• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขมิ้น : สีเหลืองที่กินก็ได้ทาก็ได้

ขมิ้น : สีเหลืองที่กินก็ได้ทาก็ได้



นกขมิ้นเหลืองอ่อนเอย ค่ำแล้วจะนอนที่ตรงไหน
จะนอนที่ไหนก็นอนได้ สุมทุมพุ่มไม้ก็เคยนอน...

บทเพลงที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นบทเพลงกล่อมเด็กแถบภาคกลางของไทยชื่อเพลงนกขมิ้น ซึ่งถือว่าเป็นเพลงกล่อมเด็กที่นิยมขับร้องกันแพร่หลายที่สุดเพลงหนึ่ง เนื่องจากมีเนื้อเพลงลึกซึ้งกินใจ แสดงถึงความเมตตาอาหาร ห่วงใย ต่อนกสีเหลืองอ่อนตัวน้อย น่ารัก ซึ่งไร้รังนอน ต้องพเนจรร่อนเร่เรื่อยไปเหมือนสำนวน “ค่ำไหนนอนนั่น”

จากบทเพลงกล่อมเด็กเพลงนี้ ทำให้นกขมิ้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนพเนจรที่ร่อนเร่จากบ้านหรือถิ่นที่อยู่ไป ดังบทกวีและบทเพลงอีกหลายเพลงที่แต่งขึ้นในช่วงหลังก็ยังสะท้อนสัญลักษณ์นี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือเพลงนกสีเหลืองของวงคาราวาน ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ตาม ต่างสะท้อนการพลัดพรากจากกัน หรือร่อนเร่พเนจรไป ด้วยสัญลักษณ์คือ นกขมิ้น (หรือนกสีเหลือง) และสามารถสื่อความหมายให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจและซาบซึ้งได้เป็นอย่างดี
การใช้นกขมิ้นเป็นสัญลักษณ์ของการพเนจรร่อนเร่ไป คงเกิดจากความช่างสังเกตและละเอียดอ่อนของคนไทยสมัยก่อนที่พบว่านกขมิ้นเหลืองอ่อนไม่สร้างรังและจะเปลี่ยนที่นอนไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จากไปหลายเดือนกว่าจะกลับมาให้เห็นใหม่ ทั้งนี้เพราะนกขมิ้นเหลืองอ่อนหรือชื่อทางการคือ นกขมิ้นท้ายทอยดำนั้น ทำรังผสมพันธุ์ อยู่ในประเทศจีน แต่ลงมาหากินในประเทศไทยช่วงตุลาคมถึงเมษายนเท่านั้น คนไทยจึงไม่พบนกขมิ้นทำรังอยู่เป็นหลักแหล่งเหมือนนกพื้นบ้านชนิดอื่น

มีคำทายในหมู่เด็กไทยภาคกลางยุคก่อนซึ่งนิยมทายกันมากข้อหนึ่ง คือ “อะไรเอ่ย หัวฝังอยู่ในดิน ตัวบินอยู่บนฟ้า” คำตอบคือ “ขมิ้น” เพราะหัวขมิ้นอยู่ในดิน และนกขมิ้นอยู่บนฟ้า แต่มีชื่อเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้มีชื่อร่วมกันก็คือสีเหลือง
นกขมิ้นมีสีเหลืองและหัวขมิ้นก็มีเนื้อสีเหลือง เชื่อว่าคนไทยคงรู้จักขมิ้นซึ่งเป็นพืชและใช้ประโยชน์จากหัวขมิ้นมาก่อน เมื่อพบนกสีเหลืองจึงตั้งชื่อว่านกขมิ้นด้วย

รู้จักพืชที่ชื่อขมิ้นอันหลากหลาย
คนไทยเรียกชื่อพืชขึ้นต้นด้วยคำว่า ขมิ้นมากมายหลายชนิด มีทั้งหัวไม้พุ่มและไม้เถา รวมมากกว่า 15 ชนิด ในที่นี้จะยกมาเฉพาะที่เป็นพืชหัวเพียงสามชนิด เพราะเป็นขมิ้นที่คนไทยคุ้นเคยและใช้ประโยชน์มากที่สุดได้แก่


ก. ขมิ้นชัน บางทีเรียกขมิ้นแดง หรือว่างนางคำ ภาคใต้เรียก มิ่น หรือขี้มิ่น ภาษาอังกฤษเรียก Cur-
Cuma หรือ Turmeric ชื่อทางพฤกษาศาสตร์คือ Curcuma longa Linn. เป็นพืชหัวลง อายุหลายปี ลำต้นอยู่ใต้ดิน ชูก้านใบขึ้นมาเป็นลำดับเทียม ใบคล้ายพุทธรักษา กลางใบมีสีแดงคล้ำ งอกงามในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งใบจะโทรม แห้งเหี่ยว เหลือแต่หัว(ลำต้น)อยู่ใต้ดิน และงอกใหม่ในฤดูฝน หรือหัวเหง้า(ลำต้น) ใต้ดิน มีลักษณะอ้วนสั้นและแตกแขนง เนื้อในสีเหลืองจำปา (ปนแสด) มีกลิ่นฉุน



ข. ขมิ้นอ้อย บางทีเรียกขมิ้นหัวขึ้นหรือว่านเหลือง ภาคเหนือเรียกขมิ้นขึ้น ภาษาอังกฤษเรียก Ze-
deory ชื่อทางพฤกษาศาสตร์คือ Curcuma zedoria Roscoe มีลักษณะคล้ายขมิ้นชัน ต่างกันตรงใบของขมิ้นอ้อยมีขนนิ่มที่ด้านล่าง หัวหรือเหง้า (ลำต้น) ใต้ดินของขมิ้นอ้อยมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อในมีสีเหลืองอ่อนกว่าและกลิ่นฉุนน้อยกว่าขมิ้นชัน หัวหรือเหง้ามักโผล่พ้นดินจึงเรียกขมิ้นหัวขึ้น



ค. ขมิ้นป่า บางทีเรียกขมิ้นขาวชื่อทางพฤกษาศาสตร์คือ Curcuma parviflora Wall. ลักษณะคล้าย
ขมิ้นชัน แต่เนื้อในสีขาวอมเหลืองอ่อนกลิ่นน้อย นิยมใช้เป็นผัก

มีสำนวนไทยโบราณสำนวนหนึ่งที่ยังนิยมใช้จนถึงทุกวันนี้นั่นคือ สำนวน “ขมิ้นกับปูน” ซึ่งหมายความว่าไม่ถูกกัน หรือชอบวิวาทกันอยู่เสมอเมื่ออยู่ใกล้กัน
สำนวนนี้คำไทยสังเกตจากคุณสมบัติของขมิ้นกับปูนนั่นเอง กล่าวคือ ขมิ้นมีฤทธิ์เป็นกรด ส่วนปูนมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อมาผสมกันเข้าก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น เปลี่ยนขมิ้นจากสีเหลืองและปูนสีขาวกลายเป็นสีแดง ซึ่งก็คือ ปูนแดงที่ใช้กินกับหมากนั่นเอง

น่าสังเกตว่าพวกแขก(อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา) ซึ่งนิยมกินหมากและคงเป็นผู้เผยแพร่การกินหมากให้คนไทย) เขาใช้ปูนขาวกินกับหมาก แต่คนไทยใช้ปูนแดง (ปูนขาวและขมิ้น) แทน เพราะปูนแดงไม่กัดปากเหมือนปูนขาว (ที่มีฤทธิ์เป็นด่างมาก)
ปูนแดงจึงเป็นภูมิปัญญาของไทยที่ใช้ประโยชน์จากปูนขาวและขมิ้นที่แขกก็มี แต่ไม่รู้จักนำมาใช้ประโยชน์เหมือนคนไทย
เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อยหรือเป็นผดผื่นคัน คนไทยแต่ก่อนนิยมใช้ปูนแดงทารักษาอาการดังกล่าว ปูนแดงจึงเป็นปูนสารพัดประโยชน์ เช่นเดียวกับขมิ้นซึ่งใช้กินก็ได้ทาก็ได้ เหมือนยาโบราณบางชนิดที่เขียนในสมุดข่อยว่า “กินกได ทากได” นั่นเอง

ขมิ้นให้ประโยชน์ได้มากมายรอบด้าน แต่กลับเป็นพืชที่ปลูกง่ายอย่างยิ่ง เพียงแต่นำเหง้า (หรือหัว) ของขมิ้น มาปลูกลงดินในช่วงต้นฤดูฝน แล้วเก็บหัวขมิ้นมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง (หมดฝนแล้ว ประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป) หรืออาจปลูกในกระถางก็ได้ เพราะขนาดของขมิ้นไม่ใหญ่โตนัก รูปทรงใบก็งดงาม ใช้ประดับบ้านได้ จึงน่าปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับพืชพื้นบ้านอีกหลายชนิด ซึ่งไม่เหลือปากว่าแรงแต่อย่างใดเลย
 

                                                                                            อาหาร

ขมิ้นทั้งสามชนิดนี้ยกมาข้างต้นนั้นล้วนมีบทบาทสำคัญในตำรับอาหารไทยมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
เริ่มจากขมิ้นขาว ซึ่งนิยมนำหัวหรือเหง้ามา เป็นผักโดยเฉพาะจิ้มน้ำพริกหรือปลาร้า
ส่วนขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย นั้นไม่นิยมกินเป็นผักโดยตรง แต่นำไปประกอบอาหารโดยเป็นส่วนประกอบของแกงบางชนิด เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา (หรือพุงปลา) แกงคั่ว แกงแขก แกงกอและ ฯลฯ ของภาคใต้
แกงส้มของจังหวัดเชียงราย แกงเผ็ดป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
แกงเหล่านี้ล้วนใช้ขมิ้นชัน เป็นเครื่องปรุงด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ในข้างแขกและข้าวหมกไก่ ก็ใช้ขมิ้นชัน
ส่วนข้าวเหนียวเหนียวหน้ากุ้งและขนมเบื้องญวนใช้ขมิ้นอ้อย
ขมิ้นชังใช้แต่งสีเนย เนยแข็งมัสตาร์ด และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย เพราะนอกจากให้สีเหลืองแล้วยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคกันบูดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของผงกะหรี่ Curry Poder ซึ่งนิยมใช้ปรุงอาหารหลายชนิด เช่น แกงกะหรี่ ข้าวผัดกะหรี่ ฯลฯ
 

                                                                                               สมุนไพร

นอกจากโดดเด่นด้านอาหารแล้ว ขมิ้นยังรู้จักกันดีในฐานะสมุนไพรที่ใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตคนไทย โดยเฉพาะขมิ้นชันและขมิ้นอ้อย

ขมิ้นชัน ใช้กินเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง แก้ท้องขึ้น ทำให้ผายลมแก้ท้องมาน รักษาแผลในกระเพาะอาหารและแก้ไข้
ภายนอก ใช้ดมแก้หวัดคัดจมูก ทาตัวแก้โรคผิวหนังผื่นคันหุงในน้ำมันเป็นยาสมานแผล ผสมปูนทาแก้ฟกช้ำดำเขียว

ขมิ้นอ้อย ใช้กิน แก้ท้องร่วงรักษาลำไส้ คุมยาถ่ายไม่ให้ระบายมากเกินไป แก้ปวดท้อง ขับลม แก้อาเจียน แก้ไข้ ช่วยฟอกเลือด
ภายนอกใช้น้ำคั้นจากหัว ทาแก้ฟกช้ำบวม หุงในน้ำมันใช้สมานแผล
 

                                                                            ประโยชน์อื่น ๆ

สมัยก่อนชาวไทยนิยมใช้ผงขมิ้นชันทาตัวหลังอาบน้ำ เพื่อให้ถั่วเหลืองและป้องกันรักษาโรค ผิว-หนังผื่นคัน นิยมทาตัวสตรี เด็ก และทาศีรษะหลังโกนผม เช่น เด็ก ภิกษุ สามเณร เป็นต้น กล่าวกันเป็นตำนานว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ชอบเอาขมิ้นมาโขลกทาศีรษะจนเป็นสีเหลืองอยู่เสมอ แม้ในปัจจุบันเมื่อนาคโกนหัวเสร็จยังนิยมทาด้วยขมิ้นอยู่เพื่อรักษาแผลที่เกิดจากมีดโกน

เนื่องจากขมิ้นชันมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า Curcumin อยู่มากกว่าขมิ้นชนิดอื่น จึงนิยมใช้ขมิ้นชันย้อมสีผ้าเพื่อให้มีสีเหลือง ย้อมได้ทั้งฝ้าย ไหม และแพร หากผสมกับใบหรือผลมะขามป้อมจะให้สีเขียว สันนิษฐานว่าในสมัยก่อนคงใช้ขมิ้นย้อมจีวรพระภิกษุในพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะพระป่าและพระธุดงค์

 

ข้อมูลสื่อ

202-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 202
กุมภาพันธ์ 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร