• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขศาลาพระราชทาน

                “สวัสดีค่ะ” เด็กนักเรียนตาใสแป๋วหลายสิบคน  เดินสวนมาในชุดเสื้อผ้ามอมแมม  พากันยกมือน้อยๆขึ้นประนมทักทายผมและคณะที่นั่งรถเข้าไปในหมู่บ้านของเธอ

                บ้านเลตองคุ  เป็นหมู่บ้านชายแดน ซึ่งประชากรทั้งหมดเป็นชาวกระเหรี่ยง  ในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ปลูกผลไม้บ้าง ปลูกหมากบ้าง ระยะทางจากหมู่บ้านถึงตัวอำเภออุ้มผาง ๙๙ กิโลเมตร  ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ เกือบ ๓ ชั่วโมง  ถ้าเป็นหน้าฝนการเดินทางจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นเพราะถนนเป็นทางดินภูเขาที่ต้องผ่านลำธารและขึ้นลงดอยตลอด

                ปัญหาการเจ็บป่วยของชาวบ้านในแถบนี้  โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ โรคมาเลเรีย โรคขาดสารอาหาร วัณโรค ไข้รากสาด (Scrub Typhus) เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านต้องประสบ ความยากจน  การขาดความรู้ การด้อยการศึกษา ตลอดจนวัฒนธรรมความเชื่อและประเพณีบางอย่าง  ทำให้ชาวบ้านมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราตายสูงกว่าคนทั่วไป...

                บ้านเลตองคุ และบ้านหม่อตะหลั่ว  ซึ่งอยู่ติดกัน มีประชากรรวมกันประมาณ ๑,๔๐๐ คน  เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ติดชายแดน เดินไปเพียงแค่ไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็คือเขตแดนประเทศเมียนมาร์แล้ว  คือตัวอย่างของหมู่บ้านคนไร้รัฐ และคนรอพิสูจน์สัญชาติตามแนวตะเข็บชายแดนไทย  ซึ่งมีอยู่ตลอดแนวชายแดนจังหวัดทางทิศตะวันตกของประเทศไทย  ไล่จาก ราชบุรี  กาญจนบุรี   ตาก            แม่ฮ่องสอน...

                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาความยากจน การด้อยการศึกษา การเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะการศึกษาและการสาธารณสุขของประชาชน  จึงทรงดำเนินการให้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนขึ้นในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลทั่วประเทศกว่า ๑๓๐ แห่ง  โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลอตองคุ ก็เป็นหนึ่งในนั้น  ขณะนี้มีนักเรียนกว่า ๓๐๐ คน

                ต่อมาทรงเล็งเห็นว่าทั้งนักเรียนและชาวบ้าน  มีความลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ จึงทรงโปรดให้ก่อตั้งและดำเนินงานสุขศาลาพระราชทาน  ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายคลึงใกล้เคียงกับศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่แล้ว  สุขศาลาพระราชทาน เลตองคุจึงก่อกำเนิดขึ้นในปี ๒๕๕๐  โดยได้รับการสนับสนุนอาคารสถานที่จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และเงินบริจาคจากหลายแห่ง...

                บุคลากรของสุขศาลาประกอบด้วย  คุณครูที่มียศนายสิบของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้ดูแล  โดยมีลูกทีมเป็นลูกจ้างที่ผ่านการอบรมด้านต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาลพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพ การตรวจเชื้อมาเลเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ การให้วัคซีนเด็ก โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก รพ.สต.เป็นพี่เลี้ยง จำนวน ๕ – ๖ คน  แต่ละคนมีเงินเดือนประมาณ ๔,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือนจากทางราชการ

                ขณะนี้มีสุขศาลาพระราชทานในอำเภออุ้มผาง ๒ แห่ง  ซึ่งก็ยังไม่พอเพียงต่อการดูแลประชาชน  ในปี ๒๕๕๑ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง  เพื่อพัฒนาเครือข่ายบริการปฐมภูมิ  คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง  ได้นำงบประมาณดังกล่าวไปจัดสร้างสุขศาลาเพิ่มเติมในพื้นที่ทุรกันดารอีก ๙ แห่ง 

                ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  มีประชาชนทยอยมารับบริการจำนวนมาก  โดยเฉพาะสุขศาลาพระราชทานบ้านเลตองคุ  แม้ว่ามีเพียงสองหมู่บ้าน  แต่ก็มีประชากรบางส่วนใน ตำบลไลโว่  อำเภอสังขละบุรี  และชาวบ้านจากประเทศเมียนมาร์แนวตะเข็บชายแดนอีก 13 หมู่บ้าน  เดินทางมาใช้บริการ  เฉลี่ยมีผู้มาใช้บริการประมาณวันละ ๒๐-๓๐ กว่าราย

                รูปแบบการให้บริการในพื้นที่ชายแดนไทย พม่า นั้น  มีความแตกต่างจากชายแดนด้านอื่นๆของประเทศไทย  เพราะพื้นที่ด้านนี้ยังมีปัญหาการสู้รบอยู่ประปราย  ประชาชนจากพื้นที่ชายแดนพม่า  มีการอพยพเคลื่อนย้ายสูง  และความรุนแรงของการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เช่น มาเลเรียยังอยู่ในเกณฑ์สูง  นอกเหนือจากสุขศาลาหมู่บ้าน (ซึ่งเป็นโครงการพระราชทาน)  ยังมีการริเริ่มดำเนินการสุขศาลาข้ามแดน คือ จัดตั้งสุขศาลาขึ้นในพื้นที่เขตประเทศเมียนมาร์  โดยการสนับสนุนของโรงพยาบาลอุ้มผาง

                แม้ประชาชนแถบแนวชายแดนเหล่านี้  ไม่ได้เป็นคนไทย  ไม่มีบัตรประชาชน  แต่โดยหลักมนุษยธรรม  การช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  ก็ถือเป็นการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า  ประชาชนกลุ่มไร้รัฐ  กลุ่มชายขอบเหล่านี้  ถือเป็น “คนยากจนชั้นที่ ๓” จะช่วยเหลือเขาอย่างไร...

ข้อมูลสื่อ

432-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 432
เมษายน 2558