• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประวัติการเจ็บป่วยนั้นสำคัญไฉน?

ประวัติการเจ็บป่วยนั้นสำคัญไฉน?

คุณคงเคย(หรือพาผู้ป่วย)ไปหาหมอหลังจากรักษาตนเอง หรือรักษากันเองเบื้องต้นแล้วไม่หาย และหมอได้ถามคำถามหลายอย่างเช่น

“เป็นมานานเท่าไรแล้ว”
“เป็นตลอดเวลาหรือพักๆ”
“เกิดขึ้นทันทีหรือมีอาการอื่นอะไรก่อน”
“มีอาการมากตอนเวลาไหน”
“แต่ละครั้งมีอาการอยู่นานแค่ไหน”
“อะไรทำให้เป็นมากขึ้น อะไรทำให้ทุเลาลง”
“มีอาการอะไรร่วมด้วยบ้าง”
“ก่อนมีอาการเคยไปไหนมาไหนมาหรือเคยทำอะไรมา”
“เคยรักษาด้วยยาอะไรมาบ้าง”
“เคยแพ้ยาอะไรไหม”

พอหมอถาม คุณก็คงนิ่งคิดหรือบางทีคิดไม่ออก บอกไม่ถูกว่าตอนไหนเป็นอย่างไร บางท่านก็อาจคิดไปว่า ก็ไม่สบายอยู่ทำไมมาถามนั่นถามนี่อีก จะจ่ายยาหรือรักษาก็รีบรักษาเถอะน่า

หรือบางท่านก็ใช้วิธีเดาตอบส่งๆไป เป็นเวลานั้นมั้ง เคยแพ้มั้ง ใช้คำว่ามั้งๆ ไปเรื่อยๆ ท่านทราบไหมว่า ข้อมูลต่างๆที่ถูกถามนั้นมีความสำคัญที่นำมาพิจารณาในการรักษาและจ่ายยาให้คุณอย่างมาก

หากคุณให้ข้อมูลไม่ตรงหรือเพี้ยนก็อาจได้รับยาผิดๆไป หรือให้การรักษาผิดๆไป หรือมิฉะนั้นผู้ทำการรักษาอาจต้องดูอาการของคุณซึ่งต้องใช้เวลามากเข้าไปอีก

การเตรียมข้อมูลบางอย่างหรือจดเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น จะขอยกตัวอย่างเรื่องไข้มาให้เข้าใจกัน

เรื่องไข้ มีบางคนอาจคิดว่าไข้เป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ ไข้เป็นอาการแสดงออกของร่างกายให้เรารู้หรือเตือนเราว่า ร่างกายมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ และเป็นอาการที่อาจเกิดโรคต่างๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้รากสาดน้อย ไข้มาลาเรีย คออักเสบ(ต่อมทอนซิลอักเสบ) คางทูม วัณโรคปอด สมองอักเสบ หัด หัดเยอรมัน หลอดลมอักเสบ อีสุกอีใส ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ไข้เลือดออก เป็นต้น

มาดูกันครับว่า ไข้ของแต่ละโรคที่พบบ่อยมีอาการไข้แตกต่างกันอย่างไร

1. ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)

  • อาการ

มีไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ  หรือมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจให้รู้สึกเจ็บ แถวลิ้นปี่เวลาไอ
ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส
ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ท้องเดิน หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย
ถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza/Flu)

  • อาการ

มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาวๆร้อนๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง
มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดมักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก
ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วันแล้วค่อยๆลดลง
อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจจะเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่นๆจะทุเลาแล้วก็ตาม
บางคนเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการวิงเวียนเหมือนเมารถเมาเรือ เนื่องจากมีการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเองภายใน 3-5 วัน

3. หัด (Measles/Rubeola)

  • อาการ

มีอาการตัวร้อนขึ้นทันทีทันใด ในระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผิดกันตรงที่จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย ร้องงอแง เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ เป็นเพียงแค็กๆ น้ำตาไหล ตาแดง ไม่สู้แสง (จะหรี่ตาเมื่อถูกแสงสว่าง) หนังตาบวมตู่ อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดินในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น หรืออาจชักจากไข้สูง

ลักษณะเฉพาะของหัดก็คือจะมีผื่นขึ้นหลังมีไข้ 3-4วัน เป็นผื่นแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน ผื่นนี้จะจางหายได้เมื่อดึงผิวหนังให้ตึง ต่อมาผื่นจะลามไปหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยจะค่อยๆแผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้างรูปร่างไม่แน่นอน อาจมีอาการคันเล็กน้อย

ผื่นของหัดจะไม่จางหายไปทันที เช่นไข้ออกผื่นอื่นๆ แต่จะค่อยๆจางหายไปใน 4-7 วัน และจะเหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีน้ำตาลอ่อน บางคนอาจมีหนังลอก

อาการไข้จะขึ้นสูงสุดในระยะใกล้ๆ มีผื่นขึ้น และจะเริ่มลดเมื่อผื่นขึ้นแล้ว

อาการทั่วๆไปจะค่อยๆดีขึ้นพร้อมกับที่ผื่นจาง แต่อาจจะมีอาการไอต่อไปได้อีก
ในรายที่มีโรคแทรกซ้อน อาจมีอาการหอบ ท้องเดิน ซึม ไม่ค่อยรู้ตัวหรือชัก

4. หัดเยอรมัน/เหือด (German measles/Rubella)

  • อาการ

มีไข้ต่ำๆถึงปานกลาง ร่วมกับมีผื่นเล็กๆ สีชมพูอ่อนขึ้นกระจายทั่วไป ผื่นมักอยู่แยกจากกันชัดเจน (แต่อาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นได้) เริ่มขึ้นที่หน้าผากตรงชายผม รอบปาก และใบหูก่อน แล้วลงมาที่คอ ลำตัว และแขนขา ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้
ผื่นอาจขึ้นในวันเดียวกันที่มีไข้ หลังจากมีไข้ 1-2 วัน และมักจะจางหายภายใน 3-5 วันโดยจางหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งรอยแต้มดำๆ ให้เห็นเหมือนผื่นของหัด

บางคนอาจมีผื่นโดยไม่มีไข้ หรือมีไข้โดยไม่มีผื่น

บางคนอาจมีอาการแสบตาเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย

อาการโดยทั่วไปมักไม่ค่อยรุนแรง และดูท่าทาง ค่อนข้างสบาย

บางคนอาจติดเชื้อหัดเยอรมัน โดยไม่มีอาการแสดงใดๆเลยก็ได้

5. ไข้รากสาดน้อย/ไทฟอยด์ (Typhoid fever/Enteric fever)

  • อาการ

อาการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มแรกจะมีอาการไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออก บางครั้งมีอาการไอและเจ็บคอเล็กน้อย
มักมีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ถ่ายเหลวเสมอ
อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และกดเจ็บเล็กน้อย
ต่อมาไข้จะค่อยๆสูงขึ้นทุกวันและจับไข้ตลอดเวลาถึงแม้จะกินยาลดไข้ก็อาจไม่ลด ทุกครั้งที่จับไข้จะรู้สึกปวดศีรษะมาก

อาการไข้มักจะเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีไข้สูงอยู่นาน 3 สัปดาห์ แล้วค่อยๆลดลงจนเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นไข้อยู่นาน ๖ สัปดาห์ก็ได้
บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้านเป็นพักๆ เพ้อ หรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ

ผู้ป่วยจะซึมและเบื่ออาหารมาก ถ้ามีอาการมากกว่า 5 วัน ผู้ป่วยจะดูหน้าซีดเซียวแต่เปลือกตาไม่ซีด (เหมือนอย่างผู้ป่วยโลหิตจาง) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ที่เรียกว่าหน้าไทฟอยด์

6. อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)

  • อาการ

เด็กจะมีไข้ต่ำๆ  อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน
ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มมีไข้หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆอยู่ข้างใน มีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด

ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง

บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ

บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริมได้

เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้ จะค่อยๆออกทีละรอก (ชุด) ขึ้นไปพร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ดังลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)

7. คางทูม (Mumps/Epidemic parotitis)

  • อาการ

มักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดในรูหูหรือหลังหูขณะเคี้ยวหรือกลืนนำมาก่อน 1-3 วัน ต่อมาพบว่าบริเวณข้างหูหรือขากรรไกร มีอาการปวดบวมและกดเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นอาจมีลักษณะแดงร้อนและตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวไปที่หูขณะกลืน เคี้ยว หรืออ้าปาก บางคนอาจมีอาการอักเสบบวมที่ใต้คางร่วมด้วย

2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของต่อมน้ำลายทั้ง 2 ข้างโดยห่างกันประมาณ 4-5 วัน
อาการบวมจะค่อยๆยุบหายไปใน 7-10 วัน

บางรายอาจมีอาการขากรรไกรบวมโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน หรือมีเพียงไข้โดยขากรรไกรไม่บวมก็ได้

8. ไข้มาลาเรีย (Malaria)

  • อาการ

อาการจะเกิดหลังจากได้รับเชื้อโดยถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10-14 วัน (แต่อาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก็ได้) ใน 2-3 วันแรกอาจมีอาการปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ ต่อมาจึงจะมีอาการ ไข้จับสั่นเป็นเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมาลาเรีย

อาการจับไข้แบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ดังนี้

1. ระยะหนาว มีอาการหนาวสั่นมากและไข้เริ่มขึ้น ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กินเวลา 20-60 นาที
2. ระยะร้อน ไข้ขึ้นสูงประมาณ 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะมาก อาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา หน้าแดง ตาแดง กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ในเด็กอาจชักได้ กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง (อาจนาน 3-8 ชั่วโมง)
3. ระยะเหงื่อออก จะมีเหงื่อออกชุ่มทั้งตัว ไข้จะลดลงเป็นปกติ แต่จะรู้สึกอ่อนเพลีย และหลับไป กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

  • ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ มักจับไข้วันเว้นวันหรือทุก 48 ชั่วโมง เวลาไม่จับไข้จะรู้สึกสบายดี  มักจะคลำได้ม้ามโตในปลายสัปดาห์ที่ 2 ถ้าไม่ได้รักษาจะมีไข้วันเว้นวันประมาณ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน (อาจนานกว่านั้น) แล้วจะหายไปเอง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง แม้ว่าไข้จะหายไปแล้ว แต่อาจกลับเป็นได้ใหม่หลังจากหายไป 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน แต่อาการจะน้อยกว่าครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ บ่อย และมักไม่มีโรคแทรกร้ายแรง บางคนอาจกินเวลานานถึง 2-3 ปี กว่าจะหายขาด จึงเรียกว่ามาลาเรียเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม มักจับไข้ทุกวันหรือทุก 36 ชั่วโมง แต่อาจจับไม่เป็นเวลา อาจจับทั้งวันหรือวันละหลายครั้ง ระยะไม่จับไข้ก็ยังคงรู้สึกว่าไม่ค่อยสบายและอาจมีไข้ต่ำๆ อยู่เรื่อยๆ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย  ม้ามจะโตในวันที่ 7-10 ของไข้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ไข้จะกลายภายใน 3-5 วัน ถ้ารักษาไม่ถูกต้องอาจมีโรคแทรกร้ายแรงถึงตายได้ จึงเรียกว่า มาลาเรียชนิดร้ายแรง

9. ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)

  • อาการ

อาการของไข้เลือดออก ได้แก่
ผู้ป่วยจะมีไข้สูง (39-40 องศาเซลเซียส) ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีลักษณะไข้สูงลอยตามเวลา (กินยาลดไข้ ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ผู้ป่วยจะซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ

บางคนอาจบ่นปวดท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา หรือปวดท้องทั่วไป อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายเหลว

ส่วนมากจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมาก เช่นคนที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด แต่บางคนอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือไอบ้างเล็กน้อย

ในราววันที่ 3 ของไข้ อาจมีผื่นแดงไม่คันขึ้นตามแขนขาและลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ 2-3วัน บางคนอาจมีจุดเลือดออกมีลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้นไก่)

ในระยะนี้อาจคลำพบตับโต และมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 4-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้ก็จะลดลงในวันที่ 5-7 มักจะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าอาการไข้ของแต่ละโรคนั้นใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นบางท่านเมื่อรักษาตนเองเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เมื่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หากมีข้อมูลที่ดีก็จะช่วยให้แพทย์รักษาและให้ยาได้ถูกต้องและฉับไวขึ้น เพราะหมอก็มีเวลาคุยหรือถามอาการจากท่านน้อยเพราะคนไข้ที่รอคิวอยู่นั้นมีมาก

ในยุคสมัยที่เรื่องปฏิรูประบบต่างๆ กำลังจำเป็นสำหรับสังคมไทย ผู้ป่วยและหมอก็ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งกันและกันแล้วละครับ

 

ข้อมูลสื่อ

214-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 214
มีนาคม 2540
บทความพิเศษ
อื่น ๆ