”  ในคนไข้รายแรกนี้จึงเป็นอาการวูบที่เกิดจาก  “ภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า"
(orthos-tatic hypotension) อาการจึงเกิดในท่ายืน ท่าเดิน หรือท่าอื่น ๆ ที่ศีรษะอยู่ในระดับสูงสุดของร่างกาย โดยอาการมักจะเกิดเมื่อคนไข้ลุกขึ้นจากเตียงนอนหรือนั่งเก้าอี้ แล้วเดินไปรับโทรศัพท์หรือไปห้องน้ำหรือไปอื่น ๆ หรือยืนอยู่กับที่เฉย ๆ นาน ๆ

เลือดซึ่งเป็นของเหลว(เป็นน้ำ)จะไหลไปสู่ที่ต่ำคือที่ขาและเท้า เลือดที่จะสูบฉีดไปเลี้ยงสมอง (ในศีรษะ) จึงลดลง ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมและล้มฟุบลงโดยยังรู้ตัวอยู่ (ค่อย ๆ นั่งลงและนอนลง ทำให้ไม่เจ็บตัว) หรือล้มฟาดลงโดยไม่รู้ตัว (ทำให้เกิดบาดแผลหรือรอยฟกช้ำจากการกระแทกกับพื้น โถส้วม เตียง โต๊ะ หรือสิ่งอื่น)
หลังจากนอนราบลงนอนกับพื้น(ศีรษะต่ำลงได้ระดับเดียวกับลำตัวหรือต่ำกว่า) เลือดก็จะไหลไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ทำให้ฟื้นคืนสติ หรือมีแรงเพิ่มขึ้นพอจะลุกขึ้นได้ แต่ถ้าลุกขึ้นเร็ว ๆ อาจเวียนศีรษะ และหน้ามืดเป็นลมอีกได้ ถ้าหน้ามืดเป็นลมแล้วยังไม่ล้มฟุบลง หรือนอนลง ยังคงยืนหรือนั่งอยู่เพราะถูกเบียดไว้ หรือถูกจับไว้ให้อยู่ในท่านั้น สมองจะขาดเลือดมากขึ้นหรือนานขึ้น ทำให้หมดสติรุนแรง และอาจเกิดอาการชัก อุจจาระ ปัสสาวะราด หรืออาจเกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ เป็นต้น

เมื่อเห็นคนหมดสติ ล้มฟุบลง จึงไม่ควรเข้าไปอุ้มหรือประคองให้อยู่ในท่านั่งหรือในท่าที่ศีรษะสูงกว่าระดับตัว เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้น ควรปล่อยให้นอนหงายราบเหยียดยาว แล้วรีบคลำดูชีพจรที่คอและที่ขาหนีบ ถ้าคลำไม่ได้ และคนไข้ไม่หายใจและไม่รู้สึกตัวเลย ให้รีบฟื้นชีวิต( cardio – pulmonary resuscita-tion ) แบบคนไข้หัวใจหยุด( cardiac arrest ) ถ้าคลำได้ และคนไข้ยังหายใจเองได้ แม้จะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม ให้คลายเสื้อผ้าและส่วนที่บีบรัดร่างกายส่วนต่าง ๆ ออกให้ของฉุน ๆ ถ้ามี (เช่น แอมโมเนีย หัวหอมทุบหรือผ่าซีก ยานัตถ์ หรืออื่น ๆ) อย่าให้คนมาล้อม (มุงดู)คนไข้ ใช้พัดโบกลมให้คนไข้โดยเฉพาะบริเวณหน้า บีบนวดตามแขนขา ใช้ผ้าเย็น ๆ หรือผ้าชุบน้ำเช็ดหน้า แต่อย่าประคองศีรษะ และลำตัวให้สูงขึ้น แล้วสักพักหนึ่ง คนไข้จะรู้สึกตัวและตื่นขึ้นเอง (แม้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนไข้ก็จะรู้สึกตัวและตื่นขึ้นเอง หลังจากนอนราบอยู่กับพื้นจนสมองได้รับเลือดไปเลี้ยงจนพอเพียงกับอาการขาดเลือดแล้ว)
เมื่อคนไข้ดีขึ้นแล้ว ต้องถามประวัติอาการและหาสาเหตุที่ทำให้คนไข้ “วูบเมื่อเปลี่ยนท่า” ซึ่งเป็นอาการของ “ความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า”

วิธีที่จะช่วยยืนยันการวินิจฉัย ”ภาวะความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่า” ก็คือ การวัดความดันเลือดในท่านอนกับท่ายืน หลังจากที่คนไข้ฟื้นจากอาการหน้ามืดเป็นลมแล้ว ถ้าพบว่าความดันเลือดตัวบนในท่ายืนต่ำกว่าในท่านอนมากกว่า 30 ทอรร์ (มิลลิเมตรปรอท) ก็จะยืนยันการวินิจฉัยภาวะนี้ได้

เมื่อวินิจฉัยภาวะนี้ได้แล้ว ก็ต้องสืบหาสาเหตุของภาวะนี้จากการชักประวัติและตรวจร่างกาย
สาเหตุที่พบบ่อย เช่น

1. การขาดน้ำหรือเลือด
เมื่อร่างกายขาดน้ำ เช่น ไม่มีน้ำดื่ม อาเจียนมาก ท้องเดิน(ท้องร่วง)มาก หรือขาดเลือด(เช่น เสียเลือดจากบาดแผล เลือดออกในกระเพาะลำไส้(เช่น คนไข้รายนี้) เสียเลือดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคพยาธิปากขอในลำไส้ โรคเม็ดเลือดแดงแตก( hemolysis ) หรืออื่น ๆ จนคนไข้ซีดลงอย่างรวดเร็วเป็นต้น

2. การขาดการออกกำลังกาย เช่น นอนอยู่กับเตียงนาน ๆ ทำงานนั่งโต๊ะเป็นประจำ ไม่ได้ออกกำลัง
กายร่างกายอ่อนแอ หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

3. การกินยาบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ (เช่น คนที่ต้องการลดน้ำหนักเร็ว ๆ เพื่อหลอกตนเอง
หรือผู้อื่น) ยาลดความดันเลือด ยาระบบประสาท เป็นต้น

4. โรคทางระบบประสาท โดยเฉพาะที่ไปกระทบกระแทกประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคเบาหวานที่
เป็นมานานโดยเฉพาะที่ไม่ได้คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี จะทำให้ความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่าได้มาก ๆ คนสูงอายุที่ระบบประสาทเสื่อมหรือเสียไป เป็นต้น

เมื่อตรวจพบสาเหตุก็ต้องรักษาสาเหตุด้วยถ้ารักษาได้ อาการ “วูบเมื่อเปลี่ยนท่า” ก็จะหายขาด
ถ้ารักษาสาเหตุไม่ได้ เช่น คนสูงอายุที่ระบบประสาทเสื่อมลงหรือเสียไป ก็ต้องแนะนำให้คอยระวังตัวอย่าลุกขึ้นจากเตียงเร็วนัก ถ้าลุกขึ้นจากท่านอน ก็ให้นั่งสักครู่
ระหว่างที่นั่งอยู่ก็บิดตัวไปมากระดกเท้าขึ้น ๆ ลง ๆ และเขย่งเท้าให้หัวเข่ายกขึ้นยกลงสักพัก แล้วจึงลุกขึ้นยืนโดยจับพนักเตียง หรือพนักเก้าอี้ไว้
เมื่อยืนขึ้นมาแล้ว ก็ควรยืนอยู่กับที่สักพัก โดยมือยังจับพนักเตียงหรือพนักเก้าอี้ไว้ ถ้าเวียนศีรษะหรือหน้ามืดให้รีบนั่งลงหรือนอนลงทันทีเมื่ออาการดีขึ้น จึงลุกขึ้นยืนใหม่
ในขณะที่ยืนจับพนักเตียงหรือพนักเก้าอี้อยู่ ควรจะเขย่งเท้าขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อขาได้ทำงานจะได้เกิดการขับไล่เลือดไม่ให้ไหลตกลงไปที่ขาและเท้าได้ จะได้ไม่เกิดอาการ “วูบ”
การยืนเฉย ๆ นาน ๆ โดยไม่ได้ขยับขาในคนที่ร่างกายอ่อนแอ หรือขาดน้ำขาดเลือด (เช่น ในคนไข้รายนี้) จะทำให้เลือดตกไปที่ขาและเท้าทำให้สมองขาดเลือด และเกิดอาการ “วูบ” ได้

การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ ระวังการดื่มน้ำและกินอาหาร (ไม่ให้เกิดการอาเจียน อุจจาระร่วง ฯลฯ) การรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายโดยเร็วหรือให้ดีที่สุด และอื่น ๆ จะทำให้รอดพ้นจาก “การวูบเมื่อเปลี่ยนท่า” หรือ “การวูบในท่ายืน” ได้และจะทำให้สุขภาพโดยทั่วไปแข็งแรงขึ้น และรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หรือดีขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ได้ด้วย

การป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ “วูบ” จนหัวร้างข้างแตกเสียหน้า เสียตำแหน่ง (อย่างกรณีนักมวย “เขาค้อ”) เสียเงิน (เข้าโรงพยาบาล) และเสียอะไรต่อมิอะไรอื่น ๆ มิใช่หรือ


 

ข้อมูลสื่อ

196-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 196
สิงหาคม 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์