• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง

ข้อน่ารู้

1.หัวใจของคนเราทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เกิดแรงดันขึ้นภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถใช้เครื่องวัดความดัน ทำการตรวจวัดไม่ได้ โดยนิยมวัดที่บริเวณต้นแขน และมีหน่วยของค่าความดันเป็น “มิลลิเมตรปรอท”
ความดันเลือดมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า ได้แก่ ความดันช่วงบน(หรือความดันซิสโตลี) ซึ่งเป็นค่าความดันเลือดที่วัดได้ขณะหัวใจบีบตัว และความดันช่วงล่าง(หรือความดันไดแอสโตลี) ซึ่งเป็นค่าความดันเลือดที่วัดได้ขณะหัวใจคลายตัว ดังนั้น ความดันช่วงบนจึงมีค่าสูงกว่าความดันช่วงล่าง โดยปกติจะแตกต่างกันอยู่ประมาณ 30-50 มิลลิเมตรปรอท

เรานิยมเขียนค่าของความดันช่วงบน/ค่าของความดันช่วงล่าง เช่น 120/80 ซึ่งหมายถึงความดันช่วงบน มีค่า 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันช่วงล่างมีค่า 80 มิลลิเมตรปรอท


ในคน ๆ เดียวกันในแต่ละช่วงเวลาอาจมีค่าความดันแปรผันไม่คงที่ เช่น ขณะออกกำลัง หรือมีอารมณ์เครียด ก็อาจมีค่าความดันเลือดสูงกว่าเวลาพักหรือจิตใจสงบ ขณะสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า ความดันเลือดก็อาจขึ้นสูงได้ชั่วคราว ความดันในแต่ละช่วงของวันก็มักไม่เท่ากัน โดยความดันมักจะมีค่าสูงสุดในตอนสาย(ประมาณ 10-11 โมงเช้า) และจะต่ำสุดในตอนกลางคืน 

2.องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าปกติของความดันเลือดในผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป) ว่าความดันช่วงบนจะต้องมีค่าไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันช่วงล่างจะต้อมีค่าไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันช่วงบนหรือช่วงล่าง (เพียงอันใดอันหนึ่ง) วัดได้สูงกว่าค่าดังกล่าว ก็ถือว่าผิดปกติ และจะถือว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง เมื่อความดันช่วงบนมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันช่วงล่างเท่ากับหรือมากกว่า 95 มิลลิเมตรปรอท

3.โรคความดันเลือดสูงส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) จะไม่ทราบสาเหตุ คือตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกายที่เป็นต้นเหตุความดันสูง
ส่วนน้อย (ต่ำกว่าร้อยละ10) อาจพบสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สาเหตุที่พบได้ เช่น โรคไต โรคของต่อมไร้ท่อ โรคหลอดเลือดผิดปกติ การใช้ยา (ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาสตีรอยด์) เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขสาเหตุ ความดันเลือดก็มักจะกลับสู่ระดับปกติได้

4.โดยทั่วไป(รวมทั้งในที่นี้) เมื่อพูดถึงโรคความดันเลือดสูง เรามักหมายถึงความดันเลือดสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (essential hypertension) โรคนี้จะเริ่มพบในอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นตามอายุ ในบ้านเรามีการสำรวจพบว่าคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะเป็นความดันเลือดสูงถึงปราณร้อยละ 10-15
โรคนี้มักพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ กล่าวคือ ในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันเลือดสูง
ลูก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าครอบครัวที่ไม่เป็น
นอกจากนี้ยังพบว่า ความอ้วน การกินอาหารเค็มจัด ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคนี้อีกด้วย 

5.คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า คนที่เป็นความดันเลือดสูงจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ จริง ๆ แล้วโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น คนไข้จะรู้สึกสบายดีเฉกเช่นคนปกติทั่วไป จะทราบว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่อ มีการตรวจเช็กความดันเลือดเท่านั้นในบ้านเรามีการสำรวจพบว่า คนที่เป็นความดันเลือดสูงกว่าครึ่งหนึ่งจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้
ข้อนี้นับว่า มีความสำคัญมาก เพราะคนไข้จะเกิดความประมาทเลินเล่อ ไม่ไปตรวจเช็คสุขภาพ ส่วนพวกที่แม้เคยตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ เมื่อกินยาแล้วรู้สึกสบายดี ก็ไม่ไปรับการรักษาต่อเนื่อง ปล่อยปละละเลยจนเกิดโรคนี้แทรกซ้อน ถึงพิการหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โรคความดันเลือดสูงจึงได้ชื่อว่า “มัจจุราชมืด” ที่คอยทำลายชีวิตผู้คนโดยไม่รู้ตัว
คนทั่วไปเมื่อมีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจเช็กความดันเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยทุกครั้งที่ไปหาหมอเมื่อไม่สบายด้วยโรคอะไรก็ตาม ก็ควรขอให้หมอตรวจเช็กความดัน

6.ความดันเลือดสูงจัดว่าเป็นโรคเรื้อรัง มักเป็นอยู่ตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษา ปล่อยให้ความดันสูงอยู่นาน ๆ จะทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวและตีบตัน เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ(หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจวาย) โรคสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม) ไตพิการ ประสาทตาเสื่อม(ตาบอด ตามัว) โรคหลอดเลือดพิการ เป็นต้น โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ ใช้เวลาฟักตัวนานเป็นแรมปี บางคน 5-10 ปีขึ้นไป การรักษาความดันเลือดสูงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ก็เพื่อหาทางควบคุมให้ความดันเลือดกลับคืนสู่ระดับปกติ ซึ่งจะป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

7.การป้องกัน สำหรับผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคความดันเลือดสูง ควรระวังดูแลตนเองโดยการควบคุมอาหาร กินผัก และผลไม้ให้มาก ๆ ทุกวัน ออกกำลังกายระวังอย่าให้อ้วน หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อย่ากินอาหารเค็มจัด ก็อาจลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรตรวจเช็กความดันเลือดเป็นประจำ หากพบว่าสูงจะได้รับรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
ขอย้ำในที่นี้อีกครั้งว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูงส่วนมาก จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น มักจะเป็นโดยไม่รู้ตัวจะรู้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจเช็กความดันเลือดเท่านั้น
ส่วนน้อยที่เป็นรุนแรงจึงจะมีอาการ เช่น ปวดมึนศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น เป็นต้น
ถ้าหากเป็นถึงขั้นมีโรคแทรกซ้อน ก็จะมีอาการทางหัวใจ (เช่น เจ็บจุกหน้าอก เหนื่อยง่าย) สมอง (อัมพาต ความจำเสื่อม) ตา (ตามัว) ไต (บวม ซีด คลื่นไส้) เป็นต้น
ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะ บางครั้งอาจมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างเดียวแบบไมเกรน ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นไมเกรนได้ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะแบบนี้ก็ควรจะตรวจวัดความดันเลือด ก่อนที่จะคิดว่าเป็นไมเกรนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป
หรือบางทีอาการปวดมึนบริเวณท้ายทอย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียด ก็ควรจะตรวจวัดความดันให้แน่ใจเช่นเดียวกัน
สรุปก็คือ ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กความดันเป็นประจำไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ก็ตาม

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ผู้ที่ยังไม่เคยตรวจพบว่าเป็นความดันเลือดสูงมาก่อน เมื่อมีอายุมากกว่า 30 ปี ควรจะไปตรวจเช็กความดัน
ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้และรับการรักษาอยู่ประจำ ควรไปพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
1.ขาดยาที่ใช้รักษา เช่น ยาหาย ยาไม่พอ
2.มีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เป็นลม เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย ตามัว บวม คลื่นไส้ อาเจียน
เป็นต้น
 

แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะตรวจวัดความดัน จับชีพจร ตรวจหัวใจ ตรวจตา ตรวจเลือด และปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ
ถ้าสงสัยมีสาเหตุซ่อนเร้น อาจตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม
ในรายที่เป็นความดันเลือดสูงเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจจะนัดมาตรวจความดันซ้ำอีก 2-3 ครั้ง และจะแนะนำข้อปฏิบัติตัวจริง ๆ (ดังกล่าวในหัวข้อ “การดูแลรักษาตนเอง”) ถ้าหากไม่ได้ผลจึงจะเริ่มให้ยาลดความดันเลือด

ยาที่นิยมใช้และมีราคาถูก ได้แก่ ยาเม็ดไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochloro thiazide) ให้กินวันละครั้ง ๆ 10-25 มิลลิกรัม (ปกติจะมีขนาดเม็ดละ 50 มิลลิกรัม จะให้กินเพียง 1/4 – 1/2 เม็ด) ยานี้ควรให้กินขนาดต่ำ ๆ แบบนี้ เพื่อขับเกลือโซเดียมออกทางปัสสาวะ จะช่วยลดความดันได้ดี แต่ก่อนเคยให้กินขนาดสูง ๆ ขณะนี้พบว่าใช้ยาขนาดต่ำจะได้ผลดีกว่าขนาดสูง
ถ้าหากกินยานี้ไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกให้ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาเม็ด อะทีโนลอล( atenolol) ขนาด 25-100 มิลลิกรัม วันละครั้ง ยานี้นอกจากจะช่วยลดความดันแล้ว ยังช่วยลดการเต้นของชีพจร จึงเหมาะสมกับคนไข้ที่มีชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติร่วมด้วย
ถ้าไม่ได้ผล หรือในกรณีที่เป็นความดันสูงขั้นร้ายแรง ก็จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง ต่อไป

โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาในขนาดน้อยก่อน ถ้าให้ขนาดสูงหรือแรงไป อาจทำให้ความดันเลือดลดต่ำมาก จนทำให้มีอาการหน้ามืด เป็นลมได้
เป้าหมายของการรักษา จะต้องควบคุมความดันให้ลดลงเหลือไม่เกิน 140/90 (ความดันช่วงบนไม่เกิน 140 ช่วงล่างไม่เกิน 90) จึงจะถือว่าน่าพอใจ
 

โดยสรุป ความดันเลือดสูงส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการ มักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิตและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป แม้จะสบายดีก็ต้องหมั่นตรวจเช็กความดันเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคที่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดชีวิต นอกจากการใช้ยาแล้วยังต้องรู้จักปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และมีชีวิตยืนยาวและเป็นปกติสุขได้
 

                                                          การดูแลรักษาตนเอง

ผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนี้
1. หมั่นตรวจวัดความดันเลือดเป็นประจำ หากเป็นไปได้ควรมีเครื่องวัดเองที่บ้าน หรือไม่ก็ควรวัดที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ความดันที่ปกติควรไม่เกิน 140/90
2. ไปตรวจรักษากับแพทย์ตามนัด ไม่ว่าจะรู้สึกสบายดีหรือไม่ก็ตาม ควรเลือกรักษากับแพทย์หรือสถานพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งที่เชื่อใจได้เป็นประจำ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมผู้รักษากับคนไข้ จะได้มีการแนะนำและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่คนไข้อย่างต่อเนื่อง
3. ในกรณีที่แพทย์สั่งยาลดความดันให้กิน ก็ควรกินยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง และหมั่นสังเกตว่ามีอาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อะไรบ้าง หากมี ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
4. ถ้าอ้วน ควรลดน้ำหนักตัว โดยการลดอาหารจำพวกไขมัน (เช่น อาหารมัน ของผัด ของทอด ของใส่กะทิ ขาหมู เนื้อติดมัน) แป้งและน้ำตาล
5. กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ ทุกวัน
6. ลดอาหารเค็มและอาหารที่เข้าเกลือโซเดียม (เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ของดองเค็ม ผงชูรส เป็นต้น) ไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารที่ปรุงแล้ว หลีกเลี่ยงยาที่มีเกลือโซเดียม เช่น ยาธาตุน้ำแดง โซตามินต์ เป็นต้น
7. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เป็นต้น ควรเริ่มแต่น้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย อย่าออกกำลังกายที่ต้องมีการเบ่ง เช่น ยกน้ำหนัก วิดพื้น
8. ผู้ที่สูบบุหรี่ ต้องงดบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะบุหรี่จะส่งเสริมให้เกิดโรคแทรกซ้อน โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจตีบตันเร็วขึ้น และยังทำให้ดื้อต่อยาที่รักษา
9. ควรงดเหล้า เพราะแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้ความดันขึ้น และทำให้ดื้อต่อยาที่รักษา ส่วนผู้ที่นิยมดื่มเหล้าควรจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ (วิสกี้ไม่เกิน 60 มิลลิลิตรต่อวัน หรือไวน์ไม่เกิน 1 แก้วหรือ 240 มิลลิลิตรต่อวัน หรือเบียร์ไม่เกิน 3 แก้วหรือ 720 มิลลิลิตรต่อวัน)
10. ทำจิตใจให้สงบ หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้นหรือเครียด ควรทำสมาธิ บริหารจิต หรือสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาที่นับถือ
11. สตรีที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเลิกกินยานี้แล้วหันไปคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแทน เพราะยานี้ทำให้ความดันสูงได้

 

 

ข้อมูลสื่อ

197-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 197
กันยายน 2538
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ