• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำตาล กับ ภาวะฟันผุ

อาหารที่เรากินทุกวันนี้ล้วนแต่มีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ ทั้งที่มีโดยธรรมชาติในตัวอาหารหรือที่มนุษย์เราแต่งเติมลงไป น้ำตาลที่กล่าวถึงนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่เรียกว่า ซูโครส ซึ่งพบมากในน้ำตาลอ้อย ในน้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลทรายขาว

ในผักและผลไม้จะมีน้ำตาลกลุ่มที่เรียกว่าฟรักโทสและกลูโคส จะเป็นน้ำตาลที่มีขนาดเล็กที่สุดอยู่ตามธรรมชาติ

ถ้าเราเอาน้ำตาลซูโครสมาย่อยด้วยเอนไซม์จะได้น้ำตาลฟรักโทสและน้ำตาลกลูโคสอย่างละ 1 ตัวแล้ว

ฟรักโทสจะเป็นน้ำตาลที่หวานที่สุด แต่กลับถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้ช้ากว่ากลูโคสบางคนอาจเคยได้ยินคำว่า น้ำตาลแล็กโทส

ตัวอย่าง ปริมาณและชนิดของน้ำตาลในผักและผลไม้ต่อ 100 กรัม( 1 ขีด )            

ผัก/ผลไม้

จำนวนน้ำตาลทั้งหมด(กรัม)

ฟรักโทส(กรัม)

กลูโคส(กรัม)

ซูโครส(กรัม)

มอลโตส(กรัม)

แอบเปิ้ล

11

6

1

4

-

องุ่น

19

8

7

2

2

สตอเบอรี่

13

5

5

1

2

แตงโม

8

4

2

2

-

กะหล่ำปลี

3

1

2

0.1

-

ดอกกะหล่ำ

3

1

1

1

-

แตงกวา

2

1

1

-

-

ขึ้นฉ่าย

1.1

0.4

0.4

0.3

-

น้ำตาลแล็กโทสจะเป็นน้ำตาลเพียงชนิดเดียวที่ได้จากสัตว์ บางครั้งจะเรียกว่าน้ำตาลนม เพราะพบในผลิตภัณฑ์จากนมของสัตว์เท่านั้น

ส่วนน้ำผึ้งความจริงเป็นเพียงน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งนำมาสะสมไว้เท่านั้น จะเป็นน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคส
อาหารจากแป้งเมื่อร่างกายย่อย แล้วก็จะได้เป็นน้ำตาลดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลใด ๆ ในอาหาร แบคทีเรียในปากจะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการย่อยสลายแป้ง และน้ำตาลที่คั่งค้างอยู่ในช่องปากทำให้เกิดกรดแล็กติก กรดแล็กติกนี้เองที่จะเป็นตัวทำลายเคลือบฟันให้กร่อน และบางลงจนเกิดฟันผุ
 

การกินน้ำตาล
ในวันหนึ่ง ๆ คนเราจะได้พลังงานจากน้ำตาลโดยเฉลี่ยร้อยละ 18 แต่ความแตกต่างของการกินนั้นยังขึ้นกับอายุและเพศอีกด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการกินของหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเกิดขึ้นในกรณีพิเศษ เช่น ในงานตรุษ งานสารท หรืองานฉลองพิเศษ
อย่างไรก็ดี การกินของหวาน ยังเป็นนิสัยการกินประจำตัวหรือแม้แต่เชื้อชาติก็มีส่วนเกี่ยวข้อง

ชาวตะวันตกจะชอบกินของหวานมากกว่าชาวตะวันออก ตำรับของหวานที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นตำรับฝรั่ง

ส่วนตำรับจีนและญี่ปุ่นแทบจะไม่มีระบุตำรับของหวานเลย

สำหรับคนไทยได้รับวัฒนธรรมการกินจากทั้งตะวันตกและตะวันออก และพิถีพิถันเรื่องการกินมาก ตำรับขนมหวานของไทยจึงมีเป็นร้อยชนิด ส่วนประกอบหลักคือน้ำตาล แป้งชนิดต่าง ๆ ไข่และกะทิ โดยเฉลี่ยคนไทยจะกินน้ำตาลทราย 60 กรัมต่อวัน

คนอเมริกันบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 94 กรัมต่อวัน
ชาวยุโรป เช่น เบลเยี่ยม อังกฤษ เยอรมัน เดนมาร์ค บริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 97 กรัมต่อวัน
แต่การบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงไม่ใช่ปัญหาหลักที่จะทำให้เกิดฟันผุ ทั้งนี้เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์แก้ไขปัญหาฟันผุด้วยการให้เด็กนักเรียนแปรงฟันหลังกินอาหารเป็นประจำ เพื่อลดเศษอาหารที่เกาะตามเนื้อฟันซอกฟันที่แบคทีเรียใช้ดำรงชีพต่อไป
นอกจากนี้ยาสีฟันแทบทุกประเภทจะมีการผสมสารฟลูออไรด์ เพราะฟลูออไรด์มีคุณสมบัติด้านเป็นความกรด กระตุ้นให้มีการสะสมของแร่ธาตุที่ฟันมากขึ้น และมีกลไกที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย

การป้องกันฟันผุ
การรักษาสุขอนามัยของช่องปากนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในทุกเพศทุกวัย เพราะถ้าสุขภาพภายในช่องปากดีจะทำให้การเกิดฟันผุได้น้อยลง ซึ่งสุขภาพภายในช่องปากจะรวมทั้งการป้องกันการเกิดเหงือก และเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบเรื้อรัง กระดูกที่เป็นเบ้าฟันต้องแข็งแรงและ การแปรงฟันที่ถูกวิธี
ส่วนความสัมพันธ์ของอาหาร ที่จะมีอิทธิพลต่อการเกิดฟันผุนั้น พบว่ามีผลโดยอ้อม เพราะเมื่อร่างกาย ขาดสารอาหารเกิดภาวะทุพโภชนาการจะมีผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันของโรคต่ำลง การอักเสบของเนื้อเยื่อจะเกิดได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งจากการสำรวจประชากรจำนวน 21,559 คนทางระบาดวิทยาทั่วโลกด้วยทีมงานวิจัยที่ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ นักชีวเคมี นักโภชนาการ พบว่า กลุ่มที่มีภาวะเหงือกอักเสบ จะขึ้นกับอายุและสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากคือการมีสุขภาพอนามัยของช่องปากที่ไม่ดีถึงร้อยละ 66 และได้มีการกล่าวสรุปในที่สุดว่า “สิ่งที่ดีที่สุดของการรักษาสุขภาพช่องปากมิได้ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับการขจัดคราบที่เกาะที่เรียกว่า พลาค (plaque) ด้วยวิธีแปรงฟันที่ถูกวิธี”

ในเด็กทารกที่ยังไม่สามารถแปรงฟันได้ ควรทำความสะอาดฟันทุกครั้งหลังจากการกินนม อาจให้ดูดน้ำมาก ๆ หลังจากดูดนมแล้วและควรใช้ผ้านิ่ม ๆ เช็ดฟันให้สะอาด การให้เด็กดูดนมจนหลับไปจะทำให้เกิดฟันผุมาก

เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถที่จะเคี้ยวอาหารได้ การให้เด็กได้กัดเคี้ยวผัก ผลไม้ที่มีเส้นใยและรสไม่หวานจะมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยขจัดคราบและทำให้ฟันสะอาดและช่วยบริหารเหงือกด้วย แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นวิธีที่ใช้แทนการแปรงฟันได้

อย่างไรก็ตามการแปรงฟัน อย่างน้อยที่สุดวันละสองครั้งจะเป็นวิธีที่ทำความสะอาดฟันได้ดี โดยเฉพาะคนที่มีลักษณะโครงสร้างของฟันที่เรียกว่าฟันห่างจะมีเศษอาหารติดได้ง่าย รวมทั้งคนที่มีโครงสร้างของตัวฟันใหญ่ หนา แต่คอฟันและกรามมีขนาดเล็กทำให้เกิดช่องว่าง การทำความสะอาดฟันจะเป็นสิ่งที่ยากมากขึ้น

เมื่อทำความเข้าใจถึงการเกิดภาวะฟันผุแล้ว อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการกินอาหารไม่จำเป็นต้องงดอาหารแป้งและน้ำตาลเลยเสียทีเดียว แต่ควรกินอาหารให้ได้สัดส่วนและควรลดการส่งเสริมการเกิดภาวะฟันผุ

                                                เคล็ดลับฟันดี

1. ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รวมทั้งท็อฟฟี่ ของหวานที่รสหวานจัด

2. กินผลไม้และผักสดที่มีเนื้อและเส้นใยแข็งบ้าง เพื่อช่วยขจัดคราบเศษอาหารแทนการกินขนมหวานต่าง ๆ

3. เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีความสมดุลของอาหารที่พอเหมาะไม่ว่าจะเป็นแป้ง ข้าว เนื้อสัตว์ ไขมัน ผัก ผลไม้

4. กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุบกินจิก เพราะโอกาสเกิดกรดในช่องปากมีมากขึ้น

5. เสริมความแข็งแรงของฟันโดยการให้ฟลูออไรด์ในเด็ก

6. แปรงฟันให้ถูกวิธีและปฏิบัติจนเป็นกิจวัตรอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

7. ควรตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
 

ข้อมูลสื่อ

204-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 204
เมษายน 2539
เรื่องน่ารู้