• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ระยะต่าง ๆ ในการคลอด

ระยะต่าง ๆ ในการคลอด

คู่มือเกี่ยวกับมารดาหลายเล่มจะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น อาการแพ้ท้อง อาการเด็กดิ้น  และอาการเจ็บครรภ์ มีหนังสือไม่กี่เล่มที่จะพูดถึงรายละเอียดในการคลอดและสาเหตุที่จะเกิดขึ้นในห้องคลอด ทั้งที่เป็นสิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการที่จะรู้และการเรียนรู้นั้นเป็นการเตรียมความพร้อมของหญิงตั้งครรภ์ในการคลอด

ตามหลักวิชาการสูติศาสตร์แบ่งระยะของการคลอดเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่เริ่มเจ็บครรภ์จริง เริ่มมีการเปิดของปากมดลูก จนมีการเปิดของปากมดลูกเต็มที่ นับเป็นระยะที่หนึ่งของการคลอด ระยะที่สอง คือ ระยะคลอด นับตั้งแต่เบ่งจนเด็กคลอดออกมา และระยะที่สาม คือระยะคลอดรก ระยะเวลาที่ใช้ในการคลอดทั้งสามระยะนี้ประมาณ 14 ชั่วโมง ในครรภ์แรก และ 8 ชั่วโมงในครรภ์หลัง  หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องผ่านการคลอดทั้งสามระยะนี้เช่นเดียวกัน แต่ในบางคนจะไม่รู้สึกเจ็บครรภ์จนปากมดลูกเปิดเกือบหมด จนเกิดความรู้สึกอยากเบ่ง นั่นคือเริ่มเข้าสู่ระยะที่สองของการคลอดแล้ว

การประเมินระยะต่างๆของการคลอด จะประเมินจากอาการเจ็บครรภ์และความรุนแรงของการเจ็บร่วมกับการตรวจภายในดูการเปิดของปากมดลูกเป็นระยะ

ระยะที่หนึ่งของการคลอด
ในระยะที่หนึ่งนี้ยังแบ่งย่อยอีก 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่ยาวนานที่สุดของการคลอด แต่เป็นระยะที่มีผลกระทบต่อผู้คลอดน้อยที่สุด กล่าวคือ จะมีเพียงการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูก โดยการบางตัวและค่อยๆเปิดไปจนถึงเปิดกว้างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนนี้บางคนอาจจะเป็นวันหรือสัปดาห์ โดยที่ไม่มีอาการท้องแข็งหรือเจ็บครรภ์ให้รู้สึกได้ ส่วนมากจะมีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วยไม่เกิน 6-8 ชั่วโมง ดังนั้นถ้านับจากอาการเจ็บครรภ์ในระยะนี้ไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมง และลักษณะอาการเจ็บครรภ์จะสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ได้ จะมีอาการเจ็บนาน  30-45 วินาที และอาจจะมีลักษณะเจ็บแบบน้อยๆ ไปจนถึงเจ็บอย่างรุนแรง และเว้นระยะการเจ็บ 5-20 นาที ลักษณะการเจ็บยังคงไม่สม่ำเสมอมาก บางคนอาจจะไม่รู้สึกเจ็บปวด รู้แต่ว่ามีอาการท้องแข็งเป็นพักๆ เวลาที่เหมาะสมที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อคลอด คือ ระยะปลายของระยะที่หนึ่งนี้

อาการที่คุณจะรู้สึกหรือสังเกตได้ อาการที่พบได้เกือบทุกคน คืออาการปวดหลัง ซึ่งจะมีอาการท้องแข็งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ บางคนจะรู้สึกปวดถ่วงท้องน้อยเหมือนเวลามีประจำเดือน แน่นอึดอัดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย รู้สึกร้อนในช่องท้อง และมีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด อาการเหล่านี้บางคนจะมีเพียงอาการเดียว บางคนจะมีครบทุกอาการ บางงคนอาจจะมีน้ำเดินก่อนการเจ็บครรภ์เนื่องจากถุงน้ำแตก แต่ส่วนมากถุงน้ำหล่อเด็กจะแตกในระยะที่มีการเจ็บครรภ์ถี่ หรือบางคนแพทย์จะต้องใช้เครื่องมือช่วยเจาะถุงน้ำเมื่อการคลอดดำเนินไปได้ดี และจะเริ่มเข้าสู่ระยะเบ่งคลอด

คุณต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง สิ่งที่ผู้คลอดควรปฏิบัติในระยะนี้คือ

  • ผ่อนคลาย แพทย์มักจะแนะนำให้คุณพักผ่อนอยู่ที่บ้านในระยะนี้และมีผู้คลอดบางคนอาจจะได้รับคำบอกเล่าว่า “มาโรงพยาบาลเร็วเกินไป” ควรจะรอจนกว่าอาการเจ็บครรภ์มากกว่านี้ แต่ในกรณีที่คุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คุณควรจะรีบไปโรงพยาบาลทันที เช่น มีน้ำเดิน หรือน้ำที่ออกมามีสีเขียวปนเลือดออกทางช่องคลอดเป็นเลือดสีแดงสด รู้สึกว่าเด็กไม่ดิ้น
  • ถ้าเป็นเวลาตอนกลางคืน ควรพยายามนอนให้หลับ คุณควรพักผ่อนออมแรงไว้ในการคลอดที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะหลับจนไม่รู้สึกตัว เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอดอาการเจ็บครรภ์ที่ถี่มากขึ้นจะทำให้คุณนอนไม่หลับและถ้าคุณไม่อยากนอน ก็ควรจะลุกขึ้นเดินทำอะไรเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้ความสนใจเบี่ยงเบนออกจากการเจ็บครรภ์ เช่น การจัดกระเป๋าเตรียมของใช้ไปโรงพยาบาล เตรียมของใช้เด็กอ่อน การนอนอยู่นิ่งๆ จะทำให้การคลอดล่าช้าออกไป
  • ถ้าเป็นเวลากลางวัน คุณควรทำทุกอย่างให้เหมือนกับกิจวัตรปกติประจำวัน แต่ไม่ควรเดินทางออกนอกบ้านไกลๆ พยายามหางานทำ อย่าให้ตัวเองอยู่ว่างๆ หาสิ่งที่น่าสนใจทำ เช่น เตรียมอาหารเก็บตุนไว้เมื่อไม่อยู่บ้าน หรือดูทีวีเพื่อผ่อนคลาย
  • พยายามทำให้ตัวเองมีความสบาย เช่น อาบน้ำอุ่น หรือน้ำเย็นตามใจชอบ หรืออาจจะใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางประคบหลังเพื่อช่วยให้คลายปวดได้ แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวด
  • กินอาหารอ่อนหรืออาหารว่างเบาๆ ถ้าคุณรู้สึกหิวไม่ควรกินอาหารหนักเต็มมื้อ เช่น ข้าวผัด ข้าวเหนียว ฯลฯ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยนานกว่าจะหมดจากกระเพาะอาหาร ถ้ามีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นระหว่างการคลอด จะเป็นอุปสรรคในการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น ไม่สามารถให้ยาสลบได้
  • สังเกตดูการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกภายในเวลา 1/2 ชั่วโมง เพื่อดูลักษณะความถี่ของการแข็งตัวว่าเกิดขึ้นทุก 10 นาทีหรือไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องเฝ้าจับเวลาอยู่ตลอดเวลา
  • พยายามเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่าง จะไม่เกิดอุปสรรคกีดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

ระยะปากมดลูกเปิดเร็ว
ระยะนี้จะสั้นกว่าระยะที่หนึ่งมาก จะใช้เวลาประมาณ 2-3 1/2 ชั่วโมง การหดรัดตัวของมดลูกจะมีความสำคัญมากในระยะนี้ มดลูกควรจะหดรัดตัวแรงและนาน 40-60 วินาที ในความถี่ 3-4 นาที ปากมดลูกจะเปิดมากมากขึ้นจาก 3 เซนติเมตร ถึง 7 เซนติเมตร การหดรัดตัวของมดลูกจะต้องสม่ำเสมอ  โดยระยะพักจะน้อยลงเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อคลอด

สิ่งที่คุณควรปฏิบัติ

  • เริ่มต้นการหายใจที่ฝึกฝนไว้ โดยทำควบคู่ไปกับการเจ็บท้องที่ถี่มากขึ้นในกรณีที่คุณมิได้ฝึกการหายใจไว้ ควรพยายามควบคุมการหายใจเข้า-ออก ตามวิธีที่พยาบาลในห้องคลอดแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้คุณสบายขึ้น
  • ถ้าคุณรู้สึกหิวหรือกระหายน้ำ อาจจะดื่มน้ำได้เล็กน้อย และถ้าแพทย์อนุญาตควรกินอาหารว่างเบาๆ ถ้าแพทย์ไม่อนุญาต ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ แต่โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้น้ำทางเส้นเลือดดำแทน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในระยะคลอด
  • พยายามใช้เวลาที่พักระหว่างการเจ็บครรภ์อย่างคุ้มค่า โดยการนอนให้นิ่งและสงบอารมณ์ เพื่อเก็บพลังไว้ใช้ในการคลอด
  • ถ้ายังสามารถลุกเดินไหว อาจจะลุกเดินรอบๆเตียงบ้าง หรือขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ ให้ร่างกายได้ผ่อนคลายความเกร็งตัว
  • อย่าลืมว่าการถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างอยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้การคลอดเป็นไปได้ด้วยดี
  • ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องการระงับอาการปวด ควรบอกแพทย์หรือพยาบาล

                                          ********************************

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

214-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 214
กุมภาพันธ์ 2540
อื่น ๆ
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล