• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บวบ : ผักผลพื้นบ้าน ดอกนั้นสีงาม

บวบ : ผักผลพื้นบ้าน ดอกนั้นสีงาม


“สองเต้าห้อยตุงตังถุงตะเคียว
โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม
มันเน่าเชยน่าชมนางเทวี...”

บทกลอนข้างต้นนี้คัดมาจากบทละครเรื่อง ระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่งไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 นับเป็นหนังสือกลอนชั้นเอกเรื่องหนึ่งจำพวกเรื่องล้อเลียนขบขัน กลอนที่ยกมานั้นเป็นบทชมโฉมนางประแดะ เมื่อระเด่นลันไดมาพบครั้งแรก อ่านแล้วนึกเห็นภาพได้ชัดเจนว่านางประแดะมีความงามขนาดไหน โดยเฉพาะภาพ “สองเต้า” ซึ่งเปรียบเทียบกับถุงตะเคียว (ถุงที่ถักเป็นตาโปร่งมีหูรูดสำหรับหุ้มถลกบาตร) และบวมต้ม อันเป็นลักษณะที่คนไทยสมัยโน้นทราบและเข้าใจกันทั่วไป เพราะพบเห็นอยู่เสมอ (ทั้งถุงตะเคียวและบวบต้ม) คงคล้ายกับสมัย 30 ปีก่อนที่เพลงลูกทุ่งใช้เปรียบเทียบด้วย “ถุงกาแฟ” นั่นเอง

ผู้อ่านส่วนใหญ่คงไม่รู้จักถุงตะเคียวกันแล้ว แต่เชื่อว่าคงยังรู้จักบวบต้มกันอยู่ แม้บวบต้มสมัยนี้จะนิยมนำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ เสียก่อน มิได้ต้มทั้งลูกเหมือนสมัยระเด่นลันไดก็ตาม แสดงว่าบวบยังคงเป็นผักที่ชาวไทยนิยมอย่างแพร่หลายสืบต่อมาจนปัจจุบัน ดงเห็นจากสำนวนในภาษาไทยเกี่ยวกับบวบก็ยังใช้กันอยู่ เช่น คำว่า “ลูกบวบ” ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายไว้ว่า... “ชื่อไม้ไผ่ที่มัดเป็นแพกลม ๆ เรียกว่าแพลูกบวบ ; เรียกหลังคามุงกระเบื้องแบบจีนที่เป็นลอน ๆ ว่าหลังคาลูกบวบ ; ชายจีวรพระสงฆ์ที่ม้วนให้กลมแล้วพาดบ่า หรือหนีบรักแร้ เมื่อเวลาครองผ้า เช่น พาดลูกบวบ หนีบลูกบวบ” และ “ทองดอกบวบ” คือ ทองเนื้อหก มีสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกบวบ” เป็นทองคำที่มีเนื้อทองคำผสมอยู่ 6 ส่วนใน 9 ส่วน เปรียบกับมาตราปัจจุบันใกล้เคียงกับทองคำ 16 เค (16 ส่วนใน 24 ส่วน) นั่นเอง

ทองดอกบวบนี้สีอ่อนกว่าทองคำบริสุทธิ์และใกล้เคียงกับสีกลีบดอกบวบมาก จึงเรียกว่าทอง(สี)ดอกบวบ นิยมในหมู่คนไทยที่ไม่ร่ำรวยเป็นเศรษฐีในสมัยก่อน เหมือนคนไทยปัจจุบันนิยมใช้ทองเค แต่เศรษฐีนิยมทองคำ 99.99 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
           

หลากชนิดของบวบไทย

พืชที่คนไทยเรียกขึ้นต้นว่าบวบ นั้นมีหลายชนิด แต่อยู่ในวงษ์เดียวกัน คือ cucurbitaceac และเป็นไม้เถา ดอกสีเหลืองเช่นเดียวกัน เช่น

1.บวมเหลี่ยม ซึ่งทางพฤกษศาสตร์ คือ Luffa acutangula (Linn.)Roxb. เป็นไม้เถาเลื้อย สามารถ
เกาะขึ้นไปตามต้นไม้หรือร้านที่ทำไว้ให้ ใบเถา มีขนปลุกคลุม ดอกสีเหลืองอ่อนผมยาว โคนเล็กกว่าปลาย มีเหลี่ยมเป็นสันคมตามยาวของผล แถบอินเดียว-เอเชียอาคเนย์ ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วไปในทุกภาค ภาคเหนือเรียกมะนอยเหลี่ยมหรือมะนอยข้อง

2.บวมหอมหรือบวมกลม ชื่อ ทางพฤกษศาสาตร์ คือ Luffa cylindrica Roem. ลักษณะต่างๆ คล้าย
กับบวบเหลี่ยม แต่ผลกลมยาวไม่มีเหลี่ยม เป็นรูปทรงกระบอก มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยนิยมปลูกในภาคเหนือและอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ ภาคเหนือเรียกมะนอยอ้มหรือมะบวมอ้ม

3.บวมขม ชื่อทาง พฤกษศาสตร์ คือ Trichosanthes cucumerina Linn. เป็นบวบชนิดเดียวกับบวบหอม แต่บวบผลเล็กสั้นและมีรสขมมาก มักขึ้นเองในป่าหรือตามที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ใช่กินเป็นผัก แต่ใช้เป็นยาหรือประโยชน์ด้านอื่น ภาคเหนือเรียกมะนอยขม

4.บวบงู หรือทางพฤกษศาสตร์ คือ Trichosanthes anguia Linn. มีลักษณะทั่วไปคล้ายบวบเหลี่ยม แต่ดอกขนาดเล็กกว่าบวบเหลี่ยม แต่ดอกขนาดเล็กกว่าบวบเหลี่ยมมาก ผลกลมยาวปลายแหลมและบิด สีผลเขียวลายขาว เมื่อสุกมีสีแสดแดงทั้งผลและนิ่มเละ มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียอาคเนย์และจีน นิยมปลูกทั่วไปโดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ เรียกหมากงูเงี้ยว ภาคเหนือเรียกมะนอยงู

บวบนับเป็นผักพื้นบ้านที่มีความหลากหลายที่สุดจำพวกหนึ่ง เพราะนอกจากมีหลายชนิด (species) เช่น บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม ฯลฯ แล้วภายในแต่ละชนิดก็ยังมีความหลากหลายของสายพันธุ์ (varieties) อีกด้วย เช่นบวบหอม ฯลฯ แล้วภายในแต่ละชนิดก็ยังมีความหลากหลายของสายพันธุ์ (varieties) อีกด้วย เช่น บวบหอมซึ่งนอกจากบวบหอมแล้วยังมีบวบขมและบวบพวงอยู่ในชนิดเดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันมากอีกด้วย เช่น บวบหอมมีขนาดใหญ่และยาว รสหวาน บวบขมผลเล็กและสั้นกว่าบวบหอม รสขมจัด ส่วนบวบพวงมีผลขนาดเล็กมาก แต่ออกผลเป็นพวงดกมาก รสคล้ายบวบหอม ยิ่งกว่านั้นทั้งบวบหอม บวบขม และบวบพวง ก็ยังมีสายพันธุ์ย่อย ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างออกไปอีกมากมาย เช่นเดียวกับบวบเหลี่ยมและบวบงู ซึ่งมีสายพันธุ์แตกต่างออกไปเหมือนกัน

บวบจึงเป็นผักพื้นบ้านที่น่าปลูกมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากให้ประโยชน์ได้มากมายแล้ว ยังปลูกง่ายและเลือกสายพันธุ์ปลูกได้หลากหลายอีกด้วย

                                                                                อาหาร

บวบมีหลายชนิดและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่คนไทยรู้จักบวบในฐานะเป็นผักอย่างหนึ่งมากที่สุด บวบเหลี่ยมนับเป็นผักที่รู้จักแพร่หลายหาซื้อได้ในตลาดทั่วประเทศไทยและมีตลอดปี ผลอ่อนของบวบเหลี่ยมใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น ใช้เป็นผักจิ้มกับเครื่องจิ้มต่าง ๆ (น้ำพริกปลาร้า ปลาเจ่า ฯลฯ) นิยมต้มให้สุกหรือนึ่งเสียก่อน (ปิ้ง หมก หรือ หลาม ฯลฯ ก็ได้) นอกจากนี้ยังใช้แกงจืด แกงเลียง แกงอ่อม ผัด เป็นต้น

ในภาคอีสานบางท้องถิ่นใช้ยอดอ่อนของบวบเหลี่ยมเป็นผักด้วย ใช้ปรุงอาหารเช่นเดียวกับผลอ่อน แต่มีรสขมกว่าผลอ่อน

บวบหอมและบวมงูก็ใช้ปรุงหารได้คล้ายคลึงกับบวบเหลี่ยม เพียงแต่มีกลิ่นรสแตกต่างออกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะชอบชนิดใดมากกว่า
บวบเป็นผักที่มีแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสมาก รวมทั้งกาก (fiber) ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ
 

                                                                            ประโยชน์อื่น ๆ

นอกจากใช้เป็นผักแล้ว บวบยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์อีกหลายประการ เช่น เมื่อผลบวบแก่จนแห้งแล้วจะมีเส้นใยที่เหนียว โปร่ง และยืดหยุ่นได้ดี นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ถูตัวต่าง ฟองน้ำ ซึ่งนิยมกันมากในทวีปยุโรป ชาวไทยก็นิยมมากขึ้นเช่นกัน หรือนำมาขัดถูล้างถ้วยชามแทนฝอยขัดชนิดต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเลิกใช้แล้วไม่เกิดปัญหาการย่อยสลายเพราะเป็นเส้นใยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ตกแต่งเป็นดอกไม้ประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งใช้รองป้านชา และยัดในรองเท้า เพื่อรักษารูปทรง
 

                                                                                สมุนไพร

ประโยชน์หลักด้านหนึ่งของบวบ ก็คือ ด้านสมุนไพร เพราะบวบสามารถนำมารักษาโรคของมนุษย์ได้หลายอย่าง

ในประเทศจีนนำผลบวบแก่มาเผาให้เป็นเถ้า (นิยมใช้บวบหอม) แล้วนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและยาขับลม น้ำคั้นจากผลสดใช้เป็นยาระบาย เมล็ดแก่ ใช้ทำให้อาเจียนและเป็นยาถ่าย น้ำมันที่บีบจากเมล็ด ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง

ในทวีปแอฟริกา ใช้ยอดอ่อนของบวบหอมขับปัสสาวะและขับน้ำนม สำหรับประเทศไทยนั้นแพทย์แผนไทยรู้จักนำบวบมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ มากเช่น
บวบขม : เถามีรสขม ; แก้พิษน้ำดีพิการ บำรุงน้ำดี กัดเสมหะ เนื้อในเมล็ดบวบขม ; รสขมเบื่อ ทำเป็นผงชงน้ำร้อนดื่ม ทำให้อาเจียน ถอนพิษยาเบื่อเมา แก้หืด แก้ไอ ขับเสมหะ รังในผล ; รสขมจัด ใช้ฟอกศีรษะแก้รังแค แก้เหา หั่นสูบแก้ริดสีดวงจมูก
บวบเหลี่ยม : เมล็ดแก่ ; รสขม กินให้อาเจียน
บวบหอม : ใบสด ; รักษาแผลสด ห้ามเลือด

 

ข้อมูลสื่อ

201-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 201
มกราคม 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร