• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มีอะไรอยู่ในขวด

                ...สมชาย  ชายหนุ่มวัย 40 เศษ พนักงานขับรถของอดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่ง   ชอบเล่นกล้าม  เพาะกาย ออกกำลังอยู่เป็นประจำ  ปกติเป็นคนแข็งแรง  หุ่นดีล่ำสัน  แต่อยู่ดีๆก็เกิดอาการไข้สูง  ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล  แพทย์บอกว่าเป็นโลหิตติดเชื้อจากระบบทางเดินปัสสาวะ  เขาอยู่โรงพยาบาลได้ 2-3 วันก็เสียชีวิต

            เมื่อสืบค้นประวัติ  พบว่าสมชายชอบกินยาดองเหล้า และยาบำรุงแผนโบราณเป็นประจำ ที่บ้านมีขวดยาดังกล่าวมากมาย (เดิมสมชายซื้อยา Hormoneและยาบำรุงแผนปัจจุบันสำหรับนักเพาะกายมากิน  แต่เนื่องจากราคาแพงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว  จึงเปลี่ยนเป็นยาแผนโบราณแทน)  เมื่อนำขวดยาไปให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์วิเคราะห์  พบว่ายาดังกล่าวผสมสารสเตอรอยด์ (Steroid) ในปริมาณที่สูงมาก

            ....ยาประเภทเติมพลังที่วางขายในต่างจังหวัด  ซึ่งผลิตขึ้นมาโดยผู้ผลิตที่หวังผลประโยชน์  โดยไม่ใส่ใจผู้บริโภคมีหลายประเภท  บางอย่างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่เฝ้าระวังเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและอาหาร  ตรวจพบ steroid ซึ่งมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และเกิดอาการหลอกทำให้รู้สึกสดชื่น  หายปวดเนื้อปวดตัวอยู่พักหนึ่ง  ในจังหวัดอุดรธานีเคยตรวจพบยากลุ่มนี้ซึ่งเติมสาร dichloride – methane  (สารตระกลูเดียวกับ chloroform)  เพื่อทำให้ยามีรสหอมหวาน แต่เป็นพิษต่อตับ เป็นส่วนผสมอยู่ในยาบำรุง  เริ่มมีรายงานตรวจพบยาไวกร้า  ในยาประเภทนี้ด้วยในต่างประเทศ

            ....ผู้กำกับการตำรวจ  ประจำอำเภอแห่งหนึ่งทางภาคอิสานเล่าว่า  มียาบำรุงยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดยบริษัทผลิตยาสตรีที่โด่งดัง  ใครๆก็รู้จักที่ขายดีมาก  มักจะขาดตลาดไม่พอขายอยู่เสมอ  โดยเฉพาะพระภิกษุจะนิยมซื้อหาไปบริโภคกันประจำ  เมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่ามี Alcohol ผสมถึง 12% (ซึ่งสูงกว่าเบียร์ที่จำหน่ายในท้องตลาด) และแสดงฉลากในลักษณะ อำพราง  นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมที่กระตุ้นหัวใจอย่างอื่นๆปนอยู่ด้วย  กลายเป็นว่าพระฉันเหล้ากันสนุกสนานไปเลย....

            ปัญหาการผลิตยาที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทยเป็นมาช้านาน  และถึงแม้ทางราชการจะตระเวนไล่จับไล่ตรวจกันอย่างไร  ก็ยังมีผลุบๆโผล่ๆอยู่ตรงโน้นตรงนี้เสมอ  ยาเหล่านี้บางครั้งเมื่อตรวจเจอกลายเป็นว่ามีการแพร่ขยายจำหน่ายไปมากแล้ว  บางยี่ห้อวางขายในร้านสะดวกซื้อก็มี  การเพิกถอนตำรับบางครั้งต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน  บางครั้งบริษัทก็อ้างว่ามีคนปลอมยาของบริษัทจำหน่าย  บางครั้งก็เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ประกอบการและสถานที่ผลิตไปเรื่อยเพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับกุม  นับว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติกับสำนักงานอาหารและยาซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก...

            มีคนให้ข้อสังเกตุว่า  หากมีคนกินยาพิษฆ่าตัวตาย 1 คน  คนไทยจะถือเป็นโศกนาฏกรรม  แต่เรามีคนตายผ่อนส่งจากยาและเครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย  เดือนละหลายร้อยคน  เรากลับถือเป็นสถิติข้อมูลปกติ และไม่ใส่ใจตื่นตัวที่จะช่วยกันดูแลแก้ไขเท่าที่ควร

            ความรู้และความตื่นตัวของผู้บริโภค  ถือเป็นเป้าปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสร้างภูมิต้านทาน และป้องกันปัญหาดังกล่าว  หากผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจและระมัดระวังว่า “เครื่องดื่ม อาหารเสริม และยาบำรุง” ชนิดต่างๆที่บริโภคเข้าไปนั้น “มีอะไร ซ่อนอยู่ในขวด”  ก็จะทำให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน  สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะไม่มีผู้ซื้อ

            ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาโปรแกรม “Single Window เตือนภัย” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านจะเห็นหน้าจอเดียวกันในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยาในลักษณะที่เป็นทั้งหลักฐานข้อมูล (Evidence)  ระบบเฝ้าระวัง (Watchdog)  และเครือข่ายความร่วมมือ (Network) ในการช่วยกันพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ซึ่งประชาชนทั่วไป และผู้สนใจสามารถเปิดดูได้ใน www.tumdee.org/alert ขณะนี้บางพื้นที่ได้มีการฝึกอบรม  นักคุ้มครองผู้บริโภคชุมชนโดยคัดเลือกจาก อสม.เพื่อพัฒนาทักษะในการทดสอบอาหารต่างๆ ว่ามีสารปนเปื้อน หรือมีส่วนประกอบที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคหรือไม่  โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งคาดหวังว่าต่อไปจะเป็นรูปแบบที่สามารถขยายไปดำเนินการได้ทั่วประเทศ

                        “อะไร...ซ่อนอยู่ในขวด” ใส่ใจก่อนบริโภคนะครับ  

ข้อมูลสื่อ

429-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 429
มกราคม 2558
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ