• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บ้านปันรัก

จากข้อมูลการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2555 ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  พบว่าในปีนั้น  โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกสังกัดในเขตกรุงเทพมหานคร  มีผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆเทียวเข้าเทียวออกรักษาตัวประมาณ 30,000 กว่าคน
 
ข้อมูลจากเขตภาคใต้ตอนบนพบว่า  ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น  มีคนไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี,  โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลอื่นในแถบนั้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน
 
ในแต่ละปี  เรามีคนเสียชีวิตจากมะเร็งประมาณ 5 หมื่นคน หรือ เท่ากับประชากรในอำเภอขนาดกลางๆของภาคอิสาน 1 อำเภอ  หรือเทียบเท่ากับผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินโบอิ้ง 737 ตกปีละ 200 ลำ
 
ปัญหาหลักๆของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวมีตั้งแต่สภาพจิตใจ ความเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานจากพยาธิสภาพของโรค  อาการข้างเคียงจากการรักษา (ฉีดสารเคมี, ฉายแสง, ฝังแร่) ค่าใช้จ่ายที่ตามมาทั้งของตนเอง และญาติ  ค่าสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้  ไปจนถึงเวลาที่ต้องสูญเสียในการบำบัดเยียวยา
 
ผู้ป่วยบางรายต้องฝังแร่  บางรายต้องฉายแสง  บางรายต้องใช้สารเคมีบำบัด  หากมีภูมิลำเนาอยู่ใกล้โรงพยาบาลก็ยังพอทำเนา  แต่บางท่านอยู่ในจังหวัดห่างไกลจากโรงพยาบาลศูนย์ หรือศูนย์มะเร็งที่มีศักยภาพในการบำบัดเยียวยาในระดับตติยภูมิชั้นสูงได้  เช่น ผู้ป่วยมะเร็งในจังหวัดชุมพร  จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องเดินทางมารับการรักษาที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ตามลำดับ  ที่นับว่าเป็นภาระการเดินทางที่ยาวไกลและเหน็ดเหนื่อย  ภาระเรื่องที่พักอาศัย  จึงเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญ
 
จากการศึกษาวิจัยหลายฉบับ  พบว่าสิ่งที่มักขาดหายไปในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลต่างๆ คือ
1.  ทักษะการแจ้งผลการวินิจฉัยโรคในครั้งแรกให้กับผู้ป่วยและญาติรับรู้  ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความตระหนก และเสียขวัญ
2. การเยียวยาผู้ป่วยมะเร็ง  จะต้องมีการให้ความรู้  ให้คำแนะนำและเยียวยาญาติผู้ดูแลและคนใกล้ชิดด้วย  บางครั้งญาติทะเลาะกัน  บางครั้งญาติทิ้งผู้ป่วยไว้ที่โรงพยาบาลไม่ยอมมารับกลับ
3. จากระบบรองรับการรักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยนอกแบบครบวงจร  ผู้ป่วยจำนวนมากมีบ้านอยู่ห่างไกล  ไม่สามารถไปกลับในวันเดียวกัน  ที่พักราคาถูกและอยู่ไม่ไกล  ค่าใช้จ่ายพื้นฐานและสิ่งพึ่งพิงทางใจเบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเหล่านี้
4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วย เช่น ประเภทอาหาร  ความเครียด  อารมณ์  ต้องการที่ปรึกษาเป็นรายๆไป
5. การรักษาแบบประคับประคอง  สำหรับผู้ป่วยที่อาการมาก หรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ที่ควรได้รับการดูแลที่บ้าน หรือใกล้บ้าน  โดยบุคลากรและหน่วยงานระดับปฐมภูมิ
 
...โครงการบ้านปันรัก  ภายใต้การดูแลของมูลนิธิบ้านปันรัก ของเครือข่ายดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมี ดร.พัชรพร  สกุลพงศ์  เป็นผู้ริเริ่ม  ตั้งอยู่ในบริเวณวัดศานติไมตรี  อำเภอเมือง สุราษฎร์ธานี  ซึ่งมีอาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น  ร่มเย็น อยู่ท่ามกลางละแมกไม้ภายในวัด  ถือเป็นสถานที่อันสัปปายะยิ่งนัก  สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง  เพราะมีทั้งที่พักอันเงียบสงบ สะอาด มีอาหารเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ สวดมนต์
 
โครงการนี้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเยียวยา และแบ่งเบาภาระของผู้ป่วยและญาติซึ่งมีภูมิลำเนาห่างไกล และประสบปัญหาด้านการเงิน  สิ่งอำนวยความสะดวกที่จัดให้คือ ที่พัก  อาหาร ๓ มื้อสำหรับผู้ป่วย  มีอาคารแยกเป็นสัดส่วนหญิงและชาย  จัดสร้างโดยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา  ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยราชการ และภาคประชาคมในพื้นที่  เช่น โรงพยาบาลศูนย์,  ศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี,  เทศบาลตำบลขุนทะเล  และที่ขาดเสียมิได้ คือ ความเมตตาเอื้อเฟื้อที่ดินของวัดศานติไมตรี ที่มีพระครูภาวนาสันติคุณ เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลร่วม
 
โครงการนี้มีคุนูปการ และประโยชน์ต่อผู้ป่วย และญาติอย่างใหญ่หลวงนับเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม  ที่ช่วยกันเยียวยาใส่ใจไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยซึ่งมีความทุกข์ทั้งกาย และใจ  ท่านผู้อ่านท่านใดประสงค์จะร่วมอนุโมทนาบริจาคสนับสนุนโครงการนี้  ติดต่อได้ที่ กองทุนบ้านปันรักเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง  ธนาคารกรุงไทย  สาขาถนนศรีวิชัย  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 827-0-29696-1
 

ข้อมูลสื่อ

426-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 426
ตุลาคม 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ