• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหัว (ตอนที่ 2 )

ปวดหัว (ตอนที่ 2 )

                                     


คนไข้รายที่ 2
หญิงอายุประมาณ 40  ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงในตอนกลางดึก
หญิง : “โอย...คุณหมอ...ช่วยหน่อย ปวดหัวจังเลยค่ะ”
หมอ : “ปวดมานานหรือยังครับ”

หญิง : “เพิ่งปวดมาประมาณครึ่งชั่วโมงค่ะ”
หมอ : “อยู่ดี ๆ ก็ปวดขึ้นมาหรือครับ ก่อนปวดคุณกำลังทำอะไรอยู่”

หญิง : “กำลังนอนหลับอยู่ค่ะ ตื่นขึ้นมาก็ปวดศีรษะจนทนไม่ไหวค่ะ”
หมอ : “คุณตื่นขึ้นมาแล้วจึงปวดศีรษะ หรือปวดศีรษะจนตื่น”

หญิง : “ปวดศีรษะจนตื่นค่ะ”
หมอ : “ก่อนหน้านี้เคยปวดเช่นนี้มั้ย”

หญิง : “วันก่อน เคยปวดเช่นนี้ ขณะเล่นแบดมินตันกับเพื่อนค่ะ แต่ปวดอยู่ไม่นานก็ค่อยยังชั่ว ก่อนหน้านี้ไม่เคยปวดหัวแบบนี้เลย คืนนี้หลับอยู่ดี ๆ ก็ปวดมาก จะทนไม่ไหวแล้วค่ะ เร็ว ๆ หน่อยสิคะ หมอ”
หมอ : “ครับ ๆ เดี๋ยวผมขอตรวจร่างกายอย่างคร่าว ๆ ก่อน แล้วจะได้ให้ยาแก้ปวด เพราะถ้าให้ยาแก้ปวดผิดประเภทโดยที่ยังไม่ได้ถามประวัติ และตรวจร่างกายคุณก่อน อาจจะเป็นอันตรายต่อคุณได้ คุณเดินขึ้นเตียงไหวมั้ยครับ”

หมอตรวจร่างกายคนไข้อย่างคร่าว ๆ และพบว่าคนไข้ไม่มีไข้ตัวร้อน คอแข็ง (ก้มคอไม่ได้) แต่ยังเอี้ยวคอ (หันหน้า) ไปทางซ้ายและขวาได้ ความดันเลือดปกติ
หมอ : “อาการปวดหัวของคุณรุนแรงมาก ยาแก้ปวดคงช่วยไม่ได้ นอกจากจะฉีดยาให้คุณหลับไป ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้
หมอคิดว่าคงจะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองของคุณ และวิธีแก้ปวดที่ดีที่สุดคือ การเจาะหลัง คุณจะยอมให้หมอเจาะหลังมั้ยครับ”
หญิง : “ยอมค่ะ รีบ ๆ เถอะค่ะหมอ ทนไม่ไหวแล้ว”

หมอจึงสั่งพยาบาลให้เตรียมคนไข้สำหรับการเจาะหลัง (การสอดเข็มผ่านช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง เข้าไปในช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง) การเจาะหลังทำให้น้ำไขสันหลังไหลออกมาประมาณ 10 มิลลิลิตร (ซีซี) น้ำไขสันหลังมีสีแดงจาง ๆ จนเกือบมองไม่เห็นถ้าไม่ได้นำไปเทียบกับกระดาษขาว (ปกติน้ำไขสันหลัง จะใสสะอาดและไม่มีสี) หลังจากเจาะน้ำไขสันหลังออก อาการปวดหัวของคนไข้ดีขึ้นทันที

หมอ :
“ดีขึ้นหรือยังครับ”
หญิง : “ดีขึ้นมากค่ะ ขอบคุณคุณหมอมาก แล้วนี่จะปวดหัวอีกมั้ยคะ”

หมอ : “อาจจะปวดอีกครับ และอาจจะเป็นอันตรายด้วย เพราะหลอดเลือดในสมองของคุณกำลังปริ ทำให้มีเลือดซึมออกมาในน้ำไขสันหลัง หมอจำเป็นต้องฉีดสี (สารทึบแสงเอกซเรย์) เข้าไปในหลอดเลือดสมองของคุณ เพื่อดูว่าหลอดเลือด หลอดไหนกำลังปริ จะได้ให้หมอผ่าตัดเขาช่วยจัดการเย็บซ่อมแซมให้ คุณจะยอมให้หมอทำมั้ยครับ”
หญิง : “แล้วอันตรายมั้ยคะ”

หมอ : “ก็อันตรายนิดหน่อยครับ สำหรับการฉีดสีและเอกซเรย์หลอดเลือด คุณเคยแพ้ยาหรือแพ้อา-หารอะไรมั้ยครับ”
หญิง : “ไม่ค่ะ ไม่เคยแพ้หลังฉีดสีแล้วต้องผ่าตัดหรือค่ะ”

หมอ : “ถ้าหลอดเลือดส่วนที่ปริ มันอยู่ในบริเวณที่ซ่อมได้ก็ควรจะผ่าตัด แม้จะอันตรายหน่อยแต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้มันแตก แล้วกลายเป็นอัมพาต พิการหรือถึงแก่ชีวิตครับ”
หญิง : “ถ้าอย่างนั้นขอปรึกษากับสามีและลูก ๆ ก่อนค่ะ”

หลังจากปรึกษากับสามีและลูก ๆ แล้ว คนไข้ก็ยอมให้ฉีดสีและเอกซเรย์หลอดเลือด ซึ่งพบถุงเลือดโป่ง (berry aneurysm) เล็ก ๆ 2 แห่งที่บริเวณหลอดเลือดตรงส่วนล่างขอสมอง จึงได้รับการผ่าตัด คนไข้หายเป็นปกติ
คนไข้รายนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของภาวะ “ปวดศีรษะฉุกเฉิน” โดยเป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นทันทีเป็นครั้งแรก ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน อาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นยังมีอาการคอแข็งอีกด้วย

ดังนั้น คนไข้ที่มีอาการหรือลักษณะของอาการปวดหัวที่เข้าได้กับภาวะ “ปวดศีรษะฉุกเฉิน” ที่ได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อน ควรจะรีบไปพบแพทย์ทันที
 

คนไข้รายที่ 3
ชายไทยอายุประมาณ 70 ปี เดินเข้ามาหาหมอคล้ายกับคนปกติ

ชาย : “สวัสดีครับ หมอ”
หมอ : “สวัสดีครับ คุณมีอาการไม่สบายหรือครับ”

ชาย : “ผมปวดขมับด้านซ้ายมา 2-3 วัน เป็น ๆ หาย ๆ แต่รู้สึกมันจะเป็นบ่อยขึ้น ปวดรุนแรงขึ้น และแต่ละครั้งนานขึ้นครับ”
หมอ : “เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนมั้ยครับ”

ชาย : “ไม่เคยครับ แต่ก่อนนี้เคยปวดศีรษะเหมือนกัน แต่ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อน”
หมอ : “แล้วคุณมีอาการอะไรอื่นมั้ยครับ”

ชาย : “ไม่มีครับ”
หมอ : “ตาของคุณมองเห็นดีมั้ยครับ”

ชาย : “ก็เหมือนคนแก่ทั่วไปแหละคุณหมอ”
หมอ : “ศีรษะของคุณถูกกระแทกหรือกระทบกับอะไรบ้างมั้ยครับ”

ชาย : “ไม่มีครับ”
หมอ : “แล้วบริเวณที่คุณปวด เวลาเอามือกดดูเจ็บมั้ยครับ”

ชาย : “เออ จริงครับ มันกดเจ็บด้วย เดิมผมปวดหัว ไม่เคยกดเจ็บเลย คราวนี้ตรงขมับซ้ายมันกดเจ็บ โดยเฉพาะตรงเส้นแข็ง ๆ ที่เต้นตุบ ๆ ตรงเหนือหูขึ้นมาถึงขมับ”
หมอ : “ดีมากครับ คุณนี่เก่งและช่างสังเกตดีมาก ถ้าอย่างนั้นขอหมอตรวจขมับของคุณหน่อยนะครับ”

หมอคลำที่ขมับซ้ายและขวาของคนไข้ แล้วก็พบว่าหลอดเลือดแดง (หลอดเลือดที่เต้นตุบ ๆ จนคลำได้) ที่บริเวณขมับซ้ายแข็งเป็นลำและกดเจ็บ ส่วนที่ขมับขวาเป็นเส้นค่อนข้างนุ่มและกดไม่เจ็บ

หมอ :
“ครับ สิ่งที่คุณกดเจ็บและคลำเป็นเส้นแข็งนั้นเป็นหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal areritis)โชคดีที่คุณมาหาหมอเร็วก่อนที่จะมีอาการอื่น เพราะอาการอื่นที่รุนแรงและอาจเกิดขึ้นทันทีคือ อาการตาบอดครับ เนื่องจากโรคนี้ อาจทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตาเกิดการอักเสบด้วย จึงทำให้ตาบอดได้”
ชาย : “แล้วรักษาได้มั้ยครับ ต้องผ่าตัดมั้ยครับ”
หมอ : “ไม่ต้องผ่าตัดหรอกครับ แต่หมอบางคนอาจจะต้องการตัดส่วนหนึ่ง (ชิ้นเล็ก ๆ) ของหลอดเลือดนี้ไปตรวจ เพื่อให้การวินิจฉัยแน่นอน แต่หมอขอเพียงเจาะเลือดของคุณดูการตกของเม็ดเลือดแดง (erythrocyte sedimentation rate หรือ ESR) เท่านั้น แล้วจะให้ยาคุณกินเลย”

คนไข้ได้ยาไปกินเพียงไม่กี่วัน อาการปวดหัวก็ดีขึ้น และอาการกดเจ็บตรงหลอดเลือดแดงที่ขมับก็
หายไป หมอค่อย ๆ ลดยาลง โดยคอยตรวจดูการตกของเม็ดเลือดแดงเพื่อปรับขนาดของยา แล้วในที่สุดเมื่อคนไข้ไม่มีอาการอะไรอีกเลย หลังจากค่อย ๆ ลดยาลงในเวลา 2-3 เดือน ก็หยุดยาได้

นี่เป็นตัวอย่างของอาการ “ปวดศีรษะฉุกเฉิน” ที่ไม่มีอาการปวดรุนแรง แต่อาจมีโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ จึงควรศึกษาและจดจำ ลักษณะของ “ปวดศีรษะฉุกเฉิน” ดังที่กล่าวไว้ในฉบับก่อนให้ได้ เผื่อจะมีโอกาสช่วยตนเองและญาติสนิทมิตรสหายได้

                                                                                                                          ( อ่านต่อฉบับหน้า )  

 

ข้อมูลสื่อ

202-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 202
กุมภาพันธ์ 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์