• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อผูกแล้วต้องแก้

เมื่อผูกแล้วต้องแก้

 

ผูกหรือไม่ผูก คืออะไร

คำว่า “ผูก” ในที่นี้หลายคน คงสงสัยว่าคืออะไร แต่บางคนอาจจะเดาได้แล้วว่าเรากำลังจะพูดถึงคำว่า “ท้องผูก” ซึ่งเป็นอาการที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้ โดยปกติจะมีน้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ ประมาณ 1,500  มิลลิลิตร ที่จะผ่านลงมาสู่ลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพื่อผลิตเป็นอุจจาระประมาณ 50-200 กรัม แล้วแต่ปริมาณน้ำและอาหารที่แต่ละคนบริโภค เมื่อมีอุจจาระอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่างนี้ 200-500 กรัม คนเราจะรู้สึกอยากถ่ายหรือขับออกจากร่างกาย อุจจาระที่ขับออกมาจะยังคงมีน้ำอยู่ร้อยละ 75  ส่วนที่เหลือเป็นกากอาหารที่เหลือจากการย่อยและดูดซึมเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไปใช้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในลำไส้ส่วนนี้ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

อาการท้องผูก  จะหมายถึง การที่กากอาหารที่เหลือเคลื่อนผ่านลงสู่ลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ แต่ยังขับออกมาได้ เมื่อใดที่เราจะพูดว่าท้องผูกแล้ว เราจะดูจากจำนวนครั้งที่ถ่าย ความถี่ โดยทั่วไปของการถ่ายหนักคือสองถึงสามครั้งต่อวัน หรือวันละครั้ง แต่ถ้าถ่ายเพียงสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นจะถือว่า มีอาการท้องผูก
 

การขับออกเกิดขึ้นได้อย่างไร
การขับถ่ายกากอาหารจะเกิดขึ้นเมื่อกากอาหารหรืออุจจาระนั้น เคลื่อนลงไปสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัวเกิดความรู้สึกอยากถ่าย การถ่ายจริงจะอาศัยกล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนัก เป็นแรงดันช่วยขับก้อนอุจจาระออกมา คนเราจะมีกลไกอัตโนมัติที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายหลังกินอาหาร บางคนมีกลไกนี้ดีมาก กล้ามเนื้อต่าง ๆ แข็งแรง จึงถ่ายวันละสามครั้ง คนกลุ่มนี้จะไม่พบปัญหาท้องผูกเลย

แต่ในสังคมปัจจุบันนี้คนเราลองปรับตัวให้เข้ากับสังคม ต้องรีบทำงานแข่งกับเวลา จำเป็นต้องอยู่เสมอ ถึงเวลามีความรู้สึกอยากถ่ายแต่ไม่มีเวลาถ่ายก็ต้องอั้นไว้ เมื่อเป็นบ่อยเข้าทำให้กลไกอัตโนมัติและความไวของลำไส้ใหญ่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดเกิดอาการท้องผูกต้องใช้แรงดันมากกว่าปกติหลายเท่า ตัว เมื่อเกิดบ่อยเข้าจะทำให้หลอดเลือดและผนังเยื่อบุด้านในขงทวารหนักเกิดการโป่งพองออกมา ท้ายสุดเกิดเป็นติ่งที่เราเรียกว่า ริดสีดวงทวารหนัก นั่นเอง
,

ความรู้สึกเมื่อมีอาการท้องผูก

คนเราร้อยละ 10-20 ที่เคยผ่านประสบการณ์ท้องผูกมาแล้วอาการหรือความรู้สึกที่แต่ละคนเคยผ่านมาจะแตกต่างกันไป เพระอาการที่เกิดมีมากมาแล้วแต่บุคคลตั้งแต่อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ แน่นท้อง ท้องอืด ลิ้นเป็นฝ้า มีกลิ่นปาก มีไข้ต่ำ ๆ หงุดหงิด ถ้าเป็นบ่อยและนานเข้าจนทำให้เกิดริดสีดวงทวาร ก็จะทำให้มีความเจ็บปวดหรือเลือดออกเวลาถ่ายได้ ริดสีดวงทวารที่เกิดอาจจะอยู่ภายในหรือภายนอกกล้ามเนื้อหูรูดขอทวารหนักก็ได้
 

สาเหตุของอาการท้องผูก

สาเหตุที่มาของอาการท้องผูก โดยทั่วไปคือ
1. การขาดปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับการถ่ายอุจาระ นั่นคือ อาหารที่มีใยอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ รวมทั้งน้ำสะอาดที่ดื่มน้อยกว่าปกติในวันหนึ่ง ๆ
2. มีโรคของระบบทางเดินอาหารรบกวนอยู่ เช่น ถุงโป่งพองในลำไส้ การเป็นไส้เลื่อน เนื้องอก การอักเสบของเนื้อเยื่อภายในลำไส้ใหญ่ การมีรอยรั่วระหว่างผนังเนื้อเยื่อในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
3. ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ที่ทำงานน้อยกว่าปกติ
4. ความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในบางภาวะ ตัวอย่างเช่น เบาหวาน ไตวาย-เรื้อรัง ภาวะโพแทสเซียมต่ำ ภาวะตะกั่วเป็นพิษ
5. ยาบางประเภทที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ ยาชา ยากันชัก ยาแก้เศร้าซึม
6. สาเหตุจากระบบประสาทและจิต โรคทางระบบประสาทส่งผลให้การขับถ่ายผิดปกติได้ เช่น ภาวะเก็บกด ไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง
7. อุปนิสัย สิ่งแวดล้อม และความเคยชินในการทำกิจวัตรประจำวัน
 

ท้องผูกมักเกิดกับใคร

วันที่มักจะเกิดอาการท้องผูก คือวัยกลางคน ซึ่งกำลังมุ่งที่จะทำงานอย่างหนัก จนบางครั้งลืมแม้กระ-ทั่งเรื่องประจำวันของตนเอง และถ้ายิ่งมีปัญหาเรื่องของระบบทางเดินอาหารเข้ามาร่วมด้วยแล้วโอกาสเป็นก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นเท่าตัว

ผู้หญิงตั้งครรภ์ก็มีแนวโน้มที่ท้องผูกได้มากโดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่สองและสาม ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวของมดลูกที่มากดทับลำไส้ส่วนล่าง รวมทั้งฮอร์โมนในช่วงนี้มีผลให้อุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นาน

ในวัยสูงอายุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พบปัญหาท้องผูกได้บ่อย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากการดื่มน้ำน้อย บริโภคใยอาหารได้ไม่เพียงพอทำให้ปริมาณอุจจาระน้อยลง กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่ใช้ในการขับถ่ายก็อ่อนแรงลงกว่าวัยหนุ่มสาว ผู้สูงอายุจึงอาจมีอาการรุนแรง ปวดท้องได้มาก เนื่องจากลำไส้ถูกอุดตันด้วยอุจจาระที่แข็งมาก เวลาถ่ายอุจจาระจะเจ็บปวดมาก เด็กเล็ก ๆ ก็อาจเกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กล้วนเชื่อว่า การฝึกฝนเด็กเล็กให้ขับถ่ายด้วยวิธีบังคับขู่เข็ญ จะทำเด็กเกิดความวิตกกังวล เครียด เกลียดชัง และรู้สึกเป็นศัตรูกับการขับถ่าย
 

เราจะหาใยอาหารจากผักผลไม้ชนิดไหนได้บ้าง
ปกติวันหนึ่ง ๆ เราควรได้ใยอาหารประมาณ 30 กรัม ซึ่งจะเลือกจากผักและผลไม้ได้หลาย ๆ อย่างหมุนเวียนกันไป
- ถั่วชนิดต่าง ๆ จะเป็นกลุ่มที่มีใยอาหารสูง คือ มากกว่า 10 กรัมต่อ 100 กรัม หรือ 1 ขีด
- ผักชนิดต่าง ๆ จะมีใยอาหารปานกลางคือ 5-10 กรัมต่อ 1 ขีด เช่น ผักโขม ผักกระเฉด ผักตำลึง เห็ดหูหนู มะเขือ ถั่วฝักยาว ถั่วพู
- ผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น กล้วย ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ พุทรา ส้มโอ ในส้มโอจะมีสารที่เราเรียกว่าเปคตินที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จึงถูกขับออกมาให้เราเห็น บางคนกินแล้วอาจปวดท้องบ้าง ถ่ายเหลวบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเพราะส้มโอช่วยในการขับถ่าย ระบายท้อง ทำให้ลำไส้สะอาดท้องไม่ผูก
 

การใช้ยา จะเป็นวิธีสุดท้ายเพื่อช่วยในการขับถ่าย จะมีทั้งยากินและยาเหน็บ ซึ่งจะเป็นพวกหล่อลื่น หรือทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง การใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะมีผลทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ละลายในไขมัน คือ เอ ดี อี และเค และการเลือกใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากยามีทั้งประโยชน์และโทษพร้อม ๆ กัน ยาระบายที่เข้าน้ำมันไม่ควรใช้กับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากรสชาติที่จะมีผลทำให้กลืนลำบากและมีการสำลักนำไปสู่การเป็นปอดอักเสบได้ง่ายมาก
 

                                                                การแก้ไขอาการท้องผูก

1. วิธีแก้ไขท้องผูกที่ดีที่สุด คือการประพฤติตนให้ดี พยายามถ่ายให้ได้ทุกเช้า หรือทุกครั้งเมื่อรู้สึกอยากถ่าย อย่าผลัดกับตัวเองเพราะจะติดเป็นนิสัย
2. มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 10-15 นาที โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหูรูด
3. อาหารและน้ำ นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาท้องผูก เรื่องของผักและผลไม้ นับเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร ซึ่งหาไม่ได้ในเนื้อสัตว์และไขมัน ในร่างกายไม่มีน้ำย่อยที่จะย่อยใยอาหาร ใยอาหารจึงผ่านลงสู่ลำไส้ลำไส้ใหญ่ และถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ย่อยสลาย เป็นผลทางอ้อมให้อุจจาระอุ้มน้ำไว้ได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มปริมาณของอุจจาระด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการบีบตัวของทวารหนัก เร่งการขับถ่ายอุจจาระออกมา
4. ถ้าเด็กเล็กมีอาการท้องผูกไม่ยอมถ่าย แม้จะออกแรงเบ่งจนหน้าเขียวหน้าดำแล้วก็ตาม คุณแม่ไม่ควรใช้ลูกยางสวนทวาร หรือปรอทวัดไข้ชนิดแบบที่สวนทวารได้ ไม่ควรนำมาใช้กับเด็ก แต่ให้นำเด็กไปปรึกษาแพทย์ เพราะท้องผูกนั้นมีหลายสาเหตุและบ่อยครั้งที่เกิดจากสภาพจิตใจ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนปัญหาทางกาย
 

ข้อมูลสื่อ

201-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 201
มกราคม 2539
เรื่องน่ารู้
อจ.จุรีพร จิตจำรูญโชคไชย